จากหนังสือ "กรณีธรรมกาย" จงใจให้สับสน

p23-122.jpg (7658 bytes)

 

จากหนังสือ "กรณีธรรมกาย" (ฉบับคัดตัวอย่าง หน้า ๓๙ ข้อ ๒) ข้อความว่า

"๒. กล่าวว่า ฯลฯ...ไม่มี พระไตรปิฎกฉบับใด จะต้องแสดงวิธีเข้าถึง "ธรรมกาย" เพราะคำว่า "ธรรมกาย" เป็นคำพูดรวมๆ หมายถึงธรรมต่างๆ ที่ประสงค์จะกล่าวทั้งชุด หรือทั้งหมวด หรือทั้งมวล เช่นโลกุตรธรรมทั้ง ๙..."

ข้อความของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ดังกล่าวนั้น บิดเบือนไปจากพุทธวจนะ อันปรากฏใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๑๘/๙๓) (บาลี มหาวาร สํ. ๑๙ /๒๐๕ /๗๑๒-๓) ว่า

"อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตามเห็นซึ่ง กายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ.... เป็นผู้ตามเห็นซึ่งธรรมในธรรม ฯลฯ"

การที่จะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ปรินิพพานไปเกือบ ๓,๐๐๐ ปี นั้นจะทำได้เพียงสถานเดียว คือ โดยการทำสมาธิจิต เพื่อให้ "เห็นธรรม" เท่านั้น ตามที่พระองค์ตรัสชี้หนทางไว้ ปรากฏใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๐๐/๒๗๒) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้น จะอยู่ห่าง (จากตถาคต) ตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าเธอนั้นไม่มากไปด้วยอภิชฌา ไม่มีกามราคะกล้า ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจ ไปในทางประทุษร้าย มีสติตั้งมั่น เป็นสมาธิจิต ถึงความเป็นเอกัคคตา สำรวมอินทรีย์แล้วไซร้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าอยู่ใกล้กับเรา แม้เราก็อยู่ใกล้กับภิกษุนั้น โดยแท้

ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็ชื่อว่า เห็นเราแล"

สิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ตรงคำว่า "เห็นธรรม" ซึ่งพระพุทธองค์ ไม่ได้ทรงใช้คำว่า "รู้แจ้ง" ในธรรม เพราะคำว่า เห็น คืออาการ เห็นนิมิตรูปในสมาธิ (ดังได้กล่าวไปแล้วแต่ต้น) ส่วนคำว่า รู้แจ้ง คือ ความเข้าใจ ดังนั้นความหมายของคำสองคำนี้ จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงพบคำว่า ดวงตา (จักขุ) เห็นธรรม กับ รู้แจ้งด้วยปัญญา จึงมีความหมายตามศัพท์ดังนี้ ซึ่งสาธุชนพึงเข้าใจให้ถูกต้อง แม้แต่พุทธองค์ ก็ทรงย้ำถึงความแตกต่างของการเห็น (จักขุ) และการรู้แจ้ง (ปัญญา) ไว้อย่างชัดเจน ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี มหาวาร. สํ.๑๙/ ๓๓๐ / ๑๑๑๘) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เห็น (จักขุ) ญาณ รู้แจ้ง (ปัญญา) วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมที่ไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่า นี้คือ อิทธิบาท ฯลฯ"

และที่จะเห็นได้ชัดถึงความหมายคำว่า รู้แจ้ง ซึ่งปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น พระพุทธองค์ทรงเทศนา ณ สวนอัมพลัฏฐิกา ปรากฏใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี สี.ที.๙/๑๖/๒๖) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย มีธรรมลึก ฯลฯ ซึ่งเราตถาคตได้ทำให้รู้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตรู้ชัดด้วยวัตถุ ๖๒ อย่างนี้ชัดเจนว่า ล้วนเป็นที่ตั้งของทิฏฐิ ซึ่งเมื่อใครจับไว้ ถือไว้อย่างนั้นๆ แล้ว ย่อมมีคติ มีภพเบื้องหน้า เป็นอย่างนั้นๆ"

ดังได้กล่าวมาจะเห็นว่า หลักการและวิธีปฏิบัตินั้น เป็นพุทธวจนะ อันปรากฏเป็นหลักฐาน ในพระไตรปิฎกเถรวาท ตลอดมากว่า ๒,๕๐๐ ปี

