น.อ. โรจน์ หงษ์ประสิทธิ์
    การดูดาวฤกษ์ในท้องฟ้าเพื่อให้รู้จักดวงดาวต่างๆ และรู้ว่าอยู่ในกลุ่มดาวอะไรนั้น ควรศึกษาจากแผนที่ดาว กับบนท้องฟ้าจริงๆ และจำไว้ให้ได้เสียก่อนและเมื่อรู้จักแล้ว ก็สามารถนำมาเป็นหลักนำไปสู่กลุ่มดาวอื่น หรือดาวดวงอื่นตามต้องการได้
    ในบริเวณขั้วท้องฟ้าเหนือ มีกลุ่มดาวที่รู้จักกันทั่วไปคือ
กลุ่มดาว Ursa Major (Great Bear หรือ Big Dipper)
ซึ่งเรียกว่า กลุ่มดาว หมีใหญ่ หรือ กลุ่มดาว กระบวยใหญ่
คนไทยเรียกว่า ดาวจระเข้ ประกอบไปด้วยดาว 7 ดวง มีรูปร่างคล้ายกระบวย
4 ดวงของกลุ่มดาวนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูซึ่งเป็นตัวกระบวย ปากของ กระบวย ที่เปิดอยู่จะหันไปทางขั้วท้องฟ้าเหนือ
ชาวเรือใช้ดาวในกลุ่มนี้ 3 ดวง ในการเดินเรือคือ Dubhe,Alioth
และ Alkaid ดาว Dubhe และ Merak
ซึ่งเป็นดาวที่ประกอบเป็นตัวกระบวย เรียกว่า ดาวชี้ (The pointer)
เพราะว่าเมื่อลากเส้นผ่านดาวสองดวงนี้ไปทางเหนือ ประมาณ 5 เท่า ใกล้กับดาวเหนือมาก
ซึ่งในบริเวณนั้นจะไม่มีดาวดวงใดสุกใสเท่ากับดาวเหนือเลย
    กลุ่มดาว Ursa
Minor (Little Bear หรือ Little Dipper) ซึ่งเรียกว่า กลุ่มดาว หมีเล็ก
หรือ กระบวยเล็ก ประกอบไปด้วยดาว 7 ดวง มีรูปเหมือนกลุ่มดาวหมีใหญ่
แต่รูปเล็กกว่า ความสว่างน้อยกว่า รูปของดาวหมีเล็กจะกลับกับดาวหมีใหญ่ พอมองเห็นได้ชัดเจนเพียง
3 ดวงเท่านั้น ชาวเรือโบราณใช้ดาว 2 ดวงในการเดินเรือคือ Polaris
และ Kochab ทั้ง 2 ดวงนี้เป็นดาวชั้นที่ 2 ดาว Polaris
หรือดาวเหนือจะอยู่ที่ปลายสุดของด้ามกระบวย หรือที่ปลายสุดของหางหมี
    กลุ่มดาว Cassiopeia
ซึ่งเรียกว่า กลุ่มดาวพระราชินี หรือ เก้าอี้พระราชินี
มีรูคล้ายกับอักษร W หรือ M อยู่ห่างจากดาวเหนือไปทางทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่ในระยะทางประมาณเท่าๆ
กัน ฉะนั้น เมื่อกลุ่มดาวหมีใหญ่อยู่บน เมอริเดียน เบื้องบน กลุ่มดาว Cassiopeia
จะอยู่บน เมอริเดียน เบื้องล่าง สำหรับประเทศไทยถ้าเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ ก็จะไม่เห็นกลุ่มดาว
Cassiopeia และตรงกันข้ามถ้าเห็นกลุ่มดาว Cassiopeia ก็จะไม่เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่
เมื่อดาวกลุ่มนี้ขึ้นบนท้องฟ้าและเป็นรูป M (คือเมื่ออยู่บนเมอริเดียนเบื้องบน) ดาวดวงทางซ้ายมือสุด
ชื่อ Caph ถ้าลากเส้นจากดาวเหนือผ่านดาวดวงนี้ก็จะผ่าน จุดราศีเมษ ดาวดวงที่ 2 ถัดมาชื่อ
Schedar ซึ่งเป็นดาวที่สว่างกว่าดาว Caph แต่ทั้งสองดวงนี้ก็เป็นดาวชั้นที่ 2 เหมือนกัน
(ประมาณกลางเดือนเมษายน กลุ่มดาวหมีใหญ่จะปรากฏบนท้องฟ้า และประมาณกลางเดือนตุลาคม
กลุ่มดาว Cassiopeia จะปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้า)
    ในขณะที่ดาวหมีใหญ่ปรากฏบนท้องฟ้า
ก็จะทำให้หาดาวดวงอื่นๆ ได้ คือ เมื่อต่อเส้นไปตามทางโค้งของหางหมีใหญ่ จะพบดาวสว่างสุกใสดวงหนึ่งชื่อ
Arcturus ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Bootes
(คนเลี้ยงหมี) และลากเส้นโค้งต่อไปในระยะทางเท่าๆ กัน จะพบดาวสุกใสอีกดวงหนึ่งชื่อ
