พระธรรมคำสอนของหลวงปู่ใหญ่พระครูธรรมเทพโลกอุดร

ธรรมปฏิบัติบท 1

เหตุเกิดทุกข์ จะต้องดับด้วยนิโรธคามินีปฏิปทา ด้วยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ การปฏิบัติก็ต้องมีศีลกันก่อน ศีลได้แก่สัมมากัมมันตะ ได้แก่การงานชอบ เว้นจากเบียดเบียนผู้อื่น ต่อไปก็ละมิจฉาวาจาเสีย ทำให้สัมมาวาจาเกิดขึ้น อาชีวะก็เหมือนกัน จะต้องประกอบการเลี้ยงชีพในทางสุจริต สิ่งเหล่านี้เป็นศีล ควรทำให้เกิดขึ้นก่อน ต่อไปก็ทำสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อสัมมาสมาธิมี สัมมาสติก็จะเกิดขึ้นตามมาพร้อมกับสมาธิ สัมมาสติกับสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นพร้อมกัน จะไม่พรากจากกัน สมาธิไม่มี สติก็ไม่มี

ส่วนสัมมาวายามะ ได้แก่ความเพียรชอบ ก็คือการรักษาสติอยู่ตลอดเวลา คนเราถ้ามีสติประจำอยู่ สัมมาทิฐิก็จะเกิดขึ้น สัมมาสติเป็นตัวให้เกิดสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิเป็นตัวให้เกิดสัมมาสัมกัปปะ เห็นชอบ ดำริชอบ ส่วนสัมมาสมาธิ เป็นตัวรักษาสิ่งต่างๆ ให้ดำรงอยู่ และทำให้อีก 7 ตัวเกิดขึ้นและอาศัยซึ่งกันและกัน สัมมาสมาธิเป็นหลักในการปฏิบัติธรรมในการดับรูปธรรมและอรูปธรรม ในสองสิ่งนี้จะต้องให้ดับเสียก่อน ต่อไปปรมัตถธรรมถึงจะเกิดขึ้น ปรมัตถธรรมเกิดขึ้น ก็จะเห็นสิ่งที่จัดเป็นรูปธรรมและอรูปธรรมดับ

การทำสมาธิในขั้นแรก เมื่อได้สมาธิ ก็จะเกิดการรู้สึกว่า กายสังขารดับ วจีสังขารดับ มโนสังขารดับ ก็ให้ใช้ความสังเกตดูว่า การได้สมาธิสักครั้ง กายสังขารดับหรือไม่ ถ้าได้สมาธิจริง สังขารจะดับ สิ่งที่รวมอยู่กับสังขารก็จะดับด้วย ถึงจะเชื่อได้ว่าได้สมาธิจริง

คนตายแล้ว วิญญาณไม่มี จะมีแต่จิตเท่านั้น คนตายแล้วสิ่งที่ติดไปมี เวทนา สัญญา เป็นตัวที่ไปกับจิต รูป สังขาร วิญญาณ สามสิ่งนี้ไม่ได้ไปกับจิตด้วย จิตเป็นตัวรับกรรม เวทนา สัญญา จึงติดกับจิตไปด้วย การทำความดี การทำความชั่ว จิตเป็นตัวรับเวทนา อันนั้นเพราะสัญญาเป็นตัวกรรมดับเวทนาอยู่ สัญญาเป็นตัวกำหนดให้ใช้กรรม

เวทนามีอยู่ต่อผู้ที่กำลังจะตาย เวทนานั้นมากน้อยแค่ไหน เป็นแรงผลักดันให้เป็นไปก่อนตาย ต่อไปเมื่อตายไปแล้วอีกด้วยจะต่อเนื่องกันไป เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชาติและภพ ใครทำความดีก็ไปดี ใครทำชั่วก็ไปชั่ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ จะซื้อขายแลกเปลี่ยนถ่ายเทกันไม่ได้

ธรรมปฏิบัติบท 2

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาปฏิบัติอย่างแท้จริง ปฏิบัติอย่างเดียวจึงจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้ ศาสนาพุทธมิใช่ศาสนาที่จะต้องเซ่น, มิใช่ศาสนาที่ต้องใช้การสวดอ้อนวอน, ต้องฆ่าบูชายันต์ด้วยสิ่งมีชีวิต พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าใครอยากเข้าถึงศาสนาพุทธให้ปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น

