เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์
เล่มที่ ๗
[๒๙] สมัยต่อมา ปุ่มไม้แก่จันทน์มีราคามาก ได้บังเกิดแก่เศรษฐี ชาวเมืองราชคฤห์
จึงราชคหเศรษฐีได้คิดว่า ถ้ากระไรเราจะให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่จันทน์นี้
ส่วนที่กลึงเหลือเราจักเก็บไว้ใช้ และเราจักให้บาตรเป็นทาน หลังจากนั้น ท่านราชคหเศรษฐีให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้น
แล้วใส่สาแหลก แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ผูกต่อ ๆ กันขึ้นไป
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงปลดบาตรที่เราให้แล้วไปเถิด
ฯ
[๓๐] ขณะนั้น ปูรณะกัสสปเข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐีแล้วกล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์
ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด
ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์
ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด
ต่อมา ท่านมักขลิโคสาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ท่านสัญชัยเวลัฏฐบุตร
ท่านนิครนถ์นาฏบุตร ได้เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี แล้วกล่าวว่า
ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด
ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์
ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด ฯ
เรื่องพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[๓๑] สมัยต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ
ครองอันตรวาสกในเวลาเช้าแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์
อันที่แท้ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์
จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ไปเถิด ท่านโมคคัลลานะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นของท่าน
แม้ท่านพระโมคคัลลานะก็กล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า
ไปเถิด ท่านภารทวาชะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นของท่าน จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นสู่เวหาส
ถือบาตรนั้นเวียนไป
รอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ ฯ
[๓๒] ครั้งนั้น ท่านราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือนของตน ประคองอัญชลีนมัสการ
กล่าวนิมนต์ว่า
ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าภารทวาชะ จงประดิษฐานในเรือนของข้าพเจ้านี้เถิด จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ
ประดิษฐานในเรือนของท่านราชคหเศรษฐี
ขณะนั้น ท่านราชคหเศรษฐีรับบาตรจากมือของท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้จัดของเคี้ยวมีค่ามากถวายท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้รับบาตรนั้นไปสู่พระอาราม ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของราชคหเศรษฐีไปแล้ว และชาวบ้านเหล่านั้นมีเสียงอึกทึกเกรียวกราว
ติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไปข้างหลัง ๆ พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราว
ครั้นแล้ว ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า
อานนท์ นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราว เรื่องอะไรกัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลงแล้ว
พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลง
จึงพากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะมาข้างหลังๆ อย่างอึกทึกเกรียวกราว พระพุทธเจ้าข้า
เสียงอึกทึกเกรียวกราวนี้ คือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า ภารทวาชะ ข่าวว่า
เธอปลดบาตรของราชคหเศรษฐีลง จริงหรือ
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ภารทวาชะ
การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์แก่พวกคฤหัสถ์
เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า
มาตุคามแสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ
การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส...
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์แก่พวกคฤหัสถ์
รูปใดแสดงต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำลายบาตรไม้นั่น บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุทั้งหลาย
อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องบาตร
[๓๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรต่าง ๆ คือ บาตรทำด้วยทองคำ บาตรทำด้วยเงิน
ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม
ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรทองคำ ไม่พึงใช้บาตรเงิน
ไม่พึงใช้บาตรแก้วมณี ไม่พึงใช้บาตรแก้วไพฑูรย์ ไม่พึงใช้บาตรแก้วผลึก ไม่พึงใช้บาตรทองสัมฤทธิ์
ไม่พึงใช้บาตรกระจก ไม่พึงใช้บาตรดีบุก ไม่พึงใช้บาตรตะกั่ว ไม่พึงใช้บาตรทองแดง
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบาตร ๒ ชนิด คือ
บาตรเหล็ก ๑ บาตรดิน ๑ ฯ