พระอริยบุคคล
(1) สัลลัตถสูตร
เล่มที่ ๑๘
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน
ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก
ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ
ฯ
[๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่
๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ
ทางกายและทางใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย
เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ
อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น
ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมเพลิดเพลินกามสุข
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข
และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง
เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น
ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา
เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์
ฯ
[๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย
เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ฯ
[๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่
๒ ผิดไป
ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว
ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น
ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข
เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง
เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
เมื่อเธอรู้ชัดซึ่ง เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับฯ
[๓๗๓] อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา
ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความแปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา
ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่
ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์
อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดี และไม่ยินร้าย
อริยสาวกนั้นรู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ
ฯ
จบสูตรที่ ๖
(2) สอุปาทิเสสสูตร
เล่มที่ ๒๓
[๒๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ใกล้พระนครสาวัตถี ฯ
ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
ท่านพระสารีบุตรมีความคิดดังนี้ว่า การเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถียังเช้าเกินไป
ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด ลำดับนั้น
ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้น อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันในระหว่างว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ
ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย
ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำที่อัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้นกล่าว
ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส
เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
การเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ยังเช้าเกินไป
ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด ลำดับนั้น
ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ในระหว่างว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก
ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
ข้าพระองค์ไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำ
ที่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป
ด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด
อย่างไรจักรู้ผู้ที่เป็นสอุปาทิเสสะว่า เป็นสอุปาทิเสสะ
หรือจักรู้ผู้ที่เป็นอนุปาทิเสสะว่า เป็นอนุปาทิเสสะ
ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้ ที่เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ
พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
๙ จำพวกเป็นไฉน ฯ
ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก
พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ
กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์
๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๒ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ
กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์
๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๓ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ
กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์
๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๔ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ
กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์
๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๕ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ
ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง
กลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๖ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ
ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี เพราะสังโยชน์สิ้นไป บังเกิดยังภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว
จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๗ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ
ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ ๒-๓
ตระกูล แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๘ ... ฯ
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ
ในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมโสดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวดาและมนุษย์
๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๙ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก
พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวก โง่เขลา ไม่ฉลาด อย่างไรจักรู้บุคคลผู้เป็นสอุปาทิเสสะว่า
เป็นสอุปาทิเสสะ หรือจักรู้บุคคลผู้เป็นอนุปาทิเสสะว่า เป็นอนุปาทิเสสะ
ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้แล เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิด
สัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติและวินิบาต ฯ
ดูกรสารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาก่อน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ฟังธรรมปริยายที่เรากล่าวด้วยความอธิบายปัญหานี้แล้ว อย่าถึงความประมาท
ฯ
จบสูตรที่ ๓
(3) อภิสมยวรรคที่ ๑๐
๑. นขสิขสูตร
เล่มที่ ๑๖
[๓๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นเล็กน้อย
แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ฝุ่นประมาณน้อยนี้ที่เราเอาปลายเล็บช้อนขึ้น กับแผ่นดินใหญ่นี้ อย่างไหนจะมากกว่ากันหนอ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แหละมากกว่า
ฝุ่นประมาณเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นนี้ มีประมาณน้อย
เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นมีประมาณน้อย
ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ฯ
[๓๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก
สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้วมีมากกว่า ส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน
๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่
๑๐๐ เสี้ยว ที่ ๑๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล
การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. โปกขรณีสูตร
[๓๑๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณียาว ๕๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ ลึก ๕๐ โยชน์ มีน้ำเต็มเสมอขอบ
กาดื่มกินได้ บุรุษพึงวิดน้ำขึ้นจากสระโบกขรณีนั้นด้วยปลายหญ้าคา เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคาก็ดี น้ำในสระโบกขรณีก็ดี ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีนี้แหละมากกว่า
น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคามีประมาณน้อย น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคาเมื่อเทียบกันเข้ากับน้ำในสระโบกขรณี
ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยว ที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใดฯ
[๓๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก
สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว เป็นทุกข์มากกว่า ส่วนที่เหลืออยู่มีประมาณน้อย
ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปอันมีในก่อน
ไม่เข้าถึงเสี้ยว ที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. สัมเภชอุทกสูตรที่ ๑
[๓๑๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่เหล่านี้คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหีไหลมาบรรจบกัน
บุรุษพึงวักน้ำขึ้นสองสามหยาดจากที่นั้น เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
น้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้วก็ดี น้ำในที่บรรจบกันก็ดี ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในที่บรรจบกันนี้แหละมากกว่า
หยาดน้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้วมีประมาณน้อย หยาดน้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้ว
เมื่อเทียบเข้ากับน้ำในที่บรรจบกัน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐
เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. สัมเภชอุทกสูตรที่ ๒
[๓๑๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ...
แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่เหล่านี้คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี
สรภู มหีไหลมาบรรจบกัน แม่น้ำนั้นพึงหมดไป สิ้นไป ยังเหลืออยู่สองสามหยาด
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในที่บรรจบกันซึ่งหมดไป สิ้นไป กับน้ำที่ยังเหลืออยู่สองสามหยาด
ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในที่บรรจบกันซึ่งหมดไป
สิ้นไปนี้แหละมากกว่า น้ำที่ยังเหลืออยู่สองสามหยาดมีประมาณน้อย น้ำที่เหลืออยู่สองสามหยาด
เมื่อเทียบเข้ากับน้ำในที่บรรจบกัน ซึ่งหมดไป สิ้นไปแล้ว ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่
๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. ปฐวีสูตรที่ ๑
[๓๑๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนไว้ที่แผ่นดินใหญ่
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่บุรุษวางไว้กับแผ่นดินใหญ่
ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แหละมากกว่า
ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่บุรุษวางไว้มีประมาณน้อย ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา
๗ ก้อนที่บุรุษวางไว้ เมื่อเทียบเข้ากับแผ่นดินใหญ่ ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐
เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. ปฐวีสูตรที่ ๒
[๓๒๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ...
แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แผ่นดินใหญ่พึงถึงความหมดไป สิ้นไป เหลือก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา
๗ ก้อน เธอทั้งหลายสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แผ่นดินใหญ่ที่หมดไป สิ้นไป กับก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา
๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
แผ่นดินใหญ่ที่หมดไปสิ้นไปนี้แหละมากกว่า ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่มีประมาณน้อย
ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่เมื่อเทียบเข้ากับแผ่นดินใหญ่ที่หมดไป
สิ้นไป ย่อมไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใดฯ
[๓๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. สมุททสูตรที่ ๑
[๓๒๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษวักน้ำสองสามหยาดขึ้นจากมหาสมุทร เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
น้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้วกับน้ำในมหาสมุทร ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรนี้แหละมากกว่า น้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้วมีประมาณน้อย
น้ำสองสามหยาดที่บุรุษวักขึ้นแล้ว เมื่อเทียบกันเข้ากับน้ำในมหาสมุทร ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่
๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. สมุททสูตรที่ ๒
[๓๒๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาสมุทรพึงถึงการหมดไป สิ้นไป ยังเหลือน้ำอยู่สองสามหยาด
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในมหาสมุทรที่หมดไปสิ้นไป กับน้ำสองสามหยาดที่ยังเหลืออยู่
ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรที่หมดไป
สิ้นไปนี้แหละมากกว่า น้ำสองสามหยาดที่เหลืออยู่มีประมาณน้อย น้ำสองสามหยาดที่เหลืออยู่
เมื่อเทียบกันเข้ากับน้ำในมหาสมุทรที่หมดไป สิ้นไป ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐
เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. ปัพพตูปมสูตรที่ ๑
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ...
ได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนไว้ที่ขุนเขาหิมวันต์
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้
กับขุนเขาหิมวันต์ ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขุนเขาหิมวันต์นี้แหละมากกว่า ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้มีประมาณน้อย
ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้ เมื่อเทียบเข้ากับขุนเขาหิมวันต์
ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้
ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. ปัพพตูปมสูตรที่ ๒
[๓๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาหิมวันต์พึงถึงความหมดไป สิ้นไป ยังเหลือก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์
ผักกาดอยู่เจ็ดก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไปสิ้นไป
กับก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่ ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไปสิ้นไปนี้แหละมากกว่า
ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่มีประมาณน้อย ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่
เมื่อเทียบเข้ากับขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไปสิ้นไป ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่
๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก
สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่าส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความทุกข์ที่เป็นสภาพยิ่งในเจ็ดอัตภาพ
เมื่อเทียบกับกองทุกข์ที่หมดไปสิ้นไป ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐
เสี้ยว ที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล
การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
๑๑. ปัพพตูปมสูตรที่ ๓
[๓๓๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนไว้ที่ขุนเขาสิเนรุ
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้
กับขุนเขาสิเนรุ ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขุนเขาสิเนรุนี้แหละมากกว่า ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้มีประมาณน้อย
ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้ เมื่อเทียบเข้ากับขุนเขาสิเนรุ
ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยว ที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ
[๓๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล การบรรลุคุณวิเศษแห่งอัญญเดียรถีย์สมณพราหมณ์และปริพาชก
เมื่อเทียบกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคแห่งบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ
ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ
มีอธิคมใหญ่อย่างนี้ มีอภิญญาใหญ่อย่างนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๑