Spica ซึ่งอยู่ใน กลุ่มดาว Virgo
(นางงามหรือหญิงสาวพรหมจารีย์) ดาวทั้งสองดวงนี้จะเป็น
ดาวชั้น 1 ถ้าลากเส้นจากดาว Pointers ของกลุ่มดาวหมีใหญ่ลงมาทางใต้ จะพบดาวชื่อ
Regulus ซึ่งอยู่ปลายสุดของด้ามเคียวหรือรูปเครื่องหมายคำถาม ดาวดวงนี้อยู่ใน
กลุ่มดาว Leo (สิงโต) และเป็น ดาวชั้นที่ 1 ระหว่างดาว
Reulus กับ Arcturus จะผ่านใกล้ๆ กับ ดาวชั้นที่ 2 ดวงหนึ่ง ชื่อ
Denebola ซึ่งอยู่ปลายสุดของของหางสิงโต Arcturus,
Denebola, และ Spica เมื่อลากต่อกันจะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วพอดี
    กลุ่มดาว Corvus
ประกอบไปด้วยดาวชั้นที่ 3 จำนวน 4 ดวง เป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายใบเรือมีเสาชี้ไปที่ดาว
Spica ทางใต้ของกลุ่มดาว Corvus จะเป็นดาว Southern Cross
(กางเขนใต้)
    ในกลุ่มดาว Hydry
(งูใหญ่) มีดาวที่ใช้ในการเดินเรืออยู่เพียงดวงเดียวคือ ดาว Alphard
เป็นดาวชั้นที่ 2 เป็นดาวที่หาง่าย คือถ้าต่อเส้นจาก Pointers ผ่าน Regulus ลงไปทางใต้ก็จะพบดาว
Alphard
    ดาว Alpheccs
ซึ่งเป็นดาวที่สว่างดวงหนึ่งในกลุ่มดาว Corona Borealis (มงกุฎฝ่ายเหนือ)
แต่เป็นดาวชั้นที่ 2 จะอยู่ทางตะวันออกของดาว Arcturus
    จาก Regulus ลากเส้นผ่าน Spica
ลงไประยะประมาณเท่ากัน จะพบดาว Antares ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว
Scopio (แมลงป่อง)
    ทางเหนือของกลุ่มดาวแมลงป่อง
และทางตะวันออกของกลุ่มดาวมงกุฎฝ่ายเหนือ จะมีดาวชั้นที่ 1 จำนวน 3 ดวงคือ Vega,
Deneb และ Altair ซึ่งจะประกอบเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก
มีดาว Vega อยู่ที่มุมฉาก ดาว Deneb เป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาว Cygnus
(หงส์) มีรูปเป็น Northern Cross (กางเขนเหนือ)
ดาว Deneb จะอยู่ที่หัวหงส์ หรือหัวกางเขน ดาว Rasalhague ซึ่งเป็นดาวชั้นที่ 2 เมื่อประกอบกับดาว
Vega และ Altair จะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
    ประมาณกลางเดือนตุลาคม กลุ่มดาวกางเขนเหนือ
จะอยู่ขอบฟ้าตะวันตก กลุ่มดาว Cassiopeia จะปรากฏอยู่ประมาณกลางท้องฟ้าค่อนไปทางเหนือ
ทางใต้ของกลุ่มดาว Cassiopeia จะมีดาว 4 ดวงประกอบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่เรียกว่า
กลุ่มดาว Pegasus (ม้าปีก) หรือ The
Square of Pegasus ใน 4 ดวงนี้มีดวงที่สว่างสุกใสอยู่ 2 ดวง ซึ่งเป็นดาวชั้นที่
2 อยู่ที่มุมตรงข้ามกันคือ Alpheratz และ Markab
ดาว Alpheratz จะอยู่ทางเหนือ
    จากกลุ่มดาว pegasus ถ้าลากเส้นตรงจากด้านของสี่เหลี่ยมทางด้านตะวันออกลงไปทางใต้
จะพบดาวชั้นที่ 2 ชื่อ Diphda ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Cetus
(มังกรทะเล) ในทำนองเดียวกันถ้าลากเส้นตรงจากด้านของสี่เหลี่ยมทางตะวันตกลงไปทางใต้จะพบดาวชั้นที่
1 ชื่อ Fomalhaut และลากผ่านกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยมนี้ไปทางตะวันออก จะพบดาวชั้นที่
