จางวางทั่ว พาทยโกศล

(พ.ศ.2424-2481)

เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2424 เป็นบุตร หลวงกัลยาณมิตราวาส (ทับ พาทยโกศล) กับนางแสง ชาวกรุงเทพมหานคร(ฝั่งธนบุรี) บิดาเป้ฯนักดนตรีมีชื่อเสียงและเจ้าของวงพาทยโกศล ส่วนมารดาเป็นผู้มีฝีมือในการดีดจะเข้และเป็นครูสอนดนตรีในราชสำนักรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภรรยาคนแรกชื่อ ปลั่ง (นามสกุลเดิม คงศรีวิไล) มีบุตรธิดา 8 คน ที่มีชื่อเสียงทางดนตรีคือนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ภรรยาคนที่2 ชื่อ เจริญ (สกุลเดิม รุ่งเจริญ) เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงและเคยเป็นหม่อมในเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์(หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) มีบุตรธิดา 4 คนมีน้องชายต่างมารดาชื่อ นายละม้าย พาทยโกศล เป็นนักดนตรีมีฝีมือทางเครื่องหนัง

จางวางทั่ว พาทยโกศล เริ่มเรียนดนตรีกับบิดา มารดา และครูทองดี ชูสัตย์ ต่อมาเรียนระนาดและฆ้องวงกับครูรอด จนเชี่ยวชาญ และยังได้เรียนกับครูต่วน ครูทั่ง ครูช้อย สุนทรวาทิน และพระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์) เรียนวิธีเรียบเรียงเสียงประสานกับจอมพลเรือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ท่านเป็นผู้บรรเลงฆ้องวงเล็กประจำวงปี่พาทย์ฤาษีซึ่งเป็นวงปี่พาทย์พิเศษในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดให้บรรเลงหน้าพระที่นั่งอยู่เสมอ ทรงคัดเลือกเฉพาะผู้มีฝีมือมาประจำวง ได้แก่พระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์)(ปี่) หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)(ระนาดเอก) นายโถ(ฆ้องวงใหญ่) จางวางทั่ว พาทยโกศล(ฆ้องวงเล็ก) นายเหลือ วัฒนวาทิน(ระนาดทุ้ม) และนายเนตร (กลองสองหน้า) นอกจากนั้นยังเป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ของพลงเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และวงวังบางขุนพรหม เป็นครูดนตรีประจำกองแตรวงทหารเรือและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และท่านได้สือบทอดวงพาทยโกศล ต่อจากบิดา ศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น นายช่อ สุนทรวาทิน จ่าโทฉัตร สุนทรวาทิน นายละม้าย พาทยโกศล นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นายทรัพย์ เซ็นพานิช จ่าสิบเอกยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) ร้อยเอกนพ ศรีเพชรดี นายเฉลิม บัวทั่ง

จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้ที่มีฝีมือในการบรรเลงเครื่องดนตรีได้ทุกชนิดทั้งปี่พาทย์ เครื่องสาย และยังขับร้องได้ดีอีกด้วย ได้แต่งเพลงไว้จำนวนมาก ประเภทเพลงตับ เช่น เพลงชุดแขกไทร ตับนกสีชมพู ประเภทเพลงเถา เช่น เพลงเขมรปากท่อ เถา เพลงเขมรเอวบาง เถา เพลงเขมรเขียว เถา เพลงคุณลุงคุณป้า เถา เพลงธรณีร้องไห้ เถา เพลงพวงร้อย เถา เพลงพม่าเห่ เถา เพลงอาหนู เถา เพลงโอ้ลาว เถา เพลงสี่บท เถา เพลงกัลยาเยี่ยมห้อง เถา เพลงเขมรพวง เถา เพลงหกบท เถา เพลงล่องลม เถา เพลงเขมรใหญ่ เถา เพลงบังใบ เถา ประเภททางเดี่ยว เช่น เดี่ยวรอบวงเพลงหกบท เถา เพลงทะแย เถา และเพลงอาเฮีย เดี่ยวระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่เพลงพญาโศก และเพลงลาวแพน เดี่ยวจะเข้เพลงสุดสงวน และทำทางบรรเลงสำหรับวงโยธวาทิตอีกมาก นอกจากนั้นยังได้นำวงปี่พาทย์บรรเลงบันทึกแผ่นเสียงไว้เป็นจำนวนมาก

 

1