POMPOKO SENSEI 's KNOWLEDGE
เรื่องสำหรับคนช่างสงสัย : ทำไมต้องอ่าน "ฮะ" ว่า "วะ" ตอนเป็นคำช่วย (5/2003)
กระทู้เกิดจากคำถามที่อ่านเจอในเว็บปลาดิบครับ
มีคนสงสัยว่าทำไมต้องอ่าน "ฮะ" ว่า "วะ"
ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าคนช่างสงสัยจำนวนไม่น้อยคงงง แต่พอครูเอ็ดว่า จำๆ ไปเถอะ
ก็เลยเลยตามเลยว่า ถ้ามันเป็นคำช่วยก็อ่านแบบพิเศษหน่อยละกัน
ที่จริงเรื่องมันก็มีมูลแหละครับ เลยจะขอเขียนเล่าให้ฟัง
ย้ำอีกทีครับว่าสำหรับคนช่างสงสัยจริงๆ
ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับการเรียนภาษาญี่ปุ่นเท่าไหร่ครับ
-----------------------------------------------
เรื่องมีอยู่ว่า....
ตัวคานะที่คนญี่ปุ่นใช้ทุกวันนี้ใช้วิธีเขียนแบบปัจจุบันซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้อ่านง่าย
นั่นหมายความว่าตัวคานะสมัยก่อนมีกฎเกณฑ์ที่สลับซับซ้อนมากกว่าเดี๋ยวนี้อยู่มาก
ตัวอักษรวรรค "ฮะ" HA HI HU HE HO
สมัยปัจจุบันอ่านว่า ha hi hu he ho ตามลำดับ (ตัว hu เขียนเป็นโรมันจิว่า fu
แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่เสียง f ครับ)
สมัยอดีต แบ่งวิธีการอ่านเป็นสองกรณี
กรณีแรก ถ้าตัวอักษรอยู่พยางค์หน้าจะอ่านว่า ha hi hu he ho ตามลำดับ
กรณีที่สอง ถ้าตัวอักษรอยู่พยางค์กลางหรือท้ายของคำจะอ่านว่า wa i u e o ตามลำดับ
ยกตัวอย่างเช่น HOHERU อ่านว่า ho-e-ru, SHIHASU อ่านว่า shi-wa-su
ด้วยเหตุนี้จึงพิจารณาคำช่วยซึ่งอยู่ท้ายคำนามตลอดเวลาว่าเป็นอยู่พยางค์ท้ายของคำ
จึงอ่าน HA -> wa, HE -> e กรณีเป็นคำช่วย ด้วยประการฉะนี้
ช่วงหลังสงครามเมื่ออเมริกาเข้ามาในญี่ปุ่น
ได้เกิดการปฏิรูประบบตัวเขียนญี่ปุ่นให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
จึงให้อ่านแบบเดียวกันหมดคือ ha hi hu he ho ยกเว้นคำช่วยเท่านั้นที่ยังคงกฎเดิมไว้
หากสังเกตจะพบว่า ในภาษาญี่ปุ่นแท้ไม่มีคำเดี่ยวใดที่มีพยางค์ท้ายลงท้ายด้วยวรรคนี้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแต่เดิมออกเสียงว่า wa i u e o เมื่อมีการเปลี่ยนกฎกันใหม่
คำดังกล่าวจึงใช้ตัวอักษร WA I U E O แทน
อย่างไรก็ตามมีคำยกเว้นคือ กรณีที่เป็นคำเดี่ยวประเภทซ้ำเสียง มีสองคำเท่านั้น คือ
HAHA (แม่), HOHO(แก้ม - บางคนอ่านว่า "โฮะโอะ" ตามอิทธิพลกฎเดิม)
------------------------------
สำหรับคำช่วย WO เดิมอ่านว่า wo แต่ปัจจุบันอ่านว่า o น่าจะเกิดจากเสียง "โวะ" และ
"โอ๊ะ" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นแยกยาก เมื่อคำช่วยอยู่ท้ายคำนามเสียงดังกล่าวจึงกลายเป็น
"โอ๊ะ" ในปัจจุบัน แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านก็ยังออก "โวะ"
