โรคตามระบบ
อุบัติเหตุ สารพิษ
41. กระดูกหัก
42. กระดูกซี่โครงหัก
43. ไฟฟ้าช็อต
44. กินสารพิษหรือยาพิษ
45. บาดแผลไฟใหม้ น้ำร้อนลวก
46. จมน้ำ
47. หมดสติ
กลับสู่หน้าหลัก I
การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I
ระบบทางเดินอาหาร I
ระบบทางเดินหายใจ
กระดูกหัก
(Fracture/Broken bones)
กระดูกหัก
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ส่วนมากมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม รถคว่ำ รถชน เป็นต้น ในผู้สูงอายุ กระดูกเสื่อม ผุ และเปราะ จึงมีโอกาสหักง่าย เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ที่พบได้บ่อยคือ กระดูกต้นขาหรือตะโพกหัก กระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆได้แก่
กระดูกหักชนิดธรรมดา
(Simple fracture/Closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียวไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกนอกผิวหนัง
กระดูกหักชนิดซับซ้อนหรือมีบาดแผล
(Compound fracture/Open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกนอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง อาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้
อาการ
บริเวณที่หักมีลักษณะบวม เขียวช้ำ เจ็บปวดซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูก บางคนอาจรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นลำบาก (ถ้าเคลื่อนไหวได้ตามปกติก็อาจหักได้เช่นกัน) หรือมีการเคลื่อนไหวผิดรูปไป แขนขาส่วนที่หัก อาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่าง เช่น โก่งงอ หรือสั้นกว่าข้างที่ดี บางครั้งถ้าลองจับกระดูกบริเวณนั้นดู อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ แต่กระดูกหักบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีอาการบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงก็ได้
อาการแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้ ถ้าเป็นกระดูกชนิดซับซ้อน อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีกขาด ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจมีการติดเชื้อรุนแรง จนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ บางคนอาจติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็นเยื่อกระดูกอักเสบเรื้อรัง (Chonic osteomyelitis)
การรักษา
ควรให้การปฐมพยาบาล เช่น ห้ามเลือด ใส่เฝือกหรือดามกระดูกส่วนที่หักไว้ ถ้าช็อกให้น้ำเกลือ แล้วส่งโรงพยาบาล ควรเอกซเรย์ดูลักษณะการหักของกระดูก แล้วให้การรักษาโดยพยายามดึงกระดูกให้เข้าที่ (ถ้าจำเป็นอาจต้องดมยาให้ผู้ป่วยสลบ) แล้วใส่เฝือกปูนพลาสเตอร์ไว้ ถ้ากระดูกต้นขาหัก บางครั้งอาจต้องให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงแล้วใช้น้ำหนักถ่วงดึงให้กระดูกเข้าที่ ผู้ป่วยอาจต้องนอนนิ่งๆ อยู่เป็นสัปดาห์ ๆ ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าดัด ใช้เหล็กดามกระดูกไว้ ถ้าหากกระดูกหักแหลกละเอียด หรือมีบาดแผลเหวอะหวะ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยเสียก่อน เมื่อแผลหายแล้วจึงค่อยให้ผู้ป่วยใส่แขนขาเทียม ซึ่งจะช่วยให้เดินและทำงานได้
ข้อแนะนำ
กระดูกที่หักสามารถต่อกันได้เองโดยธรรมชาติการรักษาจึงอยู่ที่การดึงกระดูกให้เข้าที่ และตรึง(ดามหรือเข้าเฝือก) ไว้ อย่าให้เลื่อนจากแนวปกติ รอให้กระดูกต่อกันเองจนสนิท ซึ่งอาจกินเวลา 1 - 3 เดือนขึ้นอยู่กับอายุ(เด็กหายเร็วกว่าผู้ใหญ่) ตำแหน่งที่หัก(แขนหายเร็วกว่าขา) และลักษณะของกระดูกหัก
วิธีรักษากระดูกหักของแพทย์ มีได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกหัก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดา มักจะต้องดึงกระดูกเข้าที่ แล้วใส่เฝือกปูน แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะ จนกว่าจะหายสนิท จึงถอดเฝือกออก ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดซับซ้อน การรักษาอาจยุ่งยากขึ้น อาจต้องผ่าตัด มีผู้ป่วยเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น ที่อาจต้องพิจารณาให้ตัดแขนหรือขาส่วนนั้นทิ้ง เนื่องจากกระดูกหักอย่างรุนแรง ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ดังนั้นจึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ
ในปัจจุบัน ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังนิยมไปรักษากับหมอรักษากระดูกแผนโบราณ(มีทั้งหมอพระและหมอชาวบ้าน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด)ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดธรรมดาและไม่รุนแรง ก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นชนิดรุนแรง กระดูกอาจต่อกันได้ แต่อาจทำให้แขนขาโก่งหรือใช้การไม่ได้ ซึ่งต้องให้แพทย์แก้ไขภายหลัง ดังนั้นจึงควรหาทางส่งเสริมให้ประชาชนและหมอรักษากระดูกแผนโบราณ มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษากระดูกของแพทย์แผนปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ชาวบ้านมักมีความเชื่อและความกลัวอย่างผิดๆเกี่ยวกับการรักษากระดูกหักของแพทย์ เช่น
เชื่อว่าใส่เฝือกปูนหนาๆ อาจทำให้เนื้อเน่าอยู่ภายในเฝือก
รู้สึกว่าการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้น้ำหนักถ่วงกระดูกให้เข้าที่เป็นเรื่องที่น่าทรมาน หรือไม่ก็คิดว่าแพทย์ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น
กลัวที่จะถูกตัดแขนตัดขา เป็นต้น ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาควรใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุยชี้แจงผู้ป่วยเข้าใจในวิธีการรักษาของแทพย์
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก
ถ้ามีเลือดออก ควรทำการห้ามเลือด ดังนี้
ถ้าบาดแผลเล็ก ควรให้ผ้าสะอาดพับทบหนาๆ หลายชั้น วางบนปากแผล แล้วใช้นิ้วหรืออุ้งมือกดห้ามเลือด หรือใช้ผ้าพันรัดให้แน่น
ถ้าบาดแผลใหญ่ และเลือดไหลรุนแรง ควรใช้ผ้า เชือกหรือสารยางรัดเหนือบาดแผลให้แน่น เรียกว่า การัดทูร์นิเคต์ ควรคลายเชือกทุกๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ 0.5 - 1 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดก็รัดกระชับเข้าไปใหม่
ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรทำการดามกระดูกส่วนที่หัก โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง กระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลายๆ ชั้นทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หักโดยให้ปลายทั้ง 2 ครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือให้ใช้ผ้าคล้องคอ ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนาๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้งสองข้างแล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง2 ข้างหลายๆเปราะ