2 ชื่อ Hamal ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Aries (แกะ) เมื่อ
2000 ปีมาแล้ว ดาวกลุ่มนี้จะอยู่ใกล้กับ จุดราศีเมษ (First
point of Aries)
    ดาว Andromeda จะอยู่ทางมุมตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มดาว
Pegasus เมื่อลากเส้นโค้งจากดาว Alpheratz ผ่าน Andromeda จะพบดาว
Mirfak เป็นดาวชั้นที่ 2 อยู่ในกลุ่มดาว Perseus
    เส้นตรงที่ลากจาก Fomalhaut
ผ่าน Diphda ไปทางเหนือประมาณ 40 องศา จะพบดาวชั้นที่ 3 ชื่อ
Menkar ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Cetus
    จาก Fomalhaut ลากเส้นประมาณ 20 องศาใต้ จะพบดาวชั้นที่ 2 ชื่อ Ankaa ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Phoenix
    ดาว Capella จะอยู่ทางตะวันออกของดาว Mirfak และทางใต้ของดาว Capella จะเป็นกลุ่มดาวOrion (นายพรานล่าเนื้อ)
    ประมาณกลางเดือน มกราคม ท้องฟ้าจะมีความสว่างสุกใสเป็นอันมาก
กลุ่มดาว Orion เป็นกลุ่มดาวที่งามที่สุดในท้องฟ้า
และจำกันได้โดยทั่วไป คนไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า ดาวเต่า
หรือ ดาวไถ ในกลุ่มดาวนี้มีดาว 4 ดวงประกอบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ด้านยาวจะหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ดาว 4 ดวงนี้เป็นดาวชั้นที่ 1 จำนวน 2 ดวง ชั้นที่
2 จำนวน 1 ดวง และดาวขนาดเล็ก 1 ดวง ดาวที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือชื่อ Betelgeuse
เป็นดาวชั้นที่ 1 แต่เปลี่ยนสีได้ (ดาวแปรแสง) ดาวที่อยู่มุมตรงกันข้ามเป็นดาวชั้นที่
1 ที่สว่างสุกใสมาก ชื่อ Rigel ดาวที่อยู่มุมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นดาวชั้นที่
2 ชื่อ Bellatrix ส่วนดวงที่อยู่มุมตรงกันข้ามเป็นดาวขนาดเล็ก
ไม่มีชื่อเฉพาะ ภายในสี่เหลี่ยมนี้มีดาว 3 ดวงเรียงกันอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ซึ่งจะเป็นเข็มขัดของนายพราน ดาว 3 ดวงนี้จะอยู่ที่ อิเควเตอร์ท้องฟ้า พอดี เส้นตรงที่ลากจากดาว
3 ดวงนี้ไปทางเหนือจะพบดาว Aldebaran ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว
Taurus (วัว) มีดาวประกอบกันเป็นรูปตัว V คนไทยเรียกว่า
ดาวธง และทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้ๆ กันนั้น จะมีกลุ่มดาวขนาดเล็กจำนวน
7 ดวง คือกลุ่มดาว Pleiades (นางทั้งเจ็ด) คนไทยเรียกว่า
ดาวลูกไก่ ถ้าลากเส้นจากเข็มขัดนายพรานลงไปทางใต้ จะพบดาวชั้นที่
1 สว่างสุกใสที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมด ชื่อ Sirius
ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Canis Major (สุนัขใหญ่)
    จากดาว Sirius ลากเส้นโค้งเกือบจะเป็นวงกลมขึ้นไปทางเหนือ
จะผ่านดาว Procyon ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Canis
Minor (สุนัขเล็ก) ดาว Sirius, Procyon และ Betaleuse จะประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
ต่อจากนั้นเส้นโค้งจะผ่านดาว Pollux และ Castor
ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Gemini (คนคู่) และต่อเส้นโค้งไปอีกจะผ่านดาว
