ภาวนา
1) เวลามสูตร
เล่มที่ ๒๓
[๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
ดูกรคฤหบดี ในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯ
ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่
แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำ ผักดองเป็นที่สองฯ
พ. ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ
ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน
ทานนั้น ๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใด ๆ ในตระกูลนั้น ๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี
ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ
๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน
ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ
ฯ ดูกรคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ
ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน
ทานนั้น ๆ บังเกิดผลในตระกูลใด ๆ ในตระกูลนั้น ๆ
จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี
ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น
คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ
ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ
พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ
๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐
ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง
ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว
มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล
ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้
มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง
ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว
น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือน แม่น้ำ
ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น
ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน
ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใคร ๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด
ดูกรคฤหบดี
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยทานบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท
มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม
มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาตฯลฯ
ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค
มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ...
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม
มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต...
และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือมีผลมากกว่า
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ จบสูตรที่ ๑๐
2) ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
เล่มที่ ๑๓
[๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง
น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
[๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง
มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
[๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง
น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
[๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง
มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้น
ก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
[๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ
ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
3) ภาวนามยปัญญา
เล่มที่ ๓๕
ติกนิเทศ
[๘๐๔] ในญาณวัตถุหมวดละ ๓ นั้น
จินตามยปัญญา เป็นไฉน ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี
ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี
บุคคลมิได้ฟังจากผู้อื่น ย่อมได้กัมมัสสกตาญาณ หรือย่อมได้สัจจานุโลมิกญาณ
ว่ารูปไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เที่ยง
ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง
ย่อมได้อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ
อันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น
นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา
สุตมยปัญญา เป็นไฉน ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี
ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี บุคคลได้ฟังจากผู้อื่นแล้ว จึงได้กัมมัสสกตาญาณ
หรือได้สัจจานุโลมิกญาณ ว่ารูปไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง
ว่าสัญญาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง
ดังนี้บ้าง ได้อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ
อันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น
นี้เรียกว่า สุตมยปัญญา
ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติแม้ทั้งหมด เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
[๘๐๕] ทานมยปัญญา เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด ปรารภทานเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ให้ทาน
นี้เรียกว่า ทานมยปัญญา
สีลมยปัญญา เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด ปรารภศีลเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้รักษาศีล
นี้เรียกว่า สีลมยปัญญา
ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติแม้ทั้งหมด เรียกว่า ภาวนามยปัญญา