ถ้ากระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผล แล้วใช้เฝือกดาม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกล ควรให้กินยาปฏิชีวินะ เช่น เพนวี ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวด ถ้ามีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือ
กลับสู่หน้าแรก
กระดูกซี่โครงหัก
(Rib fracture)
กระดูกซี่โครงหัก
มักเกิดจากแรงกระแทกถูกบริเวณซี่โครงโดยตรง เช่น ถูกตี ถูกเตะ หกล้มกระแทกถูกพื้นหรือมุมโต๊ะ ถูกรถชน เป็นต้น ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรงและค่อยๆ หายได้เองส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขณะก้มงอ บิดตัว หรือหายใจแรงๆ และเมื่อใช้นิ้วกดถูกเบาๆ จะรู้สึกเจ็บ ถ้ากระดูกหักรุนแรง ทิ่มแทงถูกเนื้อปอด อาจทำให้เกิดภาวะมีลมในช่องหรือปอดทะลุ หรือมีเลือดออกในช่องปอด (Hemothorex) ผู้ป่วยจะมีอาการหอบตัวเขียว ไอออกเป็นฟองเลือดสดๆ หรือช็อก หน้าอกเคาะโปร่ง (ถ้ามีลมในช่องปอด) หรือเคาะทึบ (ถ้ามีเลือดในช่องปอด) ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนัง ทะลุถึงในปอด จะมีลมจากภายนอกผ่านบาดแผลเข้าไปในช่องปอด ทำให้เกิดภาวะมีลมในช่องปอดได้เช่นกัน ถ้ากระดูกซี่โครงหักหลายแห่ง (มักพบในกรณีที่เกิดจากรถชน รถคว่ำ) อาจทำให้เกิด ภาวะอกรวน (Flail chest) จะมีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก และหายใจผิดธรรมดา คือหน้าอกส่วนนั้นจะยุบลงเวลาหายใจเข้า และโป่งขึ้นเวลาหายใจออก ซึ่งตรงกันข้ามกับหน้าอกส่วนที่ปกติ ภาวะอกรวมมักเกิดในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมากกว่าตนหนุ่มสาว
การรักษา
ถ้ามีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก หรือสงสัยมีลมหรือเลือดอยู่ในช่องปอด หรือสงสัยมีภาวะอกรวน ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้ามีแผลที่ผิวหนังทะลุถึงปอด ให้ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อชหนาๆ ปิดอุดรูรั่ว ถ้ามีภาวะอกรวน ให้ใช้มือกดบริเวณนั้นไว้ หรือให้ผู้ป่วยนอนตะแคงให้ส่วนนั้นทับบนหมอน หรือใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าเช็ดตัวพับหลายๆทบ วางบนส่วนนั้น แล้วใช้ผ้าพันไว้ไม่ให้หน้าอกยุบพองอีก
ถ้ากระดูกซี่โครงหักแบบธรรมดา ไม่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว เพียงแต่รู้สึกเจ็บปวด ขณะเคลื่อนไหวหรือหายใจแรงๆ ให้นอนพักพยายามเคลื่อนไหวให้น้อย ที่สุด อย่าหายใจเข้าออกแรงๆ และให้กินยาแก้ปวด ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันหรือเข้าเฝือกรอบหน้าอก อาการเจ็บปวดจะค่อยๆดีขึ้น อาจกินเวลา 1 - 2 สัปดาห์ และอาจกินเวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะอาการปวดจะหายขาด ถ้าอาการปวดไม่ทุเลาขึ้นใน 1 - 2 สัปดาห์ หรือมีอาการหายใจหอบ ไอเป็นเลือดสดๆ ซึดหรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน ควรส่งโรงพยาบาล
กลับสู่หน้าแรก
จมน้ำ
(Drowning)
จมน้ำ
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงมักจะทำให้ตายในเวลาเพียงไม่กี่นาที มักเกิดกับเด็กเล็กและคนทีว่ายน้ำไม่เป็น อาจเกิดจากอุบัติเหตุ (เช่น ตกน้ำ เรือคว้ำ เรือชน) เมาเหล้า โรคลมชัก โรคหัวใจวาย หรืออื่นๆ คนที่จมน้ำมักจะตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจเพราะสำลักน้ำ บางคนอาจตายเนื่องจากภาวะเกร็งของกล่องเสียง (Laryngospasm) ทำให้หายใจไม่ได้สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้คนที่จมน้ำตายภายใน 5 - 10 นาที คนที่จมน้ำถึงแม้จะรอดมาได้ในระยะแรก แต่ก็อาจจะตายเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้ เช่น ปอดอักเสบ , การเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในร่างกายภาวะเลือดเป็นกรด,ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema ) ภาวะปอดไม่ทำงาน (ปอดล้ม ปอดวาย) เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่ต่างกันมากนักทั้งในพวกที่จมน้ำจืด(แม่น้ำ ลำคลอง บ่อ สระน้ำ) และพวกที่จมน้ำทะเล รวมทั้งอาการแสดงและการรักษาก็ไม่ต่างกันมาก ข้อแตกต่าง คือ น้ำจืดจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าเลือด(พลาสมา) ดังนั้น ถ้ามีน้ำจมอยู่ในปอดจำนวนมาก ก็จะถูกดูดซึม เข้ากระแสเลือดทันที ทำให้ปริมาตรของเลือดที่ไหล เวียนเพิ่มจากเดิม (hypervolemia) มีผลทำให้ระดับเกลือแร่ (เช่น โซเดียม โพแทสเซียม)ในเลือดลดลง ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis) ได้อีกด้วย ส่วนน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าเลือด น้ำทะเล ที่สำลักอยู่ในปอดจะถูกดูดซึมน้ำเลือด (พลาสมา) จากกระแสเลือดเข้าไปในปอด ทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ระบบไหลเวียนมีปริมาตรลดลง(hypovelemia) และระดับเกลือแร่ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวายหรือเกิดภาวะช็อกได้ แต่อย่างไรก็ตาม คนที่จมน้ำมักตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจมากกว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่และปริมาตรของเลือด
อาการ
คนที่จมน้ำมักจะมีอาการหมดสติ และหยุดหายใจบางคนหัวใจอาจหยุดเต้น(คลำชีพจรไม่ได้) ร่วมด้วย ถ้าไม่ถึงกับหมดสติ ก็อาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อาเจียน กระวนกระวาย หรือไอมีฟองเลือดเรื่อๆ (ซึ่งแสดงว่ามีภาวะปอดบวมน้ำ) บางคนอาจตรวจพบภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดต่ำ หรือภาวะช็อก
การปฐมพยาบาล
การช่วยเหลือคนที่จมน้ำอย่างถูกต้องก่อนส่งไปโรงพยาบาล มีผลต่อความเป็นความตายของผู้ป่วยมากควรแนะนำวิธีปฐมพยาบาลดังนี้
1. ถ้าผู้ปวยหยุดหายใจ
ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที อย่ามัวเสียเวลาในการพยายามเอาน้ำออกจากปอดของผู้ป่วย(เช่น การจับแบกพาดบ่า) หรือทำการผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันกาลและไม่ได้ผล ถ้าเป็นไปได้ ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น หลังจากพาขึ้นบนเรือหรือพาเข้าที่ตื้นๆ ได้แล้ว เมื่อขึ้นบนฝั่งแล้ว ให้ทำการผายปอดด้วยการเป่าปากต่อไป จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือพาไปส่งถึงโรงพยาบาลแล้ว วิธีการเป่าปากโดยละเอียดจะพูดถึงอยู่ในเรื่องของ "หมดสติ" เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก ถ้าหากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง อาจจับผู้ป่วยนอนคว่ำแล้วใช้มือ 2 ข้างวางอยู้ใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้นจะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกจากปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงาย และทำการเป่าปากต่อไป
