การที่พี่คนโตอิจฉาน้องคนใหม่ของครอบครัวนั้นเป็นเรื่องปกติ
และพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-3 ปี สิ่งสำคัญคือว่า
คุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้พี่นี้ เป็น " พี่ใหญ่ "
ที่น่ารักของทุกคนในบ้านได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าการที่พี่อิจฉาน้องนั้น
เป็นเรื่องปกติที่พบได้เสมอในพี่คนโต ที่มีอายุ 1-3 ปี
เพราะเขาเคยได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา
แต่อยู่ๆ เมื่อมีน้องใหม่คุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งเวลาให้น้องคนเล็ก
ทำให้ความสนใจที่เขา เคยได้จากคุณพ่อคุณแม่ลดลง
เขาจึงต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้รับความสนใจกลับมาเหมือนเดิม
เขาอาจต้องการให้คุณแม่กอด ให้อุ้มมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อคุณแม่กำลังวุ่นกับการดูแลน้องใหม่
บางครั้งเขาจะแสดงพฤติกรรมถดถอย กลับไปเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ อีก เช่น ฉี่
หรืออึราดโดยไม่ยอมบอก
ดูดนิ้วกลับไปดูดขวดนมอีกหลังจากที่เคยเลิกขวดนมได้แล้ว
หรืออาจจะก้าวร้าวเพิ่มขึ้นเช่น แกล้งน้อง ชอบจับน้องแรงๆ
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ
และบางอย่างสามารถป้องกันได้บางพฤติกรรม ก็จะดีขึ้นเองใน 2-3 เดือน
การป้องกัน
เราสามารถเตรียมตัวลูกคนโตได้ตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งท้องลูกคนเล็ก
โดยบอกเขาว่า เขากำลังจะเป็นพี่ใหญ่ มีน้องเล็กอยู่ในท้องคุณแม่
ให้ลูกได้จับหน้าท้องขณะที่น้องดิ้น สร้างความรู้สึกที่ดีให้พี่มีต่อน้อง
ให้พี่รู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่นและของใช้ของน้อง
และให้รู้สึกว่าจะเป็น "น้อง" ของครอบครัว "เรา"
อย่าส่งลูกคนโตไปเนอสเซอรี่ หรือร.ร.ในช่วงใกล้คลอด
หรือหลังคลอดใหม่ๆ
และเช่นกันในการจัดห้องเพื่อรับน้องใหม่อย่าจัดให้พี่ต้องย้ายออกจกาเตียงหรือออกจากห้อง
ที่เขาเคยอยู่เพื่อที่จะได้มีที่ให้แก่น้องคนใหม่หรือจากที่เดิมเขาเคยนอนกับคุณแม่
พอมีน้องเขาต้องออกไปนอนที่อื่นคนเดียว
เพื่อไม่ให้เขาเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะว่ามีน้องมาใหม่
เขาจึงถูกขับไล่ไสส่งออกไป
เมื่อคุณแม่ไปคลอดที่ร.พ.ให้โทรศัพท์กลับมาคุยกับลูกคนโตที่บ้านทุกวัน
เล่าให้เขาฟังว่า คุณแม่เป็นอย่างไร และคิดถึงเขา ฯลฯ
หรือให้ลูกได้มีโอกาสไปเยี่ยมน้องและคุณแม่ที่ ร.พ.
พร้อมกับแวะดูที่ห้องเด็กอ่อน เพื่อให้เขาเห็นว่ามีคุณแม่คนอื่นๆ
อีกหลายคนที่มาคลอดน้องที่นี่ และดูว่าเด็กทารกแรกเกิดคนอื่นๆ
นั้นเป็นอย่างไร
เมื่อกลับถึงบ้าน
ให้ใช้เวลาช่วงแรกพูดคุยทักทายและอยู่กับลูกคนโตสักพักหนึ่ง
และอาจจะเตรียมของขวัญชิ้นเล็กให้แก่พี่คนโตโดยบอกว่า "เป็นของขวัญจากน้อง"
ให้โอกาสพี่ได้ใกล้ชิดจับต้อง และอุ้มหรือเล่นกับน้องบ้าง
โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลตลอดเวลา ไม่ปล่อยพี่คนโตไว้กับน้องตามลำพังเป็นอันขาด
เพราะด้วยความตื่นเต้น สนใจ อยากรู้ อยากเห็นหรือที่เรียกว่า เห่อน้อง
อาจทำให้เกิดอันตรายได้ (โดยไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายน้อง)
พยายามหลกีเลี่ยงคำพูดบางอย่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาในเด็ก
