โรคอะไรที่ทหารไม่เอา !

                ในเดือนเมษายนของทุกปี   มีกิจกรรมของผู้ชายไทยทุกคนที่อายุครบ ๒๐ ปี คือ ต้องไปเกณฑ์ทหาร หรือ เรียกเป็นทางการว่า รับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ      และมักจะมีคนไปถามตามบ้านที่มีลูกชายว่าจะให้ช่วยหรือไม่( ไม่ฟรี)   นอกจากรับอาสาว่าจะหาหลักฐานปลอมมาให้แล้ว   อาจจะบอกว่า จะบอกหมอให้คัดออกให้ ( ขอเงินให้หมอด้วยนะ )

            ถึงเวลา   หมอก็คัดออกจริงๆ   หนุ่มที่ไม่อยากเป็นทหารก็เสียเงิน หมอก็เสียชื่อ อย่างนี้เขาเรียกว่า " ตกเบ็ด " นี่ถ้าหนุ่มคนนั้นรู้เสียหน่อยว่า เป็นโรคที่เข้าข่ายที่เขาไม่เอาเป็นทหารอยู่แล้ว คงไม่ถูกหลอก

             โรคที่เขาไม่เอาเป็นทหาร ตามกฎกระทรวงฯ เขาเรียกว่า คนจำพวก๔ มีอยู่ ๑๒ กลุ่ม
(๑) โรคหรือความผิดปกติของตา
                    (ก) ตาข้างหนึ่งข้างใดบอด คือเมื่อรักษาและแก้สายตาด้วยแว่นแล้ว การมองเห็นยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ๓/๖๐ หรือ ลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า ๑๐ องศา
                    (ข) สายตาไม่ปกติ คือ เมื่อรักษาและแก้สายตาด้วยแว่นแล้วการมองเห็นยังอยู่ในระดับ ๖/๒๔ หรือต่ำกว่าทั้งสองข้าง
                    (ค) สายตาสั้นมากกว่า ๘ ไดออปเตอร์ หรือสายตายาวมากกว่า ๕ ไดออปเตอร์ ทั้งสองข้าง
                    (ง) ต้อแก้วตาทั้งสองข้าง(Bilateral cataract)
                    (จ) ต้อหิน (Glaucoma)
                    (ฉ) โรคขั้วประสาทตาเสื่อมทั้งสองข้าง (Optic atrophy )
                    (ช) กระจกตาอักเสบเรื้อรังหรือขุ่นทั้งสองข้าง
(๒) โรคหรือความผิดปกติของหู
                    (ก) หูหนวกทั้งสองข้าง คือ ต้องใช้เสียงในช่วงคลื่นความถี่ ๕๐๐ - ๒,๐๐๐ รอบต่อวินาที หรือเกินกว่า ๕๕ เดซิเบล จึงจะได้ยิน ทั้งสองข้าง
                    (ข) หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังทั้งสองข้าง
                    (ค) เยื่อแก้วหูทะลุทั้งสองข้าง
(๓) โรคของหัวใจและหลอดเลือด
                    (ก) หัวใจหรือหลอดเลือดพิการอย่างถาวร จนอาจเกิดอันตรายร้ายแรง
                    (ข) ลิ้นหัวใจพิการ
                    (ค) การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างถาวร จนอาจเกิดอันตรายร้ายแรง
                    (ง) โรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และอาจเป็นอันตราย
                    (จ) หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
                    (ฉ) หลอดเลือดภายสนกะโหลกศีรษะโป่งพองหรือผิดปกติชนิดที่อาจเป็นอันตราย
(๔) โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด
                    (ก) โรคเลือดหรืออวัยวะสร้างเลือดผิดปกติอย่างถาวรและอาจเป็นอันตราย
                    (ข) ภาวะม้ามโต (Hypersplenism ) ที่รักษาไม่หายและอาจเป็นอันตราย
(๕) โรคของระบบหายใจ
                    (ก) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ( Chronic obstructive pulmonary disease )
                    (ข) โรคหลอดลมโป่งพอง ( Bronchiectasis )
                    (ค) โรคหืด ( Asthma )
                    (ง) โรคของระบบหายใจที่ทำให้สมรรถภาพปอดลดลงอย่างถาวรจน Forced expiratory volume in one second ต่อกว่า ๒ ลิตร หรือ Forced vital capacity ต่ำกว่าร้อย ๖๐ ของค่าปกติ
(๖) โรคของระบบปัสสาวะ
                    (ก) ไตอักเสบเรื้อรัง
                    (ข) กลุ่มอาการไตพิการ ( Nephrotic syndrome )
                    (ค) ไตวายเรื้อรัง
                    (ง) ไตพองเป็นถุงน้ำแต่กำเนิด (Polycystic kidney )
(๗) โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ
                    (ก) ข้ออักเสบเรื้อรังจนกระดูกเปลี่ยนรูป
                    (ข) แขน ขา มือ เท้า นิ้ว อย่างใดอย่างหนึ่งผิดปกติ ดังต่อไปนี้
                                        ๑. แขน ขา มือ หรือ เท้า ด้วนหรือพิการ ถึงแม้ว่าจะรักษาด้วยวิธีใหม่ที่สุดแล้วก็ยังใช้การไม่ได้
                                        ๒. นิ้วหัวแม่มือด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือ พิการจนถึงขั้นใช้การไม่ได้
                                        ๓. นิ้วชี้ของมือด้วนตั้งแต่ข้อปลายนิ้ว
                                        ๔. นิ้วมือในมือข้างเดียวกันตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป ด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือพิการจนถึงขั้นใช้การไม่ได้
