อริยทรัพย์
เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๓๒๖
อริยทรัพย์ ๗ อย่าง
๑. สัทธาธนัง [ทรัพย์คือศรัทธา]
๒. สีลธนัง [ทรัพย์คือศีล]
๓. หิริธนัง [ทรัพย์คือหิริ]
๔. โอตตัปปธนัง
[ทรัพย์คือโอตตัปปะ]
๕. สุตธนัง [ทรัพย์คือสุตะ]
๖. จาคธนัง [ทรัพย์คือจาคะ]
๗. ปัญญาธนัง [ทรัพย์คือปัญญา]
เล่มที่ ๑๑
[๔๓๓] ธรรม ๗
อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน ฯ
ได้แก่อริยทรัพย์ ๗ คือ
ทรัพย์คือศรัทธา ศีล หิริ
โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา
ธรรม ๗
อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก ฯ
ธนสูตรที่ ๒
เล่มที่ ๒๓
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗
ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑
โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
ศรัทธาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา
คือ
เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เอง
โดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว
เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า
ทรัพย์คือศรัทธา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
ศีลเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์
ฯลฯ
จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือ ศีล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความละอาย
คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต
ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
โอตตัปปะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว
คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือ โอตตัปปะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
สุตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต
ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ
เป็นผู้ได้สดับมามาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
จาคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ
ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน
มีจาคะอันปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ
ควรแก่การขอ
ยินดีในทานและการจำแนกทาน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์คือ
ปัญญาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา
คือ
ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิด
และความดับ เป็นอริยะ
ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗
ประการนี้แล ฯ
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ
โอตตัปปะ สุตะ จาคะ
และปัญญาเป็นที่ ๗
ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด
เป็นหญิงหรือ ชายก็ตาม
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า
เป็นผู้ไม่ยากจน
ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๖
อุคคสูตร
เล่มที่ ๒๓
[๗] ครั้งนั้นแล
มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อว่าอุคคะ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น่าอัศจรรย์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ไม่เคยมีมา
โดยเหตุที่มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานโรหณเศรษฐี
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรอุคคะ
ก็มิคารเศรษฐีหลานโรหณเศรษฐี
มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคสมบัติมากสักเท่าไร ฯ
อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
มีทองแสนลิ่ม
จะกล่าวไปไยถึงเงิน ฯ
พ. ดูกรอุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่แล
เรามิได้กล่าวว่าไม่มี
แต่ทรัพย์นั้นแล
เป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา
โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ดูกรอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล
ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ
ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑
สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑
ดูกรอุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล
ไม่ทั่วไปแก่ ไฟ น้ำ พระราชา โจร
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ฯ
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ
โอตตัปปะ สุตะ จาคะ
และปัญญาเป็นที่ ๗
ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด
เป็นหญิงหรือชายก็ตาม
เป็นผู้มีทรัพย์มากในโลก
อันอะไรๆ
พึงผจญไม่ได้ในเทวดาและมนุษย์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๗