วาจา
(1) ขตสูตรที่ ๑
เล่ม ๒๑ ข้อ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ
ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญ เป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วกล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ
แล้วยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ แล้วยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส
๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ
ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ
นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต
เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ
เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบ แล้วกล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบ แล้วกล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบ แล้วยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๑
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบ แล้วยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ
เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ฯ
ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น
ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย
การที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ
เป็นโทษใหญ่กว่า(โทษการพนัน)
ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ ติเตียนพระอริยเจ้า
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุททะและห้าอัพพุททะ ฯ
จบสูตรที่ ๓
(2) คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗
เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗
บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย
พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้น
ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
บุคคลใดแล พึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้
ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี คนนอกนี้เป็นคนถือเชือก
พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ
แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้
บุคคลพึงไปในสำนักแห่งเทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้
มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์
มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก
อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ
ศึกษาเนือง ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี
ดูกรอตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้
คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้พูดพอประมาณ
ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่มีแล้ว จักไม่มี
และไม่มีในบัดนี้
ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด
ผู้มีความประพฤติไม่ขาด เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล
ใครย่อมควร เพื่อจะนินทาบุคคลนั้นผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุช
แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น
แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น
ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย
ละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา
ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา
พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ
ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ
นักปราชญ์ทั้งหลาย สำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา
สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแล สำรวมเรียบร้อยแล้ว ฯ
จบโกธวรรคที่ ๑๗
(3) สุภาษิตสูตรที่ ๕
เล่มที่ ๑๕
[๗๓๘] สาวัตถีนิทาน ฯ ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์
๔ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
องค์ ๔ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมกล่าวแต่วาจาที่บุคคลกล่าวดีแล้วอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่บุคคลกล่าวชั่วแล้ว
๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม ๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาจริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเท็จ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน ฯ
[๗๓๙] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นที่หนึ่ง บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม เป็นที่สอง บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นที่รัก
ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก เป็นที่สาม บุคคลพึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าว
วาจาเท็จ เป็นที่สี่ ดังนี้ ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เนื้อความนี้จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ ฯ
[๗๔๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควร
ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ว่า บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก
ที่ชนทั้งหลายชื่นชมแล้ว ไม่ถือเอาคำที่ชั่วช้าทั้งหลาย กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักแก่ชนเหล่าอื่น
คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของมีมาแต่เก่าก่อน สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์
ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด ซึ่งเป็นวาจาเกษม เพื่อให้ถึงพระนิพพาน
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ พระวาจานั้นแลเป็นสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย ดังนี้ฯ
(4) วาจาสูตร
เล่มที่ ๑๙
[๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑
เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑
เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต
และเป็นวาจาไม่มีโทษ
วิญญูชนไม่ติเตียน ฯ
จบสูตรที่ ๘
(5) ๕. สัมปชานมุสาวาทสูตร
เล่มที่ ๒๕
[๒๐๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว
เรากล่าวว่า บาปกรรมไร ๆ อันเขาจะไม่พึงทำไม่มีเลย
ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สัมปชานมุสาวาท ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ฯ
บาปกรรมที่สัตว์ผู้เป็นคนมักพูดเท็จ ล่วงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว
ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว จะไม่พึงทำ ไม่มีเลย ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ
(6) วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์
เล่มที่ ๑๓
[๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนเพียงได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า
ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์
หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทำเด็กนั้นอย่างไร?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่ทีแรก
หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ แล้วงอนิ้วมือขวา ควักไม้หรือก้อนกรวดแม้พร้อมด้วยเลือดออกเสีย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร.
ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.