[๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี
จุติจากชั้นดุสิตแล้ว มีพระสติสัมปชัญญะ เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใดพระโพธิสัตว์จุติจาก
ชั้นดุสิต เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เมื่อนั้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสง
สว่างอันยิ่งไม่มีประมาณปรากฎในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่าง
ซึ่งอยู่ที่สุดโลก มิได้ถูกอะไรปกปิดไว้ ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และ
พระอาทิตย์เหล่านี้ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่
ทั้งสองชนิดนั้น แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฎล่วงเทวานุภาพของเทวดา
ทั้งหลาย ถึงสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงนั้น
ว่า พ่อเฮ้ย ได้ยินว่า ถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งหมื่นโลก
ธาตุนี้ ย่อมหวั่นไหว สะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณย่อม
ปรากฎในโลกล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ
ลงสู่พระครรภ์พระมารดา เทวบุตร ๔ องค์ ย่อมเข้าไปรักษาทิศทั้ง ๔ โดยตั้งใจว่า
ใครๆ คือ มนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ตามอย่าเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดา
ของพระโพธิสัตว์นั้นได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ
ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์โดยปรกติทรงศีล งดเว้น
จากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น
จากการกล่าวเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความ
ประมาท ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่เกิดมานัส
ซึ่งเกี่ยวด้วยกามคุณในบุรุษทั้งหลาย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมเป็นหญิงที่
บุรุษใดๆ ซึ่งมีจิตกำหนัดแล้วจะล่วงเกินไม่ได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมได้กามคุณ ๕
พระนางเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับบำเรออยู่ ข้อนี้เป็นธรรมดา
ในเรื่องนี้ ฯ
[๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆ ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของ
พระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทรงสำราญ ไม่ลำบากพระกาย
และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเสด็จอยู่
ภายในพระครรภ์มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม
นายช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง
ขาวหรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษผู้มีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นี้นั้นวางไว้ในมือแล้ว
พิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่าง
เจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้าย เขียว เหลือง แดง ขาว
หรือนวล ร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน
กันแล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา อาพาธใดๆ
ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรง
สำราญ ไม่ลำบากพระกาย และพระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทอดพระเนตร
เห็นพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จอยู่ ณ ภายในพระครรภ์ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มี
อินทรีย์ไม่บกพร่อง ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ
แล้วได้ ๗ วัน พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทิวงคตเสด็จเข้าถึงชั้นดุสิต ข้อนี้
เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ หญิงอื่นๆ บริหารครรภ์
๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเหมือนอย่างนั้น
ไม่ พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน
ถ้วน จึงประสูติ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์
ย่อมไม่ประสูติเหมือนหญิงอื่นๆ ซึ่งนั่งหรือนอนคลอด ส่วนพระมารดาของ
พระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติพระโพธิสัตว์ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์
เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา พวกเทวดารับก่อน พวกมนุษย์รับทีหลัง ข้อนี้
เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ
ออกจากพระครรภ์พระมารดาและยังไม่ทันถึงแผ่นดิน เทวบุตร ๔ องค์ประคองรับ
พระโพธิสัตว์นั้นแล้ววางไว้เบื้องหน้าพระมารดา กราบทูลว่า ขอจงมีพระทัยยินดีเถิด
พระเทวี พระโอรสของพระองค์ที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่ นี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ
ออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่างง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำ
ไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ
อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วมณีอันบุคคล
วางลงไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ แก้วมณีย่อมไม่ทำผ้ากาสิกพัสตร์ให้เปรอะเปื้อนเลย
ถึงแม้ผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำแก้วมณีให้เปรอะเปื้อน เพราะเหตุไรจึงเป็นดังนั้น
เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของบริสุทธิ์ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
แล ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เสด็จออกอย่าง
ง่ายดายทีเดียว ไม่เปรอะเปื้อนด้วยน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปรอะเปื้อน
ด้วยโลหิต ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์
เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา ธารน้ำย่อมปรากฏจากอากาศสองธาร เย็นธาร
หนึ่ง ร้อนธารหนึ่ง สำหรับกระทำอุทกกิจ แก่พระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้
เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้ว
ได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้าน
ทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว และเมื่อฝูงเทพดากั้นเสวตฉัตรตามเสด็จอยู่
ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก
เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้