Capella ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว
Auriga (สารถี)
    ดาว Alphard จะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของดาว Procyon ถ้าลากเส้นต่อระหว่างดาว Procyon และ Regulus จะเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ซึ่งมีมุมฉากอยู่ที่ดาว Alphard
    จากดาว Sirius ตรงไปทางใต้จะพบดาวดวงหนึ่ง
ซึ่งจะสว่างสุกใสเป็นที่สองรองจาก Sirius ชื่อ Canopus
ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Carina (กระดูกเรือ)
    บริเวณรอบๆ ขั้วท้องฟ้าใต้มีดาวสุกสว่างอยู่หลายดวง
กลุ่มดาว Southern Cross (กางเขนใต้) กลุ่มดาว Crux
ซึ่งเป็นส่วนหัวของกางเขน ประกอบด้วยดาว 4 ดวง มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ดวงที่อยู่ทางเหนือชื่อ Acrux เป็นดาวชั้นที่ 1 อีก
2 ดวงเป็นดาวขนาดเล็ก ส่วนที่เป็นด้ามของไม้กางเขนประกอบด้วยดาวชั้นที่ 1 จำนวน 2
ดวง ดวงที่อยู่ปลายสุดทางตะวันออกชื่อ Rigel Kent ดวงที่ถัดมาชื่อ
Hadar ทั้ง 2 ดวงนี้อยู่ในกลุ่มดาว Centaurus
(หัวเป็นคนตัวเป็นม้า) ตามปกติหัวกางเขนจะหันไปทางตะวันตก ด้ามกางเขนจะชี้ไปทางตะวันออก
ฉะนั้นหัวกางเขนจะขึ้นจากขอบฟ้าก่อน
    กลุ่มดาว Vela
(ใบเรือ) ประกอบไปด้วยดาว 4 ดวงรูปขนมเปียกปูนเหมือนกับกลุ่มดาว Crux แต่รูปใหญ่กว่า
มีความสว่างสุกใสน้อยกว่า ส่วนมากจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มดาว Crux คนไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า
ดาวว่าว กลุ่มดาว Vela จะอยู่ทางตะวันออกของดาว Canopus
ถ้าลากเส้นจาก Canopus ไปทางตะวันออก จะพบดาว Avior
ซึ่งเป็นดาวชั้นที่ 2 ในกลุ่มดาว Carina อีก 3 ดวงเป็นดาวขนาดเล็กของกลุ่มดาว Vela
จะอยู่ระหว่างดาว Canopus กับกลุ่มดาว Crux
    ทางใต้ของกลุ่มดาว Vela จะมีดาวชั้นที่
2 อีกดวงหนึ่งชื่อ Miaplacidus และ ทางเหนือระยะทางประมาณเท่าๆ
กันจะมีดาวชันที่ 2 ดวงหนึ่งชื่อ Suhail
    จากดาว Hadar ลากเส้นผ่าน Rigel
Kent โค้งลงไปทางใต้จะพบดาวชั้นที่ 2 ดวงหนึ่งชื่อ Atria
ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Triangulum Australe เพราะว่าทางตะวันออกของดาว
Atria จะมีดาวขนาดเล็ก 2 ดวงประกอบกับเป็นรูปสามเหลี่ยม
    บริเวณรอบๆ ขั้วท้องฟ้าใต้นี้ต่อจากดาว
Atria ไปทางตะวันออกจะพบดาวชั้นที่ 2 ชื่อ Peacock
อยู่ในกลุ่มดาว Pavo (นกยูง) ต่อไปเป็นดาวชั้นที่ 2
อีกดวงหนึ่งชื่อ Al Nair อยู่ในกลุ่มดาว Grus
(นกกระเรียน) และต่อไปอีกจะพบดาวชั้นที่ 1 ชื่อ Achernar
จากดาวดวงนี้ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะพบดาวชั้นที่ 2 ดวงหนึ่งชื่อ Acamar
ทั้งสองดวงนี้อยู่ในกลุ่มดาว Eridanus (แม่น้ำ) ระหว่างดาว
Achernar กับ Fomalhaut จะมีดาวชั้นที่ 2 อีกหนึ่งดวงชื่อ
Ankaa อยู่ในกลุ่มดาว Phoenix
    การดูดาวนี้ควรใช้แผนที่ดาวประกอบ และถ้าได้เข้าศึกษาในท้องฟ้าจำลองแล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
26 / 09 /42