|
|||
เส้นทางการเมืองของประชาชนไทย สู่ศตวรรษใหม่แห่งการมีส่วนร่วม | |||
ปาฐกถาเนื่องในวาระครบรอบ 26 ปีแห่งการต่อสู้ 14 ตุลาคม | |||
โดยอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล | |||
ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ | |||
พี่น้องที่รักทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย | |||
......ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณบรรดาองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันจัดงานในวันนี้ ที่ให้เกียรติเชิญผมมาแสดงความคิดเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปีแห่งการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 | |||
......ในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่ง 26 ปีนับว่ายาวนานพอสมควร นานพอที่จะเปลี่ยนชายหนุ่มให้กลายเป็นชายชรา และนานพอที่จะแปรทารกน้อยให้กลายเป็นคนหนุ่มสาว แต่ถ้าเราพิจารณาจากช่วงประวัติศาสตร์ของประชาติหนึ่ง 26 ปีย่อมไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานนัก ยังไม่ต้องกล่าวถึง 26 ปีอันเป็นเวลาของจักรวาล | |||
......อย่างไรก็ตาม การที่ท่านทั้งหลายเชิญผมมาพูดในวันนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า 26 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะพิจารณาในมุมมองใด คงเป็นห้วงเวลาที่ไม่น่าพอใจนัก คนเราเวลามีความทุกข์มักจะคิดถึงมิตรสหาย และผมก็ดีใจที่จนแล้วจนรอดประชาชนยังนับผมเป็ฯมิตรสหายเสมอมา | |||
......สิ่งที่ผมจะกล่าวในวันนี้ ประกอบด้วยเน้อหา 3 ส่วนใหญ่ๆด้วยกัน | |||
......ส่วนที่หนึ่ง ผมอยากจะชวนทุกท่านมาทบทวนความฝันดั้งเดิม ที่เราเคยมีร่วมกันในเดือนตุลาคม 2516 | |||
......ส่วนที่สอง ผมอยากเสนอความเห็นว่า แล้วทำไมฝันของเราจึงยังไม่ปรากฏเป็นจริง หรือจริงเพียงบางส่วน | |||
......สำหรับส่วนที่สาม เป็นคำถามที่ว่า ขณะที่โลกกำลังก้าวไปสู่ศตวรรษใหม่ เราจะทำอย่างไรกันดีจึงจะสามารถพาความฝันของเราติดตัวไปได้ โดยไม่อนุญาตให้การเปลี่ยนศตวรรษเป็นแค่การเปลี่ยนปฏิทิน | |||
พี่น้องทั้งหลายครับ | |||
......ในเดือนตุลาคม 26 ปีก่อน เราร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการลงไป ครั้งนั้นเราฝันถึงโลกสีใด | |||
......แน่นอนที่สุดก่อนหน้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เราไม่มีเสรีภาพ และเมื่อเราจินตนาการถึงเสรีภาพ เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพียงโครงสร้างการค้าเสรี เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่การเมืองแบบเลือกตั้ง สำหรับเรา เสรีภาพ คือสิทธิและโอกาสที่จะบรรลุศักยภาพของความเป็นคน ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน สำหรับเรา เสรีภาพคือสิทธิในการค้นหาจุดหมายและความหมายของชีวิตโดยไม่มีอุปสรรคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมาขวางกั้น | |||
......เช่นเดียวกับ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้ของเสรีภาพ เราไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้คือการถือคะแนนเท่ากันแค่หนึ่งในฤดูเลือกตั้ง แค่นั้นยังไม่พอ ความเสมอภาคคือฐานะความเป็นคนเท่าเทียมกับผู้อื่น เป็นสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่ถูกเหยียดหยาม เหยียบย่ำหรือถูกครอบงำโดยวิธีต่างๆ เราใฝ่ฝันถึงความเสมอภาคทางกฏหมาย ความเสมอภาคทางโอกาส และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ | |||