2. ถ้าคลำชีพจรไม่ได้
หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการนวดหัวใจทันที (ดูจากโรค "หมดสติ")
3. ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง
หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง และศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้ผู้ป่วยกินอาหารและน้ำดื่มทางปาก
4. ควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ควรผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ (เคยพบว่า การเป่าปากนานเป็นชั่วโมงๆ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดและหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจมน้ำที่มีความเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 70 องศาพาเรนไฮด์ หรือ21 องซาเซลเซียส
การรักษา
ควรรับผู้ป่วยไว้รักษา ที่โรงพยาบาลทุกรายไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด เพื่อเฝ้าสังเกต ป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ควรเจาะเลือดตรวจระดับแก๊สในเลือด และตรวจหาความเข้มของเกลือแร่ เอกซเรย์ดูว่ามีการอักเสบของปอด หรือปอดแฟบหรือไม่ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ การรักษา ให้ออกซิเจน ต่อเครื่องช่วยหายใจ,ให้น้ำเกลือ พลาสมาหรือเลือด ถ้ามีภาวะหัวใจวายก็จะให้ยาขับปัสสาวะและยารักษาโรคหัวใจ (เช่น ลาน็อกซิน) ถ้ามีปอดอักเสบ จะให้ยาปฏิชีวนะ และสเตอรอยด์
ข้อแนะนำ
วิธีผ่ายปอดแก่ผู้ป่วยจมน้ำที่แนะนำในปัจจุบันคือวิธีเป่าปาก และให้ลงมือทำให้เร็วที่สุด อย่าเสียเวลาในการจับแบกพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออกจากปอด ดังที่เคยแนะนำกันในสมัยก่อน ส่วนการผายปอดด้วยมือ เช่น วิธีของซิลเวสเตอร์(Silver method) หรือวิธีของโฮลเกอร์นีสเซน (Holgfger - Nielsen method) เป็นต้น ไม่แนะนำให้ทำ เพราะได้ผลน้อย
ผู้ป่วยที่จมน้ำทุกรายไม่ว่าจะหมดสติหรือหยุดหายใจหรือไม่ก็ตาม ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24 - 72 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในเวลาต่อมา
ควรหาทางป้องกันโดย
ระวังอย่าให้เด็กเล็กเล่นน้ำหรือเล่นในบริเวณใกล้กับน้ำตามลำพัง
ควรส่งเสริมให้เด็กฝึกว่ายน้ำให้เป็น
เวลาลงเรือหรือออกทะเล ควรเตรียมชูชีพไว้ให้พร้อมเสมอ
คนที่เมาเหล้า หรือเป็นโรคลมชัก ห้ามลงเล่นน้ำ
กลับสู่หน้าแรก
ไฟฟ้าซ็อต
(Electric shock)
ไฟฟ้าช็อต
เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในบ้าน โรงเรียน โรงงาน และสถานที่ต่างๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า อาจเกิดจากความประมาทเผลอเรอ การใช้เครื่องไฟฟ้าผิดวิธี หรือจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น คนที่ถูกไฟฟ้าช็อตอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไป(ตั้งแต่บาดแผลไหม่เพียงเล็กน้อยจนกระทั่งตาย)ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
ลักษณะของผิวหนังส่วนที่สัมผัสถูกไฟฟ้า
ถ้าผิวหนังแห้งจะมีความต้านทานสูง เกิดอันตรายน้อย แต่ถ้าผิวหนังเปียกชื้น(เช่น มีเหงื่อหรือเปียกน้ำ) หรือมีบาดแผลสด(เช่นถูกมีดบาด เข็มแทง หรือแผลถลอก) จะมีความต้านทานต่ำ เกิดอันตรายได้สูง
ชนิดของกระแสไฟฟ้า
ไฟฟ้ากระแสตรง (directcurrunt) เช่น ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือถ่านไฟ จะทำอันตรายได้น้อย ส่วนไฟฟ้ากระแสสลับ (alternating current) จะทำอันตรายได้มาก กระแสไฟฟ้าที่มีความถึ่ต่ำ (เช่น ขนาด 50 - 60 รอบต่อนาที) จะมีอันตรายร้ายแรงกว่า ความถี่สูง กระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายสูง
ตำแหน่งและทางเดินของกระแสไฟฟ้าในร่างกาย
ถ้าไฟฟ้าวิ่งจากแขน หรือแขนไปเท้า จะมีอันตรายกว่าจากเท้าลงดิน เพราะสามารถวิ่งผ่านและทำอันตรายต่อหัวใจ (ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ) หรือถ้ากระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านสมอง(ทำให้หยุดหายใจ) วิ่งผ่านกล้ามเนื้อ(ทำให้ชัก กระดูกหักหรือกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต)
ระยะเวลาสัมผัส
ถ้ายิ่งนานก็ยิ่งมีอันตรายผิวหนังที่สัมผัสไฟฟ้านานๆ จะทำให้มีเหงื่อออก ซึ่งจะลดความต้านทานลง กระแสไฟฟ้าจะเข้าร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความร้อนในร่างกายเป็นเหตุให้เกิดบาดแผลไหม้รุนแรงได้
อาการ
อาการขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวบางคนเมื่อถูกไฟฟ้าช๊อต อาจเพียงแต่ทำให้ล้มลงกับพื้น(ถ้าตกจากที่สูงก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้) หรือของหล่นจากมือ ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่งร่างกาย แล้วตามด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว และหมดสติ อาจหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอันตรายถึงตายได้ทันที บางคนอาจหมดสติชั่วครู่ เมื่อฟื้นขึ้นมา อาจรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวาได้ นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดบาดแผลไหม้ตรงผิวหนังและกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นแผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บ ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกและอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ บางคนอาจมีกระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่นๆหัก เนื่องจากการชักกระตุก หรือตกจากที่สูง บางคนอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก มีอาการซีดเหลือง
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบคนที่ถูกไฟฟ้าช็อต ควรรีบให้ความช่วยเหลือดังนี้.-
รีบปิดสวิตซ์ไฟ หรือถอดปลั๊กไฟทันที
ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นต้องช่วยให้คนที่ถูกไฟฟ้าช็อตหลุดออกจากสายไฟที่มีกระแสไฟวิ่งอยู่ โดยผู้ที่ทำการช่วยเหลือจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างสูงเขาต้องยืนอยู่บนฉนวนแห้งๆ เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าไม้ที่แห้งเขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วย หรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ ห้ามใช้โลหะ หรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรให้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และห้ามมิให้แตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรงจนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน
