เทวทูต
การประพฤติไม่ชอบธรรม
เล่มที่ ๑๓
[๖๗๕] ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ดูกรธนัญชานิ ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ?
ธนัญชานิพราหมณ์ได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ที่ไหนข้าพเจ้าจะไม่ประมาท
เพราะข้าพเจ้าต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ต้องเลี้ยงพวกทาส
กรรมกร และคนรับใช้ ต้องทำกิจสำหรับมิตรและอำมาตย์ แก่มิตรและอำมาตย์ ต้องทำกิจสำหรับญาติสาโลหิต
แก่ญาติ สาโลหิต ต้องทำกิจสำหรับแขกแก่แขก ต้องทำบุญที่ควรทำแก่ปุพเปตชนส่งไปให้ปุพเปตชน
ต้องทำการบวงสรวงแก่พวกเทวดา ต้องทำราชการให้แก่หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำ
ต้องให้เจริญ.
[๖๗๖] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา
นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม
เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่าเราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ขอนายนิริยบาลอย่างพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า
ผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย
ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนลงในนรกจนได้.
[๖๗๗] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าผู้นั้นไปนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า
เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา
ขอนายนิริยบาลอย่างพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าบุตรหรือภรรยาของผู้นั้นจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า
ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย
ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนลงในนรกจนได้.
[๖๗๘] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจข้อความนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ นายนิริยบาล
จะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม
เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งทาส กรรมกรและคนรับใช้ ขอนายนิริยบาลอย่างพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าพวกทาส กรรมกรและคนรับใช้ของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๗๙] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม
เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่ามิตรและอำมาตย์ของเขาพึงได้ตามความปรารถนาว่า
ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๐] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า
เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าญาติสาโลหิตของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๑] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า
เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก
ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าแขกของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๒] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน
นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม
เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย หรือว่าปุพเปตชนของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า
ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๓] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า
เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าเทวดาของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๔] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า
เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา ขอนายนิริยบาลอย่างพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าพระราชาของผู้นั้นจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๕] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกาย
นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม
เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือหนอว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม
เพราะเหตุการเลี้ยงกาย เพราะเหตุการทำนุบำรุงกาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปนรกเลย
หรือว่าชนเหล่าอื่นของเขาจะพึงได้ตามความปรารถนาว่า ผู้นี้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกาย
ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย?
ธ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร ที่แท้ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้.
[๖๘๖] สา. ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ผู้ที่ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
ไม่ประเสริฐ
ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐ
ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๘๗] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุบุตรและภรรยา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน? ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา ประเสริฐ
ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงบุตรและภรรยาได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๘๘] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้ กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม
ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้ ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาส
กรรมกรและคนรับใช้ ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพวกทาส กรรมกรและคนรับใช้
ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงพวกทาส
กรรมกรและคนรับใช้ได้ ไม่ต้องกระทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้
มีอยู่.
[๖๘๙] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม และประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์
ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์
ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่มิตรและอำมาตย์ได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๙๐] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต
ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ประเสริฐ
ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ญาติสาโลหิตได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๙๑] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งแขก ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งแขก
ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม
ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่แขกได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๙๒] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน
ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม
ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ปุพเปตชนได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๙๓] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งเทวดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา
ไม่ประเสริฐ
ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งเทวดา ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม
ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่เทวดาได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
[๖๙๔] ดูกรธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม
เพราะเหตุแห่งพระราชา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา
ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งพระราชา
ประเสริฐ ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมและการประพฤติถูกธรรม ประเสริฐกว่าการประพฤติไม่ชอบธรรมและการประพฤติผิดธรรม.
สา. ดูกรธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุ ประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแห่งพระราชาได้
ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่.
๑๐. เทวทูตสูตร (๑๓๐)
เล่มที่ ๑๔
[๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี
สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
[๕๐๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน
๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง
กำลังเดินไปบ้างฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ
เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต
วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ
เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ
เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ
เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ
เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงปิตติวิสัยก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วย อำนาจมิจฉาทิฐิ
เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้
ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ
เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ฯ
[๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่าง ๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า
ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์
ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด ฯ
[๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่
๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดง ๆ ยังอ่อนนอนแบ
เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า
แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้าฯ
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา
และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว
ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน
ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน
ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้
ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ
[๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่
๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูต ที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ
ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ
๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้ เท้า
งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนัง ย่น ศีรษะล้าน
เหี่ยว ตัวตกกระในหมู่มนุษย์หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า
แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ
เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้าฯ
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้
เพราะมัวประมาทเสีย
ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล
ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน
ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน
ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน
ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ
[๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่
๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ
ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย
ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ
ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า
แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้าฯ
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา
และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย
ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล
ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน
ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน
ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน
ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ
[๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่
๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ
ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว
สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ ฯ
(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธีหม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธีขอดสังข์บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธีปากราหูบ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธีมาลัยไฟบ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธีคบมือบ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธีริ้วส่ายบ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธีนุ่งเปลือกไม้บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธียืนกวางบ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธีเกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธีเหรียญกษาปณ์บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธีแปรงแสบบ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธีกางเวียนบ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธีตั่งฟางบ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือด ๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ
เป็นอันว่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้น ๆ
ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน
จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้าฯ
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา
และทางใจไว้
เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว
ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน
ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน
ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้
ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ
[๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่
๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ
ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ที่ตายแล้ววันหนึ่ง
หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ
ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า
แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้าฯ
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา
และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว
ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน
ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้
ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน
ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕
กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ
[๕๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อ การจำ ๕
ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่
๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้น จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น
และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ
[๕๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก...จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน
เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะเอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง ...
จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไป ในหม้อทองแดง
ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง
สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น
เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง
พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในหม้อทองแดงนั้น
และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ
[๕๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล
มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วน แล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน
ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้นมีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝา ด้านหลัง
พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ
พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง
สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน
ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว
ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลาย ก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว
จะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด
สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน
ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ ประตูด้านใต้เปิด
สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ
ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที
และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด
สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน
ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว
ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ
แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้
แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น
และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง
แล้วเฉือดเฉือนเนื้อแล้ว เฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก
สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง ๑- ใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน
สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดฯ
[๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่ รอบด้าน
ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง
เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น
สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน
สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง
และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ จมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดฯ
[๕๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง
ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ใน @๑. เถ้ารึง
คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน
แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ
[๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์ นั้นขึ้นวางบนบก
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร
สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน
มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง
ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วน เบื้องล่าง
สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และ ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
ฯ
[๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ
เจ้าต้องการอะไร
สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง
กรอกเข้าไปในปาก น้ำ ทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง
ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก ฯ
[๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า
พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์
ต่างชนิดเห็นปานนี้
โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก
ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา
และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก
ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น ฯ
[๕๒๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้
ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า
นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว
เศร้าโศกสิ้นกาลนาน
ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตว์บุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้
อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะ
ในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ถือมั่น
หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้
นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
ฯ
จบเทวทูตสูตรที่ ๑๐