......ประการสุดท้ายเราฝันถึง ภราดรภาพ เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่ถ้อยคำหาเสียง ราวกับว่าทุกคนเป็นญาติของนักการเมืองที่จะเริ่มต้นทุกคำพูดด้วยประโยคที่ว่า พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักทั้งหลาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีใครมานับญาติกับเราอย่างแท้จริง | |||
......เราฝันถึงภราดรภาพเพราะเราคิดว่ามันเป็นชีวิตที่อบอุ่นในอ้อมกอดของประเทศชาติ ที่มีสายใยผูกพันระหว่างคนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน ชีวิตที่มีบ้านเกิดในความหมายที่แท้จริง มีบ้านเกิดในความหมายของจิตใจและจิตวิญญาณ มีดินแดนที่เรารู้สึกสังกัดอย่างแท้จริง และมีพี่น้องร่วมสายพันธุ์ในครอบครัวใหญ่ที่เราเรียกว่า ประเทศไทย | |||
พี่น้องทั้งหลายครับ | |||
......ความฝันทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่เพียงแต่จะไม่ปรากฏเป็นจริงในระยะ 26 ปีที่ผ่านมา หากนับวันยังจะถูกทอดทิ้งทำลาย ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยที่ครั้งหนึ่งเราเคยเอาเลือดไปแลกมา คำตอบอาจมี 2-3 ประการ | |||
......ประการที่หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทางเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏชัดระหว่างเมืองกับชนบท อันนี้เป็นสภาพที่มีมาแต่เดิมภายใต้ระบบเผด็จการ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยระบอบรัฐสภา มิเพียงไม่แก้ไข หากยังใช้ประโยชน์ทางการเมืองทำให้การเมืองกลายเป็นธุรกิจของคนส่วนน้อย ที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นลู่ทางการครอบงำทรัพยากรและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ | |||
......ประการที่สอง ปรากฏการฟองสบู่ที่อาศัยเงินทุนข้ามชาติเข้ามา เปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด จิตสำนึก ไปจนกระทั่งวิถีชีวิตของคนชั้นกลาง ซึ่งเคยมีบทบาทสร้างสรรค์ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นี่ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ส่งผลทางลบต่อประชาธิปไตยบ้านเรา จากผู้ผลิตของชาติ คนชั้นกลางกลายเป็นผู้บริโภคข้ามชาติ จากผู้ที่เคยขยันหมั่นเพียร กลายเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น และจากผู้ที่เคยเอาการเอางานในการถ่วงดุลและตรวจสอบผู้มีอำนาจ เขากลายเป็นพวกเฉื่อยเนือยทางการเมือง หรือจะออกมาเคลื่อนไหวบ้างก็เพื่อกดดันรัฐบาลให้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตนเอง | |||
......โลกทัศน์เช่นนี้อาจสอดคล้อง กับความต้องการของกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่อยากเห็นประชากรในประเทศต่างๆไร้จิตสำนึกทางการเมือง เลิกรู้สึกสังกัดบ้านเกิดเมืองนอนของตน และสิ้นเยื่อใยกับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่มันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับความใฝ่ฝันที่เราเคยมีมาร่วมกัน | |||
