หมดสติ (Coma)
อาการหมดสติ ถือเป็นภาวะร้ายแรง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที มักจะตายได้รวดเร็ว มีสาเหตุได้มากมาย เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ ,จมน้ำ ,ไฟฟ้าช็อต ,กินยาพิษ, แพ้ยา ,ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ,โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ,สมองอักเสบ ,มาลาเรียขึ้นสมอง,เส้นเลือดฝอยในสมองแตก,ตับแข็ง ,เบาหวาน,ภาวะไตวาย เป็นต้น ผู้ป่วยจึงมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก่อนที่จะมีอาการหมดสติ
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติ และหมดความรู้สึกทุกอย่างปลุกอย่างไรก็ไม่ยอมตื่น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ(เช่น หอบ หายใจขัด) ความดันโลหิตอาจจะสูง อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา ปากเบี้ยว ตัวเกร็ง ชักกระตุก คอแข็ง หรือมีไข้สูง ถ้าเป็นรุนแรง อาจหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยที่หมดสติทุกราย ควรตรวจดูลูกตา ซึ่งกระทำได้โดย
  1. ใช้ผ้าก๊อชหรือสำลีเขี่ยที่ขนตาหรือลูกตาขาวผู้ป่วยที่หมดสติจะไม่กระพริบตา
  2. ดูลักษณะและขนาดของรูม่านตาทั้ง 2 ข้าง
การปฐมพยาบาล

ก.ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอดด้วยการเป่าปากทันที ซึ่งสามารถกระทำได้ ดังนี้
  1. จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็งแล้วเปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
  2. ใช้นิ้วมือล้วงเอาเศษอาหาร เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
  3. จับศีรษะผู้ป่วยหงายไปข้างหลัง โดยใช้มือข้างหนึ่งรองอยู่ใต้คอผู้ป่วยและยกคอขึ้น (หรือใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนไหล่ให้สูงขึ้น) แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าผากผู้ป่วยและกดลงแรงๆ ให้คางของผู้ป่วยยกขึ้น
  4. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่วางอยู่บนหน้าผากผู้ป่วย บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น สูดหายใจเข้าแรงๆ แล้วใช้ปากประกบปากของผู้ป่วย(จะใช้ผ้าบางๆ รองหรือไม่ก็ได้) พร้อมกับเป่าลมหายใจเข้าแรงๆ เสร็จแล้วยกปากขึ้น สูดลมหายใจเข้าแรงๆ แล้วเป่าลมหายใจเข้าปากผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง ในระยะแรกให้ทำการเป่าปากผู้ป่วยติดๆ กัน 4 ครั้ง ต่อไปเป่าประมาณนาทีละ 12 ครั้ง (ทุก ๆ 5 วินาที) สำหรับทารกและเด็กเล็กอาจใช้ปากประกบคร่อมปากและจมูกเด็กและเปาลมให้แรงพอให้หน้าอกขยาย(อย่าให้แรงเกินไป) ประมาณนาทีละ 20 ครั้ง(ทุก ๆ 3 วินาที) ถ้าทำการเป่าปากได้ผล จะสังเกตห็นหน้าอกของผู้ป่วยขยายขึ้น และแฟบลงตามจังหวะ ถ้าหน้าอกผู้ป่วยไม่ขยาย หรือสงสัยลมจะไม่เข้าปอดผู้ป่วย ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากผู้ป่วย แล้วจับขากรรไกรล่างให้แน่น พร้อมกับงัดขึ้นแรงๆ ให้ปากอ้ากว้าง แล้วทำการเป่าปากตามวิธีดังกล่าว ให้ทำการผายปอดไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือจนกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล
  5. ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรหรือฟังเสียงหัวใจไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจทันที ประมาณวินาทีละ 1 ครั้ง (60 ครั้ง ต่อนาที) ถ้ามีผู้ทำการช่วยเหลือเพียงคนเดียว ให้นวดหัวใจ 5 ครั้ง แล้วเป่าปา 1 ครั้ง สลับกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้คนหนึ่งทำการนวดหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 1 ครั้ง (โดยอีกคนหนึ่ง)
ข.ในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจได้เอง ให้ทำการปฐมพยาบาลดังนี้.-
  1. จับผู้ป่วยนอนหงาย และจับศีรษะให้หงายขึ้นมากๆ และใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
  2. เปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวมๆ
  3. ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
  4. ถ้าสงสัยผู้ป่วยมีกระดูกหัก ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสงสัยกระดูกคอหรือกระดูกสันหลังหัก
  5. ถ้าแน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก ให้จัดท่าผู้ป่วยอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) โดยจับให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้างและให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของร่ากายเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก และป้องกันมิให้สำลักเอาเศษอาหารหรือเสมหะเข้าไปในปอด เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
  6. ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
  7. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลลทันที ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำควรให้น้ำเกลือ (5 % D/NSS) ไประหว่างทางด้วยและควรติดตามผู้ป่วยไปด้วย เพื่อทำการช่วยผายปอดถ้าเกิดหยุดหายใจระหว่างทาง
ข้อแนะนำ ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีสาเหตุจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น มีประวัติอดข้าว ดื่มเหล้าจัด หรือใช้ยาเบาหวาน อาจให้การรักษาเบื้องตันด้วยการฉีดกลูโคสชนิด 50 % จำนวน 50 มล.เข้าทางหลอดเลือดดำ อาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติภายใน 15 - 30 นาที ถ้าไม่ได้ผล ควรส่งโรงพยาบาลทันที
กลับสู่หน้าหลัก I ระบบทางเดินหายใจ I ระบบทางเดินอาหาร I อุบัติเหตุ สารพิษ I
1