เข่า ศึกหนักของส่วนรับน้ำหนัก
ในแต่ละวันคนเราเคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหวในหลายทิศทาง แต่อวัยวะส่วนที่รับศึกหนักที่สุดคือ " เข่า " ข้อต่อของกระดูกรับน้ำหนักช่วงล่าง ที่ต้องแบกรับน้ำหนักของอวัยวะทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะเรื่อยลงมาจนถึงโคนขา
เข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายมีหน้าที่หลักคือ งอและเหยียดตรงหรือหมุนได้เล็กน้อย แต่หน้าที่ที่สำคัญคือ การรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้นั่นเอง บางขณะของการเคลื่อนไหวเข่าต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ เช่นขณะที่ก้าวขึ้นบันได เข่าต้องรับน้ำหนักของตัวเราเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ขณะที่ลุกขึ้นยืน น้ำหนักตัวทั้งหมดจะทิ้งมาที่ข้อเข่า เวลากระโดด วิ่ง ข้อเข่าจะถูกกระแทกด้วยน้ำหนักตัวส่วนบนทั้งหมดทุกครั้ง
ดังนั้นจะทำอะไรก็ให้นึกถึงเข่าเอาไว้บ้าง ว่าอาจได้รับบาดเจ็บเอาง่าย ๆ
สัญญาณอันตรายในข้อเข่า
เจ็บปวด คืออาการที่พบบ่อยที่สุดกับข้อเข่า เริ่มตั้งแต่ปวดแบบเมื่อยๆ พอทน ปวดเป็นพัก ๆ หรือในรายที่ได้รับบาดเจ็บก็จะปวดแบบเฉียบพลันได้เหมือนกัน การปวดเข่ามักพบในคนวัยกลางคนเรื่อยไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในคนที่มีอิริยาบทประจำวันซ้ำๆ เช่น นั่งทั้งวัน ยืนทั้งวัน นั่งพับเพียบนานๆ นั่งสมาธินานๆ ท่าทางเหล่านี้ข้อเข่าจะถูกกดทับ และเอ็นกับกล้ามเนื้อจะถูกยึดมาก ทำให้ปวดได้ง่าย และอาจเรื้อรังได้ด้วย ยิ่งในกลุ่มของคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย ยิ่งพบอาการเช่นนี้ในวัยที่สูงขึ้นมากที่สุด
ฝืด หรือ ยึด อาจเป็นเฉพาะในบางช่วง เช่น นั่งนานๆ แล้วลุก หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า ถ้าคุณเคยมีอาการอย่างนี้ละก็ แสดงว่า ข้อเข่าเริ่มมีปัญหาเสียแล้ว ต้องหันมาสนใจและค้นหาสาเหตุให้พบ รวมทั้งวิธีผ่อนคลายที่ดีที่สุด คือการบีบนวด และดัดเหยียดเข่าให้ตรง เพื่อยึดกล้ามเนื้อด้านหลังเข่า และควรฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
บวม ถ้าบวมทันที หลังจากได้รับบาดเจ็บ สาเหตุมักมาจากเลือดออกในข้อ แต่ถ้าเข่าบวมอย่างช้า ๆ มักเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติขององค์ประกอบภายใน
เข่าอ่อน มีหลายสาเหตุ ที่พบมากเกิดขึ้นเพราะบางองค์ประกอบภายในข้อขัดขวางการงอหรือเหยียดเข่าในทันที เช่น กระดูกอ่อนหรือเส้นเอ็นฉีกขาด เศษกระดูกหลุดอยู่ในข้อ ฯลฯ
เสื่อม มักพบในหญิงวัยกลางคน ร่วมกับปัจจัยเสริม เช่นหกล้ม เดินทางไกล นั่งคุกเข่านานๆ ยืนนาน เหล่านี้เป็นต้น อาการที่ฟ้องให้รู้ว่าเข่าของคุณอาจเสื่อมก็คือ มักปวดโดยเข่าไม่บวม โดยเฉพาะเวลานั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นขณะก้าวขึ้นลงบันไดหรือเดินระยะไกลๆ ต่อมาเดินในระยะใกล้ก็ปวด ลุกจากเก้าอี้ก็ปวด เข่าอ่อน หกล้มง่าย ในรายที่เรื้อรังอาจมีน้ำคั่ง เข่าอุ่น หรืออาจมีรูปเข่าผิดไปจากปกติได้
ในกรณีนี้ ทางออกคือ พิจารณาว่าตัวเองน้ำหนักมากไปไหม หากอ้วนให้พยายามลดน้ำหนัก ประคบร้อนราว 10- 15 นาที เสี่ยงการนั่งยองๆ ใช้ไม้เท้าช่วยขณะเดิน เลี่ยงการนั่งพับเพียบ ห้ามนวด ถู หรือดัดเข่าด้วยแรงที่หนักเกินไป ขณะเดียวกันให้หาวิธีบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงขึ้นบ้าง ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะแนะนำได้
ทำอย่างไรไม่ให้กำเริบ
ถ้ายังไม่ปวด หรือแม้กระทั่งปวดจนทนทุเลาลงแล้ว ควรใช้วิธีเหล่านี้สำหรับการป้องกันอาการปวดเข่ากำเริบ
1. พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดยควบคุมการบริโภคไขมัน แ้ง และโปรตีน สร้างอุปนิสัยในการรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนเหมาะสม และอย่าเอาเรื่องอ้วนหรือไม่อ้วนมาวิตกกังวลซ้ำเข้าไป
2. มีใจสงสาร อย่าแสดงฤทธานุภาพของตัวเองด้วยการยกน้ำหนักเกินกำลัง เล่นกีฬาอย่างหักโหม นั่งพับเพียบบำเพ็ญเพียรอย่างยาวนาน ฯลฯ พึงสังวรไว้ว่า เข่าเท่านั้นที่รับศึกหนักตามลำพังจากอาการ " เกินพอดี " ของคุณสงสารมันซะบ้าง
3. จัดกิจวัตรใหม่ ในแต่ละวัน รู้จักออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อเข่าเสียบ้าง อย่ามัวแต่นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น หรือคิดแต่จะกิน จะนอน จะทำงาน เพียงอย่างเดียว
4. พบแพทย์แต่เนิ่นๆ หากมีอาการปวดเข่าแบบผิดสังเกต ควรไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อขอคำปรึกษา และลงมือรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ปล่อยนานไป การฟื้นฟูให้กลับมาสู่ภาวะปกติยิ่งทำได้ยาก
( จากนิตยสาร ชีวจิต )