อย่าลืมนะครับว่าคนญี่ปุ่นเวลาเขาออกเสียงปากเขาจะไม่เปิดกว้างเหมือนคนไทยเสียงจึงคล้ายคลึงกันมาก
------------------------------
ตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนกฎการเขียนแล้วมีผลต่อเสียงอ่าน เช่น คำว่า JUU
ที่แปลว่าสิบ ในสมัยโบราณไม่ได้เขียนว่า JIyuU แต่เขียนว่า JIU
เมื่อไปบวกกับคำอื่นเช่น SAI อายุ เกิดการเปลี่ยน U -> tsu (ทสึเล็ก)
ตามไวยากรณ์ตั้งต้น อ่านได้ว่า jissai แต่ในความเป็นจริงควรจะเป็น jussai สมัยหนึ่ง
NHK อ่านคำดังกล่าวว่า jissai แต่ว่าคนทั่วไปอ่านกันว่า jussai
ปัจจุบันต่างยอมรับที่จะอ่านว่า jussai มากกว่า jissai
ห้องส้วมกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม (สืบเนื่องจากกระทู้H2219845) (3/2003)
จากคำถามในกระทู้H2219845
ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากให้รายละเอียดเกี่ยวกับห้องส้วมครับ
เนื่องจากเนื้อหาอาจจะนอกเรื่องจากที่ถามในกระทู้ดังกล่าวเลยขอมาตั้งเป็นอีกกระทู้
แนะนำวัฒนธรรมที่มองผ่านห้องส้วม
๑. คนไทยเรียก "ห้องส้วม" ว่า "ห้องน้ำ" เพราะส้วมมักอยู่ในห้องน้ำ
เมื่อไหร่ที่จะเข้าไปอาบน้ำก็จะถือโอกาสถ่ายทุกข์
บางคนตั้งใจจะเข้าไปถ่ายทุกข์แต่ดันถอดเสื้อผ้าหมดเลยเพราะนึกว่าจะอาบน้ำด้วย
เพราะห้องน้ำคือที่ที่จะมีความสุขและปลดเปลื้องความทุกข์
แต่คนญี่ปุ่นแยก "ห้องส้วม" (โทอิเระ, เบงโจะ) ออกจากห้องน้ำ
เพราะห้องน้ำคือที่ที่จะมีความสุข ได้ทอดหุ่ยจุ่มตัวอยู่ในอ่างน้ำ (โอฟุโระ)
แต่ถ้ามีส้วมอยู่คงเหม็นจนหาความสุขไม่ได้
บ้านที่มีห้องส้วมแต่ไม่มีห้องน้ำก็มีอยู่มาก
๒. ส้วมไทยมีแบบส้วมนั่งยองและส้วมนั่งแบบฝรั่ง
ส้วมญี่ปุ่นปัจจุบันก็มีสองแบบคือนั่งยองและส้วมนั่งแบบฝรั่ง
แต่วิธีนั่งไม่เหมือนกัน ส้วมไทยจะนั่งให้หลุมอยู่ตรงก้น
ส่วนส้วมญี่ปุ่นจะมีฝาครอบด้านหนึ่ง
เวลาถ่ายทุกข์จะหันหน้าเข้าฝาครอบเพื่อเวลาปัสสาวะจะได้ไม่กระเด็นไปไหน
ส่วนส้วมฝรั่งเป็นแบบนั่งอยู่กับที่
ส้วมนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยเพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน
แต่เป็นปัญหาสำหรับคนญี่ปุ่นเพราะเวลาหน้าหนาว แค่นั่งก็ผวาแล้ว เพราะมันเย็นเฉียบ
จึงต้องมีทำให้ฝารองนั่งอุ่น
ถ้าบ้านไหนงบน้อยก็จะหาผ้ามาคลุมครอบฝารองนั่งจะได้ไม่ผวา
ส้วมแบบนั่งยองของไทยและญี่ปุ่นมีจุดดีที่ไม่มีส่วนใดของร่างกาย (หมายถึงบริเวณก้น)
สัมผัสส้วมจึงไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อโรค แต่ส้วมแบบฝรั่งถ้าไปอยู่ในที่สาธารณะ
จะมีก้นหลายก้นนั่งแล้วนั่งอีก มีสิทธิจะติดโรคอะไรกันได้ ซึ่งคนไทยเราไม่ค่อยถือ
แต่ฝรั่งจะถือมาก จึงมีกระดาษรองฝารองก้นอีกที เวลาจะนั่งต้องเอากระดาษรองก่อน
ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้ง ผมเคยดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง
นักเรียนถูกเพื่อนแกล้งโดยเพื่อนแอบเอากระดาษรองก้นไปซ่อน
นักเรียนคนนั้นเข้าส้วมแล้วจะนั่งแต่ไม่มีกระดาษรองก้นก็ลุกลี้ลุกลนแจ้นออกไป
ถ้านักเรียนคนนั้นเป็นคนไทยคงนั่งส้วมไปแล้ว
ความคิดในเรื่องอนามัยเช่นนี้มีปรากฏในสถานที่สาธารณะของญี่ปุ่นบางที่ด้วย เช่น
ห้าง (เคยเห็นที่เดียว) โรงแรม อาจจะมีกระดาษรองก้น (รูปวงแหวน) ด้วย
๓. การชำระล้างหลังเสร็จกิจธุระสำคัญ
โดยปกติที่เมืองไทยจะไม่ค่อยมีกระดาษชำระเตรียมไว้ให้
เพราะคนไทยบางคนชอบขโมยกลับบ้าน เลยต้องมากดกระดาษชำระกล่องละสองสามบาทมาใช้
แต่ใช้กระดาษก็อาจจะไม่สะอาดเท่ากับการล้างก้นด้วยน้ำ
คนไทยเราชินกับการล้างก้นด้วยน้ำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
คนญี่ปุ่นบางคนตื่นตาตื่นใจกับวิธีล้างก้นโดยใช้ขันตักน้ำแล้วเล็งการสาดน้ำดีๆ
ให้ถูกเป้าหมาย มายุคปัจจุบันหลายๆ ที่จะมีสายฉีดน้ำ ล้างได้ดี
สำหรับที่ญี่ปุ่นส้วมที่พัฒนาไประดับนึงแล้วจะมีระบบฉีดน้ำจากส้วมเลย
แน่นอนว่าจะอุ่นให้เป็นน้ำอุ่นก่อนก็ได้ เวลาเข้าส้วมหน้าหนาวจะได้ไม่ผวา
ยิ่งระบบฉีดน้ำรุ่นใหม่ๆ จะมีระบบฉีดน้ำสองแบบคือ โอชิริ (ฉีดก้น) และ บิเดะ (ฉีดของผู้หญิง
- ส่วนข跋งผู้ชายไม่ต้องฉีด) (มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Bidet) เลือกให้ถูกนะครับ
หัวฉีดน้ำเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า โนะซุรุ โซจิ (โนะซุรุ (นอซเซิล - หัวฉีด) + โซจิ
(ทำความสะอาด))
แต่ตามปกติเนื่องจากส้วมนั่งแบบฝรั่งแบบเก่าไม่มีระบบส่งน้ำมาที่หัวฉีดด้วย
หลายบ้านจึงต้องมีกระดาษชำระไว้ให้
๔. เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ส้วมญี่ปุ่นบางที่จะมีให้เลือกบิดน้ำล้าง
เขียนเป็นตัวจีนว่า ไท และ โช ถ้าถ่ายหนักก็กดไท น้ำจะออกมามาก ถ้าเลือกโช
น้ำจะออกมาน้อย ใช้กรณีถ่ายเบา เป็นวิธีประหยัดน้ำที่บ้านเราน่าจะใช้เหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมีสายท่อน้า ให้น้ำใหม่ที่จะมาแทนน้ำเดิมที่ใช้
ออกมาข้างนอกให้เราใช้ล้างมือแล้วน้ำจะลงไปที่โถชักโครกอีกทีกลายเป็นน้ำล้างอีกต่อหนึ่ง
ช่างคิดจริงๆ นับถือมาก
หมายเหตุว่าด้วยเรื่องกระดาษชำระ ถ้าคนไทยพูดว่าทิชชู่จะมีหลายแบบ
มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่น
แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วกระดาษทิชชู่แบบม้วนจะใช้ในห้องน้ำเท่านั้น เรียกว่า "โทอิเรตโตะเปป้า"
คนญี่ปุ่นจึงอาจจะประหลาดใจเมื่อเห็นกระดาษดังกล่าววางบนโต๊ะอาหารในเมืองไทย
อนึ่งตัวจีนคำว่า "เทงามิ" ที่แปลว่า "จดหมาย" ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า "กระดาษทิชชู่"
(เช็ดก้นอย่างเดียวหรือเปล่าไม่แน่ใจ) ในภาษาจีนกลาง