สมณะ
(1) วังสสูตร
เล่มที่ ๒๑
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้
นักปราชญ์สรรเสริญ ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ
เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะ และพราหมณ์ไม่เกลียด
อริยวงศ์ ๔ ประการเป็นไฉน
คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้
มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้
ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ
เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย
มีปรกติ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออกใช้สอยอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในการสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น
มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า ดูกรภิกษทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า
ซึ่งนักปราชญ์ สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้ว ก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ
มีปัญญาเครื่องรื้อออก บริโภคอยู่ และย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วย
บิณฑบาตตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า
เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า
ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญ ว่าเป็นเลิศ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ
ครั้นได้แล้วย่อมไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย
มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญา เครื่องรื้อออกบริโภคอยู่และย่อมไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วย เสนาสนะตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น
มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า
เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า
ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ยินดีแล้ว ในภาวนา
มีปหานะเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในปหานะ ย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะมีภาวนาเป็นที่มายินดี
เพราะยินดีในภาวนา เพราะมีปหานะเป็นที่มายินดี เพราะยินดีในปหานะนั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในภาวนา และปหานะนั้น มีสัมปชัญญะ
มีสติเฉพาะหน้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า
ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่า เป็นเลิศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้แล นักปราชญ์รู้ว่าเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะเป็นของเก่า
ไม่กระจัดกระจาย และไม่เคย กระจัดกระจาย อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ
วิญญูชนทั้งสมณะ และพราหมณ์ไม่เกลียด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้
ถึงแม้อยู่ใน ทิศตะวันออก เธอย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้
ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้
ถึงแม้เธออยู่ในทิศตะวันตก ... ในทิศเหนือ ... ในทิศใต้
เธอก็ย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเธอเป็นธีรชนครอบงำความไม่ยินดีและความยินดีได้ ฯ ความยินดีย่อมครอบงำธีรชนไม่ได้
ความไม่ยินดีไม่อาจครอบงำธีรชน ธีรชนย่อมครอบงำความไม่ยินดีได้ เพราะธีรชนเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี
กิเลสอะไรจะมากั้นกางบุคคลผู้บรรเทากิเลสเสียได้ มีปรกติละกรรมทั้งปวงได้เด็ดขาด
ใครควรเพื่อจะติเตียนบุคคลนั้นผู้เป็นประดุจแท่งทองชมพูนุท แม้เทวดาก็เชยชม
แม้พรหมก็สรรเสริญ ฯ
จบสูตรที่ ๘
(2) ๘. นครวินเทยยสูตร (๑๕๐)
เล่มที่ ๑๔
[๘๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ทรงแวะยังบ้านพราหมณ์แห่งโกศลชนบทชื่อว่านครวินทะ พวกพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะได้ทราบข่าวว่า
พระสมณะผู้ศากยบุตรเสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ได้เสด็จถึงบ้านนครวินทะโดยลำดับ พระโคดมผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า
แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่าง
หาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว
เป็นผู้แจกธรรม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
สอนโลกนี้ทั้งเทวดา มาร พรหม ทุกหมู่สัตว์ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ให้รู้ทั่ว
ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น
ย่อมเป็นการดีแล ครั้งนั้นแล พราหมณ์ คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
ครั้นแล้ว บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
บางพวกประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
บางพวกมีอาการเฉยๆ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๘๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วดังนี้ว่า
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย
สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด
ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว
ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้
ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นั่นเพราะเหตุไร
เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัด เคือง ความลุ่มหลงในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ
ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่
ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความประพฤติสงบ ของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป
ดังนี้
ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์เหล่าใด
ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ไม่ไปปราศแล้ว
...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง
ความลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ไม่ไปปราศแล้ว ...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง
ความลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ไม่ไปปราศแล้ว ...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง
ความลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ไม่ไปปราศแล้ว ...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง
ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน
ยังประพฤติ ลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา
นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด
ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน
ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่
ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป
ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชก
เจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด ฯ
[๘๓๔] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด
ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ ได้ด้วยจักษุแล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน
ประพฤติสงบทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ
ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่
ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป
ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสตแล้ว...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะแล้ว...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหาแล้ว...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกายแล้ว...
สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนแล้ว
มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่
สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง
ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ
ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่
ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป
ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้น
อย่างนี้เถิด ฯ
[๘๓๕] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลาย อย่างนี้ว่า
ก็อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเช่นไร
จึงเป็นเหตุให้พวกท่านกล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น
เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว
หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโมหะแน่
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ความจริง ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดง เป็นที่ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ
ซึ่งคนทั้งหลายเห็นแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย
เป็นที่ไม่มีเสียงอันรู้ได้ด้วยโสต ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย
เป็นที่ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ซึ่งคนทั้งหลายดมแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย
เป็นที่ไม่มีรสอันรู้ได้ด้วยชิวหา ซึ่งคนทั้งหลายลิ้มแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย
เป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย
นี้แลอาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายได้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่
เป็นผู้ปราศจากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะแน่
เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโมหะแน่
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด
ฯ
[๘๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว
พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ
หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้
ฉะนั้น พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบนครวินเทยยสูตรที่ ๘
(3) ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ
เล่มที่ ๑๒
[๔๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุร นิคมของหมู่อังคราชกุมาร เขตอังคชนบท.
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร
ก็ปฏิญญาว่า พวกเราเป็นสมณะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้นมีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ จึงควรศึกษาอยู่ว่า
ข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของสมณะอันใดมีอยู่
เราทั้งหลายจะปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น
เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด
ปัจจัยทั้งหลายนั้นของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ในเพราะพวกเรา
อีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ.
[๔๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท
ยังละพยาบาทไม่ได้
เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้
มีความผูกโกรธ ยังละความโกรธไม่ได้
มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้
มีความตีเสมอ ยังละความตีเสมอไม่ได้
ยังมีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้
มีความตระหนี่ ยังละความตระหนี่ไม่ได้
มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้
มีมายา ยังละมายาไม่ได้
มีความปรารถนาลามก ยังละความปรารถนาลามกไม่ได้ มีความเห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะยังละไม่ได้ซึ่งกิเลส เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ
อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล
เราจึงไม่กล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อาวุธชื่อมตชะ มีคมสองข้าง ทั้งชุบและลับดีแล้ว สอดไว้ในฝักและพันไว้ แม้ฉันใด
เรากล่าวบรรพชาของภิกษุนี้ มีอุปมาฉันนั้น.
[๔๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราหากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิไม่.
บุคคลถือเพศเปลือยกาย เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเปลือยกายไม่.
บุคคลที่หมักหมมด้วยธุลี เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นคนหมักหมมด้วยธุลีไม่.
บุคคลลงอาบน้ำ (วันละสามครั้ง) เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงลงอาบน้ำไม่.
บุคคลอยู่โคนไม้เป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอยู่โคนไม้เป็นวัตรไม่.
บุคคลอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรไม่.
บุคคลลอบกายเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอบกายไม่.
บุคคลกินภัตโดยวาระ เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงกินภัตโดยวาระไม่.
บุคคลที่ท่องมนต์ เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงท่องมนต์ไม่.