                                        ๕. นิ้วหัวแม่เท้าด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือพิการจนถึงขั้นใช้การไม่ได้
                                        ๖. นิ้วเท้าในเท้าข้างเดียวกัน ตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป ด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
                                        ๗. นิ้วเท้าในเท้าแต่ละข้าง ตั้งแต่หนึ่งนิ้วขึ้นไป ด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือพิการจนถึงขั้นใช้การไม่ได้
                                        ๘. นิ้วเท้าในเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งแต่หนึ่งนิ้วขึ้นไป ด้วนจนถึงข้อโคนนิ้ว หรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
                    (ค) คอเอียงหรือแข็งทื่อชนิดถาวร
                    (ง) กระดูกสันหลังโก่งหรือคดหรือแอ่นจนเห็นได้ชัด หรือ แข็งทื่อชนิดถาวร
                    (จ) กล้ามเนื้อเหี่ยวลีบหรือหดสั้น (Atrophy or Contracture) จนเป็นผลให้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดใช้การไม่ได้
(๘) โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาลิสัม
                    (ก) ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยไปอย่างถาวร
                    (ข) ภาวะต่อมพาราธัยรอยดทำงานน้อยไปอย่างถาวร
                    (ค) ภาวะต่อมใต้สมองผิดปกติอย่างถาวร
                    (ง) เบาหวาน
                    (จ) ภาวะอ้วน (Obesity) ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย (Body mass index)ตั้งแต่ ๓๕ กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
                    (ฉ) โรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับเมตะบอลิสัมของแร่ธาตุสารอาหาร ดุลย์สารน้ำอีเล็กโทรลัยท์และกรดด่าง ตลอดจนเมตะบอลิสัมอื่นๆชนิดถาวร   และอาจเป็นอันตราย
(๙) โรคติดเชื้อ
                    (ก) โรคเรื้อน
                    (ข) โรคเท้าช้าง
                    (ค) โรคติดเชื้อเรื้อรังระยะแสดงอาการรุนแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
(๑๐) โรคทางประสาทวิทยา
                    (ก) จิตเจริญล่าช้า (Mental retardation) ที่มีระดับเชาว์ปัญญา ๖๙ หรือต่ำกว่านั้น
                    (ข) ใบ้ (Mutism) หรือพูดไม่เป็นภาษาหรือฟังภาษาไม่รู้เรื่อง (Aphasia)ชนิดถาวร
                    (ค) ลมชัก (Epilepsy) หรือโรคที่ทำให้มีอาการชัก (Seizures) อย่างถาวร
                    (ง) อัมพาต ( Paralysis) ของแขน ขา มือ หรือเท้า ชนิดถาวร
                    (จ) สมองเสื่อม (Dementia)
                    (ฉ) โรคหรือความผิดปกติของสมองหรือไขสันหลังที่ทำให้เกิดความผิดปกติ อย่างมากในการเคลื่อนไหวของแขนหรือขาอย่างถาวร
                    (ช) กล้ามเนื้อหมดกำลังอย่างหนัก(Myasthenia gravis)
(๑๑) โรคทางจิตเวช
                    (ก) โรคจิตหรือโรคที่ทำให้จิตผิดปกติอย่างรุนแรงและถาวร
(๑๒) โรคอื่นๆ
                    (ก) กะเทย (Hermaphrodism)
                    (ข) มะเร็ง ( Malignant neoplasm)
                    (ค) โรคตับอักเสบเรื้อรังชนิดร้ายแรง ( Chronic active hepatitis )
                    (ง) ตับแข็ง (Cirrhosis)
                    (จ) คนเผือก (Albino)
                    (ฉ)   โรคลูปัสอิริธิมาโตซัสทั่วร่างกาย (Systemic lupus erythematosus)
                    (ช) กายแข็งทั่วร่างกาย (Systemic sclerosis)
                    (ซ) รูปวิปริตต่างๆ
                                        (๑) จมูกโหว่
                                        (๒) เพดานโหว่หรือสูงหรือลิ้นไก่สั้นพูดไม่ชัด

             ยังมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอีก ๒ เรื่อง

             ๑.ยังมีการจัดคนเป็นอีกประเภทหนึ่ง ที่เขาเรียกว่า คนจำพวก๒    คนพวกนี้ไม่พิการแต่ไม่สมบูรณ์ ถ้ามีคนพอแล้ว เขาอาจไม่เอา
             ๒.ถ้าถูกจัดเป็น คนจำพวก๔   หรือคนพิการแล้ว เท่ากับถูกตีตราไว้    ไปสมัครงานอาจเสียเปรียบคนอื่น

                      เผยไต๋อย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปให้เขาหลอกเลยครับ     อ้อ อีกอย่างหนึ่ง รีบบอกหมอเขาด้วยว่า เป็นโรคอะไร   ถ้าไม่บอก บางทีเขาก็พลาดไป   จะมาบ่นทีหลัง ก็ยุ่งยากอยู่บ้าง

 

***********************

 

1