ตรวจดูการหายใจ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปาก ช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจพรัอมกันไป จนกว่าจะหายใจได้เอง(รายละเอียดดูที่ โรคหมดสติ) ถ้าผู้ป่วยหายใจได้เอง แต่ยังหมดสติ ควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกันผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่น
รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน และควรตรวจดูการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจ ควรเป่าปากช่วยมาตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด
การรักษา
ถ้าผู้ป่วยมีชีวิตรอดจนถึงโรงพยาบาล ควรตรวจดูอาการต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะช็อก ภาวะขาดน้ำ บาดแผลไหม้ กระดูกหัก เป็นต้น และให้การรักษาตามอาการที่พบ สำหรับบาดแผลไหม้(ถ้ามี) ควรให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แต่ควรระวัง บาดแผลที่เห็นจากภายนอก แม้จะดูเล็กน้อย แต่เนื้อเยื่อส่วนลึกอาจถูกทำลายรุนแรง ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีเลือดออกหรือมีการติดเชื้อในเวลาต่อมาได้
การป้องกัน
ควรหาทางป้องกัน ด้วยการติดตั้งและซ่อมแซมสายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยสูง (เช่น ปลั๊กไฟ ควรติดตั้งให้พ้นมือเด็กเล็กอย่าให้เอาอะไรไปแหย่เล่นได้) และรู้จักใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวัง
ห้ามแตะต้องคนที่ถูกไฟฟ้าช็อตโดยตรง จนกว่าจะช่วยเหลือให้เขาหลุดพันออกจากสายไฟเสียก่อน
กลับสู่หน้าแรก
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
(Burns)
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
เป็นอุบัติเหตุที่พบได้ บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อยๆหายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก (กินบริเวณกว้างและแผลลึก) มักจะมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้ทุพพลภาพหรือตายได้
การรักษา
มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ สิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่พบบ่อยได้แก่
ความร้อน เช่น น้ำร้อน(หม้อน้ำ กระติกน้ำ กาน้ำ ไอน้ำ) น้ำมันร้อนๆ (ในกะทะ) ไฟ (เตาไฟ ตะเกียง บุหรี่ ประทัด พลุ ) วัตถุที่ร้อน (เช่น เตารีด จานชามที่ใส่ของร้อน)
ไฟฟ้าช็อต (ดูรายละเอียดที่โรคไฟฟ้าช็อต)
สารเคมี เช่น กรดด่าง
รังสี เช่น แสงอุลตราไวโอเลต (แสงแดด) รังสี เรเดียม รังสีโคบอลด์ ระเบิดปรมาณู เป็นต้น
อาการ
อาการขึ้นกับ ขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล
ขนาด หมายถึง บริเวณพื้นที่ของบาดแผล แผลขนาดใหญ่(กินบริเวณกว้าง) จะมีอันตรายกว่าแผลขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำโปรตีนและเกลือแร่ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีโอกาสติดเชื้อถึงขั้นเป็นโลหิตเป็นพิษถึงตายได้ การประเมินขนาดความกว้างของบาดแผล นิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าคิดหยาบ ๆให้เทียบเอาว่าแผลขนาดหนึ่งผ่ามือเท่ากับ 1 % ของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น ถ้าแผลมีขนาดเท่ากับ 10 ฝ่ามือ (ของผู้ป่วย) ก็คิดเป็นประมาณ 10 % เป็นต้น ทางการแพทย์ได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นมาตรฐานทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสะดวกในการคิดคำนวณ
ความลึก ผิวหนังมีความลึก 2 ชั้น ได้แก่ ชั้น หนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) เราแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกเป็น 3 ขนาด ด้วยกันดังนี้
ก. บาดแผลดีกรีที่ 1
หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย สามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้จึงมีโอกาสหายได้สนิท และไม่มีแผลเป็น(ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ) มักเกิดจากการถูกแดดเผา (อาบแดด) การถูกน้ำร้อนไอน้ำเดือดหรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน ผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลจะมีลักษณะแดง บวมเล็กน้อยและปวดแสบปวดร้อน ไม่มีตุ่มพองหรือหนังหลุดลอก มีลักษณะแบบเดียวกับรอยแดดเผา ซึ่งถือเป็นบาดแผลไหม้ดีกรีที่ 1 แบบหนึ่ง บาดแผลดีกรีที่ 1 ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและโปรตีน จึงไม่ต้องคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผลมักจะหายได้เองและไม่มีอันตรายร้ายแรง
ข. บาดแผลดีกรีที่ 2
หมายถึงบาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น(ทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด) และหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้นๆ(ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน(ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ) มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ บาดแผลจะมีลักษณะแดงและพุเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กและใหญ่ ผิวหนังอาจหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดงๆ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการเจ็บปวด อาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีนและเกลือแร่ และติดเชื้อได้ง่าย
ค. บาดแผลดีกรีที่ 3
หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล ผิวหนังทั้งชั้นจะหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดงๆ หรือแดงสลลับขาว หรืเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำหรือติดเชื้อรุนแรงได้ แผลมักจะหายยากและเป็นแผลเป็นอาจมีบาดแผลที่มีความลึกขนาดต่างๆ กันในคนเดียวกันได้ และบางครั้งในระยะแรก อาจแยกบาดแผลดีกรีที่ 2 และ 3 ออกจากกันไม่ชัดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดนี้ล้วนถือเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรง และควรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผล ตำแหน่ง บาดแผลบนใบหน้า อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มาก ถ้าถูกบริเวณตา อาจทำให้ตาบอดได้ แผลที่มือและตามข้อพับต่างๆอาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อต่างๆ มีแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้เหยียดออกไม้ได้ ถ้าสูดควันไฟเข้าไปในปอดระหว่างเกิดเหตุ อาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ กลายเป็นหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ อาจรุนแรงจนหายใจไม่ได้ถึงตายได้