บุคคลที่มุ่นผม เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะด้วยอาการเพียงมุ่นผมไม่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
หากว่าเมื่อบุคคลครองผ้าสังฆาฏิแล้ว มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาท
ก็ละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็สละความมักโกรธได้
มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ
ก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยา ก็ละความริษยาได้ มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่ได้
มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดได้ มีมายา ก็ละมายาได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้
มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการสักว่า ครองผ้าสังฆาฏิไซร้
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำให้บุคคลนั้น ครองผ้าสังฆาฏิตั้งแต่เกิดทีเดียว
พึงเชิญชวนผู้นั้นให้ครองผ้าสังฆาฏิอย่างเดียวว่า
ท่านผู้มีหน้าอันเจริญ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ เมื่อท่านครองผ้าสังฆาฏิอยู่
มีอภิชฌามาก ก็จักละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาท ก็จักละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ
ก็จักละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธ ก็จักละความผูกโกรธเสียได้ มีความลบหลู่
ก็จักละความลบหลู่เสียได้ มีความตีเสมอ ก็จักละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา
ก็จักละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ ก็จักละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด
ก็จักละความโอ้อวดเสียได้
มีมายา ก็จักละมายาเสียได้
มีความปรารถนาลามก ก็จักละความปรารถนาลามกเสียได้ มีความเห็นผิด ก็จักละความเห็นผิดเสียได้
ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ครองผ้าสังฆาฏิอยู่
ก็ยังมีอภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ
มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราจึงมิได้กล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลถือเพศเปลือยกายอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อบุคคลหมักหมมด้วยธุลีอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลลงอาบน้ำอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลอยู่ โคนไม้อยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อบุคคลอยู่ในที่แจ้งอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลลอบกายอยู่
...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลกินภัตโดยวาระอยู่ ...
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลท่องมนต์อยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย
หากว่า เมื่อบุคคลมุ่นผมอยู่ มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาท ก็ละพยาบาทได้
มีความมักโกรธ ก็ละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่
ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยา ก็ละความริษยาได้
มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดได้ มีมายา
ก็ละมายาได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้ มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดได้
ด้วยอาการเพียงมุ่นผมไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำบุคคลนั้นให้มุ่นผมตั้งแต่เกิดทีเดียว
พึงเชิญชวนผู้นั้นให้มุ่นผมอย่างเดียวว่า ดูกรท่านผู้มีหน้าอันเจริญ มาเถิด
ท่านจงเป็นผู้มุ่นผม เมื่อท่านมุ่นผมอยู่ มีอภิชฌามาก ก็จักละอภิชฌาเสียได้
มีจิตพยาบาท ก็จักละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ ก็จักละความมักโกรธเสียได้
มีความผูกโกรธ ก็จักละความผูกโกรธเสียได้ มีความลบหลู่ ก็จักละความลบหลู่เสียได้
มีความตีเสมอ ก็จักละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา ก็จักละความริษยาเสียได้
มีความตระหนี่ ก็จักละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด ก็จักละความโอ้อวดเสียได้
มีมายา ก็จักละมายาเสียได้ มีความปรารถนาลามก ก็จักละความปรารถนาลามกเสียได้
มีความเห็นผิด ก็จักละความเห็นผิดเสียได้ ด้วยอาการเพียงมุ่นผม.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มุ่นผมอยู่ ก็ยังมีอภิชฌามาก
มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ มีความริษยา
มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น
บุคคลที่มุ่นผม เราจึงมิได้กล่าวว่า เป็นสมณะด้วยอาการเพียงมุ่นผม.
[๔๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็อย่างไรภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาเสียได้ มีจิตพยาบาท
ก็ละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ ก็ละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธเสียได้
มีความลบหลู่ ก็ละความลบหลู่เสียได้ มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา
ก็ละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด
ก็ละความโอ้อวดเสียได้ มีมายา ก็ละมายาเสียได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกเสียได้
มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดเสียได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ
อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล
เราจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ
ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้
เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ ปราโมทย์ก็เกิด
เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด
เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว นามกายก็สงบ
เธอมีนามกายสงบแล้ว ก็เสวยสุข
เมื่อเธอมีสุข จิตก็ตั้งมั่น เธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่
แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่
๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้
ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วน โดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ... มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา
...
มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่
๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอก็มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา
อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วน
โดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก
ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก
ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้
แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์
...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน
เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต
เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ
ด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเองเขาถึงพร้อมแล้วอยู่ในชาตินี้
เรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม บวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงพร้อมแล้วในชาตินี้
เรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบจูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐
(4) อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร
เล่มที่ ๒๔
[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ
๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว
ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใด
ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑
บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ
คือ อุตริมนุสธรรม อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว
จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการ นี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ
จบสูตรที่ ๘