......กล่าวในทางการเมืองแล้ว การแปรเปลี่ยนของชนชั้นกลางนับเป็นความสูญเสียใหญ่หลวงของพลังสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในภาคของประชาชน เนื่องจากการดำรงอยู่ของพวกเขาได้ถูกแยกออกจากชะตากรรมของคนที่เหลือในประเทศ และการถูกพลัดพรากทางวัฒนธรรมได้ทำให้ความผูกพันที่เราควรมีต่อกันถูกลิดรอนลงไปจนเกือบจะไม่มีเหลือ | |||
......ประการที่สาม นอกจากความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วระหว่างเมืองกับชนบท และการหมดสภาพพลังสร้างสรรค์ของชนชั้นกลางแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวลงคือ ความขัดแย้งไม่ลงตัวระหว่างการเมืองกับการปกครอง | |||
......พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า แม้การต่อสู้ 14 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2516 จะช่วยสถาปนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และนำสิทธิเสรีภาพมาสู่ประชาชนไทยในระดับหนึ่ง แต่ระบบรัฐสภาดังกล่าวกลับไปสวมอยู่บนยอดของระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งมีมาแต่เดิมนับร้อยปี | |||
......สภาพเช่นนี้กลายเป็นลู่ทางพิเศษที่นักการเมืองที่ปราศจากการฝึกอบรมในทางคุณธรรมของการปกครองไปนั่งอยู่บนยอดของโครงสร้างอำนาจแบบสัมบูรณ์สิทธิ แม้ที่มาของพวกเขาจะเป็นการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็มีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับประชาชนไม่ต่างจากขุนนางโบราณหรือผู้นำประเทศในยุคเผด็จการ เช่นนี้แล้วในทางส่วนตัว การเมืองแบบเลือกตั้งจึงกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เป็นกิจการที่สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้คนจำนวนหนึ่งยิ่งกว่าอาชีพใดๆในประเทศไทย | |||
......26 ปีที่ผ่านมา เรามักโต้แย้งกันเรื่องใครจะมาเป็นผู้นำประเทศ กระทั่งนองเลือดซ้ำอีกในปี 2535 เพื่อจะค้นหาวิธีการสรรหาคนมานำพาประเทศชาติ แต่เราเกือบไม่พูดกันเลยว่า อำนาจของผู้นำประเทศที่มีต่อประชาชนและสังคมนั้น ควรมีแค่ไหนอย่างไร จริงๆแล้วมันไม่ได้เปลี่ยนไปเลยไม่ว่าคุณจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากรัฐประหาร ท้ายที่สุดก็บริหารแผ่นดินแบบรวมศูนย์เหมือนกัน ดำเนินนโยบายการคลังและจัดเก็บภาษีแบบรวมศูนย์เท่ากัน รวมทั้งจัดทำงบประมาณแผ่นดินแบบรวมศูนย์ผ่านระบบราชการเช่นกัน ทั้งหมดนี้ ไม่เพียงเป็นการกักขังประชาชนไว้กับโครงสร้างอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพของพวกเขามาช้านาน หากยังเป็น ทั้งทางเศรษฐกิจและการคลังที่หนักหน่วงซึ่งคนทั้งสังคมต้องแบกรับ | |||
......มิตรสหายทั้งหลายครับ | |||
......ปัจจัยต่างๆที่ผมกล่าวมานี้ แน่นอนที่สุดมีส่วนกัดกร่อนความใฝ่ฝันของเราที่เคยมีมาเมื่อ 26 ปีก่อนละนานวันยิ่งทำให้ผู้คนหลงลืมมันไป รวมทั้งบางส่วนของคนรุ่น14 ตุลาคมด้วย โอกาสทางการเมืองเปิดเฉพาะกับบุคคลที่ได้เปรียบ ทำให้พวกเขาคิดว่าเสรีภาพเป็นแค่ตลาดอำนาจที่มีการแข่งขันเสรี โอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดให้เฉพาะชนบางส่วน ทำให้พวกเขาคิดว่า คนที่ปราศจากทรัพย์สินภายนอก เป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อยกว่า หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นแค่อารยชน ระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และยกส่วนกลางให้กับนักเลือกตั้ง ยิ่งปิดกั้นหน ทางในการกอบกู้ฟื้นฟูประเทศไทยให้หลุดพ้นไปจากสภาพเช่นนี้ | |||