คนที่นับถือศาสนาพุทธ นับถือกันผิดๆ มีการสวดมนต์อ้อนวอน กราบไหว้ สวดร้อยแปด เพื่อให้ได้ถึง มันจะได้จะถึงได้อย่างไร ให้สองร้อยปีมันก็ไม่ได้มันก็ไม่ถึง พระพุทธเจ้าเอาแต่เฉพาะคนที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้น จึงจะเอาไปด้วย อย่าว่าแต่สวดมนต์เลย ถึงเกาะชายผ้าเหลืองท่าน ท่านก็เอาไปไม่ได้ ท่านไม่ชอบคนชุบมือเปิบ จะต้องทำงาน ทำการปฏิบัติธรรมให้ได้เสียก่อน จึงจะเอาไป พระที่ยังโลภ โกรธ หลงอยู่ จะเอาไปได้อย่างไร เอาไปเดี่ยวก็ไปทะเลาะกันอีก

พระพวกนี้ท่านไม่เอาไป จึงไปไม่ได้ จึงได้อยู่หากินกับญาติโยมไปพลางๆ ทำสิ่งที่ผิดๆ ถูกๆ ไปตาเรื่อง ให้ญาติโยมสบายใจก็จะได้เงินใช้ พระอย่างนี้บางองค์รวยเป็นล้าน พระที่รวยเป็นล้านถือว่าห่างพระพุทธเจ้า บางทีก็ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าอีกด้วย คนอย่างนี้พูดอย่าได้ไปเชื่อ จะเชื่อได้อย่างไร ความอยากยังมีอยู่ ถ้าความอยากยังมีทุกข์ก็ยังมี จะไปกับพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

การปฏิบัติธรรม จะต้องหัดทำอารมณ์ปัจจุบันให้ได้ อารมณ์ปัจจุบันนั้นสำคัญมาก เป็นอารมณ์ของพระอริยบุคคล อารมณ์ปัจจุบันได้แก่ การดับความนึกคิดนั่นเสีย ไม่นึกคิดสิ่งใดๆ ทั้งหมด หัดทำให้ได้นานๆ จนกว่าจะอยู่ตัว

อารมณ์ปัจจุบันเป็นการละอดีต อนาคตและปัจจุบันของอารมณ์ต่างๆ ที่จะเข้ามาในจิต จึงหมายถึงจิตหยุดนิ่งอยู่กับที่ จึงจะชื่อว่าอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าจิตยังสับส่าย มีการปรุงแต่ง จิตเคลื่อนที่ไป สิ่งเหล่านี้มิใช่อารมณ์ปัจจุบัน

การนับถือศาสนา ทำความดีเรื่อยไป อย่าได้หวังนิพพาน ขอให้ทำความดีติดต่อเรื่อยไป ก็จะถึงนิพพานเอง

ธรรมปฏิบัติบท 3

การที่พวกเราปฏิบัติธรรม สมาธิ วิปัสสนา ก็เพื่อจะดับรูปนามกัน หรือเรียกว่าดับขันธ์ 5 ที่เป็นตัวให้เกิดสภาวธรรม ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราดับรูปนามขันธ์ 5 ได้ กิเลสก็จะดับ จุดหมายปลายทางมันอยู่ที่ตรงนี้ จึงได้ทำวิปัสสนากัน แต่พวกเราไม่มีความเข้าใจกัน ก็หลงไปดูรูปนามเกิดดับ ก็เข้าใจว่าพอแล้ว ดีแล้ว อะไรๆ กันไปตามเรื่อง