มี ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใด พระโพธิสัตว์
เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา เมื่อนั้น ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสงสว่างอันยิ่ง
ไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่างซึ่งอยู่ที่สุด
โลกมิได้ถูกอะไรปกปิด ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านี้
ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่ทั้งสองชนิดนั้น
แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ถึง
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงสว่างนั้นว่า
พ่อเฮ้ย ได้ยินว่าถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน และหมื่นโลกธาตุนี้
ย่อมหวั่นไหวสะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฏในโลก
ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้วแล
พวกอำมาตย์ได้กราบทูลแด่พระเจ้าพันธุมาว่า ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์
ประสูติแล้ว ขอพระองค์จงทอดพระเนตร พระราชโอรสนั้นเถิด ภิกษุทั้งหลาย
พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่งเรียกพวก
พราหมณ์ผู้รู้นิมิตมาแล้วตรัสว่า ขอพวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตผู้เจริญจงตรวจดู
พระราชกุมารเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์ผู้รู้นิมิตได้เห็นพระวิปัสสีราชกุมาร
นั้นแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมานั้นดังนี้
ขอเดชะ ขอพระองค์จงดีพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่ทรง
เกิดแล้วมีศักดิ์ใหญ่ ข้าแต่มหาราช เป็นลาภของพระองค์ ผู้เป็นเจ้าของสกุล
อันเป็นที่บังเกิดแห่งพระราชโอรส เห็นปานดังนี้ ขอเดชะ พระองค์ได้ดีแล้ว
เพราะพระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ซึ่งมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่
เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชา
โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มี
ราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว
แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์
มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้
พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน
มีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ฯ
ขอเดชะ ก็พระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหล่าไหน
อันเป็นเหตุให้มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจักได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มี
มหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้วมีพระราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วย
แก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ฯลฯ ครอบครองแผ่นดินมีสาคร ๔ เป็นขอบเขต
ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา
คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ฯ
[๒๙] ๑. ขอเดชะ ก็ พระราชกุมารนี้มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี
(เรียบเสมอ) ข้าแต่สมมติเทพ การที่พระราชกุมารนี้มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี
นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ
๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระราชกุมารนี้ มีจักรเกิดขึ้น
มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ข้าแต่สมมติเทพ แม้
การที่พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระราชกุมารนี้มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน
มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ
๓. มีส้นพระบาทยาว ฯ
๔. มีพระองคุลียาว ฯ
๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ฯ
๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ฯ
๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ฯ
๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย ฯ
๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึง
พระชาณุทั้งสอง ฯ
๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ฯ
๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณแห่งทองคำ คือ มีพระตจะประดุจหุ้มด้วย
ทอง ฯ
๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ใน
พระกายได้ ฯ
๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ ฯ
๑๔. มีพระโลมชาติที่มีปลายช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอก
อัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ ฯ
๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม ฯ
๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน ฯ
๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ ฯ
๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็ม ฯ
๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์
พระกายของพระองค์เท่ากับวาของพระองค์ ฯ
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน ฯ
๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี ฯ
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ฯ
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ฯ
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ฯ
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง ฯ
๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม ฯ
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ ฯ
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกการวิก ฯ
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท (ดำคม) ฯ
๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค ฯ
๓๑. มีพระอุณณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างแห่งขนง มีสีขาวอ่อนควร
เปรียบด้วยนุ่น ฯ
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้าแต่สมมติเทพ แม้
การที่พระราชกุมารนี้ มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ ก็เป็นมหาปุริส
ลักษณะของมหาบุรุษนั้น ฯ
[๓๐] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหล่า
นี้ ซึ่งมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔
เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายาแก้ว
เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้อง
ใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออก
ผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส
อันเปิดแล้วในโลก ฯ
[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาโปรดให้พวก
พราหมณ์ผู้รู้นิมิตนุ่งห่มผ้าใหม่แล้ว เลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกสิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งตั้งพี่เลี้ยงนางนมแก่พระวิปัสสี
ราชกุมาร หญิงพวกหนึ่งให้เสวยน้ำนม หญิงพวกหนึ่งให้สรงสนาน หญิงพวกหนึ่ง
อุ้ม หญิงพวกหนึ่งใส่สะเอว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ราชบุรุษทั้งหลาย ได้กั้นเสวตฉัตรเพื่อพระวิปัสสี
ราชกุมารผู้ประสูติแล้วนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน หญ้า
ละออง หรือน้ำค้าง อย่าได้ต้องพระองค์ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล เป็นที่รักเป็นที่
เจริญใจของชนเป็นอันมาก ดอกอุบล ดอกประทุม หรือดอกปุณฑริก เป็นที่รัก
เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก แม้ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารก็ได้เป็นที่รัก
เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมาร
นั้นอันบุคคลผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล เป็นผู้มีพระสุระ
เสียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก หมู่นกการวิก
บนหิมวันตบรรพตมีสำเนียงกลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน และเป็นที่ตั้งแห่งความ
ปรีเปรม ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีพระสุระเสียง
กลมเกลี้ยง ไพเราะ อ่อนหวาน เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิพยจักษุอันเกิดแต่กรรมวิบาก อันเป็นเหตุให้เห็นได้
ไกลโดยรอบโยชน์หนึ่งทั้งกลางวันและกลางคืน ได้ปรากฏแก่พระวิปัสสีราชกุมาร
ผู้ประสูติแล้วแล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล ไม่กะพริบ
พระเนตรเพ่งแลดู ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไม่กะพริบเนตรเพ่งแลดู
แม้ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่กะพริบพระเนตรเพ่ง
แลดู ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมญาว่า วิปัสสี ดังนี้แล ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่
พระวิปัสสีราชกุมารผู้ประสูติมาแล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาประทับนั่งในศาลสำหรับ
พิพากษาคดี ให้พระวิปัสสีราชกุมารนั่งบนพระเพลาไต่สวนคดีอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับนั่งบนพระเพลา
ของพระชนก ณ ศาลสำหรับพิพากษาคดีนั้น ทรงสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ทรงทราบ
ได้ด้วยพระญาณ พระราชกุมารสอดส่องพิจารณาคดีแล้ว ย่อมทรงทราบได้ด้วย
พระญาณ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สมญาว่า วิปัสสี ดังนี้แล ได้บังเกิดขึ้นแล้ว
แก่พระวิปัสสีราชกุมารนั้น โดยยิ่งกว่าประมาณ ลำดับนั้นแล พระเจ้าพันธุมา
ได้โปรดให้สร้างปราสาทสำหรับพระวิปัสสีราชกุมาร ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับ
ประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูหนาว อีกหลังหนึ่งสำหรับประทับ
ในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วยเบ็ญจกามคุณ ได้ยินว่า พระวิปัสสี
ราชกุมารได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในปราสาท
สำหรับประทับในฤดูฝน ในบรรดาปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น มิได้เสด็จลงสู่ปราสาท
ชั้นล่างเลย ดังนี้แล ฯ
จบภาณวารที่หนึ่ง
--------------
[๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี หลาย
ร้อยปี หลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า นายสารถี
ผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด ภิกษุทั้งหลาย
นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว เทียมยานที่ดีๆ เสร็จแล้ว จึง
กราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้เทียมยานที่ดีๆ
เสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานอันดี เสด็จ
ประพาสพระอุทยาน พร้อมกับยานที่ดีๆ ทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อ
เสด็จประพาสพระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรชายชรา มีซี่โครงคดเหมือนกลอน
หลังงอ ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น
ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายผู้นี้
ถูกใครทำอะไรให้ แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ร่างกายของเขาก็ไม่
เหมือนของคนอื่นๆ ฯ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา ฯ
นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนชรา ฯ
ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนชรา บัดนี้ เขาจักพึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ฯ
นายสารถี ถึงตัวเราก็จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่
ไปได้หรือ ฯ
ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนแต่จะต้องมีความแก่เป็น
ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ฯ
นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน
เธอจงนำเรากลับภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ
นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปยัง
ภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภายใน
บุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัยทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อ
ว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่
จักปรากฏแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ
[๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี
มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้อภิรมย์ ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ
นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัย ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถี
กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน
ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน ดังนี้ ตรัส