เช่น " อย่าจับน้องนะ อยู่ห่างๆ น้อง ห้ามเข้าใกล้ ทำไมเราจึงยุ่งนัก
อย่างนี้แม่ไม่รักแล้ว ถ้าไม่หยุดจะให้ (ป้า, พี่แดง ฯลฯ) เอาไปปล่อย
(หรือเอาไปเลี้ยง) อย่างนี้ไม่เก่งเลย สู้น้องก็ไม่ได้ น้องน่ารักกว่า ฯลฯ "
ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังการใช้คำพูดที่จะกระทบต่อเด็กแล้ว
ยังจะต้องเตรียมตัวผู้ใหญ่ คนอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการดูแลเด็กด้วย
ซึ่งอาจเป็นคุณตา-ยาย, ปู่-ย่า, คุณลุง-ป้า, คุณน้า-อา หรือพี่เลี้ยง
ที่บางครั้งอาจจะพูดในทำนองนี้โดยไม่ทันได้คิด
หรืออาจจะพูดไปเพื่อแหย่พี่คนโตเล่น แต่หลายต่อหลายครั้ง
ที่คนโตอาจจะไม่สามารถทำใจได้ และจะเกิดความ "ไม่ชอบน้อง" ขึ้น เพราะ "น้อง"
เป็นสาเหตุให้ตนเองถูกดุ หรือไม่มีคนรัก
ให้พี่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น
ช่วยหยิบขวดนม หรือช่วยนำผ้าอ้อมไปไว้ที่ถังทิ้งผ้าอ้อม
และอย่าลืมกล่าวชมเขาด้วยอย่างจริงใจ
ว่าคุณพ่อคุณแม่ดีใจและภูมิใจที่เขาได้เป็นพี่ใหญ่ " เป็นผู้ช่วยคุณแม่ "
ในการดูแลน้อง และให้พี่รู้สึกว่าน้องชอบที่มีพี่อยู่ใกล้ๆ เช่น "ดูซิ
น้องชอบมากเลย ที่ลูกคุยกับน้อง"
แบ่งเวลา " พิเศษ "
เพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลาอยู่กับพี่ตามลำพัง จะได้ให้ความสนใจแก่เขา
ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีน้องคอยกวน ร่วมกันทำกิจกรรมที่เขาชอบ เช่น
เล่านิทาน อ่านหนังสือด้วยกัน ไปเดินเล่น ฯลฯ
ถ้ามีโอกาสควรนำรูปหรือวิดีทัศน์พี่ ตอนที่เขายังเล็กๆ
หรือตอนที่คุณแม่ให้นมเขา มาให้เขาดู เล่าให้เขาฟังว่าตอนเล็กๆ
คุณพ่อคุณแม่ดูแลเขาอย่างที่กำลังดูแลน้องอยู่นี่เช่นกัน และบอกเขาว่า
ตอนนี้ครอบครัวของเราใหญ่ขึ้น มีเขาเป็นพี่ใหญ่ที่เก่งขึ้น
ช่วยดูแลน้องได้และมีน้องซึ่งต่อไปจะโตขึ้น
และจะเป็นพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน และเป็นเพื่อนเล่นกันได้
เหมือนครอบครัวอื่นๆ ที่เขารู้จัก
ขณะที่คุณแม่ดูแลน้องเล็กอยู่ คุณพ่อหรือผู้ใหญ่ท่านอื่น เช่น
คุณตาสามารถชวนเขาไปเล่น หรือทำกิจกรรมอื่น
ถ้ายิ่งมีเด็กโตคนอื่นที่มาเล่นกับเขาได้ด้วยก็จะยิ่งช่วยให้เขาเพลิน
และเข้าใจคุณแม่ ยอมให้คุณแม่เลี้ยงน้องได้
โดยเขาไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว
สำหรับพฤติกรรมถดถอยนั้น
ส่วนใหญ่เป็นเพราะเด็กต้องการทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ จากคุณแม่
โดยลองทำเป็นเด็กเล็กดูบ้าง เพื่อว่าคุณแม่จะได้มาดูแลเขา
เหมือนกับที่คุณแม่ดูแลน้อง ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะดีขึ้นเองในเวลา 2-3 เดือน
ขอให้เข้าใจเด็ก และอย่าไปดุว่าเด็ก
เพราะจะทำให้เขารู้สึกไม่ชอบน้องมากขึ้น
(เพราะเด็กจะไม่เข้าใจว่า ทำไม่น้องทำแล้ว คุณแม่โอ๋ เอาใจน้อง
แต่พอเขาทำบ้างกลับโดนว่า)
ดังนั้นการเตรียมตัวมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดี
และน่าตื่นเต้น แต่อย่าลืมนึกถึงหัวใจน้อยๆ ของผู้ที่ต้องกลายเป็นพี่
ด้วยความรักของคุณที่พร้อมจะเข้าใจ และให้โอกาสแก่ลูกเท่าๆ กัน
จะทำให้ไม่เกิดบรรยากาศ " เมื่อพี่อิจฉาน้อง " อย่างปรับตัวได้อย่างดี
กับสมาชิกใหม่ของครอบครัวในที่สุด
(update 17 กรกฎาคม
2001)
[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 25 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544]
|