ทุติยปาราชิกสิกขาบท
เรื่องพระธนิยะ กุมภการบุตร
เล่มที่ ๑
[๗๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏเขตพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปซึ่งเคยเห็นกันเคยคบหากันมา ทำกุฎีมุงบังด้วยหญ้า ณ
เชิงภูเขาอิสิคิลิแล้วอยู่จำพรรษา แม้ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ก็ได้ทำกุฎีมุงด้วยหญ้าแล้วอยู่จำพรรษา
ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว
ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้า เก็บหญ้า และตัวไม้ไว้ แล้วหลีกไปสู่จาริกในชนบท
ส่วนท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรอยู่ ณ ที่นั่นเอง ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน
ขณะเมื่อท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรเข้าไปบ้าน เพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน
ได้รื้อกุฎีบังด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและไม้ไป
แม้ครั้งที่สอง ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เที่ยวหาหญ้า และไม้มาทำกุฎีมุงบังด้วยหญ้าอีก
เมื่อท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต
แม้ครั้งที่สอง คนหาบหญ้า คนหาฟืน ก็ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสียแล้วขนหญ้าและตัวไม้ไป
แม้ครั้งที่สาม ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ก็ได้เที่ยวหาหญ้าและไม้มาทำกุฎีมุงบังด้วยหญ้าอีก
เมื่อท่านธนิยะ กุมภการบุตร เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต
แม้ครั้งที่สาม คนหาบหญ้า คนหาฟืน ก็ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสียแล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปอีก
หลังจากนั้น ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้มีความคิดว่า
เมื่อเราเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสีย
แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึงสามครั้งแล้ว ก็เรานี่แหละ เป็นผู้ได้ศึกษามาดีแล้วไม่บกพร่อง
เป็นผู้สำเร็จศิลปะในการช่างหม้อ เสมอด้วยอาจารย์ของตน
มิฉะนั้นเราพึงขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนเสียเอง จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วน
ด้วยตนเอง แล้วรวบรวมหญ้าไม้และโคมัย มาเผากุฎีนั้น
กุฎีนั้นงดงาม น่าดู น่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง มีเสียงเหมือนเสียงกระดึง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก
ทอดพระเนตรเห็นกุฎีนั้นงดงามน่าดูน่าชมมีสีแดง
ครั้นแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นอะไร งดงาม น่าดู น่าชม
มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง
ครั้นภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนโมฆบุรุษนั้น จึงได้ขยำโคลน
ทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนด้วยตนเองเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์
มิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้น พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง
อย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย
อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน
ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้วพากันไปที่กุฎีนั้น ครั้งถึงแล้วได้ทำลายกุฎีนั้นเสีย
ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร จึงถามภิกษุเหล่านั้นว่า
อาวุโส พวกท่านทำลายกุฎีของผม เพื่ออะไร?
ภิ. พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ทำลาย ขอรับ.
ธ. ทำลายเถิด ขอรับ ถ้าพระผู้มีพระภาคผู้ธรรมสามีรับสั่งให้ทำลาย.
[๘๐] กาลต่อมา ความดำรินี้ได้มีแก่ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรว่า เมื่อเราเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต
คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงด้วยหญ้าเสีย แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึงสามครั้งแล้ว
แม้กุฎีดินล้วนที่เราทำไว้นั้น พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ทำลายเสีย ก็เจ้าพนักงานรักษาไม้ที่ชอบพอกับเรามีอยู่
ไฉนหนอเราพึงขอไม้ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้มาทำกุฎีไม้
จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้
ครั้นแล้วได้บอกเรื่องนี้ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้ว่า
ขอเจริญพร เมื่ออาตมาเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีมุงบังด้วยหญ้าเสีย
แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึงสามครั้ง
แม้กุฎีดินล้วนที่อาตมาทำไว้นั้น พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ทำลายเสียแล้ว
ขอท่านจงให้ไม้แก่อาตมาๆ ประสงค์จะทำกุฎีไม้.