ถามต่อไปว่า ดูกรนายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวนได้
ทอดพระเนตรอะไรเข้า ฯ
นายสารถีได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส
พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรชายชรามีซี่โครงคดเหมือนกลอน หลังงอ ถือไม้เท้า
เดินงกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น ครั้นได้ทอดพระเนตร
แล้ว ได้มีรับสั่งถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายผู้นี้ถูกใครทำอะไร
ให้ แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ร่างกายของเขาก็ไม่เหมือนของ
คนอื่นๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แล เรียกว่า คนชรา พระองค์
ได้ตรัสถามย้ำว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนชรา เมื่อข้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนชรา บัดนี้เขาจักพึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
พระราชกุมารได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความแก่เป็น
ธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้หรือ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ
พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความ
แก่ไปได้ พระองค์ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับ
ภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปภายในบุรีจากสวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
รับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมาร แล้วได้นำเสด็จกลับไปภายในบุรีจากพระอุทยาน
นั้น ขอเดชะ พระราชกุมารนั้นแล เสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้า
พระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของ
น่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏแก่ผู้ที่เกิด
มาแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมา ทรงพระดำริว่า วิปัสสี
ราชกุมารอย่าไม่เสวยราชย์เสียเลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิตเลย
ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์อย่าพึงเป็นความจริงเลย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้บำรุงบำเรอ
พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี
ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวช
เป็นบรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับ
การบำรุงบำเรออยู่ ฯ
[๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี พระ
วิปัสสีราชกุมาร ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร ขณะเมื่อเสด็จประพาส
พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรคนเจ็บ ถึงความลำบาก เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่
ในมูตรและกรีสของตน คนอื่นๆ ต้องช่วยพยุงให้ลุก ผู้อื่นต้องช่วยให้กิน ครั้น
ทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ชายนี้ถูกใคร
ทำอะไรให้ แม้ตาทั้งสองของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่
เหมือนของคนอื่นๆ ฯ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ฯ
นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า คนเจ็บ ฯ
ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ไฉนเล่าเขาจะพึงหายจากความเจ็บ
นั้นได้ ฯ
นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น
ความเจ็บไปได้หรือ ฯ
ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้า ล้วนจะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ฯ
นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน
เธอจงนำเรากลับไปยังภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ
นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปยัง
ภายในบุรี จากพระอุทยานนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงภาย
ในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า
ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่ ความ
แก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ
[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี
มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้อภิรมย์ในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ
นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัยในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ นายสารถี
กราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน
ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยานดังนี้ ตรัสถาม
ต่อไปว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวนได้ทอดพระเนตร
อะไรเข้า ฯ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส
พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรคนเจ็บ ถึงความลำบาก เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่
ในมูตรและกรีสของตน บุคคลอื่นๆ ต้องช่วยพยุงให้ลุก ผู้อื่นต้องช่วยให้กิน
ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ได้รับสั่งถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย ชาย
คนนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ตาทั้งสองของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ แม้ศีรษะ
ของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แล
เรียกว่า คนเจ็บ พระองค์ได้ตรัสถามย้ำว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า
คนเจ็บ เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนเจ็บ ไฉน
เล่าเขาจะพึงหายจากความเจ็บนั้นได้ พระราชกุมารได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย
แม้ถึงตัวเราก็จะต้องมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้หรือ แต่พอ
ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมี
ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ พระองค์ตรัสสั่งว่า
นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรา
กลับไปยังภายในบุรีจากสวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสี-
*ราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จกลับไปภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ขอเดชะ พระราช-
*กุมารนั้นแล เสด็จถึงภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์ เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า
ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า ความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า
เมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บป่วยจักปรากฏแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า วิปัสสี
ราชกุมาร อย่าไม่เสวยราชเสียเลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิต
เลย ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์อย่าพึงเป็นความจริงเลย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้บำรุงบำเรอ
พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี
ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวช
เป็นบรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับ
การบำรุงบำเรออยู่ ฯลฯ
[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส
พระอุทยานได้ทอดพระเนตรหมู่มหาชนประชุมกัน และวอที่ทำด้วยผ้าสีต่างๆ
ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถีผู้สหาย หมู่มหาชน
เขาประชุมกันทำไม และเขาทำวอด้วยผ้าสีต่างๆ กันทำไม นายสารถีได้กราบทูล
ว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า คนตาย พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสสั่งว่า นายสารถี
ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้
ขับรถไปทางคนตายนั้น ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร
คนตายไปแล้ว ได้ตรัสเรียกนายสารถีมารับสั่งถามว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือ
เรียกว่าคนตาย ฯ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนตาย บัดนี้ มารดาบิดา
หรือญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นเขา แม้เขาก็จักไม่เห็นมารดาบิดาหรือญาติ
สาโลหิตอื่นๆ ฯ
นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น
ความตายไปได้หรือ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จัก
ไม่เห็นเราหรือ แม้เราก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติ
สาโลหิตอื่นๆ หรือ ฯ
ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้องมีความตายเป็น
ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติ
สาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จะไม่เห็น พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี
หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับ
ภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปภายในบุรีจากสวนนี้เถิด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำ
เสด็จกลับไปภายในบุรี จากพระอุทยานนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึง
ภายในบุรีแล้ว ทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยิน
ว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะธรรมดาว่า เมื่อความเกิดมีอยู่
ความแก่จักปรากฏ ความเจ็บจักปรากฏ ความตายจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมารับสั่งหานายสารถี
มาตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่งสวน
แลหรือ นายสารถีผู้สหาย ราชกุมารพอพระทัยในภูมิภาคแห่งสวนแลหรือ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงอภิรมย์ในภูมิภาคแห่ง
พระอุทยาน ขอเดชะ พระราชกุมารมิได้ทรงพอพระทัยในภูมิภาคแห่งพระอุทยาน
ดังนี้ ตรัสถามต่อไปว่า นายสารถีผู้สหาย ก็ราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาสสวน
ได้ทอดพระเนตรอะไรเข้า ฯ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชกุมารขณะเมื่อเสด็จประพาส
พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรหมู่มหาชนประชุมกันและวอที่ทำด้วยผ้าสีต่างๆ แล้ว
ได้ตรัสถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย หมู่มหาชนประชุมกันทำไม เขา
กระทำวอด้วยผ้าสีต่างๆ กันทำไม เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า นี้แลเรียกว่า
คนตาย พระองค์ได้ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
คนตายนั้น ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้ขับรถ
ไปทางคนตายนั้น ขอเดชะ พระราชกุมารได้ทอดพระเนตรคนตายเข้าแล้วได้ตรัส-
*ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่าคนตาย เมื่อข้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าคนตาย บัดนี้ มารดาบิดาและญาติสาโลหิตอื่นๆ
จักไม่เห็นเขา แม้เขาก็จักไม่เห็นมารดาบิดาหรือญาติสาโลหิตอื่นๆ ดังนี้ พระองค์
ได้ตรัสถามว่า นายสารถีผู้สหาย ถึงตัวเราก็จะต้องมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น
ความตายไปได้หรือ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็น
เราหรือ แม้เราก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเทวีหรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ หรือ
เมื่อข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์และข้าพระพุทธเจ้าล้วนแต่จะต้อง
มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ พระเจ้าแผ่นดิน พระเทวี หรือ
พระญาติสาโลหิตอื่นๆ จักไม่เห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จักไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระเทวี หรือพระญาติสาโลหิตอื่นๆ ดังนี้ พระองค์ตรัสสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย
ถ้าเช่นนั้น วันนี้พอแล้วสำหรับภูมิภาคแห่งสวน เธอจงนำเรากลับไปในบุรีจาก
สวนนี้ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้นำเสด็จ
กลับไปภายในบุรีจากพระอุทยานนั้น ขอเดชะ พระราชกุมารนั้น เสด็จถึงภายในบุรี
แล้วทรงเป็นทุกข์เศร้าพระทัย ทรงพระดำริว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดเป็นของน่ารังเกียจ เพราะเมื่อความเกิดมีอยู่ ความแก่จักปรากฏ ความ
เจ็บจักปรากฏ ความตายจักปรากฏ แก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า วิปัสสี-
*ราชกุมารอย่าไม่พึงเสวยราชย์เลย วิปัสสีราชกุมารอย่าออกผนวชเป็นบรรพชิตเลย
ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์ทั้งหลายอย่าเป็นความจริงเลย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพันธุมาได้รับสั่งให้บำรุงบำเรอ
พระวิปัสสีราชกุมารด้วยกามคุณ ๕ ยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยอาการที่จะให้พระวิปัสสี-