อีกอย่างหนึ่ง การทำกสิณก็ต่อวิปัสสนาได้ เว้นแต่คนที่พูดไม่เคยทำกสิณ แล้วก็พูดว่าการทำกสิณต่อวิปัสสนาไม่ได้ ก็เพราะไม่เคยทำ การทำกสิณก็ต้องได้สมาธิกันก่อน กสิณจึงจะเกิดขึ้น กสิณต่างๆ จิตจะต้องเกิดสมาธิด้วยอุคหนิมิตของกสิณ อุคหนิมิต คือนิมิตติดต่อ นิมิตติดตา ประกอบไปด้วยสมาธิจิต กสิณ 40 อย่างจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิจะดูกสิณอะไร ก็จะเห็นตามความต้องการ กสิณต้องการให้อุคหนิมิตเกิดขึ้น ส่วนวิปัสสนาต้องการให้รูปนามดับ อุคหนิมิตก็ได้แก่รูปนาม กสิณต้องการดูรูปนามเกิดอย่างเดียว กสิณจะเห็นรูปนามเกิดหลายๆ อย่าง ตามแต่จะต้องการ สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็นในกสิณ จะเกิดนิมิตให้เห็น จะจัดว่าอุปทานก็ใช่ อุปาทานในสิ่งที่ไม่เคยเห็น การทำกสิณมีของเล่นหลายๆ อย่าง ใครทำก็จะรู้เอง อธิบายยาก จะรู้เห็นเฉพาะตัว

ส่วนการทำกสิณเพื่อต่อวิปัสสนานั้น มิใช่ว่าจะไม่ได้ การทำกสิณจะต้องต่อวิปัสสนา จะต้องดับดวงนิมิตให้ได้ ถ้าดับดวงนิมิตได้ ก็ต่อวิปัสสนาได้ การดับนิมิตจะต้องมองนิมิตด้วยจิตเฉย

การมองจะต้องทำจิตให้เฉยในการมอง ถ้าเรามองนิมิต จิตของเราเฉย จิตไม่เคลื่อนจากที่ นิมิตนี้ก็จะดับ จิตก็จะเป็นปฏิภาคนิมิต เรียกว่าจิตดับ หรือรูปนิมิตดับ จิตก็จะเข้าถึงอารมณ์ปัจจุบัน เรียกว่า จิตปรมัตถ์ นิมิตก็เป็นปรมัตถ์ด้วย ต่อไปนี้ก็จะถึงจุดของวิปัสสนา เรียกว่ากสิณต่อวิปัสสนา ถ้าจะถามว่าจิตมีสมาธิอย่างไหน ก็จะตอบว่าจิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิ จิตถึงจะเป็นปรมัตถ์

การที่พูดมานี้ ก็พูดได้แต่คนบางคนจะไม่รู้ไม่เข้าใจ ธรรมเป็นปัจจัตตัง ถ้าใครได้ใครถึงก็รู้เอง จะบอกกันให้รู้จะไม่ได้ เพราะจิตของผู้นั้นยังไม่ถึง การที่พูดมานี้เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวศพร้อมกันทั้ง 3 อย่าง ใครถึงปริยัติ ก็จะรู้แต่เพียงปริยัติเท่านั้น ส่วนใครปฏิบัติได้แค่ไหน ก็จะรู้ได้แค่นั้น

ส่วนคนที่ได้ถึงปฏิเวศ ก็จะรู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นปฏิเวศ เป็นธรรมอันสูงสุด

ธรรม พวกเรารู้จักธรรมกันหรือยัง ถ้าพูดแล้วยังไม่รู้จัก ก็ขอพูดเป็นครั้งสุดท้าย ธรรม ก็คือ ความดี ความชั่ว ที่พวกเรากระทำกันอยู่ กำลังนี้แหละคือธรรม ถ้าจะพูดอีกทีก็คือกรรม หรือ กรรมเวร ที่พวกเรากระทำกรรมดี กรรมชั่วกัน ธรรมหรือพระธรรมพวกเราจะมิต้องไปไหว้กัน เขามีไว้เพื่อปฏิบัติกันต่างหาก เราไปเห่อนั่งไหว้ นอนไหว้ มันจะได้อะไร ยึดถือปฏิบัติกันไม่ถูก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะไม่ไหว้ก็ได้ เราจะไหว้หรือไม่ไหว้มันอยู่ที่เรา แต่ขออย่างเดียว ขอให้เราปฏิบัติกันให้เป็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันขึ้นมาได้เท่านั้น ผู้หญิงหรือผู้ชายก็เป็นพระกันได้ทั้งนั้น เป็นพระมิใช่โกนหัวห่มผ้าเหลือง เท่านั้นถึงจะเป็นพระได้ คนที่คิดอย่างนี้ผิด ถ้าชาวพุทธที่แท้จริง เขาจะไม่ ถืออย่างนั้น ถ้าใครเป็นพระจริง ก็จะต้องปฏิบัติธรรม เขาถึงจะยอมรับว่าเป็นพระ