แต่เหตุใด หรือ ทำไมพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) กลับกล่าวไว้ใน หนังสือ "กรณีธรรมกาย" (ฉบับคัดตัวอย่าง หน้า ๑ ) ว่า

"คำสอนเหล่านี้ ทางสำนักวัดพระธรรมกายคิดขึ้นใหม่ เป็นของนอกธรรม นอกวินัยของพระพุทธเจ้า ... ทางวัดพระธรรมกาย พยายามนำเอา คำสอนใหม่ของตน เข้าใส่แทนที่หลักคำสอนเดิม ที่แท้ของพุทธศาสนา"

คงไม่ต้องอธิบายขยายความ เพราะคำของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ขัดกับพระพุทธวจนะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำถามก็คือ ท่านกระทำเช่นนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ใด ? และเพื่อผลประโยชน์ของศาสนาใด ?

ในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ตั้งแต่หน้า ๑๔๐ (ฉบับสมบูรณ์) ไปจนถึงหน้า ๑๔๒ เป็นลักษณะของการแสดงข้อความ โจมตีวิธีการทำสมาธิจิต ว่าทำให้ตกอยู่ในความประมาท ? ข้อความว่า

"การดิ้นรนหาทางออกจากปัญหาจิตใจ ด้วยวิธีการทางจิตนี้ เป็นสุดโต่ง อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านหนึ่ง แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ฯลฯ โทษที่ทางพระพุทธศาสนา ถือว่าร้ายแรงมาก ก็คือ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท"

พุทธศาสนิกชน ย่อมจะรู้ขั้นตอนของพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา ว่าได้แก่

ศีล คือ สำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อมีศีล ก็จะเกิดความสงบระงับ จึงเกิดสมาธิ

สมาธิ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวของจิต เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่าน ก็จึงเกิดปัญญา

ปัญญา อันเป็นแนวทางไปสู่ความเข้าใจ ในวัฏฏสงสารทั้งปวง

สิ่งซึ่งน่าจะวิเคราะห์ คือ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) นำข้อมูลในพระไตรปิฎก หรือตำราทางพุทธศาสนาเล่มใด มาอ้างอิง โดยเฉพาะคำว่า "ข้อสำคัญคือ (การทำสมาธิจิต) ไม่เป็นวิธีการ ที่จะแก้ปัญหาได้จริง นอกจากจะทำให้เกิดการพึ่งพา และเป็นการกล่อมใจแล้ว โทษที่ทางพุทธศาสนา ถือว่าร้ายแรงมาก ก็คือ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท"

นั่นก็เพราะว่า เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลก ว่าการทำสมาธิจิตนั้น เป็นแนวทางแก้ปัญหา หรือความสิ้นทุกข์ เป็นต้นทางของ การเข้าสู่วิปัสสนาธรรม นำเข้าถึงปัญญา และโลกุตรธรรม อันเป็นที่สุด แห่งความสิ้นทุกข์ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงใช้สมาธิจิต เป็นทางนำสู่การตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัท ในพุทธศาสนา กระทำสมาธิจิต เพื่อเข้าสู่หนทางแห่งความดับทุกข์ เช่นกัน แล้วเหตุไฉนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" กลับกล่าวว่า การทำสมาธิ ทำให้ประมาท พุทธศาสนาห้าม ถือว่ามีโทษร้ายแรง ข้อความนี้ แม้ผู้ที่เป็นชาวพุทธ ยังไม่ได้บวชเรียน ก็รับรองว่า จะไม่พูดเช่นนี้เด็ดขาด เพราะทุกคนรู้จักสมาธิดี ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นด้วยแรงจูงใจเช่นใด จึงทำให้ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนข้อความเช่นนี้ ให้ปรากฏแก่สาธารณชน ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่น่าจะมาจาก ผู้ที่ได้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์ มาตลอดชีวิต และนี่คือคำพูดของ ผู้ทำลายศาสนาพุทธโดยแท้ หรือว่า ชาวพุทธคนไหนจะเถียงว่า พระพุทธเจ้าห้ามไว้ว่า ทำสมาธิ ทำให้ประมาท ใครทำถือว่ามีโทษ ? ไม่เคยมีปรากฏ อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับใดในโลก ที่ห้ามพุทธบริษัททำสมาธิ เมื่ออ่านหนังสือ "กรณีธรรมกาย" โดยใช้วิจารณญาณขั้นพื้นฐาน และหลักฐานทางพุทธศาสนา อันได้แก่ พระไตรปิฎก และหลักพระสัทธรรมแล้ว จะเห็นว่า คำอธิบายของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) คลาดเคลื่อน บิดเบือนจาก พระสัทธรรมคำสั่งสอน อันปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น อะไรทำให้นักปราชญ์ทางศาสนา ผิดเพี้ยนไปไกลขนาดนี้ และนี่คือคำถามที่ว่า อะไรทำให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ?? คล้ายกับสำนวนการเขียน ของนักบวชคริสเตียน ที่เขียนโจมตีพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยมาแล้วในอดีต

