บิณฑบาต
(1) ๘. ปิณฑปาตสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ต้นกุ่ม
สนทนากันถึงเรื่องเป็นไปในระหว่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ
ย่อมได้ฟังเสียงอันเป็นที่พอใจด้วยหู ย่อมได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วยจมูก
ย่อมได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจด้วยลิ้น
ย่อมได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจด้วยกาย ตามกาลอันสมควร
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง
ย่อมเที่ยวไป บิณฑบาต
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจงถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด
แม้เราทั้งหลายก็จักได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ ได้ฟังเสียง อันเป็นที่พอใจด้วยหู
ได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วยจมูก
ได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจด้วยลิ้น ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจด้วยกาย
ตามกาลอันสมควร
แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต
ภิกษุเหล่านั้นสนทนากถาค้างอยู่ในระหว่างเพียงนี้
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ได้เสด็จเข้าไปถึงโรงกลม
ใกล้ต้นกุ่ม แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ
และเธอทั้งหลายสนทนาเรื่องอะไรค้างไว้ในระหว่าง
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต
นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ต้นกุ่มนี้ เกิดสนทนากันในระหว่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
เที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ ...
แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นผู้อันมหาชน สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนาเรื่องค้างไว้ในระหว่างนี้แล
ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พึงกล่าวเรื่องเห็นปานนี้นั้นไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายประชุมกันแล้วพึงกระทำอาการ ๒ อย่าง คือ
ธรรมีกถา หรือดุษณีภาพอันเป็นอริยะ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ ฯ
จบสูตรที่ ๘
(2) สันโดษ
เล่มที่ ๙
[๑๒๔] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ?
ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย
ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
(3) ปสาทกรธัมมาทิบาลี
เล่มที่ ๒๐
[๒๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ความเป็นผู้ถือทรงไตรจีวร ความเป็นพระธรรมกถึก
ความเป็นพระวินัยธร ความเป็นผู้มีพระพุทธพจน์อันได้สดับแล้วมาก ความเป็นผู้มั่นคง
อากัปปสมบัติ บริวาร สมบัติ ความเป็นผู้มีบริวารมาก ความเป็นกุลบุตร ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม
ความเป็นผู้เจรจาไพเราะ ความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย นี้เป็นกึ่งหนึ่งของลาภ
ฯ
[๒๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญปฐมฌานแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า
อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า
ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งปฐมฌานนั้นเล่า ฯ
[๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เจริญทุติยฌานแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ
... เจริญตติยฌาน ... เจริญจตุตถฌาน ... เจริญเมตตาเจโตวิมุติ ... เจริญกรุณาเจโตวิมุติ
... เจริญมุทิตาเจโตวิมุติ ... เจริญอุเบกขาเจโตวิมุติ ... พิจารณากายในกายอยู่
พึงเป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก ...
พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ... พิจารณาจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
... ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด
เกิดขึ้น ... ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ... ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร
ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ... ยังฉันทะให้เกิด
พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฝือ
เพื่อความมีมาก เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
... เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร ... เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร
... เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร ... เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร
... เจริญสัทธินทรีย์ ... เจริญวิริยินทรีย์ ... เจริญสตินทรีย์ ... เจริญสมาธินทรีย์
... เจริญปัญญินทรีย์ ... เจริญสัทธาพละ ... เจริญวิริยพละ ... เจริญสติพละ
... เจริญสมาธิพละ ... เจริญปัญญาพละ ... เจริญสติสัมโพชฌงค์ ... เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
... เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... เจริญปีติสัมโพชฌงค์ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ... เจริญสัมมาทิฏฐิ
... เจริญสัมมาสังกัปปะ ... เจริญสัมมาวาจา ... เจริญสัมมากัมมันตะ ... เจริญสัมมาอาชีวะ
... เจริญสัมมาวายามะ ... เจริญสัมมาสติ ... ถ้าภิกษุเจริญสัมมาสมาธิแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท
ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิเล่า
ฯ