จ. ไม้ที่กระผมจะพึงถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าได้นั้น ไม่มีขอรับ มีแต่ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร
ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย ถ้าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้พระราชทานไม้เหล่านั้น
ขอท่านจงให้คนขนไปเถิดขอรับ.
ธ. ขอเจริญพร ไม้เหล่านั้น พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว.
ลำดับนั้น เจ้าพนักงานรักษาไม้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านั้นแล
เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม
พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเลื่อมใสในพระสมณะเหล่านี้ยิ่งนัก
ท่านพระธนิยะนี้ย่อมไม่บังอาจเพื่อจะกล่าวถึงสิ่งของที่พระเจ้าแผ่นดิน ยังไม่ได้พระราชทานว่าพระราชทานแล้ว
จึงได้เรียนต่อท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรว่า
นิมนต์ให้คนขนไปเถิด ขอรับ
จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร สั่งให้ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไปทำกุฎีไม้แล้ว.
วัสสการพราหมณ์ตรวจราชการ
[๘๑] ต่อจากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐ ไปตรวจราชการในกรุงราชคฤห์
ได้เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้ ครั้นแล้วได้พูดถึงเรื่องนี้ต่อเจ้าพนักงานรักษาไม้ว่า
พนาย ไม้ของหลวงที่รักษาไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตรายเหล่านั้น
อยู่ ณ ที่ไหน?
เจ้าพนักงานรักษาไม้เรียนว่า ใต้เท้าขอรับ ไม้เหล่านั้น พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานแก่ท่านพระธนิยะ
กุมภการบุตรไปแล้ว.
ทันใดนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐ เกิดความไม่พอใจว่า
ไฉน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานไม้ของหลวง ที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร
ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตรายแก่พระธนิยะ กุมภการบุตรไปเล่า
จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช กราบทูลว่า
ได้ทราบเกล้าว่า ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแปลงพระนคร
ซึ่งเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย
พระองค์พระราชทานแก่พระธนิยะ กุมภการบุตรไปแล้ว จริงหรือพระพุทธเจ้าข้า?
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า ใครพูดอย่างนั้น?
ว. เจ้าพนักงานรักษาไม้พูด พระพุทธเจ้าข้า.
พ. พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้คนไปนำเจ้าพนักงานรักษาไม้มา.
จึงวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ในมคธรัฐ สั่งให้เจ้าหน้าที่จองจำเจ้าพนักงานรักษาไม้นำมา
[๘๒] ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เห็นเจ้าพนักงานรักษาไม้ถูกเจ้าหน้าที่จองจำนำไป
จึงไต่ถามเจ้าพนักงานรักษาไม้ว่า
เจริญพร ท่านถูกเจ้าหน้าที่จองจำนำไปด้วยเรื่องอะไร?
เจ้าพนักงานรักษาไม้ตอบว่า เรื่องไม้เหล่านั้น ขอรับ.
ธ. ไปเถิด ท่าน แม้อาตมาก็จะไป.
จ. ใต้เท้าควรไป ขอรับ ก่อนที่กระผมจะถูกประหาร.
จึงท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
ครั้นถึงแล้ว นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
เสด็จเข้าไปหาท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามท่านพระธนิยะกุมภการบุตรถึงเรื่องไม้นั้นว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้า ทราบว่าไม้ของหลวงที่สงวนไว้ สำหรับซ่อมแปลงพระนคร ซึ่งเขาเก็บไว้เพื่อใช้ในคราวมีอันตราย
โยมได้ถวายแก่พระคุณเจ้า จริงหรือ?
ธ. จริงอย่างนั้น ขอถวายพระพร.
พ. ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกิจมาก มีกรณียะมาก
แม้ถวายแล้ว ก็ระลึกไม่ได้ ขอพระคุณเจ้าโปรดเตือนให้โยมระลึกได้.
ธ. ขอถวายพระพร พระองค์ทรงระลึกได้ไหม
ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ใหม่ๆ ได้ทรงเปล่งพระวาจาเช่นนี้ว่า
หญ้า ไม้ และน้ำข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด.
