พระวักกลิ
๕. วักกลิสูตร
ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
เล่มที่ ๑๗
[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
ใกล้พระนครราชคฤห์.
สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา
พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ.
ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว
กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราแล้ว
ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา
ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า
ท่านขอประทานวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาค
ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด.
ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ
ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก
ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
ด้วยเศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า
ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์
เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่
ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล
ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า
อย่าเลย วักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่
เราจะนั่งที่อาสนะนั้น.
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า
ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง
ไม่กำเริบ ขึ้นหรือ. ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว
ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น
ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.
พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ? ว. พระเจ้าข้า
ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.
พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่าตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.
พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิ
ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม.
วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม.
วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ
เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.
[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียงแล้ว
หามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละใน
ละแวกบ้านเล่า?
ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา
ข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอด ราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น.
ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น.
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้น
ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว
ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.
[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า
มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่
ครั้นแล้วจงบอกวักกลิกภิกษุอย่างนี้ว่า
อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโส
ณ ราตรีนี้
เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้.
อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า
อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ
จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ
จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ.
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่
ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
และคำของเทวดา ๒ องค์.
[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า
มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง
เพราะว่าภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า?
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระวักกลิแล้ว
ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว
กล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ
ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้.
อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า
อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ
จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ
จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ.
พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของ พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
ตามคำของผมด้วยว่า
พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
และยังได้สั่งมากราบทูล อย่างนี้ว่า
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น
มิได้มีแก่ข้าพระองค์.
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี
กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.
ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป
ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา.
[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ
เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา
ท่านของถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์.
ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปร ปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น
มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.
[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาไปกันเถิด
ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา
ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา.
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยัง วิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก.
ได้ทอดพระเนตรเห็นท่าน พระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว.
ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไป ทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร
ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ. ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็น กลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา
ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร
ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว. จบสูตรที่
๕.
วักกลิเถราปทานที่ ๒ ว่าด้วยบุพจริยาของพระวักกลิเถระ
เล่มที่ ๓๓
[๑๒๒] สมเด็จพระผู้นำมีพระนามไม่ทราม มีพระคุณนับไม่ได้พระนามว่า ปทุมุตระ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระนามว่า ปทุมุตระ ก็เพราะมีพระพักตร์เหมือนดอกปทุม
มีพระฉวีวรรณงาม ไม่มีมลทิน เหมือนดอกปทุม ไม่เปื้อนด้วยโลก เหมือนดอกปทุมไม่เปื้อนด้วยน้ำ
ฉะนั้น เป็นนักปราชญ์ มีพระอินทรีย์ ดังใบปทุมและน่ารักเหมือนดอกปทุม ทั้งมีพระโอฐมีกลิ่น
อุดม เหมือนกลิ่นในกลีบของดอกปทุม เพราะฉะนั้น พระองค์ จึงทรงพระนามว่า ปทุมุตระ
พระองค์เป็นผู้เจริญกว่าโลก ไม่ทรงถือพระองค์ เปรียบเสมือนเป็นนัยน์ตาให้คนตาบอด
มีพระอิริยาบถสงบ เป็นที่ฝังพระคุณ เป็นที่รองรับกรุณาและมติถึงในครั้งไหน
ๆ พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น ก็เป็นผู้อันพรหมอสูรและเทวดาบูชา สูงสุดกว่าชนในท่ามกลางหมู่ชนที่เกลื่อนกล่นไปทั้งเทวดาและมนุษย์
เมื่อจะยังบริษัททั้งปวงให้ยินดีด้วยพระสำเนียงอันเสนาะ และด้วยพระธรรมเทศนาอันเพราะพริ้ง
จึงได้ชมสาวกของพระองค์ว่า
ภิกษุอื่นที่พ้นกิเลสด้วยศรัทธา มีมติดี ขวนขวายในการดูเรา เช่นกับวักกลิภิกษุนี้
ไม่มีเลย
ครั้งนั้น เราเป็นบุตรของพราณ์ในพระนครหงสวดี ได้สดับพระพุทธภาษิตนั้น จึงชอบฐานันดรนั้น
ครั้งนั้น เราได้นิมนต์พระตถาคตผู้ปราศจากมลทินพระองค์นั้น พร้อมด้วยพระสาวกให้เสวยตลอด
๗ วัน แล้วให้ครองผ้า
เราหมอบศีรษะลงแล้วจมลงในสาครคืออนันตคุณ
ของพระศาสดาพระองค์นั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติ ได้กราบทูลดังนี้ว่า
ข้าแต่พระมหามุนี ขอให้พระองค์ได้เป็นเช่นกับภิกษุผู้สัทธาธิมุติ ที่พระองค์ตรัสชมเชยว่า
เลิศกว่าภิกษุผู้มีศรัทธาในพระศาสนานี้เถิด
เมื่อเรากราบทูลดังนี้แล้ว พระมหามุนีผู้มีความเพียรใหญ่ มีพระทรรศนะมิได้มีเครื่องกีดกัน
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ในท่ามกลางบริษัทว่า จงดูมาณพผู้นี้ ผู้นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเหลือง
มีอวัยวะอันบุญสร้างสมให้คล้ายทองคำ
ดูดดื่มตา และใจของหมู่ชนในอนาคตกาล
มาณพผู้นี้จักได้เป็นพระสาวกของพระโคดมผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุติ
เขาเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตามจักเป็นผู้เว้นจากความเดือดร้อนทั้งปวง รวบรวมโภคทรัพย์ทุกอย่างมีความสุข
ท่องเที่ยวไปในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามีนามชื่อว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
จักเป็นโอรสอันธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่า วักกลิ เพราะผลกรรมที่เหลือนั้น และเพราะตั้งเจตน์จำนงไว้
เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เรามีความสุขในที่ทุกสถาน ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ได้เกิดในสกุลหนึ่งใน
พระนครสาวัตถี มารดาของเราถูกภัยปีศาจคุกคาม มีใจหวาดกลัว จึงให้เราผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น
นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อน ๆ ซึ่งยังนอนหงาย ให้นอนลงแทบบาทมูลของพระผู้แสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโลกนาถ หม่อมฉันขอถวาย ทารกนี้แด่พระองค์ ข้าแต่พระโลกนายก
ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งของเขาด้วยเถิด
ครั้งนั้น สมเด็จพระมุนีผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์
ผู้หวาดกลัวพระองค์ได้ทรงรับเราด้วยฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม
มีตาข่ายอันท่านกำหนดด้วยจักร
จำเดิมแต่นั้นมา เราก็เป็นผู้ถูกรักษาโดยพระพุทธเจ้า
จึงเป็นผู้พ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่โดยสุขสำราญ เราเว้นจากพระสุคตเสียเพียงครู่เดียวก็กระสัน
พออายุได้ ๗ ขวบ เราก็ออกบวชเป็นบรรพชิต
เราเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปอันประเสริฐ เกิดพระบารมีทุกอย่าง
มีดวงตาสีเขียวล้วน เกลื่อนกล่นไปด้วยวรรณสันฐานอันงดงาม
ครั้งนั้น พระพิชิตมารทรงทราบว่า เรายินดีในพระพุทธรูป จึงได้ตรัสสอนเราว่า
อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียดซึ่งชนพาลชอบเล่า ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม
บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา
ผู้ไม่เห็นสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น
กายมีโทษไม่สิ้นสุด เปรียบเสมอด้วยต้นไม้มีพิษ เป็นที่อยู่ของโรคทุกอย่าง
ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์
เพราะฉะนั้น ท่านจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย
จักถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้ โดยง่าย เราอันสมเด็จพระโลกนายกผู้แสวงหาประโยชน์พระองค์นั้น
ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ได้ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ เพ่งดูอยู่ที่ซอกเขา พระพิชิตมารผู้มหามุนีประทับยืนอยู่ที่เชิงเขา
เมื่อจะทรงปลอบโยนเรา ได้ตรัสเรียกว่า วักกลิ เราได้ฟังพระดำรัสนั้นเข้าก็เบิกบาน
ครั้งนั้น เราวิ่งลงไปที่เงื้อมเขาสูงหลายร้อยชั่วบุรุษ
แต่ถึงแผ่นดินได้โดยสะดวกทีเดียว
ด้วยพุทธานุภาพ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระธรรมเทศนา คือ
ความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายอีก เรารู้ธรรมนั้นทั่วถึงแล้ว
จึงได้บรรลุอรหัต
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปรีชาใหญ่ ทรงทำที่สุดแห่งจรณะ
ทรงประกาศในท่ามกลางมหาบุรุษว่า เราเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุติ
ในกัปที่แสนแต่กัปนี้
เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ...
พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
ทราบว่า ท่านพระวักกลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล. จบวักกลิเถราปทาน.