ธรรมปฏิบัติบท 4

การทำสมาธิได้แล้วไปต่อวิปัสสนาสะดวกดี แต่จะต้องต่อให้ถูก สมาธิต่อวิปัสสนา โดยมากจะไม่เข้าใจกัน จึงพูดว่ารวมกันไม่ได้ เพราะความไม่เข้าใจ บางคนก็ทำสมาธิตลอดไป เข้าใจว่าการทำสมาธินั้นเป็นการทำวิปัสสนาแล้วคนที่เข้าใจอย่างนี้ก็มี ความจริงสมาธิก็อย่างหนึ่ง ส่วนวิปัสสนาก็อย่างหนึ่ง รวมกันไม่ได้ ทำไม่เหมือนกัน มันคนละรูปแบบกัน แต่มันต่อเนื่องกัน การทำสมาธิเพื่อส่งให้ถึงวิปัสสนาแล้ว ก็หมดหน้าที่ของสมาธิ ต่อไปก็ถึงของวิปัสสนา วิปัสสนาก็จะทำหน้าที่ของๆ ตนไปตามลำพัง ไม่เกี่ยวกับสมาธิ มันเป็นการส่งต่อกันเท่านั้น

การทำสมาธิยังไม่ถึงขั้นสมาธิจริงๆ มักจะเกิดนิมิตรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาให้เห็น เพราะผู้นั้นยังไม่ได้สมาธิอย่างแท้จริง ได้ขณิกบ้าง อุปจารบ้าง มีการขึ้นๆ ลงๆ ไม่เหมือนสมาธิตัวจริง จะไม่มีนิมิตใดๆ ให้เห็นเลยจิตจะนิ่งเฉย จะมองหรือจะฟังอะไรก็จะเห็นหรือได้ยินแล้วก็ดับไป สมาธิที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ เห็นได้ยินแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาในจิตใจ ถ้าเข้าสมาธิแล้วยังมีนิมิตอยู่ก็ยังใช้ไม่ได้ จะต้องหาวิธีเข้าแล้วไม่มีนิมิต ถึงจะใช้ได้

ธรรมปฏิบัติบท 5

สมาธิจะทำเหยาะๆ แหยะๆ ไม่ได้ จะต้องทำให้มาก ยิ่งมากเท่าใด ยิ่งดี อาศัยทำบ่อยๆ ครั้งละไม่ต้องนานเป็นเดือน เอาแค่ 10 นาที 15 นาทีก็พอ แต่จะต้องทำบ่อยๆ ให้เกิดความเคยชิน จะเข้าเวลาไหนก็ได้ หรือเพียงแต่นึกถึงก็เข้าแล้วได้ยิ่งดี