......ถามว่าในห้วงยามที่ทั้งโลกกำลังจะเข้าสู่ศตวรรษใหม่ เรายังจะรักษาความฝัน แบบศตวรรษที่18 หรือ 19 เช่น เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เอาไว้หรือไม่? หรือจริงๆแล้วเราเป็นได้แค่ที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าโลกจะเข้าสู่ศตวรรษไหน เราจะพาจุดอ่อนข้อเสีย และทุกข์ร้อนดั่งเดิมติดตามไปด้วย | |||
......ในทัศนะของผม คำตอบต่อคำถามนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง | |||
......แน่ละ ถ้าเราไม่ทำอะไรละ ทุกอย่างก็คงเลื่อนไหลไปตามครรลองของมัน โดยมีคนส่วนใหญ่ของประเทศตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ และการเข้าสู่ศตวรรษใหม่อาจเป็นแค่การเปลี่ยนตัวเลขในปฏิทิน แต่ถ้าเราคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เขาสังกัด ความฝันดังเดิมที่เราเคยมีมาเมื่อ 26 ปีก่อนก็สมควรได้รับการกอบกู้ดูแล | |||
......มันอาจจะดูเหมือนความฝันเก่าๆ ของหลายประเทศที่ก้าวผ่านขั้นนี้ไปแล้ว แต่สำหรับเรายังไม่ใช่ความฝันที่ล้าสมัย เราจะปล่อยให้คนส่วนใหญ่จมปลักอยู่ในความยากไร้ ถูกหมิ่นหยามเอาเปรียบ แล้วเรียกตัวเองว่าทันสมัยได้อย่างไร | |||
......ปัญหาที่สำคัญก็คือว่า แล้วเราจะทำย่างไร? ต่อเรื่องนี้ผมคงพูดได้แค่กว้างๆ | |||
......อันดับแรกสุด ผมคิดว่าเราต้องรับบทเรียนที่ผ่านมาตลอด 26 ปีว่า การเมืองแบบเลือกตั้งรอฝากความหวังไว้กับตัวแทนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งเพียงพอสำหรับการสานฝันใดๆของประเทศชาติ อย่าว่าแต่ทำความฝันใหญ่ของ14 ตุลาให้ปรากฏเป็นจริง การเมืองแบบเลือกตั้งอาจจะยังจำเป็น แต่มันไม่เพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผมไม่เห็นทางเลือกอื่นนอกจากจะยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ประชาชนต้องกล้ามีส่วนร่วมทางการเมือง กล้าแสดงความคิดเห็นและรวมพลังกันให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดี | |||
......ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องกว่า ใกล้เคียงกับอุดมคติมากกว่า หมายถึงการปกครองตนเองโดยตรงให้มากที่สุดของประชาชน และหมายถึงการหดตัวของอำนาจการปกครองที่ผ่านมาทางรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจโดยเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ตาม | |||
......เมื่อผมกล่าวเช่นนี้ก็มีนัยอยู่ สองประการคือ หนึ่งระบอบการเมืองการปกครองของเรา จะรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้อยู่ต่อไปไม่ได้ หากอำนาจจะต้องกระจายลงถึงราฐานของสังคม ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่า หมู่บ้าน หรือ ชุมชนท้องถิ่น ก็ตาม ประการที่สอง ตัวประชาชนเองก็ต้องสลัดความคิดแบบพึ่งพาหรือที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์ทิ้งไป ความคิดดังกล่าวมันเหมาะกับระบบไพร่ ระบบทาสเท่านั้น มันไม่เหมาะสำหรับระบบประชาธิปไตย และเราก็ไม่อาจแก้ตัวได้อีกต่อไปเพราะเรายกเลิกระบบไพร่ระบบทาสมา 90 กว่าปีแล้ว | |||