พ. ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมระลึกได้ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้มีความละอาย
มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา มีอยู่ ความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อยจะเกิดแก่สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น
คำที่กล่าวนั้น โยมหมายถึงการนำหญ้าไม้และน้ำของสมณะ และพราหมณ์เหล่านั้น
แต่ว่าหญ้าไม้และน้ำนั้นแลอยู่ในป่า ไม่มีใครหวงแหน พระคุณเจ้านั้น ย่อมสำคัญเพื่อจะนำไม้ที่เขาไม่ได้ให้ไปด้วยเลศนั้น
พระเจ้าแผ่นดินเช่นโยม จะพึงฆ่าจองจำ หรือเนรเทศ ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์อย่างไรได้
นิมนต์กลับไปเถิด
พระคุณเจ้ารอดตัวเพราะบรรพชาเพศแล้วแต่อย่าได้ทำอย่างนั้นอีก.
ประชาชนเพ่งโทษติเตียนโพนทะนา
[๘๓] คนทั้งหลาย พากันเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ ไม่ละอาย
ทุศีล พูดเท็จ พระสมณะเหล่านี้ยังปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ
ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ติเตียนว่า ความเป็นสมณะย่อมไม่มีแก่พระสมณะเหล่านี้
ความเป็นพราหมณ์ย่อมไม่มีแก่พระสมณะเหล่านี้ ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้เสื่อมแล้ว
ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้เสื่อมแล้ว
ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้จะมีแต่ไหน
ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้จะมีแต่ไหน และโพนทะนาว่า พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว
พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นพราหมณ์แล้ว
แม้พระเจ้าแผ่นดิน พระสมณะเหล่านี้ยังหลอกลวงได้
ไฉนจัก ไม่หลอกลวงคนอื่นเล่า
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย
สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉน ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร จึงได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระธนิยะ กุมภการบุตรว่า
ดูกรธนิยะ ข่าวว่า เธอได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป จริงหรือ?
ท่านพระธนิยะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำ
ไฉน เธอจึงได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปเปล่า การกระทำของเธอนั่น
ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ก็สมัยนั้นแล มหาอำมาตย์ผู้พิพากษาเก่าคนหนึ่งบวชในหมู่ภิกษุ นั่งอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาค
จึงพระองค์ได้ตรัสพระวาจานี้ต่อภิกษุรูปนั้นว่า
ดูกรภิกษุ พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชจับโจรได้แล้ว ประหารชีวิตเสียบ้าง
จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไรหนอ?
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง
เกินบาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า
แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ ๕ มาสกในกรุงราชคฤห์เป็นหนึ่งบาท
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร
โดยเอนกปริยายแล้ว จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก
ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน
ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ
ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่เหมาะสม การปรารภความเพียร
โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย
อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต
๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระปฐมบัญญัติ
๒. อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย
พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วพึงประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศ เสียบ้าง
ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด
ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น
แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
เรื่องพระธนิยะ กุมภการบุตรจบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๘๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด
มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด
เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด บทว่า ภิกษุ ความว่า
ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว
ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา
ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกษุ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้ว ด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะอรรถว่าเป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสาระธรรม
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะว่าอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ
ควรแก่ฐานะ
บรรดาผู้ที่ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใด ทั้งสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม
อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุในอรรถนี้
ประเทศที่ชื่อว่า บ้าน มีอธิบายว่า บ้านมีกระท่อมหลังเดียวก็ดี มีกระท่อม
๒ หลังก็ดี มีกระท่อม ๓ หลังก็ดี มีกระท่อม ๔ หลังก็ดี มีคนอยู่ก็ดี ไม่มีคนอยู่ก็ดี
แม้ที่เขาล้อมไว้ก็ดี แม้ที่เขาไม่ได้ล้อมไว้ก็ดี แม้ที่เขาสร้างดุจเป็นที่โคจรเป็นต้นก็ดี
แม้หมู่เกวียนหรือต่างที่อาศัยอยู่เกิน ๔ เดือนก็ดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บ้าน ที่ชื่อว่า อุปจารบ้าน กำหนดเอาที่ ซึ่งบุรุษขนาดกลาง
ผู้ยืนอยู่ ณ เสาเขื่อนแห่งบ้านที่ล้อม โยนก้อนดินไปตก หรือกำหนดเอาที่ซึ่งบุรุษขนาดกลาง
ผู้ยืนอยู่ ณ อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม โยนก้อนดินไปตก
ที่ชื่อว่า ป่า มีอธิบายว่า สถานที่ที่เว้นบ้านและอุปจารบ้าน นอกนั้นชื่อว่า
ป่า
ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้
ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิอยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน
ทรัพย์นั้นชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้
บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก.