ธรรมปฏิบัติบท 6

บริกรรมกับภาวนา มันจะไม่เหมือนกัน การภาวนาหมายถึง เพ่งในธรรมนั้นๆ ส่วนการบริกรรม หมายถึงการเอาอะไรๆ มาเป็นตัวภาวนา เรียกว่าบริกรรมภาวนา นักปฏิบัติจะต้องเข้าใจให้ถูก บางคนติดบริกรรมภาวนาตลอดไป จิตก็ไม่ยอมเป็นสมาธิ เพราะรูปนามยังมีการเกิดดับอยู่ สมาธิเกิดจากรูปดับ หรือกายสังขารดับ และจิตดับ คือจิตหยุดนิ่ง ถ้าจิตดับกายก็ดับไปด้วยทุกครั้งไป การที่จิตหยุดนิ่งอยู่ที่เดียวนานๆ จะทำให้วิญญาณดับ เมื่อวิญญาณดับการมองรูป ก็จะเกิดการดับที่รูป ที่เรามอง รูปดับ นามรูปก็ดับ เพราะวิญญาณของเราดับ รูปที่มองก็ดับด้วย ขอให้สังเกตดูว่า จักษุวิญญาณของเราดับ รูปที่มองจึงดับ การทำอย่างนี้เป็นการดับรูปนามขันธ์ 5 ต่อไปการเห็นอรรถธรรมก็จะเกิดขึ้น เรียกว่าเห็นสภาวธรรม ทั้งเกิดและดับที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา การที่รูปนามดับแล้ว ในอิริยาบถต่างๆ ก็จะเห็นตามความเป็นจริง จะเหยียดจะคู้ จะนั่ง เดิน ยืน นอน จะเท่าทันในสิ่งเหล่านั้น ตลอดทั้งหมด วิญญาณดับ สติ สัมปชัญญะจะเกิดขึ้นมาเองอย่างสมบูรณ์ มีการรู้เท่าทันกายสังขาร วจีสังขาร มโนใจ เป็นไปพร้อมกันทั้งหมด จะเรียกว่าจิตเกิดปรมัตถ์ก็ใช่ก็ถูก เมื่อวิญญาณดับ จิตวิสุทธิก็เกิด ศีล ปัญญาวิสุทธิก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน พร้อมกับจิตปรมัตถ์

การบริกรรม ทำง่ายกว่าการเพ่ง (เพ่งหมายถึงการ กดให้หนักลงไปอีก) การเพ่งสิ่งใดสิ่งเดียวก็เกิดสมาธิเหมือนกัน แต่จะต้องนึกอยู่ในสิ่งนั้นสิ่งเดียว ทำได้จิตก็เป็นสมาธิ หรือไม่หลับตามองรูป จิตก็เป็นสมาธิได้ ตามแต่ใครจะทำอย่างไหน การได้สมาธิเป็นการหยุดจิต หรือพักจิตใจ ถ้าเราพักจิตใจได้ ทุกข์อะไรๆ ที่แล้วมามันก็ไม่มี มันจะดับหมด ถ้าเราอยู่ในสมาธินานๆ ทุกข์ก็จะดับไปหมด จะมีก็แต่ความสุขอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรติดสุขอยู่อย่างนี้ เพราะเป็นสุขที่ยังอิงอามิสอยู่ ยังมิใช่สุขแท้ๆ สุขแท้จะต้องไม่อิง ถึงได้แต่นิรามิตสุข จะต้องทำต่อไป จนกว่าจะถึงจิตปรมัตถ์เสียก่อนจึงจะถึงสุขแท้

ธรรมปฏิบัติบท 7

การทำบุญสู้การปฏิบัติบุญไม่ได้ การปฏิบัติเพื่อให้ได้บุญ ปฏิบัติได้ก็ได้บุญกันเลย มิต้องรอนาน ปฏิบัติมากก็ได้บุญมาก ปฏิบัติน้อยก็ได้บุญน้อย การทำบุญได้ความสุขทางกาย ส่วนปฏิบัติบุญได้ความสุขทางใจ ทำได้ก็ได้บุญกันเลย ไม่เหมือนการทำบุญจะต้องรอไปจนกว่าบุญจะมาถึง สองอย่างนี้ขอให้พวกเราเลือกเอา การปฏิบัติบุญลงทุนน้อย แต่ได้บุญมาก ส่วนการทำบุญจะต้องลงทุนมาก แต่ได้บุญน้อยรอนาน

เราจะต้องหลับตามองให้จิตเกิดความหยุด ความนิ่ง ให้จิตเฉยเหมือนใจ จิตจะได้อยู่กับใจได้ ถ้าจิตกับใจอยู่ด้วยกัน อะไรๆ ก็ไม่มี จะมีก็แต่ความสุขเท่านั้น ที่ทุกข์เดือดร้อนไม่สบายใจเพราะจิตไปนำทุกข์มาให้ใจ ใจมิได้หาทุกข์มา จิตเป็นคนหามาให้ด้วยกันทั้งหมด (จิตเป็นนามธรรม มีหน้าที่ในการนึกคิด ส่วนใจเป็นรูปนาม อยู่ในกายของเรา) เพราะฉะนั้นเราจะต้องนั่งหลับตามองจิตให้จิตหยุดนิ่งเสียก่อน ความสุขถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่หยุดนิ่ง ความสุขก็จะไม่มี