......อันดับต่อมา พร้อมๆกับการขยายบทบาททางการเมืองการปกครองของประชาชนและการลด ฐานะการปกครองของรัฐลง เราจะต้องทวนคำนิยามของ ประโยชน์ส่วนรวม กันใหม่ ที่ผ่านมามีอยู่บ่อยครั้งที่ผลประโยชน์ของรัฐและผู้กุมอำนาจรัฐถูกนำมาอ้างว่าเป็นผลป ระโยชน์ของชาติ และบ่อยครั้งยิ่งกว่านั้นอีก ที่ผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียวถูกอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งไม่เป็นความจริงและเราไม่ควรอนุญาตให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก | |||
......คำว่า ส่วนรวม ต่อไปนี้จะต้องไม่ถูกปล่อยให้เป็นเพียงนามธรรม ทุกคนทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะถามทุกครั้งที่ผู้กุมอำนาจบอกเขาว่าทำเพื่อส่วนรวมว่า ตัวเองได้อะไร | |||
......อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่น่ากลัวเท่าคำว่า คนบางส่วนที่ผูกติดตัวเองไว้กับทุนข้ามชาติและการบริโภคข้ามชาติ เริ่มรู้สึกว่าการดำรงอยู่ของส่วนรวม การดำรงอยู่ของชาติกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น กระทั่งล้าหลังไม่เหมาะกับศตวรรษใหม่ที่เคลื่อนใกล้เข้ามา คนเหล่านี้พยายามทุกอย่างที่จะฟื้นสภาพเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ ต่อให้ต่างชาติต่อรองเอาผลประโยชน์แบบไหนก็ยินยอมพร้อมใจ ขอเพียงให้กลุ่มของตนมีส่วนแบ่งบ้างก็พอแล้ว ส่วนเพื่อนร่วมชาติจะต้องแบกภาระหรือตกเป็นเบี้ยล่างของทุนต่างด้าวอย่างไรพวกเขาไม่สนใจ อันนี้เป็นผลเนื่องมาจากการพลัดพรากทางวัฒนธรรมและการแยกตัวทางการเมือง ตลอดจนการสิ้นเยื่อใยกันทางจิตวิญญาณระหว่างคนชั้นกลางกับคนชั้นที่เหลือ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น | |||
......ถามว่าการปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เป็นความคิดค่านิยมคับแคบ เป็นโบราณสมัยหรือไม่? ถามว่า เราจำเป็นต้องตัดขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาเอาเปรียบใช่หรือไม่? คำตอบทั้งหมดคือ ไม่ | |||
......เราสามารถต้อนรับนานาชาติได้ทั้งในด้าน ข่าวสาร ความรู้ และการลงทุน และไม่มีเหตุผลที่จะยึดติดว่าประเทศไทยรับของนอกไม่ได้ ผสมผสานชีวิตของตนเข้ากับสากลไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักสร้างแนวป้องกันตนเองทั้งในทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และในทางวัฒนธรรม เพื่อเราสามารถคบหาผู้อื่นได้อย่างเสมอภาค สร้างสรรค์ กระทั่งสามารถสมทบส่วนให้กับความเจริญของโลกและความผาสุกของมนุษยชาติด้วยพลังที่เรามี สำหรับเรื่องนี้ผมไม่เห็นว่าเราจะป้องกันตัวแบบไหนได้ นอกจากฟื้นฟูสำนึกที่เราอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน มีชะตากรรมร่วมกัน และเป็นพี่น้องกัน | |||
......ประการสุดท้าย เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วคงต้องยืนยันต่อไปว่า เศรษฐกิจแบบฟองสบู่ เป็นภัยต่ออิสรภาพต่อประชาชาติไทยอย่างยิ่งเพราะ มันพลัดพรากพี่น้องด้วยการทำให้เราคิดไม่เหมือนกัน อยู่ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญที่สุด คือ มีความภักดีทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว | |||
