บาป
1) คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
เล่มที่ ๒๕
[๑๙] บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป
หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ
ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้
หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาป
เมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย [พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ
[ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น]
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ
นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้า
มีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว
ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบ ฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ
ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ
ผู้เป็นพาล ดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น
คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามกย่อมเข้าถึงนรก
ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน อากาศ
ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป
ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้
ไม่มีเลย อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว
มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลยฯ
จบปาปวรรคที่ ๙
2) นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ
25/9 บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึกด้วยคิดว่า
เมื่อกิจที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา
เพื่อเปลื้องการประทุษร้ายจากพระราชาบ้าง ความบีบคั้นจากโจรบ้าง
เพื่อเปลื้องหนี้สินบ้าง ทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวเกิดอันตรายบ้าง
ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลกเพื่อประโยชน์นี้แล
ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้เป็นอย่างดีในน้ำลึกเพียงนั้น
ขุมทรัพย์นั้นทั้งหมดย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาในกาลทั้งปวงทีเดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่เสียบ้าง
ความจำของเขาย่อมหลงลืมเสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง
ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง
เมื่อใดเขาสิ้นบุญ เมื่อนั้นขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมพินาศไป
ขุมทรัพย์คือบุญ เป็นขุมทรัพย์อันผู้ใด เป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล ความสำรวม และความฝึกตนในเจดีย์ก็ดี
ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่าอันผู้นั้นฝังไว้ดีแล้ว
ใคร ๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนไป
บรรดาโภคะทั้งหลายเมื่อเขาจำต้องละไป
เขาย่อมพาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป
ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้
บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น
บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึง ใคร่ทั้งปวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งผลใด ๆ ผลนั้น ๆ ทั้งหมด
อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ
ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี
ความเป็นผู้มีบริวาร อิฐผลทั้งปวงนั้น
อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นพระราชาประเทศราช ความเป็นใหญ่ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก
แม้ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในทิพกาย อิฐผลทั้งปวงนั้น
อันเทวดาและมนุษย์ ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
มนุษย์สมบัติ ความยินดีในเทวโลก และนิพพานสมบัติ อิฐผลทั้งปวงนี้
เทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความที่พระโยคาวจร ถ้าเมื่ออาศัยคุณ เครื่องถึงพร้อมคือมิตร
แล้วประกอบอยู่โดยอุบายอันแยบคายไซร้ เป็นผู้มีความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
อิฐผลทั้งปวงนี้
อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ปฏิสัมภิทาวิโมกข์
สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ อิฐผลทั้งปวงนี้
อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนี้
เป็นไปเพื่อประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น
บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความที่บุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว ฯ
จบนิธิกัณฑ์