     หลักปฏิบัติวิชชา "ธรรมกาย" มีในพระไตรปิฎกเถรวาท เป็นพุทธวจนะชั้นสูงสุด (สุตตะ)   

คำถามที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในอนาคตก็คือ วิชชา "ธรรมกาย" มีในพระไตรปิฎกหรือไม่ .... ?? นี่คือสิ่งซึ่งนักพุทธศาสตร์ และผู้สนใจทางด้านจิตศาสตร์ ต้องค้นคว้าให้ได้ ในฐานะนักวิชาการ เพราะบางสิ่งที่บันทึกไว้ ในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่แทบไม่อาจเป็นไปได้ หากเป็นคนยุคใหม่ จะเรียกได้ว่า ไม่อาจเชื่อได้เอาเลยทีเดียว เช่น ในพระไตรปิฎก กล่าวถึง พระทัพพมัลบุตร ซึ่งสำเร็จอรหันต์ เมื่ออายุ ๗ ขวบ ขณะปลงผมบวชวันแรก พระจูฬปันถก ท่านท่องสวดมนต์ยังไม่ได้แค่ นะ กับ โม จะไปโดดเขาตาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมชั่วอึดใจ ก็สำเร็จอรหันต์ เป็นจริงแค่ไหน ?? จึงต้องค้นคว้าในพระไตรปิฎกเถรวาทดู และหากจะให้แน่นอน ก็ต้องลงมือปฏิบัติเองเลย จะได้รู้เรื่องรู้ราว ตามความเป็นจริง

การบรรลุโลกุตรธรรม อันมีพระนิพพานเป็นที่สุดนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า การบรรลุธรรมนั้น เป็นไปด้วย "การปฏิบัติเท่านั้น" ไม่ใช่การท่องจำ พร่ำเพ้อ บ้าวิชา ท่องตำรา หรืออ่านเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก แล้วเก็บมาคิดเอาเองว่า ควรเป็นยังงั้นยังงี้ พวกนี้เรียกว่า "วิปัสสนึก" แต่การบรรลุโลกุตรธรรม นอกเหนือจาก ผู้ที่ได้สะสมบุญบารมีมาในอดีตชาติมาก พร้อมบรรลุแล้ว เพียงฟังพระธรรมคำสั่งสอน ของพุทธองค์คำเดียว ก็บรรลุธรรม (ดวงตาเห็นธรรม) ฉะนั้นโดยทั่วไป การปฏิบัติ ต้องเป็นไปตามมรรควิถี ที่พระองค์ทรงสอนเท่านั้น จึงจะบรรลุโลกุตรธรรมได้ ดังปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี เวชณสสูตร มู. ม. ๑๓/๓๗๒/๔๐๑) ว่า

" ...บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีสัญชาติแห่งความตรง จงมาเถิด เราจะพร่ำสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อปฏิบัติอยู่ตามที่เราสอนแล้ว จักรู้เอง จักเห็นโดยแท้ ต่อกาลไม่นานทีเดียว.."

หากใช้ความคิดตามหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ที่พยายามชี้นำ จะเห็นว่า ๗ วันไม่มีทางบรรลุโลกุตรธรรมแน่นอน ในกรณีนี้มีพุทธพจน์ปรากฏ ในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี อุทุมพริกสูตร ปา. ที.๑๑/๕๘/๓๑) ว่า

"นิโครธะ เรากล่าวอยู่อย่างนี้ว่า จงมาเถิด บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีสัญชาติแห่งคนตรง เราพร่ำสอนอยู่ แสดงธรรมอยู่ เธอปฏิบัติอยู่อย่างที่เราสอน ก็จักทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ (บรรลุอรหัตผล) อันไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อันเป็นสิ่งที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยเรือนโดยชอบ ปรารถนาอยู่ ได้อยู่ในภพ อันตนเห็นแล้วนี้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ของตนเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ได้ ในชั่วเวลา ๗ วัน"


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1