[๘๖] บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนรากฐาน
ให้ล่วงเลยเขตหมาย.
[๘๗] ที่ชื่อว่า เห็นปานใด คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี
ที่ชื่อว่า พระราชาทั้งหลาย ได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าผู้ปกครองประเทศ ท่านผู้ปกครองมณฑล
นายอำเภอ ผู้พิพากษา มหาอำมาตย์ หรือท่านผู้สั่งประหารและจองจำได้
ท่านเหล่านี้ ชื่อว่า พระราชาทั้งหลาย
ที่ชื่อว่า โจร มีอธิบายว่า ผู้ใดถือเอาสิ่งของอันเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕ มาสกก็ดี
เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ผู้นั้นชื่อว่า โจร
บทว่า ประหารเสียบ้าง คือ ประหารด้วยมือหรือด้วยเท้า ด้วยแส้หรือด้วยหวาย
ด้วยไม้ค้อนสั้นหรือด้วยดาบ
บทว่า จองจำไว้บ้าง คือ ผูกล่ามไว้ด้วยเครื่องมัดคือเชือก ด้วยเครื่องจองจำคือขื่อคา
โซ่ตรวน หรือด้วยเขตจำกัดคือเรือน จังหวัด หมู่บ้าน ตำบลบ้าน หรือให้บุรุษควบคุม
บทว่า เนรเทศเสียบ้าง คือ ขับไล่เสียจากหมู่บ้าน ตำบลบ้าน จังหวัด มณฑล หรือประเทศ
คำว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย นี้เป็นคำบริภาษ.
[๘๘] ที่ชื่อว่า เห็นปานนั้น คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี
บทว่า ถือเอา คือ ตู่ วิ่งราว ฉ้อ ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน
ให้ล่วงเลย เขตหมาย.
[๘๙] คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุรูปก่อน
คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ
ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี
เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า
เป็นปาราชิก
บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่กรรมที่พึงทำร่วมกัน
อุเทส ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกันนั่นชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น
เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.
บทภาชนีย์ มาติกา
[๙๐] ทรัพย์อยู่ในดิน ทรัพย์ตั้งอยู่บนดิน ทรัพย์ลอยอยู่ในอากาศ ทรัพย์ตั้งอยู่ในที่แจ้ง
ทรัพย์ตั้งอยู่ในน้ำ เรือ และทรัพย์อยู่ในเรือ ยาน และทรัพย์อยู่ในยาน ทรัพย์ที่ตนนำไป
สวน และทรัพย์อยู่ในสวน ทรัพย์อยู่ในวัด นา และทรัพย์อยู่ในนา พื้นที่และทรัพย์อยู่ในพื้นที่
ทรัพย์อยู่ในบ้าน ป่า และทรัพย์อยู่ในป่า น้ำ ไม้ชำระฟัน ต้นไม้เจ้าป่า ทรัพย์ที่มีผู้นำไป
ทรัพย์ที่เขาฝากไว้ ด่านภาษี สัตว์มีชีวิต สัตว์ไม่มีเท้า สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า
สัตว์มีเท้ามาก ภิกษุผู้สั่ง ภิกษุผู้รับของฝาก การชักชวนกันไปลัก การนัดหมาย
การทำนิมิต.