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบเห็นคนที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรรีบให้การช่วยเหลือ ก่อนส่งโรงพยาบาลดังนี้
ก. บาดแผลดีกรีที่ 1
รีบให้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณที่มีบาดแผลเพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน และป้องกันมิให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น อาจใช้น้ำเย็นราด หรือแช่ในน้ำใส่น้ำแข็ง หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ หรือใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งผสมเล็กน้อย วางตรงบริเวณที่มีบาดแผลอย่างน้อย 20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนลดลง
ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด
ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือมีตุ่มน้ำใส ควรไปหาหมอ
ข. บาดแผลดีกรีที่ 2
รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง แล้วใช้ผ้าก๊อชหรือผ้าสะอาดปิดไว้
ถ้าบาดแผลกว้าง เช่น ประมาณ 10 - 15 ฝ่ามือ(10 - 15%) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้รวดเร็ว หรือเกิดที่บริเวณหน้า(รวมทั้งปาก และจมูก) ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดที่ตา ,หู,มือ,เท้า หรืออวัยวะสืบพันธ์ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้ง่าย ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ขณะที่รอส่งโรงพยาบาลอาจให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดย
เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกถ้าถอดออกลำบากควรตัดออกเป็นชิ้นๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก เพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม
ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
ถ้ามีกำไลหรือแหวน ควรถอดออก หากปล่อยไว้ นิ้วหรือข้อมืออาจบวมทำให้ถอดออกยาก
ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึงสถานพยาบาลควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำดื่มโดยใส่เกลือลงเล็กน้อย(เกลือ 0.5 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 1 ขวดแม่โขง) หรือาจให้กินน้ำส้มคั้นใส่เกลือก็ได้ ควรให้ดื่มครั้งละ 1/4 - 1/2 แก้ว ทุก ๆ 15 นาที
ควรใช้ผ้าสะอาดบางๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูงเล็กน้อย
ให้พาราเซตามอล 1 - 2 เม็ดเพื่อระงับปวด และอาจให้ไดอะซีแพม ขนาด 5 มิลลิกรัม 1/2 - 1 เม็ด
ค. บาดแผลดีกรีที่ 3
เนื่องจากเป็นบาดแผลลึกซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้จึงควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบาดแผลมีขนาดมากกว่า 10 % (ในเด็ก) หรือ 15 % (ในผู้ใหญ่) ก่อนสงโรงพยาบาล อาจให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับบาดแผลดีกรีที่ 1 และ 2 ดังกล่าว
การรักษา
สำหรับการรักษาในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจกระทำดังนี้
ถ้าเป็นเพียงบาดแผลลดีกรีที่ 1
ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมสเตอรอยด์บางๆ หรือทาด้วยวาสลิน หรือน้ำมันมะกอก และให้ยาแก้ปวด ถ้ารู้สึกปวด
ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3
ควรส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วใน กรณีดังต่อไปนี้
บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ผ่ามือ
บาดแผลดีกรีที่ 2 มีขนาดมากกว่า 10 ฝ่ามือ (10%) ในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือ (15%) ในผู้ใหญ่
บาดแผลเกิดที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะ สืบพันธ์ ตามข้อพับต่างๆ
บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ
สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ
มีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทาง
ถ้าไม่มีอาการดังในข้อ 1 อาจให้การรักษาโดย
ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่
ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เพียง 2 - 3 อันเกิดที่ฝ่ามือไม่ควรใช้เจ็มเจาะ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ใส่แผลสด (Merthiolate) แล้วปิดด้วยผ้าก๊อช ตุ่มจะค่อยๆแห้งและหลุดล่อนไปเองใน 3 - 7 วัน
ถ้ามีตุ่มพองที่แขน ขา หลังมือ หลังเท้าหลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว ให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อเจาะเป็นรู แล้วใช้ผ้าก๊อชที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง ใช้ทิงเจอร์ใส่แผลสด ทาแล้วพันด้วยผ้ายึดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2 - 3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อน
ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) ขลิบเอาหนังที่พองออกแล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมซัลฟาไมลอน(Sulfamylon) ,ขึ้ผึ้งแบกตาซิน ,น้ำยาเบตาดีน,ครีมวิลเวอร์ซัลลฟาไดอาซีน หรือพ่นด้วยสเปรย์ฟรีเดกซ์ ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา ให้ให้ผ้าพันถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ ควรล้างแผล และใส่ยาวันละ 1 - 2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น
ควรให้ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี หรือ อีริโทรมัยซิน และควรแนะนำให้ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
ถ้าบาดแผลไม่ดีขึ้นใน 1 -2 สัปดาห์หรือมีอาการติดเชื้อ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร)ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ปลูกหนัง (Skin graft)
ข้อแนะนำ
การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่แนะนำในปัจจุบันคือ รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบทันทีหลังเกิดเหตุ อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่อง ทา
บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่เกิดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว ดังนั้นจึงควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย
บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ(เหยียดไม่ได้) สามารถป้องกันได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นไว้ตั้งแต่แรก
ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในระยะ 2 - 3 วันแรก คือภาวะขาดน้ำและช็อก ถ้ามีบาดแผลกว้างแพทย์จะให้น้ำเกลือชนิดริงเกอร์แลกเทต (Ringer's lactate) ในวันแรกอาจให้ขนาด 4 มล.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่บาดแผล 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8 ชั่วโมงแรกอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือให้หมดใน 16 ชั่วโมงต่อมา วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือและพลาสมา ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2 - 3 วันไปแล้ว(หรือหลัง 1 สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง โดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลดีกรีที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30 % หรือ บาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10 % ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษายากและมักจะมีอัตราตายสูง
ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่)ให้มากๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล
ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาล โดยรีบซะล้างแผลด้วยน้ำก๊อก นานอย่างน้อย 5 นาที แล้วส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ควรหาทางป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกโดย
อย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว
อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้กร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่นๆ ที่มีความร้อนไว้ไกล้มือเด็ก
อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย
เมื่อถูกของร้อนรีบใช้ความเย็นแก้
กลับสู่หน้าแรก
กินสารพิษหรือยาพิษ
(Ingestion poisons)
สารพิษหรือยาพิษ
ที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ที่พบบ่อยๆ ได้แก่
ยา เช่น ยาที่ใช้ภายนอก (ทิงเจอร์ไอโอดีน ด่างทับทิม)ยาแก้ปวด (แอสไพริน พาราเซตามอล) ยานอนหลับ ยาถ่าย ยารักษาโรคหัวใจเป็นต้น ยาพวกนี้ถ้ากินเข้าไปจำนวนมากอาจเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
วัตถุเคมีที่ใช้ในบ้าน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาขัดพื้นแลกเกอร์ ทินเนอร์ น้ำมันก๊าด ดีดีที เป็นต้น
สารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช เป็นต้น
ยาพิษที่ใช้เบื่อสัตว์ เช่น ยาเบื่อหนู ยาเบื่อสุนัข เด็กบางคนอาจกินสารพิษ เพราะความไม่รู้ภาษา หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ดื่มน้ำมันก๊าด หรือ กินยาเม็ดที่มีสีสันสวยๆ หรือกินยาน้ำที่ออกรสหวาน เป็นต้น ผู้ใหญ่ อาจกินสารพิษเพราะความเผลอเรอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ จงใจที่จะฆ่าตัวตายก็ได้ สารพิษเหล่านี้ อาจมีผลต่อระบบประสาทและสมอง (ทำให้ชัก หมดสติ อัมพาต) ,ระบบเลือด(เลือดออก โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ,ทางเดินหายใจ(ปอดอักเสบ) ,ตับ (ตับอักเสบ ตับแข็ง) ,ทางเดินอาหาร(ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน) หรืออื่นๆ บางชนิดอาจระคายเคือง(กัด) ต่อผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหาร เช่น สารที่เป็นกรด หรือ ด่างอย่างแรง
อาการ
อาการขึ้นกับชนิด และปริมาณของสารพิษ และระยะเวลาที่กิน ในที่นี้จะกล่าวถึงสารเคมี ที่อาจพบได้บ่อยบางชนิดเท่านั้น เช่น
ยานอนหลับกลุ่มบาร์บิทูเรต
ถ้ากินเกินขนาดมากๆ จะทำให้ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว หายใจตื้นและช้า เหงื่อออก ตัวเย็น ตัวเขียว รูม่านตาโต และไม่หดเมื่อถูกแสงหมดสติ และตายในที่สุด
แอสไพริน
ถ้ากินขนาดมากๆ ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (acidosos) จะมีอาการหายใจหอบลึกหน้าแดง ไข้สูง ปวดท้อง อาเจียน มีภาวะขาดน้ำ มีเลือดออกตามที่ต่างๆ ชัก และหมดสติ ถึงตายได้
พาราเซตามอล
ถ้าผู้ใหญ่กินครั้งเดียว 10 กรัม(ประมาณ 20 เม็ด) จะทำให้ตับถูกทำลายภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งอาจแสดงอาการดีซ่าน และตับวายในอีก 2 - 3 วันต่อมา ถ้ากินครั้งเดียว 15 กรัม อาจทำให้ตายได้
ไอโอดีน
(เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีนที่ใช้ใส่แผล) ทำให้ปากและคอ หลอดอาหารไหม้และเจ็บ อาเจียนออกมาเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน กระหายน้ำ ท้องเดิน (อาจถ่ายเป็นเลือด) อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นลมและชัก
ด่างทับทิม
ถ้ากินเกร็ดหรือน้ำด่างทับทิมเข้มข้นจะทำให้กัดเนื้อเยื่อในปาก กล่องเสียงบวม ชีพจรเต้นช้าและช็อก
เมนทอลหรือยูคาลิปตัส
ทำให้อาเจียน ท้องเดิน หมดสติ หายใจตื้น ปัสสาวะเป็นเลือด และชัก
น้ำยาบอริก
(Boric acid) ทำให้มีไข้ขึ้น ปัสสาวะไม่ออก หน้าแดง ซึม และชัก
ผงซักฟอก
อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ถ้ามีส่วนผสมของด่าง ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินอาหาร
น้ำมันก๊าด เบนซิน ทินเนอร์
ทำให้อาเจียน ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edima) วิงเวียน ชีพจร อ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ ชัก ถ้าสำลักเข้าไปในปอดทำให้ปอดอักเสบ อาการเป็นพิษเรื้อรัง จะมีอาการปวดศีรษะ ซึม ตามัว มือเย็นและชา อ่อนเพลีย ความจำเสื่อม ใจสั่น ความคิดสับสน ซีด เจ็บในปาก
สารพวกฟีนอล
(Phenol) เช่น กรดคาร์บอลลิก (Carbolic acid) ไลซอล (Lysol) เฮกซาคลอโรฟีน (เช่น ไฟโซเฮก) เป็นต้น พวกนี้เป็นกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย กล้ามเนื้อชักเกร็ง ช็อก และการหายใจล้มเหลว
ฟอสพอรัส
(Inorganic phosphorus) ซึ่งมีอยู่ในหัวไม้ขีดไฟ ทำให้เจ็บในปากและลำคอ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ดีซ่าน ปัสสาวะออกน้อย มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง และช็อก
ดีดีที
จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามแขนขา กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก ชักและหมดสติ
ยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต
(Organophosphate) เช่น พาราไทออน (Parathion),มาลาไทออน (Malathion),คาร์บาเมต (Carbamate) เป็นต้น มักมีอาการภายใน 2 - 3 ชั่วโมงหลังกิน ด้วยอาการปวดศีรษะ เหงื่อออก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล อาเจียน ท้องเดิน กล้ามเนื้อเต้นกระตุก ชัก หอบ ตาลาย รูม่านตาหดเล็ก และอาจตายภายในเวลารวดเร็ว
พาราควอต
