สตรีวัยทองLast Update : 10/02/44
Home ยา ผู้หญิง เด็ก เครื่องสำอาง ปฐมพยาบาล โรคทั่วไป อื่นๆน่าสนใจ สอบถามปัญหา
This Page
Related Topic
Interesting Web



เชิญ ติชม สอบถาม เสนอแนะครับ

ติชม หรือสอบถามได้ที่นี่ครับ
ชื่อ
email
ติชม เรื่องที่อยากสอบถาม

 

คัดลอกมาจากเอกสารส่งเสริมความรู้เขียนโดย พญ,กอบจิตต์ ลิมปพยอม และ น.พ.นิมิต เตชไกรชนะ
คลีนิคสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สตรีวัยทองคืออะไร ?        

หรือสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยหมดระดู คือ สตรีในวัยที่มีการสิ้นสุดของการมีประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน มีสาเหตุมากจากการที่จำนวนไข่ใบเล็กๆในรังไข่มีปริมาณลดลง ซึ่งมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จนหยุดการสร้างไปในที่สุด

วัยทองเป็นระยะซึ่งสตรีส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว หน้าที่การงาน และฐานะความเป็นอยู่ โดยเฉลี่ยสตรีไทยเริ่มเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดระดู โดยธรรมชาติเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ในกรณีที่หมดระดูเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี เรียกว่า หมดระดูก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆมากขึ้น เช่นเดียวกับสตรีที่หมดระดูจากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง อายุขัยเฉลี่ยของสตรีไทยประมาณ 71 ปี ดังนั้นช่วงเวลาที่สตรีต้องอยู่ในสภาวะวัยหมดระดูนั้น มีประมาณ 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตทั้งหมดของสตรี ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี

มีอาการอย่างไร ?        

เมื่อสตรีย่างเข้าสู่วัยทอง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศ คือ เอสโตรเจน เช่น

  • รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจห่างออกไปหรือสั้นเข้า อาจมีเลือดประจำเดือนน้อยลง หรือมากขึ้น
  • เกิดอาการซึมเศร้า, หงุดหงิด, กังวลใจ, ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง, ความจำเสื่อม, ความต้องการทางเพศ หรือการตอบสนองทางเพศลดลง
  • ช่องคลอดแห้ง, คันบริเวณปากช่องคลอด, มีการอักเสบของช่องคลอด, เจ็บเวลาร่วมเพศ, อาจมีการหย่อนยานของมดลูก และช่องคลอด, มีการหย่อนของกระเพาะปัสสาวะ, ปัสสาวะบ่อย, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะไอหรือจาม หรือขณะยกของหนัก
  • ผิวหนังแห้ง, เหี่ยวย่น, คัน, ช้ำและเป็นแผลได้ง่าย, ผมแห้ง, ผมร่วง
  • เต้านมมีขนาดเล็กลง, หย่อน, นุ่มกว่าเดิม
  • เกิดโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าสตรีก่อนวัยหมดประจำเดือนอัตราส่วนของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในชาย จะสูงกว่าหญิงในอัตรา 9:3 แต่เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดระดู จะเริ่มมีอัตราการเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น จนมีอัตราไกล้เคียงกับชายเมื่ออายุ 70 ปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • การขาดเอสโตรเจน โดยเฉพาะในระยะแรกของวัยหมดระดู อาจทำให้มีการสูยเสียเนื้อกระดูกได้ถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี จนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และอาจมีการหักของกระดูกในส่วนต่างๆ ได้แก่ กระดูกข้อมมือ, กระดูกสันหลัง, กระดูกสะโพก เป็นต้น
การดูแลตัวเอง        

สตรีควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ ควรหาความรู้เพิ่มเติมพร้อมดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีโดย

  • ควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และบุหรี่ ควรได้รับแคลเซียมประมาณวันละ 1,000-1,500 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง, ปลาเล็กปลาน้อย, ผักใบเขียว รับประทานอาหารที่มีเอสโตรเจนธรรมชาติ เช่น ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, ข้าวโอ๊ด, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เล่ย์, มันฝรั่ง, มันเทศ, มะละกอ เป็นต้น
  • การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรกระทำในสตรีวัยหมดระดู เพราะมีผลต่อการสร้างเนื้อกระดูก มีผลดีต่อการลดไขมัน และการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า การออกกำลังกายสามารถลดอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ และภาวะซึมเศร้าในวัยหมดระดูได้
  • ในรายที่มีอาการต่างๆรุนแรง ได้รับความทุกข์ทรมาน รบกวนความสุขในชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และ หลอดเลือด, โรคกระดูกพรุน ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทน
ฮอร์โมนทดแทน        

