ธรรม
(1) ธรรมิกเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลต่างระหว่างธรรมและอธรรม
เล่มที่ 26 ข้อ 332
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว
ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
สภาพทั้งสองคือ ธรรมและอธรรมย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน
อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ
เพราะฉะนั้นแหละ บุคคลเมื่อบรรเทิงอยู่ด้วยการให้โอวาท
ที่พระตถาคตผู้คงที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้
ควรทำความพอใจในธรรมทั้งหลาย
เพราะสาวกทั้งหลายของพระตถาคตผู้ประเสริฐ
เป็นนักปราชญ์ ตั้งอยู่แล้วในธรรม นับถือธรรมว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด
ย่อมนำตนให้พ้นจากทุกข์ได้
ผู้ใดกำจัดรากเง่าแห่งหัวฝี ถอนข่าย คือตัณหาได้แล้ว
ผู้นั้นเป็นผู้สิ้นสงสาร ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลอีก เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญปราศจากโทษ
ฉะนั้น.
(2) เล่มที่ 27 ข้อ 893
ดูกรญาติทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงประพฤติธรรม
ท่านทั้งหลายจงประพฤติธรรมอยู่เสมอ ๆ เถิด
ความเจริญจะมีแก่ท่านทั้งหลาย
ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.
(3) เล่มที่ 28 ข้อ 362
นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ
เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์
และแม้ชีวิตทั้งหมด.
(4) คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
เล่มที่ 25 ข้อ 11
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว
กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น
เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่
ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต
๓ อย่าง เหมือนเงามีปรกติไปตาม
ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา
คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของ ๆ เรา ดังนี้
เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับ
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา
คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของ ๆ เรา ดังนี้
เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ
ในกาลไหน ๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย
แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้
ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึกความหมายมั่น
ย่อมระงับจากชนเหล่านั้น
มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่างาม
ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน
มีความเพียรเลวเหมือนลมระรานต้นไม้ที่ทุรพล
ฉะนั้น มารย่อมรังควาญไม่ได้ ซึ่งบุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่
สำรวมดีแล้ว
ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภความเพียร
เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้
ฉะนั้น ผู้ใดยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะ และสัจจะจักนุ่งห่มผ้า กาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ส่วนผู้ใดมีกิเลส ดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว
ตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะ และสัจจะ
ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ
และมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ
ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้
ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น
ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่บุคคลมุงดี ฉันใด
ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว ฉันนั้น
บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า
ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
บุคคลผู้ทำบาปนั้น ย่อมเศร้าโศก
บุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อน
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อมบันเทิงในโลกหน้า
ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นย่อมบันเทิง
ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว
ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง
บุคคลผู้ทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่า บาปเราทำแล้ว
บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนโดยยิ่ง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกหน้า ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่า บุญอันเราทำไว้แล้ว
ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง
หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก
แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้
นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ
ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส
ฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อย
ย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และ โมหะแล้ว
รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า
นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ
จบยมกวรรคที่ ๑
(5) เล่มที่ ๒๐
[๓๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถาร ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสสันถาร ๑ ธรรมสันถาร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถาร ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสันถาร ๒ อย่างนี้
ธรรมสันถารเป็นเลิศ ฯ
[๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสปฏิสันถาร ๑ ธรรมปฏิสันถาร ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้
ธรรมปฏิสันถารเป็นเลิศ ฯ
[๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอสนา ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
อามิสเอสนา การเสาะหาอามิส ๑ ธรรมเอสนาการเสาะหาธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอสนา ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเอสนา ๒ อย่างนี้
ธรรมเอสนาเป็นเลิศ ฯ
[๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริเยสนา ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
อามิสปริเยสนา การแสวงหาอามิส ๑
ธรรมปริเยสนา การแสวงหาธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริเยสนา ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนี้
ธรรมปริเยสนาเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริเยฏฐิ ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสปริเยฏฐิ การแสวงหาอามิสอย่างสูง ๑
ธรรมปริเยฏฐิ การแสวงหาธรรมอย่างสูง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริเยฏฐิ ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาปริเยฏฐิ ๒ อย่างนี้
ธรรมปริเยฏฐิเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสบูชา ๑ ธรรมบูชา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบูชา ๒ อย่างนี้
ธรรมบูชาเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ของต้อนรับ คือ อามิส ๑
ของต้อนรับ คือ ธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาของต้อนรับแขก ๒ อย่างนี้
ของต้อนรับแขก คือ ธรรมเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสำเร็จ ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ความสำเร็จ คือ อามิส ๑
ความสำเร็จ คือ ธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสำเร็จ ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความสำเร็จ ๒ อย่างนี้
ความสำเร็จ คือ ธรรมเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเจริญ ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ความเจริญด้วยอามิส ๑
ความเจริญด้วยธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความ เจริญ ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเจริญ ๒ อย่างนี้
ความเจริญด้วยธรรมเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รัตนะ ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ รัตนะคืออามิส ๑ รัตนะคือธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รัตนะ ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดารัตนะ ๒ อย่างนี้
รัตนะคือธรรมเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสะสม ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความสะสมอามิส ๑ ความสะสมธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสะสม ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความสะสม ๒ อย่างนี้
ความสะสมธรรมเป็นเลิศ ฯ
[๔๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไพบูลย์ ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
ความไพบูลย์แห่งอามิส ๑
ความไพบูลย์แห่งธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไพบูลย์ ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความไพบูลย์ ๒ อย่างนี้
ความไพบูลย์แห่งธรรมเป็นเลิศ ฯ
(๖) เล่มที่ ๗
[๔๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเค็มรสเดียว ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน
มีวิมุตติรส รสเดียว
ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีวิมุตติรส รสเดียว แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้
เป็นข้อที่ ๖ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว พากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้ ฯ