ธรรมปฏิบัติบท 8

อานาปานสติ เป็นมหาสติปัฏฐานได้อย่างไร การมองภายในกาย กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูกที่ลมกระทบ ก็คือว่ามองดูภายในกาย เป็นอานาปานสติ และมหาสติปัฏฐานไป โดยอัตโนมัติ แถมกับเกิดสติสัมปชัญญะพร้อมทั้งสมาธิด้วย สมาธิอย่างนี้จะต้องเป็นอุเบกขาสมาธิ ถ้าจิตเป็นอุเบกขา จิตก็จะเกิดอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันทำให้จิตเป็นปรมัตถ์ ถ้าจิตที่เป็นปรมัตถ์ดูรูป รูปก็เป็นปรมัตถ์ มีการดับรูป รูปที่เห็นจะไม่มีการปรุงแต่ง ดูรูปแล้วก็ไม่เกิดตัณหาในรูปที่มอง เพราะนามคือเวทนาดับ ถ้าจิตเป็นปรมัตถ์ จะดูรูปอะไรๆ ก็ไม่มีตัณหา ในรูป เสียง กลิ่น รส จิตขาดการสัมผัสในสิ่งนั้นๆ เรียกว่า ดับที่สัมผัส มโนสัมผัสดับ จิตว่างจากสิ่งเหล่านี้ อานาปานสติเป็นธรรมที่ลุ่มลึก โดยมากทุกคนจะไม่เข้าใจกัน เข้าใจว่าไม่มีอะไร เป็นปัพพะย่อยๆ อะไรไปตามเรื่อง อานาปานสติเป็นของทำได้ยากและทำยากด้วย เป็นธรรมเฉพาะผู้มีปัญญาเท่านั้น อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น เพราะอานาปานสติอย่างเดียวก็โลกุตตรแล้วจะมิต้องทำสิ่งอื่นกันอีก เป็นการมองกาย มองจิต มองธรรม เป็นสติปัฏฐานอย่างสมบูรณ์แบบกันเลย ความจริงการปฏิบัติธรรม ก็เพื่อทำสติกันให้สมบูรณ์เท่านั้น เมื่อมีสติดีแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีหมด จะมิต้องพูดอะไรกันอีกเลย ถ้าเรามีสติ เราก็อยู่ที่สตินั้น จิตใจมีสติอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ใครจะว่าเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไรไม่สำคัญ การยึดติดก็จะไม่มี ความจริงถ้าใครถึงแค่นี้ก็จะไม่มีอะไรแล้ว ที่จะเอามาอวดกัน สิ่งที่จะอวดได้มันก็หมดไปแล้ว ถึงความไม่ต้องอวด การพูดมากของคนเหล่านี้ไม่มีเพราะละสัมมาวาจาเสียแล้ว อย่างดีก็นั่งเฉยๆ เป็นผู้ที่ชอบฟังคนอื่นพูด ส่วนตนเองจะพูดน้อยหรือไม่พูดเลย ไม่ชอบเพ้อเจ้อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง หรือสิ่งที่แล้วๆ มา คือว่าแล้วก็แล้วกันไป จะไม่เก็บเอามาคิดอีก

สมถสมาธิ จะทำได้หลายวิธี จะทำอย่างไรก็ได้ ตามแต่ใครจะทำกัน ยุบหนอพองหนอก็ทำสมาธิ เพ่งภายในกายก็ทำสมาธิ การเพ่งธรรมกายก็ทำสมาธิ ถ้ายกหนอ ย่างหนอ ก้าวหนอ ไม่เป็นสมาธิ และก็ไม่เป็นอะไรด้วย ได้แต่รู้จักรูป นามเกิดดับหรือได้ขณิกสมาธิ การทำด้วยพุทโธก็ชื่อว่าทำสมาธิ การทำอานาปานสติก็ชื่อว่าการทำสมาธิ การตั้งจิตไว้ในที่ใด ก็จัดว่าทำสมาธิด้วยกันทั้งนั้น

