มรณัสสติ
เล่ม 15 ข้อ 401
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม
เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือผู้มีกรรมเป็นบาปจักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญจักไปสู่สุคติฯ
เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามอันจะนำไปสู่สัมปรายภพ สั่งสมไว้ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก
ชราสูตร เล่ม 19 ข้อ 962
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพารามใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วประทับนั่งผินพระปฤษฎางค์ผิงแดดในที่มีแสงแดดส่องมาจากทิศประจิมอยู่
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว
บีบนวดพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยฝ่ามือพลางกราบทูลว่า
[๙๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว เวลานี้พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน พระสรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว พระกายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนของอินทรีย์ คือ พระจักษุ พระโสตะ พระฆานะ พระชิวหา พระกาย ก็ปรากฏอยู่.
[๙๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ชราธรรมย่อมมีในความเป็นหนุ่มสาว พยาธิธรรมย่อมมีในความไม่มีโรค มรณธรรมย่อมมีในชีวิต ผิวพรรณไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน สรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว กายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ก็ปรากฏอยู่.
[๙๖๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติความแก่อันทำให้ผิวพรรณทรามไป รูปอันน่าพึงใจก็คงถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี (ผู้นั้นก็ไม่พ้นความตายไปได้) สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นเบื้องหน้า ความตายย่อมไม่ละเว้นอะไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว.
เล่ม 20 ข้อ 502
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้ เป็นอมาตาปุตติกภัย
๓ อย่างนั้นเป็น ไฉน คือ
ภัยคือความแก่ ๑ ภัยคือความเจ็บ ๑ ภัยคือความตาย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุตรแก่ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงแก่
บุตรของเรา อย่าได้แก่ ก็หรือว่า
เมื่อมารดาแก่ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า
เราจงแก่ มารดาของเราอย่าได้แก่
เมื่อบุตรเจ็บไข้ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า
เราจงเจ็บไข้ บุตรของเราอย่าเจ็บไข้ ก็หรือว่า
เมื่อมารดาเจ็บไข้ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า
เราจงเจ็บไข้ มารดาของเราอย่าเจ็บไข้
เมื่อบุตรกำลังจะตาย มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า
เราจงตาย บุตรของเราอย่าได้ตาย ก็หรือว่า
เมื่อมารดากำลังจะตาย บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า
เราจงตาย มารดาของเรา อย่าได้ตาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้แล เป็นอมาตาปุตติกภัย ฯ
ฐานสูตร เล่ม 22 ข้อ 48
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา[ของเรา]
อย่าแก่ ๑ ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา[ของเรา] อย่าเจ็บไข้ ๑ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา[ของเรา]
อย่าตาย ๑ ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา[ของเรา] อย่าสิ้นไป ๑ ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา[ของเรา]
อย่าฉิบหาย ๑ อันสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว
เขาย่อมไม่เห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น
แก่ไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป
การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเองก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว
พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน
แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ
แม้พวกมิตรพึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก
ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร
คือ ความโศกที่มีพิษแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ...
สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมตายไป ...
สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ...
สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป
เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว
เขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป
โดยที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป
การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น
ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว
พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน
แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ
แม้พวกมิตรพึงเสียใจ ดังนี้เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว
เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ
ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป
โดยที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ
การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น
ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก
ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง
ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ
ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ
ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน
อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ...
สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป
สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ...
สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป
เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นว่า
ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป โดยที่แท้สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว
พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลง งมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน
แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ
แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว
อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย
นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ อันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศกปราศจากลูกศร ย่อมดับความทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้แล
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้ ฯ
เล่ม 22 ข้อ 57
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ
๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑
เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
๑ ฯ
มรณัสสติสูตรที่ ๑ เล่ม 22 ข้อ 290
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค
เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค
เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค
เราพึงกระทำกิจให้มากหนอและภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวสี่คำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค
เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ประมาท
เจริญมรณัสสติเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า ส่วนภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ และภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า
โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ
ดูกรภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณัสสติ
เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแรงกล้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาท จักเจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอย่างแรงกล้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
มรณัสสติสูตรที่ ๒ เล่ม 22 ข้อ 291
[๒๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทสร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านนาทิกคาม
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป
กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ
คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ
เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่
ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังไม่ได้ละ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน
ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้
หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น
ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนผ่านไป กลางวันย่างเข้ามา
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา
แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ
หรือลมที่มีพิษเพียงศาตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาป อกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่ เราผู้กระทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอ
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวัน ยังมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำฉันทะ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้
พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือ ศีรษะนั้น ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์
ตามศึกษาในกุศลธรรม ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณัสสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุดฯ
สัลลสูตรที่ ๘ เล่ม 25 ข้อ 380
[๓๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆรู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก
ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์
สัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว จะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย
แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอมแล้ว
ชื่อว่าย่อมมีภัยเพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว
ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น
ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย
ก็ฉันนั้น
ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาดล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด
เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้วต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้
หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็นเหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตาย
กำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไป
เหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียว ฉะนั้น ความตายและความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้
เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่จะยังประโยชน์อะไรๆให้เกิดขึ้นได้ไซร้
บัณฑิตผู้เห็นแจ้งก็พึงกระทำความคร่ำครวญนั้น บุคคลจะถึงความสงบใจได้ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศก ก็หาไม่ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้นและสรีระของผู้นั้นก็จะซูบซีด
บุคคลผู้เบียดเบียนตนเอง ย่อมเป็นผู้ซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้ว
ย่อมรักษาตนไม่ได้ด้วยความรำพันนั้น การรำพันไร้ประโยชน์ คนผู้ทอดถอนถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้ว
ยังละความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่งขึ้น
ท่านจงเห็นคนแม้เหล่าอื่นผู้เตรียมจะดำเนินไปตามยถากรรม (และ)สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ผู้มาถึงอำนาจแห่งมัจจุแล้ว กำลังพากันดิ้นรนอยู่ทีเดียว ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการใดๆ
อาการนั้นๆย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไปในภายหลัง ความพลัดพรากกันเช่นนี้ย่อมมีได้
ท่านจงดูสภาพแห่งโลกเถิด มาณพแม้จะพึงเป็นอยู่ร้อยปีหรือยิ่งกว่านั้น ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
ต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ เพราะเหตุนั้น บุคคลฟังพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนผู้ล่วงลับ ทำกาละแล้ว กำหนดรู้อยู่ว่า บุคคลผู้ล่วงลับทำกาละแล้วนั้น
เราไม่พึงได้ว่าจงเป็นอยู่อีกเถิด ดังนี้
พึงกำจัดความรำพันเสีย บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใด
นรชนผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญา เฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสีย
โดยฉับพลันเหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตน พึงกำจัดความรำพัน
ความทะยานอยากและความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศร คือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศร
คือ กิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล ฯ
ชราสูตรที่ ๖ เล่ม 25 ข้อ 413
[๔๑๓] ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์เป็นอยู่เกิน
(๑๐๐ ปี) ไปไซร้ สัตว์นั้นก็ย่อมตายแม้เพราะชราโดยแท้แล ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก
เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยงไม่มีเลย
บุคคลเห็นว่าสิ่งนี้มีความเป็นไปต่างๆ มีอยู่ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน
บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็นของเราจำต้องละสิ่งนั้นไปแม้เพราะความตาย
บัณฑิตผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไป ในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆเป็นของเรา
บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว
แม้ฉันนั้น บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของคนทั้งหลายผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง
ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่
ชนทั้งหลาย ผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้
เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้
เที่ยวไปแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพอันต่างด้วยนรกเป็นต้นของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น
ผู้เสพที่นั่งอันสงัดว่าเป็นการสมควร มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง
ย่อมไม่ติดความร่ำไรและความตระหนี่ ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังนั้น
เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม
ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบฉันนั้น
ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็นเสียงที่ได้ฟังหรืออารมณ์ที่ได้ทราบ
ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่นผู้มีปัญญานั้นย่อมไม่ยินดี
ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล ฯ