(Paraquat) ซึ่งมีในยาปราบวัชพืชทำให้เกิดอาการชัก ปอดบวมน้ำ ตับวาย หัวใจวาย ภายในไม่กี่ชั่วโมงจนหลายวัน ในที่สุดจะมีอาการระบบหายใจล้มเหลว เนื่องจากเกิดเยื่อพังผืดในปอด ถ้าขนาดเข้มข้น อาจกัดเยื่อบุหลอดอาหารทำให้ริมฝีปากและลำคอไหม้พอง และเป็นแผล อาจทำให้หลอดอาการเป็นแผลทะลุ
สตริกนิน
(Strychnine) ซึ่งมักทำเป็นยาเบื่อสุนัข ทำให้เกิดอาการชัก หลังแอ่น หายใจลำบาก น้ำลายฟูมปาก และขาดออกซิเจน
ไซยาไนด์
(Cyanides) ซึ่งอาจมีอยู่ในยาเบื่อหนู จะทำให้ตัวเขียว หายใจลำบาก ความดันเลือดตก ถึงตายได้รวดเร็ว
สารปรอท
ทำให้มีอาการน้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำ ปวดแสบปวดร้อนในปาก และลำคอ เยื่อบุในช่องปากบวมและเปลี่ยนสี ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน (ถ่ายเป็นเลือด) ไม่มีปัสสาวะ และช็อก ถ้าเป็นพิษเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เดินเซ มือสั่น ซึมเศร้า เป็นตะคริว
สารหนู
(Arsenic) อาการมักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังกิน (บางคนอาจนานถึง 12 ชั่วโมง) มีอาการปวดท้อง กลืนลำบาก อาเจียนติดๆกัน ท้องเดิน เป็นตะคริว ต่อมาจะรู้สึกกระหายน้ำอย่างรุนแรง และช็อก
เมทิลแอลกอฮอล์
(Methyl alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้จุดไฟ เป็นคนละชนิดกับเอทิลแอลกอฮอล์(Ethtl alcohol) ซึ่งทำเป็นเหล้า เบียร์ เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง จุกแน่น คลื่นไส้ อาเจียน และตาบอด(เพราะประสาทตาถูกทำลาย) ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเขียว ชัก และหมดสติ
กรดหรือด่างอย่างแรง
ทำให้ผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหารถูกกัดไหม้และอักเสบ มีอาการเจ็บในปากและลำคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด กลืนลำบาก หายใจลำบาก ช็อก บางคนอาจมีการแตกทะลุของหลอดอาหารและกระเพาะ ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือ หลอดอาหารเกิดการตีบตันจากการอักเสบได้
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบคนที่กินสารพิษ ควรให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งไปโรงพยาบาล ดังนี้
รีบทำให้ผู้ป่วย อาเจียน เอาสารพิษออก ถ้ามียาที่ทำให้อาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม(Syrup of lpecac) ก็ให้ผู้ป่วยกิน ผู้ใหญ่ใช้ขนาด 2 ช้อนโต๊ะ เด็ก 1 ช้อนโต๊ะ ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี 2 ช้อนชา ตามด้วยน้ำหรือนม 2 แก้ว ถ้าไม่มี ให้ใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอ หรือใช้ปลายด้ามช้อนหรือไม้กดลิ้นเขี่ยก็ได้ ห้ามทำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ชัก หรือ กินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์ หรือถ้ายังไม่ทราบชนิดของสารพิษ
รีบให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือน้ำเปล่า 4 - 5 แก้ว เพื่อให้พิษเจือจาง ถ้ามียาถ่าน (Activated charcoa) เช่น อุลตราคาร์บอน (Ultra carbon) ให้ผู้ป่วยกิน 100 - 200 เม็ดเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ ถ้าไม่มีให้กินไข่ดิบ 5 - 10 ฟองแทน สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้ดื่มน้ำโคลนจากท้องร่องในสวน(ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ ห้ามทำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติ หรือชัก
รีบพาไปยังโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ดูด้วย
ถ้าผู้ป่วยหมดสติ หรือชัก ให้ทำการปฐมพยาบาล เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่หมดสติ หรือชัก
การรักษา
เมื่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล ควรให้การดูแลรักษาดังนี้
รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน และให้กินยาถ่าน เช่นเดียวกับที่แนะนำไว้ในเรื่องการปฐมพยาบาล
ทำการสวนล้างกระเพาะด้วยสายสวนกระเพาะ ห้ามทำในรายที่หมดสติ ชัก หรือ กินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์
ให้การรักษาตามอาการเช่น
ถ้ามีภาวะขาดน้ำ ช็อก หรือ หมดสติ ให้น้ำเกลือ
ถ้าหายใจลำบากหรือตัวเขียวให้ออกซิเจน และอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ
ถ้ามีภาวะปอดบวมน้ำ(ผู้ป่วยมีอาการหอบและฟังปอดมีเสียบกรอบแกรบ) ให้ฉีด ลาซิกซ์ 2 หลอดเข้าเส้น
ถ้าชัก ฉีดไดอะซีแพม 5 - 10 มก.เข้าเส้น
ถ้ามีภาวะเลือดเป็นกรด ฉีดโซเดียมไปคาร์บอเนต
ถ้ามีภาวะไตวาย อาจต้องทำไดอะไลซิส(dialysis)
ถ้ามีการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ
ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
ถ้าเกิดจากยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต(ผู้ป่วยจะมีรูม่านตาหดเล็กทั้งสองข้าง) ควรฉีดอะโทรฟีน ขนาด 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้ากล้ามเนื้อเข้าเสันทุก 5 - 10 นาที จนกระทั่งรูม่านตาขยาย และมีอาการคอแห้ง หลังจากนั้นไห้ยาต้านพิษได้แก่ พราลิดอกไซม์ (Pralidoxime) มีชื่อทางการค้าเช่น 2 - PAM , protopam ขนาด 25 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุด 1 กรัม) ผสมน้ำเกลือ 100 มล. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆ ถ้าอาการหายใจยังไม่ดีขึ้นให้ฉีดซ้ำได้ในอีก 30 นาที ต่อมา(สำหรับผู้ป่วยที่กินคาร์บาเมตไม่จำเป็นต้องให้ พราลิดอกไซม์)
ถ้าเกิดจขากสารหนูให้ยาต้านพิษได้แก่ ไดเมอร์แคพรอล (dimercaprol) มีชื่อทางการค้าเช่น บีเอแอล (BAL) โดยฉีดเข้ากล้ามขนาด 3 - 4 มก.ต่อ กก.ทุก 4 ชั่วโมง ใน 2 วันแรก และให้ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันอีก 8 วัน
ถ้าเกิดจากดีดีที นอกจากสวนล้างกระเพาะด้วยน้ำอุ่นแล้ว ควรให้กินยาระบายได้แก่ โซเดียมซัลเฟต (Sodium sulfate) ขนาด 30 กรัมในน้ำ 200 มล.และให้กินฟีโนบาร์บิทาลเพื่อสงบประสาท
ข้อแนะนำ
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ สภาพของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค ถ้าหากได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสรอดได้
ผู้ที่ได้รับสารพิษมักมีอาการแสดงภายใน 36 ชั่วโมง ถ้าหลัง 36 ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่ปรากฎอาการก็ถือว่าปลอดภัย
ควรป้องกันมิให้เด็กหยิบยาหรือสารเคมีกินเองโดยเก็บยาและสารเคมีให้มิดชิดหรือไว้ในที่สูงเกินกว่าเด็กจะหยิบถึง
ควรป้องกันการหยิบยาผิด หรือกินถูกสารพิษโดยความเผลอเรอ โดย
เก็บยาไว้ในที่มิดชิด หรือไว้ในตู้ยาที่เด็กหยิบเองไม่ได้
เขียนฉลากยาให้ชัดเจน
สารเคมีที่มีพิษควรเก็บไว้เป็นที่เฉพาะและปิดให้มิดชิด อย่าปะปนกับอาหารที่กินหรือวางอยู่ในตู้กับข้าว
ควรเก็บยาและสารเคมีให้มิดชิดและอยู่ไกลมือเด็ก