เราจะขอพูดถึงการทำสมาธิสักสองวิธี วิธีที่หนึ่ง ได้แก่พุทโธ พุทโธเป็นคำบริกรรมภาวนาที่จะให้ได้สมาธิจะต้องบริกรรมพร้อมกับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็นึกพุท หายใจออกก็นึกโธ จะต้องบริกรรมทุกลมหายใจเข้าออก จะขาดเสียมิได้เลย ต้องภาวนาเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแซกในการภาวนาแล้วละเลิกคำภาวนาไปได้ การเลิกหรือหยุดคำภาวนา เราก็จะต้องเอาจิตไปไว้กับคำว่าโธ เวลาหายใจออก จิตจะต้องผูกติดกับคำว่าโธตลอดไป ไม่ต้องนึกอะไรๆ ในเรื่องอื่น ให้จิตติดกับคำว่าโธ ไป ติดไปเลย จิตก็จะดับ ตกภวังค์จิต จิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นมา เมื่อสมาธิเกิดขึ้นก็จะรู้ด้วยปิติ ปิติจะเกิดบอกให้รู้ ปิติทั้ง 5 ตัว ตัวใดตัวหนึ่งจะเกิดขึ้น ภายในจิตใจของเรา เพื่อเป็นการบอกให้รู้ เมื่อปิติเกิดขึ้น สมาธิก็เกิดขึ้น ที่พูดมานี้เป็นวิธีหนึ่ง

การทำสมาธิด้วยอานาปานสติ การทำอานาปานสติก็ทำคล้ายๆ กันกับการทำสมาธิอย่างแรกได้แก่พุทโธ ตัวภาวนา แต่การทำอานาปานสติจะต้องเพ่งลมหายใจ ส่วนพุทโธจะต้องภาวนาพร้อมกับลมหายใจ อานาปานสติเป็นการเพ่งลมหายใจ หรือมองดูลมหายใจ การทำอย่างนี้จะทำวิปัสสนาก็ได้ หรือจะทำสมาธิอย่างเดียวก็ได้ เพราะลมหายใจเป็นได้ทั้งรูปและนาม ลมหายใจเป็นกายสังขารด้วย เพราะฉะนั้นจึงใช้ทำวิปัสสนาได้ อานาปานสติก็มีวิธีดับรูปนามอยู่แล้ว พวกเราโง่ไม่เชื่อใจกันหรือไม่รู้ก็ได้ พวกเราเลยจัดอานาปานสติเป็นมรรคย่อยไปร่วมกับอุปาทายรูป ความจริงเป็นมหาภูตรูปอย่างแท้จริง การกระทำถึงได้ผิดหมด แต่จะอย่างไรก็ช่างเถิดจะไม่พูดถึง ขอให้เอาไปถกเถียงกันว่าจะจริงหรือไม่จริง

ตอนนี้จะพูดการทำสมาธิด้วยอานาปานสติ การทำสมาธิด้วยอานาปานสติก็จะต้องเพ่งลมหายใจ ให้รู้ว่าลมหายใจเข้าออกอย่างไร เข้าช้าเร็วมากน้อยอย่างไร จะต้องสู้เพื่อให้จิตเกิดสมาธิขึ้น ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ก็จะไม่รู้จักลมหายใจ จะต้องอาศัยจิตที่เป็นสมาธิจึงจะรู้ได้ จะแจ้งอานาปานสติ จึงจะเป็นสมาธิด้วยการเพ่งลมหายใจจะทำอย่างไรวิธีไหนเชิญฟัง

