พระกสิภารทวาช
กสิภารทวาชสูตรที่ ๔
เล่มที่ ๒๕
[๒๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อเอกนาฬา ในทักขิณาคิรีชนบท
แคว้นมคธ
ก็สมัยนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐
ในเวลาเป็นที่หว่านพืช
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์
ก็สมัยนั้นแล การเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเป็นไป
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู
ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่
เพื่อบิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์แล ย่อมไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ
กสิ. ข้าแต่พระสมณะ ก็ข้าพระองค์ย่อมไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏัก หรือโค ของท่านพระโคดมเลย
ก็แลเมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ฯ
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒๙๘] พระองค์ย่อมปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นไถของพระองค์
พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์
โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักไถของพระองค์ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
ศรัทธาของเราเป็นพืช
ความเพียรของเราเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ
หิริของเราเป็นงอนไถ
ใจของเราเป็นเชือก
สติของเราเป็นผาลและปฏัก
เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง
ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ
ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส
ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ
ไม่หวนกลับมา ย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
การไถนานั้น เราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ
บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ
[๒๙๙] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงใน
ถาดสำริดใหญ่ แล้วน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า
ขอท่านพระโคดมเสวยข้าวปายาสเถิด
เพราะพระองค์ท่านเป็นชาวนา ย่อมไถนาอันมีผล ไม่ตาย ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
ดูกรพราหมณ์ เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา
ข้อนี้ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่โดยชอบ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับกล่อมได้มา
ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ การแสวงหานี้เป็น
ความประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เชิญท่านบำรุงพระขีณาสพผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง
ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำอย่างอื่นเถิด
เพราะว่าเขตนั้นเป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญฯ
[๓๐๐] กสิ. ข้าแต่พระโคดม ก็เมื่อเป็นเช่นนี้
ข้าพระองค์จะถวาย ข้าวปายาสนี้แก่ใคร ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยได้โดยชอบ
นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคตเลย
ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทิ้งข้าวปายาสนั้นเสีย ในที่ปราศจากของเขียว
หรือจงให้จมลงในน้ำซึ่งไม่มีตัวสัตว์เถิด ฯ
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นให้จมลงในน้ำอัน
ไม่มีตัวสัตว์ พอข้าวปายาสนั้นอันกสิภารทวาชพราหมณ์เทลงในน้ำ
(ก็มีเสียง) ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบ
เหมือนก้อนเหล็กที่บุคคลเผาให้ร้อนตลอดวัน ทิ้งลงในน้ำ
(มีเสียง) ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันกลุ้มโดยรอบ ฉะนั้น ฯ
[๓๐๑] ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์สลดใจ มีขนชูชัน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ก็ท่านภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ก็ท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง
ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
จบกสิภารทวาชสูตรที่ ๔