......แน่ละ ผมไม่ได้หมายความว่า ต่อไปนี้คนทั้งประเทศจะต้องทำอะไรเหมือนกันหมด ตรงกันข้ามผมอยากเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะผลิดอกออกช่อมาจากท้องถิ่นต่างๆ ผมอยากเห็นปัจเจกชนในประเทศไทยมีปัจเจกภาพโดยการเป็นตัวของตัวเองทางความคิดและการดำรงอยู่ ขอเพียงอย่างเดียวว่า สิ่งเหล่านี้ควรงอกมาจากการริเริ่มสร้างสรรค์ของเราอย่างแท้จริง ให้มันเป็นสวนดอกไม้หลากสีสันที่เราเป็นเจ้าของร่วมกันและเป็นรูปธรรมของเสรีภาพที่มีอยู่ในสังคมไทยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความหลากหลายจอมปลอมที่เกิดจากอำนาจซื้อที่ล้น เกินและอวดอ้างสิ่งของที่ตนเองครอบครองอยู่ | |||
......เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากกลับไปสู่ความฝันที่ดั้งเดิมของ 14 ตุลาคม แม้แต่รากฐานทางเศรษฐกิจก็ควรต้องเปลี่ยนแปลง เราจะต้องกล้าถอนตัวออกจากวิถีชีวิตการเก็งกำไรระยะสั้นและหันมาทำนุบำรุงให้เกียรติ กระทั่งสร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวยกับคนที่ทำงานอย่างแท้จริง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา คนงานในภาคอุตสาหกรรม หรือผู้ผลิตรายย่อยที่ดิ้นรนขนขวายอยู่กับการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพพิเศษ | |||
......คนไทยมิใช่คนไร้ปัญญา แต่เราถูกปิดบังปิดกั้นด้วยโครงสร้างต่างๆ เราถูกทำให้เห็นว่าการทำงานที่แท้จริงเป็นเรื่องน่าเหยียดหยาม ในขณะที่การเก็งกำไรกลายเป็นเรื่องที่คนเชิดชูสรรเสริญ ทั้งหมดนี้ถ้าเราแก้ไขมันได้ มันจะไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น หากจะเป็นการฟื้นฟูความภาคภูมิใจให้กับคนทั้งชาติ เป็นการยกระดับคนในประเทศนี้ทั้งในด้านจริยธรรม การใช้ชีวิต และความสามารถในการประกอบอาชีพ | |||
......และถ้าจะให้ผมพูดให้หมดเปลือก บางทีการปรับปรุงในส่วนต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าเรา ไม่ปรับเปลี่ยนการศึกษาของชาติควบคู่ไปด้วย ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาของชาติก็เป็นแบบรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง และเป็นระบบเก็งกำไรโดยตัวของมันเอง เด็กๆ ถูกสอนให้เรียนสูงเพื่อจะได้ทำงานน้อย และรับผลตอบแทนที่มากกว่าผู้อื่น โดยสังคมไม่ได้มีโอกาสแม้แต่นิดเดียวที่จะตรวจสอบว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าสำเร็จการศึกษาขั้นสูงนั้น แท้จริงแล้วได้สมทบส่วนให้กับความเจริญของประเทศชาติมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่กับทรัพย์สินส่วนรวมที่ถูกนำไปลงทุนในด้านนี้ มหาวิทยาลัยทุกวันนี้กลายเป็นโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง เป็นลานวิ่งเล่นของเด็กที่ปวกเปียกในจิตวิญญาณและไร้ความกล้าหาญในทุกมิติ และทั้งหมดนี้เนื่องมาจากการประหงมที่ล้นเกินและการแยกตัวเองออกจากเพื่อนร่วมชาติที่เหลือ | |||
......ครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่งเมื่อเห็นเด็กมีปัญหาในด้านโลกทัศน์ ชีวทัศน์ แทนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล กลับฉวยโอกาสเอาประโยชน์เข้าหาตนละทิ้งการสอน หันไปแสวงหาทรัพย์สินเพิ่มเติมในทางอื่น หรือไม่ก็ขายปริญญาให้กับเยาวชนผู้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ดัดแปลงมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ประกอบการค้าชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าได้แปลกใจเลยว่า ทำไมบ้านเมืองของเราจึงไม่ค่อยมีความสามารถในการผลิตทรัพย์สินทางปัญญา และที่สำคัญที่สุด ท่านอย่าได้แปลกใจเลยว่าทำไมมหาวิทยาลัยจึงเงียบกริบกับสถานการณ์ปัจจุบัน | |||
