การเลี้ยงผึ้ง
ประวัติการเลี้ยงผึ้ง

จากศิลาจารึกในปิรามิดพบว่า อียิปต์โบราณ เป็นชนเผ่าแรกของโลกที่รู้จัก การนำผึ้งมาเลี้ยงในไหดิน และย้ายรังผึ้งไปยัง แหล่งที่มีดอกไม้อุดมสมบูรณ์ ได้มีการบันทึกมานานกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เกี่ยวกับการขนย้ายรังผึ้ง โดยใช้ลา
นอกจากนั้น มีบันทึกการขนย้ายผึ้งในทางน้ำ โดยใช้เรือจากอียิปต์ ล่องไปตามแม่น้ำไนล์ ไปยังอียิปต์บน ในฤดูที่ดอกไม้กำลังบาน และมีการนำน้ำผึ้งมาขาย เมื่อมีน้ำผึ้งเต็มรัง
เมื่อกรีกและโรมันเรืองอำนาจ ได้มีบันทึกเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งมากขึ้น ตลอดจน มีการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ของผึ้งเป็นครั้งแรก โดยอริสโตเติล (Aristotle พ.ศ. ๑๕๙-๒๒๑) ปราชญ์ชาวกรีก ผู้ได้รับนามว่าเป็นบิดาของวิชาสัตววิทยา ของโลก
ในยุโรป การเลี้ยงผึ้งเข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจาก กรีกและโรมันโบราณ ที่ดัดแปลงรังผึ้งที่เลี้ยงในไหดิน มาเป็นรังผึ้งรูปโดม ที่ใช้เชือกพันกันเป็นวง ๆ รังแบบนี้ยังมีใช้อยู่จนทุกวันนี้ และถือกันว่าเป็นศิลปสัญลักษณ์ ของรังผึ้งที่ใช้กันทั่วโลก
การเลี้ยงผึ้งในประเทศจีน ตามประวัติศาสตร์พบว่า ได้เริ่มเลี้ยงผึ้งโพรง (Apis cerana) ก่อนเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (A. mellifera) จากยุโรป กล่าวได้ว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการเลี้ยงผึ้ง ในทวีปเอเซีย การทำรังผึ้งในประเทศจีนโบราณนั้น ได้นำต้นไม้ที่มีโพรงอยู่ภายใน มาตัดออกเป็นท่อน ๆ และแขวนให้ผึ้งโพรงทำรังอยู่ตามบ้าน การย้ายรังผึ้งเป็นจำนวนมากของจีน ได้ใช้การขนส่งทางน้ำ เช่นเดียวกับอียิปต์โบราณ
การเลี้ยงผึ้ง
การเลี้ยงผึ้งในสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นประเทศแรก ที่ได้เริ่มบุกเบิกอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น นับตั้งแต่ท่านบาดหลวงแลงสตรอท (พ.ศ. ๒๓๙๔) ได้คิดเลี้ยงผึ้ง ในรังมาตรฐาน (กว้าง ๔๑๓ มม. ยาว ๕๐๘ มม. สูง ๒๓๘ มม.) และบรรจุคอนผึ้ง (frame) ได้ ๑๐ อัน ในหนึ่งหีบ แต่ละคอน วางชิดกันมีช่องว่างระหว่างรวงรังประมาณ ๙.๕๒๔ มม. ที่เรียกว่า “beespace” คือ ช่องว่างที่ผึ้งเดินไปมาระหว่างรวงรังและ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยเหตุนี้ ในสหรัฐอเมริกาได้ให้เกียรติบาดหลวง แลงสตรอท เป็นบิดาวิชาการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ และเรียกชื่อหีบเลี้ยงผึ้งที่ใช้ในทุกวันนี้ว่า “หีบแบบแลงสตรอท”
การเลี้ยงผึ้งโพรงของประเทศไทย จากการสอบถามที่เกาะสมุย ที่นิยมเลี้ยงผึ้งโพรงมากที่สุด ได้ให้ข้อมูลที่น่าเขื่อถือได้ว่า ชาวเกาะสมุยรู้จักเลี้ยงผึ้งมานาน นับร้อยปีมาแล้ว ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุ ๗๐ กว่าปี ได้ยืนยันว่า ในหมู่บ้านของชาวเหนือ ได้รู้จักการจับผึ้งโพรงมาเลี้ยง ตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้ว ดังนั้น การเลี้ยงผึ้งโพรงในภาคเหนือของประเทศไทย คงเป็นความรู้สืบทอดกันมากว่าร้อยปี เช่นกัน
การเลี้ยงผึ้งในปัจจุบันของประเทศไทย แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ พวกแรกที่เลี้ยงผึ้งไทยหรือผึ้งโพรง พวกที่สองคือ พวกที่เลี้ยงผึ้งพันธุ์หรือผึ้งฝรั่งซึ่งเริ่มนำเข้ามาเลี้ยงกันจริงจังในทศวรรษนี้เอง แต่ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเลี้ยงผึ้ง ที่จังหวัดจันทบุรี (พ.ศ. ๒๕๒๗) และที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการยืนยันว่ามีผึ้งเลี้ยงอยู่ถึง ๓๐,๐๐๐ รัง ในประเทศไทย
การวิจัยการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย
ข้อมูลเรื่อง การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในประเทศไทย สรุปจากการสอบถามศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชนาญวัตร เทวกุล ได้ว่า สถานที่เลี้ยงผึ้งครั้งแรกใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นอยู่ที่ตึกขาว (ตึกภาควิชาชีววิทยา ๑ ในปัจจุบัน) โดยศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนา ได้นำผึ้งจากต่างประเทศมาเลี้ยง ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่มีรายงานทางวิชาการ ต่อมาภายหลัง เมื่อได้สถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น (พ.ศ. ๒๔๘๖) ศาสตราจารย์หลวงสมานวนกิจ (๒๔๙๖) ได้บันทึกผลการทดลอง เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ให้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นครั้งแรก
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งหน่วยวิจัยทางกีฏวิทยาขึ้น มีโครงการศึกษาชีววิทยา และการขยายพันธุ์ของผึ้งพันธุ์ และผึ้งโพรงในประเทศไทย ตลอดจน มีการเปิดสอนวิชาการเลี้ยงผึ้ง ในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตวิทยาลัย
งานวิจัยการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในเกือบทุกมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ริเริ่มโครงการเลี้ยงผึ้งโพรงคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุธรร อารีกุล ตลอดจน การวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงผึ้ง โครงการหลวงในภาคเหนือ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการตั้งหน่วยผึ้งขึ้นในภาควิชากีฏวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อวิจัยการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ และผึ้งโพรงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังมีสถาบันและหน่วยงานราชการที่ทำการวิจัย และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่ลาดกระบัง กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีสำนักงานส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งทุกภาค ในประเทศไทย
การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย

[<< Back][mainpage]


ที่มา

หลักการเลี้ยงและขยายพันธ์ผึ้งในประเทศไทย
โดย สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, ยงยุทธ ไวคกุล และแสนนัด หงษ์ทรงเกียรติ
จัดพิมพ์โดย: สมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
1