พฤติกรรมผึ้งโพรงไทย
ที่นำมาเลี้ยงเพื่อการศึกษา เป็นดังนี้
๑. ลักษณะของหลอดรัง
หลังจากใส่คอน ๑ คืนแล้ว
ผึ้งงานจะช่วยกันเชื่อมรังที่ชำรุด
ให้ติดกับคอน ต่อมา ผึ่งงานก็จะเริ่มออกหาน้ำหวานและเกสร
โดยจะเก็บน้ำหวานในตอนบนของแผ่นรัง
ถัดลงมาจะเป็นเกสรดอกไม้ ต่อจากนั้น
จะเป็นไข่หรือตัวอ่อนของผึ้ง
ในแต่ละแผ่นรัง จะเก็บอาหารและตัวอ่อนในลักษณะเดียวกันนี้ทุก
ๆ แผ่นรัง ซึ่งเป็นข้อเสียต่อการเก็บผลผลิตของผึ้ง
เพราะการเก็บโดยมีตัวอ่อนของผึ้ง
นอกจากจะได้น้ำผึ้งที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว
ยังเป็นการทำลายประชากรของผึ้งด้วย
ได้มีการทดลอง นำแผ่นรังเทียมของผึ้งพันธุ์
มาใส่คอนให้ผึ้งดึงหลอด ในช่วงแรกผึ้งโพรงไม่ยอมรับ
จนกระทั่งผ่านไปประมาณ ๒๐ วัน จึงเริ่มดึงหลอดรวง
ผลที่ได้ออกมาก็คือ ผึ้งนางพญาไม่ยอมวางไข่
เพราะขนาดของหลอดรวงที่ผึ้งงานดึงนั้น
มีขนาดโตกว่าหลอดรวงธรรมชาติ ดังนั้น
หลอดรวงที่ผึ้งงานดึงในแผ่นรังเทียม
จึงเป็นที่เก็บอาหารของผึ้งโพรงเท่านั้น
จึงเป็นผลดีในการเก็บน้ำหวานจากรวงผึ้ง
๒. พฤติกรรมของผึ้งนางพญา
ผึ้งนางพญาจะวางไข่ในหลอดรัง
ที่สะอาดพอ และก่อนที่นางพญาจะวางไข่
จะตรวจดูว่า หลอดนั้นเป็นหลอดของผึ้งประเภทใด
เช่น ถ้าหลอดเล็กก็จะไข่ออกมาเป็นผึ้งงาน
ถ้าหากหลอดใหญ่ ก็จะไข่ออกมาเป็นผึ้งตัวผู้
ในการวางไข่จะใช้เวลาประมาณ ๕ วินาที
ต่อหนึ่งหลอด ผึ้งนางพญาจะไม่วางไข่ในหลอดที่มีน้ำหวานหรือเกสร
๓. พฤติกรรมของผึ้งงาน
ผึ้งงาน จะเริ่มออกหาอาหาร
ตั้งแต่เช้ามืดจนตกค่ำ เมื่อได้อาหารแล้ว
จะทำอาการบอกแหล่งอาหาร โดยการหมุนตัวเต้นเป็นวงรอบ
ๆ ไปมา การเก็บน้ำหวานเมื่อบ่มได้ที่
ก็จะปิดหลอดรวง ส่วนการเก็บเกสรนั้น
จะไม่มีการปิดหลอดรวง ผึ้งงานขยันมาก
ถ้าหากกลางคืนมีแสงไฟงานจะออกจากรังบินไปที่แสงไฟ
บางครั้ง อาจจะตายเพราะศัตรูจับกินเป็นอาหาร
ในกรณีที่ ผึ้งนางพญาตายหรือสูญหายไปจากรัง
ผึ้งงานจะช่วยกันสร้างหลอดนางพญา
แล้วจะนำตัวหนอนที่มีอายุไม่มาก
มาเลี้ยงในหลอดนางพญา จนตัวหนอนนั้นได้กลายเป็นผึ้งนางพญา
แทนตัวเดิม ในการสร้างนางพญานั้น
ผึ้งงานอาจจะสร้างหลายหลอดพร้อมกัน
แต่นางพญาตัวแรกที่เกิดก่อนเท่านั้น
ที่จะมีชีวิตอยู่ ส่วนนางพญาที่ยังไม่เกิดจะถูกกำจัดทั้งหมด
ในกรณีรังผึ้งที่ขาดนางพญานาน
ๆ จะทำให้จำนวนผึ้งลดลง ทำให้รังอ่อนแอ
การแก้ปัญหาทำโดยการรวมรัง กับรังที่มีนางพญา
โดยใช้น้ำเชื่อมฉีดให้ทั่วทั้งสองรัง
เพื่อไม่ให้ผึ้งทำร้ายกัน
๔. การขยายรัง
การขยายรังผึ้งมีประโยชน์มากในการเลี้ยงผึ้ง
เพราะจะทำให้ได้ จำนวนรังเพิ่มขึ้น
โดยธรรมชาติถ้าหาก ประชากรในรังผึ้งนั้นมีมาก
จนเกิดการคับแคบ ผึ้งจะทำการแยกรัง
เพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ต่อไป ดังนั้น
ในการเลี้ยงผึ้งในกล่องเลี้ยงผึ้งนั้น
เมื่อมีประชากรผึ้งมาก มีจำนวนคอนเต็มกล่องเลี้ยง
ผึ้งงานจะสร้างหลอดนางพญาขึ้นมา
เพื่อการแยกรัง เมื่อเราพบก็นำกล่องเลี้ยงใหม่มาอีก
๑ กล่อง แล้วนำคอนที่มีหลอดนางพญา
แยกไปใส่ในกล่องเลี้ยงใบใหม่ พร้อมกับ
แบ่งประชากรผึ้งและคอนที่มีอยู่ให้เท่า
ๆ กัน แล้วนำกล่องเลี้ยงใบใหม่
ไปตั้งไว้ให้ห่างจากกล่องเลี้ยงรังเดิม
เพื่อป้องกันมิให้ผึ้งบินกลับรังเดิม
จากนั้น รังใหม่ก็จะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่
มาควบคุมภายในรังต่อไป
[<<
honey][mainpage]
ที่มา: หลักการเลี้ยงและขยายพันธ์ผึ้งในประเทศไทย
โดย สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, ยงยุทธ ไวคกุล
และแสนนัด หงษ์ทรงเกียรติ
จัดพิมพ์โดย: สมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
| |