ตน
(1) ๑. ราชสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๑๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมลลิกาเทวี
ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า
ดูกรน้องมัลลิกา มีใครอื่นบ้างไหมที่น้องรักยิ่งกว่าตน พระนางมัลลิกากราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่ามีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์
เพค๊ะ ฯ
ป. ดูกรน้องมัลลิกา แม้ฉันก็ไม่รักใครอื่นยิ่งกว่าตน ฯ
ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทแล้ว
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันอยู่บนปราสาทกับพระนางมัลลิกาเทวี ได้ถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า
มีใครอื่นที่น้องรักยิ่งกว่าตน เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ พระนางมัลลิกาเทวีกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่ามีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์
หม่อมฉันเมื่อถูกถามเข้าอย่างนี้ จึงได้ตอบพระนางมัลลิกาว่า
แม้ฉันก็ไม่มีใครอื่นที่จะรักยิ่งกว่าตน ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ใคร ๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน
ๆ ไม่เลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น ฯ
จบสูตรที่ ๑
(2) เล่มที่ ๒๕
[๒๒] หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง
หากว่าภิกษุพึงทำตนเหมือนอย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้ ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดีแล้วหนอ
พึงฝึกได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก ความชั่วที่ตนทำไว้เอง
เกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีที่เกิดแต่หิน
ฉะนั้น ความเป็นผู้ทุศีล ล่วงส่วน ย่อมรวบรัดอัตภาพของบุคคลใด ทำให้เป็นอัตภาพ
อันตนรัดลงแล้ว เหมือนเถาย่านทรายรวบรัดไม้สาละให้เป็นอันท่วมทับแล้ว บุคคลนั้นย่อมทำตนเหมือนโจรผู้เป็นโจก
ปรารถนาโจรผู้เป็นโจก ฉะนั้น กรรมไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมใดแลเป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง ผู้ใดมีปัญญาทราม
อาศัยทิฐิอันลามก ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้อรหันต์ เป็นพระอริยเจ้า
มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม การคัดค้านและทิฐิอันลามกของผู้นั้น ย่อมเผล็ดเพื่อฆ่าตน
เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง
ย่อมหมดจดด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่
บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน ฯ
จบอัตตวรรคที่ ๑๒
(3) เล่มที่ ๒๕
[๓๕] ...จงเตือนตนด้วยตนเอง จงสงวนตนด้วยตนเอง
ดูกรภิกษุ เธอนั้นผู้มีตนอันคุ้มครองแล้ว
มีสติ จักอยู่เป็นสุข ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ตนแลเป็นคติของตน เพราะเหตุนั้น
ท่านจงสำรวมตน เหมือนพ่อค้าระวังม้าดีไว้ ฉะนั้น
(4) เล่มที่ ๒๕
[๒๘] ...ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น
ดุจบุคคลโปรยแกลบ แต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้
ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น มีความสำคัญในการยกโทษเป็นนิตย์
บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลจากความสิ้นอาสวะ สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ
ฉะนั้น หมู่สัตว์ยินดีแล้วในธรรมเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า พระตถาคตทั้งหลายไม่มีธรรมเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า
สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ ฉะนั้น
สังขารทั้งหลายเที่ยงไม่มี กิเลสชาติเครื่องยังสัตว์ให้หวั่นไหวไม่มีแก่พระพุทธเจ้า
ฯ