*ราชกุมารเสวยราชย์ โดยอาการที่จะไม่ให้พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จออกผนวชเป็น
บรรพชิต โดยอาการที่จะให้ถ้อยคำของเนมิตตพราหมณ์เป็นผิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระวิปัสสีราชกุมารเพียบพร้อม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕
ได้รับการบำรุงบำเรออยู่ ฯ
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โดยกาลล่วงไปหลายปี หลาย
ร้อยปี หลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า นายสารถี
ผู้สหาย เธอจงเทียมยานที่ดีๆ เราจะไปในสวนเพื่อชมพื้นที่อันสวยสด
ภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้วเทียมยานที่ดีๆ เสร็จ
แล้ว ได้กราบทูลแด่พระวิปัสสีราชกุมารว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเทียมยาน
ที่ดีๆ เสร็จแล้ว บัดนี้ พระองค์ทรงกำหนดเวลาอันสมควรเถิด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานที่ดีเสด็จ
ประพาสพระอุทยานพร้อมกับยานที่ดีๆ ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีราชกุมาร
ขณะเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรบุรุษบรรพชิตศีรษะโล้น
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ครั้นทอดพระเนตรแล้ว จึงรับสั่งถามนายสารถีว่า นายสารถี
ผู้สหาย บุรุษนี้ถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ แม้ผ้า
ทั้งหลายของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่นๆ
นายสารถีกราบทูลว่า ขอเดชะ นี้แลเรียกว่าบรรพชิต ฯ
นายสารถีผู้สหาย นี้หรือเรียกว่า บรรพชิต ฯ
ขอเดชะ นี้แลเรียกว่า บรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี การ
ประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญเป็น
ความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ
นายสารถีผู้สหาย ดีละ ที่บุคคลนั้นได้นามว่า บรรพชิต การประพฤติ
ธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี
การกระทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์
เป็นความดี นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางบรรพชิตนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ขับรถ
ไปทางบรรพชิตนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิต
นั้นว่า สหาย ท่านถูกใครทำอะไรให้ แม้ศีรษะของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ
แม้ผ้าทั้งหลายของท่านก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ ฯ
บรรพชิตนั้นได้ทูลว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพแลชื่อบรรพชิต ฯ
สหาย ก็ท่านหรือชื่อบรรพชิต ฯ
ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี
การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญ
เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ
ดีละสหาย ที่ท่านได้นามว่าบรรพชิต การประพฤติธรรมเป็นความดี
การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การประพฤติกุศลเป็นความดี การกระทำบุญ
เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี การอนุเคราะห์แก่หมู่สัตว์เป็นความดี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีราชกุมารได้ตรัสเรียกนาย
สารถีมาสั่งว่า นายสารถีผู้สหาย ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับไปภายในบุรี
จากสวนนี้ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็น
บรรพชิต ณ สวนนี้แหละ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีรับรับสั่งของพระวิปัสสีราชกุมารแล้ว ได้พา
รถกลับไปยังภายในบุรี จากสวนนั้น ส่วนพระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศา
และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ณ
พระอุทยานนั้นเอง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนในพระนครพันธุมดีราชธานีประมาณ
๘๔,๐๐๐ คน ได้สดับข่าวว่า พระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ
ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตเสียแล้ว ดังนี้ ครั้นแล้ว
มหาชนเหล่านั้น ได้ดำริดังนี้ว่า ก็พระวิปัสสีราชกุมารได้ทรงปลงพระเกศาและ
พระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตในพระธรรม
วินัยใด พระธรรมวินัยนั้นคงไม่เลวทรามเป็นแน่ บรรพชานั้นคงไม่เลวทราม
เป็นแน่ แต่พระวิปัสสีราชกุมารยังทรงปลง พระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้า
กาสาวพัสตร์เสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิตได้ พวกเราทำไมจึงจักบวชไม่ได้เล่า ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล หมู่มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้พากัน
โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสี
โพธิสัตว์แล้ว ได้ยินว่าพระวิปัสสีโพธิสัตว์อันบริษัทนั้นห้อมล้อม เสด็จเที่ยวจาริก
ไปในบ้าน นิคม ชนบท และราชธานี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์เสด็จหลีกออกเร้นอยู่
ในที่ลับ ได้ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ว่า การที่เราเป็นผู้ปะปนอยู่เช่นนี้ ไม่สมควรเลย
ไฉนหนอ เราพึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว ภิกษุทั้งหลาย ครั้นสมัยต่อมา พระ
วิปัสสีโพธิสัตว์ได้เสด็จหลีกออกจากหมู่ประทับอยู่แต่พระองค์เดียว บรรพชิต
๘๔,๐๐๐ รูป ได้พากันไปทางหนึ่ง พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้เสด็จไปทางหนึ่ง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ผู้เสด็จหลีกออกเร้นอยู่
ในที่ลับ ได้ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ว่า โลกนี้ถึงความยาก ย่อมเกิด แก่ ตาย และ
เวียนตาย เวียนเกิด เออก็แหละบุคคลไม่รู้ชัดถึงอุบายเครื่องพ้นทุกข์ คือ ชราและ
มรณะนี้ การพ้นทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ จักปรากฏได้เมื่อไรเล่า ฯ
[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำริว่า
เมื่ออะไรมีอยู่หนอ ชราและมรณะจึงมี ชราและมรณะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุ
ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี ชรา-
*และมรณะมีเพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์เพราะทรง
กระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ ชาติจึงมี ชาติมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัส
รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพมีอยู่ชาติจึงมี ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่
พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ ภพจึงมี ภพมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้
ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานมีอยู่ภพจึงมี ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มี
แล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย
อันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การ
ตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ดังนี้
ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอัน-
*แยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย
อันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะมีเพราะสฬายตนะ
เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะอะไรเป็นปัจจัยภิกษุทั้งหลายครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีเพราะนามรูป
เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปมีเพราะวิญญาณ
เป็นปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
มีอยู่หนอ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็น
ปัจจัย ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดย
อุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า วิญญาณ
นี้ย่อมกลับเวียนมาแต่นามรูป หาใช่อย่างอื่นไม่ โดยความเป็นไปเพียงเท่านี้ สัตว์
โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุปบัติบ้าง ความเป็นไปนั้นคือ
วิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย สฬายตนะ
มีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เวทนามีเพราะ
ผัสสะเป็นปัจจัย ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย อุปาทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย
ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรามรณะโสกปริเทวทุกข
โทมนัสและอุปายาสย่อมมีพร้อมเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า สมุทัยๆ
(เหตุเกิดขึ้นพร้อมๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรม
ทั้งหลายที่พระองค์มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย ฯ
[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ได้ทรงพระ
ดำริว่า เมื่ออะไรไม่มีเล่าหนอ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะ
จึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและ
มรณะย่อมไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสี
โพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อภพไม่มีชาติย่อมไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ดังนี้ ได้มี
แล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออุปาทานไม่มี ภพย่อมไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย
อันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ อุปาทานจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย
ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานย่อมไม่มี เพราะตัณหาดับ
อุปาทานจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหาจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาย่อมไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหา
จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย
อันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนาจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาย่อมไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนา
จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะย่อมไม่มี เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ สฬายตนะจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย
ครั้งนั้นแล การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะย่อมไม่มี เพราะนาม
รูปดับ สฬายตนะจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำ
ไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่มีเล่าหนอ นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปย่อมไม่มี เพราะวิญญาณดับ นาม
รูปจึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัย
โดยอุบายอันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า เมื่ออะไร
ไม่เล่าหนอวิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
การตรัสรู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณย่อมไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณ
จึงดับ ดังนี้ ได้มีแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ เพราะทรงกระทำไว้ในพระทัยโดยอุบาย
อันแยบคาย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพระดำริว่า หนทาง
เพื่อความตรัสรู้นี้เราได้บรรลุแล้วแล คือเพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะ
วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาจึงดับ ตัณหาดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ
ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับโดย
ไม่เหลือ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปรีชา ความรู้แจ้งชัด แสงสว่างว่า นิโรธๆ
(ความดับๆ ) ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์
มิได้สดับมาแล้วในกาลก่อนเลย ฯ
[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้นสมัยอื่น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ทรงพิจารณา
เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า ดังนี้รูป ดังนี้เหตุ
เกิดแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป ดังนี้เวทนา ดังนี้เหตุเกิดแห่งเวทนา ดังนี้
ความดับแห่งเวทนา ดังนี้สัญญา ดังนี้เหตุเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่ง
สัญญา ดังนี้สังขาร ดังนี้เหตุเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร ดังนี้
วิญญาณ ดังนี้เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ เมื่อพระองค์
ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ไม่นานนัก
จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นแล ฯ
จบภาณวารที่สอง