บัณฑิต
1) คาถาธรรมบท ปัณทิตวรรคที่
๖
เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๗
บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ
เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์
มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญา
พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น
มีแต่คุณที่ประเสริฐ
โทษที่ลามกย่อมไม่มี
บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอน
และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ
ก็บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษ
บุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม
ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์
ควรคบมิตรดี ควรคบบุรุษสูงสุด
บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม
มีใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ
ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป
พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร
พวกช่างถากย่อมถากไม้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน
ภูเขาหินล้วนเป็นแท่งทึบ
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
ฉันนั้น
ห้วงน้ำลึก ใสไม่ขุ่นมัว
แม้ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว
ย่อมผ่องใส ฉันนั้น
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงโดยแท้
สัตบุรุษทั้งหลายหาใคร่กามบ่นไม่
บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่แสดงอาการสูง ๆ ต่ำ ๆ
บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน
ไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น
ไม่พึงปรารถนาบุตร
ไม่พึงปรารถนาทรัพย์
ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น
ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม
บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีล
มีปัญญา
ประกอบด้วยธรรมในหมู่มนุษย์
ชนผู้ที่ถึงฝั่งมีน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น
ก็ชนเหล่าใดแล
ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้า
ตรัสแล้วโดยชอบ
ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยากแล้ว
จักถึงฝั่ง
บัณฑิตออกจากอาลัยแล้ว
อาศัยความไม่มีอาลัย
ละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว
บัณฑิตพึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก
ละกามทั้งหลายแล้ว
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต
ชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ
ในองค์แห่งธรรมสามัคคี
เป็นเครื่องตรัสรู้
ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น
ยินดีแล้วในการสละคืนความถือมั่น
ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้ว
มีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก
ฯ
จบปัณฑิตวรรคที่ ๖
2) คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่
๒
เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๒
ความไม่ประมาทเป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย
ชนเหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว
บัณฑิตทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ทราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว
ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท
ยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์
เพ่งพินิจ
มีความเพียรเป็นไปติดต่อ
มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์
ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ
หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น
มีสติ
มีการงานอันสะอาด
ผู้ใคร่ครวญแล้วจึงทำ
ผู้สำรวมระวัง
ผู้เป็นอยู่โดยธรรม
และผู้ไม่ประมาท
ผู้มีปัญญาพึงทำที่พึงที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้
ด้วยความหมั่น ความไม่ประมาท
ความสำรวมระวัง และความฝึกตน
ชนทั้งหลายผู้เป็นพาลมีปัญญาทราม
ย่อมประกอบตามความประมาท
ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท
เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด
ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาท
อย่าประกอบการชมเชยด้วยสามารถความยินดีในกาม
เพราะว่าคนผู้ไม่ประมาทแล้ว
เพ่งอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์
เมื่อใดบัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท
เมื่อนั้นบัณฑิตผู้มีความประมาทอันบรรเทาแล้วนั้น
ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท
ไม่มีความโศก
ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความโศก
นักปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาล
เหมือนบุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่ที่ภาคพื้น
ฉะนั้น ผู้มีปัญญาดี
เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว
ย่อมไม่ประมาท
เมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ
ย่อมตื่นอยู่โดยมาก
ย่อมละบุคคลเห็นปานนั้นไป
ประดุจม้ามีกำลังเร็วละม้าไม่มีกำลังไป
ฉะนั้น
ท้าวมัฆวาฬถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาทั้งหลายด้วยความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ความประมาทบัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ
ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป
ดังไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไป
ฉะนั้น
ภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาทหรือเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อมรอบ
ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว ฯ
จบอัปปมาทวรรคที่ ๒
3) เล่มที่ ๗ ข้อ ๓๘๘
ความดี คนดีทำง่าย
ความดี คนชั่วทำยาก
ความชั่ว คนชั่วทำง่าย
แต่อารยชนทำความชั่วได้ยาก ฯ