คือฮอร์โมนที่ให้กับสตรีวัยทอง เพื่อชดเชยฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ร่างกายขาดไป ฮอร์โมนที่ให้ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน หรือฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์คล้ายกับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ได้มีการผลิตฮอร์โมนทดแทนในรูปแบบต่างๆมากมาย เพื่อให้แพทย์พิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่

  • ชนิดรับประทาน เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด
  • ครีมทาช่องคลอด
  • เจลทาผิวหนัง
  • พลาสเตอร์ตัวยาแปะผิวหนัง
  • ยาฝังใต้ผิวหนัง
  • วงแหวนสอดทางช่องคลอด

ฮอร์โมนทดแทนที่แพทย์สั่งให้มีประโยชน์ต่อร่างกาย 3 ประการใหญ่ คือ

  • ช่วยทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายหยุดสร้างไป ซึ่งจะบรรเทาอาการต่างๆในหัวข้อที่ผ่านมาแล้ว
  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน โดยจะช่วยรักษาเนื้อกระดูกให้อยู่ในปริมาณปกติ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ซึ่งผลดังกล่าวจะคงอยู่ตราบเท่าที่สตรีได้รับฮอร์โมนและ จะหมดไปหากหยุดยา นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนทดแทน ยังสามารถลดอัตรากระดูกหักลงได้ถึงร้อยละ 30-60 หากเริ่มให้ฮอร์โมนหลังหมดระดูใหม่ๆ และให้นานอย่างน้อยเป็นเวลา 7 ปี
  • ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งอัตราการตายจากโรคนี้ลดลงถึงกว่าร้อยละ 50
สตรีวัยทองจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนทุกคนหรือไม่ ?        

ไม่จำเป็น เพราะปัญหาต่างๆที่กล่าวข้างต้นมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นสาเหตุด้วย นอกเหนือจากการขาดฮอร์โมน การให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาต่างๆในวัยหมดระดู การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมก็จะช่วยให้สตรีวัยทองมีสุขภาพดีได้โดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม มีสตรีวัยทองบางกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็ว จนจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน จากการพิจารณาถึงผลดี - ผลเสีย ของการใช้ฮอร์โมนทดแทนโดยรวม พอสรุปได้ว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง เพราะนอกจากลดอัตราการตายได้แล้ว ยังช่วยให้สุขภาพโดยทั่วไปของร่างกายดีขึ้นด้วย

ผลข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน        

อาจพบอาการข้างเคียงได้บ้าง ได้แก่ คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศรีษะ, ตึงคัดเต้านม, น้ำหนักตัวเพิ่ม, บวมน้ำ, มีเลือดออกกระปริดกระปรอย หรือมีเลือดประจำเดือนกลับมาอีก อาการข้างเคียงเหล่านี้ถ้าเป็นไม่มาก สามารถใช้ยาต่อไปโดยอาการต่างๆจะลดน้อยลง แต่ถ้ามีอาการข้างเคียงมาก ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณเปลี่ยนชนิดของฮอร์โมนทดแทนต่อไป

ข้อห้ามใช้ของฮอร์โมนทดแทน

       
  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
  • มะเร็งมดลูกระยะลุกลาม
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหต
  • โรคตับระยะเฉียบพลัน
  • โรคเลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ
ควรใช้ฮอร์โมนทดแทนนานเท่าใด ?        

ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ เช่น ถ้าต้องการเพียงบรรเทาอาการต่างๆของสตรีวัยทอง การใช้เพียง 6-12 เดือนก็เพียงพอ แต่ถ้าหวังผลระยะยาวของฮอร์โมนต่อกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ก็อาจให้ได้นาน 10-20 ปี อย่างไรก็ตามควรมีการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

Post a Message in My Message Board!

ถ้าท่านชอบ web  นี้ 
ท่านที่ต้องการสอบถาม เสนอแนะ เชิญครับ mailto:vichiena@yahoo.com
ขอขอบคุณ Geocities.com ที่ให้พื้นที่ฟรีสำหรับการจัดทำ Web Site นี้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่สำคัญ discoveryhealth | mediconsult | mayohealth | medscape.com | healthylives | สมาคมแพทย์โรคผิวหนัง USA | fda.gov | my.yahoo.com

1