ภุมมัฏฐวิภาค
[๙๑] ที่ชื่อว่า ทรัพย์อยู่ในแผ่นดิน ได้แก่ทรัพย์ที่ฝังกลบไว้ในแผ่นดิน
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์อยู่ในแผ่นดิน เที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ตาม
แสวงหาจอบหรือ ตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตามต้องอาบัติทุกกฏ ตัดไม้หรือเถาวัลย์
ซึ่งเกิดอยู่ในที่นั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ขุดก็ตาม คุ้ยก็ตาม โกยขึ้นก็ตาม ซึ่งดินร่วนต้องอาบัติทุกกฏ
จับต้องหม้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำหม้อให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำหม้อให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต หย่อนภาชนะของตนลงไป ถูกต้องทรัพย์ควรแก่ค่า ๕ มาสก หรือเกินกว่า
๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
กระทำให้ทรัพย์อยู่ในภาชนะของตนก็ตาม ตัดขาดด้วยกำมือก็ตาม ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยมีจิต จับต้องทรัพย์ที่เขาร้อยด้ายก็ดี สังวาลก็ดี สร้อยคอก็ดี
เข็มขัดก็ดี ผ้าสาฎกก็ดี ผ้าโพกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จับที่สุดยกขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ดึงครูดออกไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ให้พ้นปากหม้อ โดยที่สุดแม้ชั่วเส้นผม ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต ดื่มเนยใสก็ดี น้ำมันก็ดี น้ำผึ้งก็ดี น้ำอ้อยก็ดี ควรแก่ค่า
๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ด้วยประโยคอันเดียว ต้องอาบัติปาราชิก
ทำลายเสียก็ดี ทำให้หกล้นก็ดี เผาเสียก็ดี ทำให้บริโภคไม่ได้ก็ดี ในที่นั้นเองต้องอาบัติทุกกฏ.
ถลัฏฐวิภาค
[๙๒] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ตั้งอยู่บนพื้น ได้แก่ทรัพย์ที่เขาวางไว้บนพื้น ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่ตั้งอยู่บนพื้น
เที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ดี เดินไปก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ
ลูบคลำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก.
เวหาสัฏฐวิภาค
[๙๔] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ตั้งอยู่ในที่แจ้ง ได้ทรัพย์ที่แขวนไว้ในที่แจ้ง เช่น
ทรัพย์ที่คล้อง ไว้บนเตียงหรือตั่ง ที่ห้อยไว้บนราวจีวร สายระเตียง เดือยที่ฝาบันไดแก้ว
หรือต้นไม้ โดยที่สุดแม้บนเชิงรองบาตร ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในที่แจ้ง
เที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ดี เดินไปก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ
ลูบคลำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก.
อนาปัตติวาร
[๑๒๕] ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของตน ๑
ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑
ขอยืม ๑
ทรัพย์อันเปรตหวงแหน ๑
ทรัพย์อันสัตว์ดิรัจฉานหวงแหน ๑
ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ๑
ภิกษุวิกลจริต ๑
ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑
เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติ.
เรื่องข้ามน้ำ ๒ เรื่อง
[๑๕๘] ๑. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งกำลังข้ามน้ำ ผ้าสาฎกที่หลุดจากมือของพวกช่างย้อม
ไปคล้องอยู่ที่เท้าภิกษุๆ นั้นเก็บไว้ ด้วยตั้งใจว่าจักให้แก่พวกเจ้าของ ๆ
โจทภิกษุนั้นว่า ท่านไม่เป็นสมณะ
ภิกษุนั้นมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุผู้หาไถยจิตมิได้ ไม่ต้องอาบัติ.
๒. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งกำลังข้ามน้ำ ผ้าสาฎกที่หลุดจากมือของพวกช่างย้อม
ได้ไปคล้องอยู่ที่เท้าภิกษุๆ นั้นมีไถยจิตยึดเอาไว้เสียก่อน ด้วยคิดว่าพวกเจ้าของจักเห็น
พวกเจ้าของโจทภิกษุนั้นว่า ท่านไม่เป็นสมณะ
ภิกษุนั้นมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว.
เรื่องลักน้ำของสงฆ์
[๑๖๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักน้ำของสงฆ์ แล้วมีความรังเกียจ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร?
ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าคิดลัก พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
เรื่องลักดินของสงฆ์ ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักดินของสงฆ์แล้วมีความรังเกียจ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร?
ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าคิดลัก พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว