กองเภสัชกรรม โรงพยาบาลค่ายสุรนารี

present กองเภสัช

โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม ขนาดประมาณ 350 เตียง จำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 500 คน / วัน เภสัชกร 6 คน ช่วยราชการ 3 คน เจ้าหน้าที่แผนกฯ รวม 47 คน การแบ่งโครงสร้างขององค์กร (กองเภสัชกรรม) แตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐในส่วนพลเรือน มีการแบ่งงานออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก แผนกเภสัชกรรมผู้ป่วยใน แผนกเภสัชกรรมหัตถการ แผนกส่งกำลังสายแพทย์ และแผนกซ่อมบำรุงเวชภัณฑ์ (เวชภัณฑ์ในความหมายทางการทหารหมายถึงพัสดุ หรือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ไม่ได้รวมถึงยา) เภสัชกรเป็นหัวหน้างานใน 3 สายยกเว้น แผนกส่งกำลังฯ และซ่อมบำรุงเวชภัณฑ์ กองเภสัชกรรมให้บริการสำหรับผู้ป่วยในครอบคลุมทุกวัน แผนกเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกให้บริการครอบคลุม 24 ชั่วโมง โดยเภสัชกรขึ้นปฏิบัติงานทุกวัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง

ภาพรวมทั่วไปของกองเภสัชกรรมมีการพัฒนาคุณภาพและการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีการให้คำแนะนำไว้ครอบคลุม สามารถสัมผัสได้ว่าทีมงานมีแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พบการปฏิบัติงานในลักษณะที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก และภายในหน่วยงานด้วยกัน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะเอกสารรายงานที่พบ หลายกิจกรรมอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการ และพบว่าความต่อเนื่องของการดำเนินการยังไม่ชัดเจนมากนัก เภสัชกรผู้ที่เป็นแกนนำการพัฒนาหลักปัจจุบันมาช่วยราชการซึ่งเป็นที่ยอมรับของเภสัชกรในกอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องจากระยะปัจจุบัน องค์กรควรดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนอันจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในการพัฒนาต่อไป

การประเมินการดำเนืนการ

มาตรฐานที่ 1 ภาวะความเป็นผู้นำ และการบริหารจัดการงานเภสัชกรรม

กองเภสัชกรรมมีเภสัชกรที่มีความมุ่งมั่นและต้องการที่จะพัฒนางานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงพยาบาล มีความเข้าใจระบบโดยรวมของโรงพยาบาล พบความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้งานเภสัชกรรมบรรลุคุณภาพ เจ้าหน้าที่ระดับรองสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบได้ในระดับหนึ่ง มีการประชุมของกองเภสัชกรรมโดยเภสัชกรเข้าร่วมประชุม และการประชุมในแต่ละแผนกฯ โดยเจ้าหน้าที่ทุกระดับสามารถเข้าร่วมประชุม จากการสุ่มตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนพบความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานและภูมิใจในหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งในระดับหัวหน้าแผนกและผู้ปฏิบัติงาน การดำเนินงานด้านเอการคุณภาพครอบคลุม มีการใช้ตัวบ่งชี้คุณภาพเพื่อการควบคุม พบการจัดตั้งฝ่ายพัฒนาคุณภาพของกองเภสัชกรรมเพื่อกำหนดทิศทางและการเชื่อมประสานการดำเนินการทั้งภายใน ภายนอกที่เป็นรูปธรรม