ก็ต้องเพ่งหรือมอง หรือกำหนดที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออก มันอยู่ที่ตรงไหนเราก็เพ่งดูที่ตรงนั้น จะหลับตาหรือลมตาก็ทำได้ แต่พวกเราจะรู้กันหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็จะบอกให้ที่รูจมูกนั่นแหล่ะรูจมูกเป็นที่ลมเข้าออก ขอว่าอย่าคิดว่าลมเข้าออกที่อื่นนะมันจะขัดกัน จะไม่ได้ฟังดีลมเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูก เราก็เอาจิตไปตั้งไว้ที่ลมกระทบกับจมูก จิตจะต้องตั้งอยู่ที่ตรงนั้นที่เดียวจะไม่มีการย้าย เมื่อจิตตั้งดีแล้ว สติก็จะเกิดขึ้นมามีความรู้ ลมหายใจเข้ากระทบก็รู้ ลมหายใจออกกระทบก็รู้ เราตั้งสติรู้ไว้อย่างเดียว ให้รู้อย่างเดียว รู้ลมเข้าออก ส่วนสิ่งอื่นไม่ต้องไปรู้ รู้แต่ลมเข้าออกเท่านั้น จิตก็จะเป็นสมาธิ เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ กำหนดรู้ลมอย่างเดียว ทำไปนานๆ จิตก็จะเข้าถึงอัปนาสมาธิ หรืออุเบกขาสมาธิ ทั้งสองอย่างก็ให้พิจารณาดู ก็จะรู้ด้วยจิตมันเฉย ถ้าจะทำวิปัสสนา เราก็ใช้ปัญญาเข้าไปตรวจดูในสิ่งต่างๆ ได้แก่รูปนามขันธ์ 5 เข้าไปตรวจดูว่าอะไรมี อะไรไม่มี ถ้าจะพิสูจน์ความจริงว่าจิตเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า เราก็มองดูรูปอะไรๆ ว่า เกิดกิเลสตัณหาในรูปนั้นหรือเปล่า จะต้องดูด้วยว่าจิตมีอารมณ์เป็นอย่างไร จะต้องดูให้รู้ เมื่อรู้แล้วเราก็ต้องรักษาอารมณ์อันนั้นไว้ให้มั่นคงตลอดไป จิตก็จะเป็นปรมัตถ์ รูปก็จะเป็นปรมัตถ์ เจตสิกก็จะเป็นปรมัตถ์ด้วยกันทั้งหมด

การที่จะทำวิปัสสนา จะต้องทำให้จิตเกิดปรมัตถ์เกิดขึ้นมามันถึงจะได้ ถึงจะวิปัสสนาได้ และเข้าถึงวิปัสสนา เราก็ใช้จิตอย่างนี้มองอยู่ เมื่อเรามองดูรูป รูปที่มองก็ดับ เราก็หันมามองนามที่ตัวเรา นามในตัวเราก็ดับ รูปที่มองดับนามในตัวเราก็ดับ เรียกว่ามองรูปนามเกิดดับเป็นวิธีการของการทำวิปัสสนา

คาถาบูชาหลวงปู่ใหญ่พระครูธรรมเทพโลกอุดร

โย อะริโย มะหาเถโร อะระหัง อะภิญญาธะโร

ปะฎิสัมภิทัปปัตโต เตวิชโช พุทธะสาวะโก

พะหู เมตตาทิวาสะโน มะหาเถรานุสาสะโก

อะมะตัญเญวะ สุชีวะติ อะภินันที คุหาวะนัง

โส โลกุตตะโร นาโม อัมเหหิ อะภิปูชิโต

อิธะ ฐานูปะมาคัมมะ กุสะเล โน นิโยชะเย

ปุตตะเมวะ ปิยัง เทสี มัคคะผะลัง วะ เทสสะติ

ปะระมะสารีริกะธาตุ วะชิรัญจาปิวานิตัง

โส โลเก จะ อุปปันโน เอเกเนวะ หิตังกะโล

อะยัง โน โข ปุญญะลาโภ อัปปะมัตโต ภะเวตัพโพ

สาธุกันตัง อะนุกะริสสามะ ยัง วะเรนะ สุภาสิตัง

โลกุตตะโร จะ มะหาเถโร เทวะตานะระปูชิโน

โลกุตตะระคุณัง เอตัง อะหัง วันทามิ ตัง สะทา

มะหาเถรานุภาเวนะ สุขัง โสตถีภะวันตุเม

 

 

 

1