......ถ้าเราเห็นพิษภัยของเศรษฐกิจฟองสบู่ ก็ต้องมองให้เห็นพิษภัยของการศึกษาแบบฟองสบู่ด้วย ถึงที่สุดแล้วทั้งสองอย่างนี้ล้วนทำให้ผู้คนที่ควรจะมีพลังสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติกลายเป็นพวกต่ำตื้นและฉาบฉวยกับชีวิต | |||
......ถ้าเราจะเห็นพิษภัยของเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ ก็ต้องมองให้เห็นพิษภัยของการศึกษาแบบฟองสบู่ด้วย ถึงที่สุดแล้วทั้งสองสิ่งนี้ล้วนทำให้ผู้คนที่ควรจะมีพลังสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติกลายเป็นพวกต่ำตื้นและฉาบฉวยกับชีวิต | |||
......พี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย | |||
......ผมต้องขออภัยอย่างยิ่งที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน กล่าวถึงสภาพต่างๆในบ้านเมืองของเราในมิติที่ติดลบหรือค่อนข้างมืดมน แต่อันที่จริงผมไม่เคยรู้สึกสิ้นหวัง และยิ่งไม่ปรารถนาให้ท่านทั้งหลายสิ้นหวัง เพียงแต่ว่าเราต้องเปิดความจริงที่เป็นอยู่ออกมาดูให้ถึงราก และยอมรับว่าบ้านเมืองของเรามีปัญหา อีกทั้งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงยิ่ง | |||
......ความใฝ่ฝันเดิมที่ผมชวนท่านทั้งหลายมาทบทวน แท้จริงแล้วย่อมสามารถย่อไว้ในประโยคเดียวกันคือ เราต้องการชีวิตที่ดีกว่า แต่ว่าชีวิตที่ดีกว่าย่อมแยกไม่ออกจากสังคมที่ดีขึ้น และสังคมจะดีขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการลงเรี่ยวลงแรงของผู้คนที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมนั้นๆ | |||
......ในวันนี้มันอาจเป็นไปได้ยากที่เราจะอาศัยพลังของชนชั้นกลางที่เคยมีคุณูปการอันใหญ่หลวงในการต่อสู้ 14 ตุลาคม แต่มันก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะบ่นกันไปเพียงวันๆ หรือฝันลมๆแล้งๆในขณะที่การดำรงอยู่ของพวกเราเหมือนนั่งงอมืองอเท้าไปเรื่อยๆ หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ การดำรงอยู่ที่ขัดแย้งกับความฝันของตนเอง | |||
.....26 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ถ้าประชาชนไม่เอาธุระกับเรื่องส่วนรวมและมัวแต่ฝากความฝันไว้แต่กับผู้อื่นที่ใฝ่อำนาจ ประชาธิปไตยก็เป็นได้แค่โครงสร้างอำนาจชนิดหนึ่งซึ่งข่มเหงคนได้ไม่แพ้โครงสร้างอำนาจชนิดอื่น | |||
......จริงอยู่ ทุกวันนี้เรามีเสรีภาพทางการเมืองมากกว่าสมัยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ สามารถรวมตัวกันได้โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะถูกใครจับตัวไปขังหรือฆ่าเหมือนในอดีต รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปิดทางไว้ให้ประชาชนแสดงบทบาทอยู่หลายทาง | |||
......แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเช่นนั้นแล้วเรามีเหตุผลอันใดเล่าที่จะไม่เข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง เรามีอะไรที่จะต้องหวั่นเกรงอีก มีอะไรที่ทำให้เรานั่งเงียบงันและยอมจำนนตกเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยปัจจัยและอิทธิพลต่างๆ ทั้งที่เราไม่พอใจและไม่เห็นด้วย | |||
......ผมอยากให้ทุกท่านกลับไปถามตัวเองในวันนี้ และพรุ่งนี้ช่วยถามคนอื่นต่อไป |