โอกาสพัฒนา

  1. การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพที่ชัดเจนเพิ่มเติมสำหรับกระบวนการติดตามการปฏิบัติงาน (monitoring) โดยเน้นการติดตามกระบวนการและส่วนที่เป็นผลลัพธ์โดยตรงของกิจกรรม เช่น ประสิทธิผลการบริการเวชภัณฑ์ (สำหรับหน่วยเบิก) ภายในเวลาที่กำหนด (แทนระยะเวลาการได้รับการจ่ายยาเวชภัณฑ์ฯ) อัตราการปลดเปลื้องการค้างจ่ายยา (ภายในเวลาที่กำหนด) อัตราการสั่งใช้ยาตามเกณฑ์ที่กำหนด (กิจกรรม DUE)
  2. การจัดกลุ่มแฟ้มคุณภาพที่ลดการกระจายลงไปในแต่ละแผนก ให้เกิดแฟ้มคุณภาพเพื่อการติดตามตัวบ่งชี้และการดำเนินการแก้ไขแยกออกจากส่วนที่เป็นข้อมูลดำเนินการที่สนับสนุน เพื่อให้ง่ายต่อการบริการและการติดตามความก้าวหน้า
  3. ความเป็นไปได้ในการเพิ่มอัตราเภสัชกรเนื่องจากการพัฒนากิจกรรมคุณภาพหลายมาตรฐานมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติโดยผู้ปฏิบัติวิชาชีพ และจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันหากเทียบเคียงกับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในระดับเดียวกันจะมีจำนวนที่น้อยกว่าเกือบร้อยละ 40-50

มาตรฐานที่ 2 การบริการเภสัชสนเทศ และการให้การศึกษาด้านยา

พบว่ามีระบบการนำเสนอข้อมูลยาในคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด มีระบบการเก็บข้อมูลค่อนข้างมากควรมีการประกาศและเผยแพร่ให้แต่ละกิจกรรมได้รับทราบเพื่อใช้บอกถึงระดับของผลการปฏิบัติงาน พบการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาที่ต้องเก็บพ้นแสงและยาที่ต้องเก็บในตู้เย็น โดยพบการกระจายไปยังหอผู้ป่วยและจากการสุ่มตรวจสอบพบการใช้และความพึงพอใจของผู้รับผลงาน มีการดำเนินการรวบรวมและเริ่มจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะของยาที่ต้องดำเนินการจัดหา

โอกาสพัฒนา

  1. การเผยแพร่ข้อมูลด้านยาที่เอื้อต่อการนำไปใช้และลดปัญหาด้านความคลาดเคลื่อนในการบริหาร เช่น ความคงตัวของยาฉีด แนวทางการบริหารยาที่ให้เข้าหลอดเลือด ยาที่ไม่สามารถผสมร่วมกันในกระบอกฉีดยาหรือในสารละลายเดียวกัน หรือยาที่ต้องบริหารไม่เร็วกว่าเวลาที่กำหนด โดยในระยะแรกอาจเริ่มดำเนินการจากกลุ่มที่สำคัญร่วมกัน เช่นยากลุ่มเฝ้าระวังในโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการประเมินความเหมาะสมของการสั่งใช้ยา โครงการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้เพื่อให้การเฝ้าระวังยากลุ่มดังกล่าวครอบคลุมได้กว้างขวางขึ้น
  2. การดำเนินการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการนำเสนอข้อมูลในคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด

 

มาตรฐานที่ 3 การส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม

พบรูปธรรมของการประเมิน การคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ และการประกันคุณภาพของการจัดซื้อจัดหา การตรวจรับเวชภัณฑ์มีใบวิเคราะห์คุณภาพประกอบทุกรุ่น รูปธรรมที่ดีประการหนึ่งคือการตรวจรับเฉพาะยาที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะยาทีมักมีอายุการใช้งานสั้น เช่น ชีววัตถุ ยาตา

ระบบการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาพบว่ามีการกำเนินการในสักษณะของสหสาขาวิชาชีพ โดยแพทย์เป็นผู้กรอกรายการลงในใบรายงานด้วยตนเองโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอาการ ความรุนแรง

มีการดำเนินการประเมินการสั่งใช้ยาตามเกณฑ์ที่กำหนด (DUE) โดยเริ่มดำเนินการในยา 6 ขนานที่อยู่ในบัญชี ง. ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีการประเมินในสองส่วนคือส่วนที่เกียวข้องกับแพทย์โดยตรงและส่วนที่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรพบรูปแบบการดำเนินการในลักษณะของกรรมการด้วยสหสาขาวิชาและหลักฐานการดำเนินการที่ต่อเนื่องมาช่วงระยะหนึ่ง

เริ่มมีการกำเนินการให้หารปรึกษาผู้ป่วยก่อนกลับบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนด (6 กลุ่มได้แก่ กลุ่มสูงอายุ เด็ก ผู้ที่ได้รับยามากกว่า 6 ขนาน ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีการสั่งรักษาเป็น course เช่น วัณโรค ยาที่มีวิธีใช้พิเศษ ผู้ป่วยที่อ่านหนังสือไม่ออก)

การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังอันตรกิริยายังไม่เป็นรูปธรรม

โอกาสพัฒนา

1. การวิเคราะห์ข้อมูล DUE ที่มีการดำเนินการมาช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อประเมินกระบวนการและเป็นการป้อนข้อมูลย้อนกลับ

2. เภสัชกรควรดำเนินการในส่วนของการประเมินที่สองของแบบประเมิน DUE ให้ครอบคลุมและครบถ้วนตามเงื่อนไขผู้ป่วยแต่ละราย และเน้นความสอดคล้องการดำเนินการทั้งในส่วน OPD และ IPD

3. ประสารเพื่อให้เกิดความชัดเจนของการประเมินความน่าจะเป็นหรือความสัมพันธ์ของากรเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้การระบุน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น และให้เป็นข้อมูลโรงพยาบาล

4. ปรับการดำเนินการในเรืองอันตรกิริยาต่อกันของยา (Drug Interaction) โดยปฏิบัติในลักษณะที่เป็นทีมสหสาขา โดยดำเนินการในลักษณะของกรรมการคล้ายคลึงกับ DUE และเริ่มจากการเฝ้าระวังเป็นบางกลุ่มที่กำหนดร่วมกัน โดยอาจพิจารณาจากการศึกษา ข้อมูลย้อนกลับหรือกลุ่มที่สนใจ กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม คำนึงถึงความสำคัญทางคลินิกและโอกาสที่เป็นไปได้ในแต่ละราย

5. ในการตรวจรับยา ควรพิจารณาใบวิเคราะห์ยาทุกรุ่นที่มีการตรวจรับเพื่อเป็นการประกันคุณภาพ

มาตรฐานที่ 4 การกระจาย และการควบคุมยา

เภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบยาด้วยตนเองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 50 (4 เดือน) มีการกำหนดมาตรฐานการส่งมอบยา (Prime Question ) เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน เช่นการกำหนดขั้นตอนในการส่งมอบยา คำถามหลักที่ใช้ในการส่งมอบ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพ มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการให้บริการโดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกรายการ พบการเก็บตัวบ่งชี้เช่น Predispensing error มีการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการประเปลี่ยนกระบวนการ ระบบการกระจายยาตามรายใบสั่ง ร่วมกับการสำรองยาบนหอผู้ป่วย มีระบบที่เอื้อให้เภสัชกรเห็นคำสั่งใช้ยาผู้ป่วยโดยตรงทุกราย การจ่ายยาเภสัชกรสามารถตรวจสอบคำสั่งได้จากสำเนาคำสั่งแพทย์ การจ่ายยาฉีกได้ดำเนินการในระบบจ่ายรายวันครอบคลุมทุกหอผู้ป่วย

สำหรับการสำรองยาบนหอผู้ป่วยพบว่ามีการกำหนดรายการที่ชัดเจนและมูลค่า จากการสุ่มตรวจสอบหอผู้ป่วยศัลยกรรมพบว่ามีการสำรองเฉพาะยาฉีดประมาณ 15 รายการ และแต่ละรายการมีปริมาณตั้งแต่ 1-5 หน่วย พบรูปธรรมของการดำเนินการเพื่อให้หยิบยาก่อนหลัง และพบการควบคุมป้องกันยาที่จำเป็นต้องเก็บพ้นแสงทั้งในส่วนของจุดบริการและในคลังยาใหญ่ มีการกำหนดยาฉุกเฉินที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในหน่วยบริการผู้ป่วยทุกหน่วยของกองเภสัชกรรม

การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งคือการจัดซื้อยาที่อยู่ในลักษณะของแผงบรรจุสำเร็จเป็นส่วนมาก ทั้งนี้มีผลให้ยาคงสภาพเพิ่มขึ้นภายหลังการส่งมอบแก่ผู้รับบริการ

พบรูปธรรมการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับการกระจายยาเคมีบำบัดในระบบที่แตกต่างจากยาทั่วไปตลอดจนแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาการตกแตก

โอกาสพัฒนา

  1. การดำเนินการประสานให้หอผู้ป่วยส่งสำเนาคำสั่งใช้ยาครบทุกราย
  2. แพทย์ควรเป็นผู้เขียนรายการยาเสพติด และจำนวนในใบ ยส. 5 ด้วยตนเอง การแก้ไขจำนวนควรเป็นแพทย์ เนื่องจากเป็นยากลุ่มสำคัญ
  3. ดำเนินการกำหนดกลุ่มยาสำคัญที่เภสัชกรควรเป็นผู้ส่งมอบเอง เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนและคำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นสำคัญเพื่อความชัดเจนในการส่งมอบยาระหว่างเภสัชกรและเจ้าหน้าที่
  4. ระบบการควบคุมยาที่มีการตัดยกรุ่นการจัดหามาไว้ที่แผนกบริการผู้ป่วยใน เช่น ephredine inj. ยาเสพติดให้โทษประเภทที่สอง ควรดำเนินการให้สามารถอ้างอิงหลักฐานการรับเข้า จ่ายออกที่ชัดเจน เช่นเลขที่ใบเบิก รุ่นผลิต
  5. แนวทางการปฏิบัติในการตัดบัตรควบคุมคลังยา ให้มีการดำเนินการทุกครั้งทั้งในส่วนที่เป็นบัญชีและบัตรควบคุม เช่นการยืมยา การส่งคืน การรับคืน โดยอ้างอิงเลขที่หนังสือตามระบบดำเนินการ เพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของคลังเวชภัณฑ์
  6. ประสารเพื่อให้เกิดการรายงานข้อมูลเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะสถานะคงคลังของยาทุกรายการทุกเดือน
  7. พิจารณาปริมาณสำรองยาในจุดบริการที่มีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะเป็นเรืองที่ดีแต่พบว่าส่งผลให้กระทบต่อแรงงานที่ต้องดำเนินการบ่อยเบิกจ่าย ความไม่ทันต่อการบริการ
  8. พิจารณาการให้เภสัชกรศึกษารายกลุ่มในคลินิกผู้ป่วยเฉพาะโรค และในอนาคตหากความขาดแคลนอัตราเภสัชกรลดลง อาจพิจารณาการให้คำปรึกษาผู้ป่วยเฉพาะรายตามเกณฑ์ที่กำหนด

มาตรฐานที่ 5 อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก

กองเภสัชกรรมมีสภาพโดยรวมทั่วไปที่สะอาด และเป็นระเบียบ สถานที่เก็บรักษา เป็นสัดส่วนและมีการแยกเก็บยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้านการควบคุมส่วนหนึ่งร่วมกับระบบเดิม พบการจัดเก็บเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหากเกิดอุบัติภัย รวมถึงการซ้อมแผนปฏิบัติ มีการแยกห้องยาผู้ป่วยนอก และใน

โอกาสพัฒนา

  1. ห้องยาในมีทางเข้าออกเพียงทางเดียวและจำเป็นจะต้องผ่านทะลุห้องยาผู้ป่วยนอก ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้าย หรือเมื่อเกิดสาธารณภัย
  2. เคาน์เตอร์ที่ให้บริการเบิกจ่ายยาสำหรับหอผู้ป่วย มีระดับความสูงที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานประจำ

สรุป

กองเภสัชกรรมมีการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานที่สามารถสัมผัสได้ เภสัชกรทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของโรงพยาบาล ระบบบริหารจัดการตามที่สัมผัสและรับรู้ได้พยายามมุ่งเน้นการบวนการคุณภาพ พบการดำเนินการที่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพในระดับที่น่าพึงพอใจ และที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้เช่นการกำหนดคำถามหลักเพื่อการส่งมอบ ระบบการกระจายยาจากสำเนา doctor’s order sheet การตรวจรับเวชภัณฑ์ร่วมกับการพิจารณาใบวิเคราะห์คุณภาพยา การกระจายยาฉีดแบบรายวันครอบคลุมทุกหอผู้ป่วย การกำหนดรายการยาฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวัง ความจำกัดที่พบเป็นเรื่องอัตราเภสัชกรซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมคุณภาพ โอกาสพัฒนาที่สำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ติดตามการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ การดำเนินการในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้น และความสม่ำเสมอ

1