กลับสู่หน้าแรก
หมดสติ
(Coma)
อาการหมดสติ
ถือเป็นภาวะร้ายแรง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที มักจะตายได้รวดเร็ว มีสาเหตุได้มากมาย เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ ,จมน้ำ ,ไฟฟ้าช็อต ,กินยาพิษ, แพ้ยา ,ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ,โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ,สมองอักเสบ ,มาลาเรียขึ้นสมอง,เส้นเลือดฝอยในสมองแตก,ตับแข็ง ,เบาหวาน,ภาวะไตวาย เป็นต้น ผู้ป่วยจึงมักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก่อนที่จะมีอาการหมดสติ
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติ และหมดความรู้สึกทุกอย่างปลุกอย่างไรก็ไม่ยอมตื่น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ(เช่น หอบ หายใจขัด) ความดันโลหิตอาจจะสูง อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา ปากเบี้ยว ตัวเกร็ง ชักกระตุก คอแข็ง หรือมีไข้สูง ถ้าเป็นรุนแรง อาจหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยที่หมดสติทุกราย ควรตรวจดูลูกตา ซึ่งกระทำได้โดย
ใช้ผ้าก๊อชหรือสำลีเขี่ยที่ขนตาหรือลูกตาขาวผู้ป่วยที่หมดสติจะไม่กระพริบตา
ดูลักษณะและขนาดของรูม่านตาทั้ง 2 ข้าง
ถ้ารูม่านตาขนาดปกติเท่ากันทั้ง 2 ข้าง และมีปฏิกิริยาต่อแสง(คือเมื่อถูกแสงไฟส่องแล้วยังหดเล็กลงได้) มักมีสาเหตุมาจากการเป็นลมธรรมดา ,ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ,หมดสติจากเบาหวาน ,หมดสติจากตับเสีย
ถ้ารูม่านตาขยายทั้ง 2 ข้าง มักมีสาเหตุมาจากยาอะโทรฟีน ,เมทานอล(แอลกอฮอล์ที่ใช้จุดไฟ) หรือพบในผู้ป่วยระยะใกล้ตาย
ถ้ารูม่านตาหรี่เล็กทั้ง 2 ข้าง มักมีสาเหตุจากฝิ่นหรือมอร์ฟีน ,ยาฆ่าแมลงพวกพาราไทออน (เช่น ยาหัวกะโหลกไขว้) ,ยาบาร์บิทูเรต ,ยาหยอดตาที่มีตัวยา ไพโลคาร์พีน (Pilocarpine) หรือพบในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองส่วนพอนส์ (Pontine hemorrhage)
ถ้ารูม่านตาขนาดไม่เท่ากัน มักมีสาเหตุจากมีก้อนในสมอง เช่น ก้อนเลือดที่เกิดจากเส้นเลือดแตก ฝี หรือ เนื้องอก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในทันที จะพบว่ารูม่านตาข้างเดียวกับสมองข้างที่มีก้อนขยายโตกว่าอีกข้างหนึ่งและจะไม่หดเล็กลงเลยเมื่อถูกแสงโดยทั่วไปอาการหมดสติจากพิษยาต่างๆ นั้นรูม่านตามักจะยังมีปฏิกิริยาต่อแสง ยกเว้นยานอนหลับที่มีชื่อว่า ดอริเดน (Doriden) รูม่านตาจะไม่หดเล็กลงเมื่อถูกแสง ส่วนอาการหมดสติจากการมีก้อนในสมองหรือในระยะใกล้ตาย รูม่านตามักจะไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
การปฐมพยาบาล
ก.ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ
ให้ช่วยผายปอดด้วยการเป่าปากทันที ซึ่งสามารถกระทำได้ ดังนี้
จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็งแล้วเปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
ใช้นิ้วมือล้วงเอาเศษอาหาร เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
จับศีรษะผู้ป่วยหงายไปข้างหลัง โดยใช้มือข้างหนึ่งรองอยู่ใต้คอผู้ป่วยและยกคอขึ้น (หรือใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนไหล่ให้สูงขึ้น) แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าผากผู้ป่วยและกดลงแรงๆ ให้คางของผู้ป่วยยกขึ้น
ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่วางอยู่บนหน้าผากผู้ป่วย บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น สูดหายใจเข้าแรงๆ แล้วใช้ปากประกบปากของผู้ป่วย(จะใช้ผ้าบางๆ รองหรือไม่ก็ได้) พร้อมกับเป่าลมหายใจเข้าแรงๆ เสร็จแล้วยกปากขึ้น สูดลมหายใจเข้าแรงๆ แล้วเป่าลมหายใจเข้าปากผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง ในระยะแรกให้ทำการเป่าปากผู้ป่วยติดๆ กัน 4 ครั้ง ต่อไปเป่าประมาณนาทีละ 12 ครั้ง (ทุก ๆ 5 วินาที) สำหรับทารกและเด็กเล็กอาจใช้ปากประกบคร่อมปากและจมูกเด็กและเปาลมให้แรงพอให้หน้าอกขยาย(อย่าให้แรงเกินไป) ประมาณนาทีละ 20 ครั้ง(ทุก ๆ 3 วินาที) ถ้าทำการเป่าปากได้ผล จะสังเกตห็นหน้าอกของผู้ป่วยขยายขึ้น และแฟบลงตามจังหวะ ถ้าหน้าอกผู้ป่วยไม่ขยาย หรือสงสัยลมจะไม่เข้าปอดผู้ป่วย ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากผู้ป่วย แล้วจับขากรรไกรล่างให้แน่น พร้อมกับงัดขึ้นแรงๆ ให้ปากอ้ากว้าง แล้วทำการเป่าปากตามวิธีดังกล่าว ให้ทำการผายปอดไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือจนกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล
ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรหรือฟังเสียงหัวใจไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจทันที ประมาณวินาทีละ 1 ครั้ง (60 ครั้ง ต่อนาที) ถ้ามีผู้ทำการช่วยเหลือเพียงคนเดียว ให้นวดหัวใจ 5 ครั้ง แล้วเป่าปาก 1 ครั้ง สลับกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้คนหนึ่งทำการนวดหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 1 ครั้ง (โดยอีกคนหนึ่ง)
ข.ในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจได้เอง
ให้ทำการปฐมพยาบาลดังนี้.-
จับผู้ป่วยนอนหงาย และจับศีรษะให้หงายขึ้นมากๆ และใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
เปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวมๆ
ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
ถ้าสงสัยผู้ป่วยมีกระดูกหัก ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสงสัยกระดูกคอหรือกระดูกสันหลังหัก
ถ้าแน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก ให้จัดท่าผู้ป่วยอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) โดยจับให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้างและให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของร่ากายเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก และป้องกันมิให้สำลักเอาเศษอาหารหรือเสมหะเข้าไปในปอด เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลลทันที ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำควรให้น้ำเกลือ (5 % D/NSS) ไประหว่างทางด้วยและควรติดตามผู้ป่วยไปด้วย เพื่อทำการช่วยผายปอดถ้าเกิดหยุดหายใจระหว่างทาง
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีสาเหตุจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น มีประวัติอดข้าว ดื่มเหล้าจัด หรือใช้ยาเบาหวาน อาจให้การรักษาเบื้องตันด้วยการฉีดกลูโคสชนิด 50 % จำนวน 50 มล.เข้าทางหลอดเลือดดำ อาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติภายใน 15 - 30 นาที ถ้าไม่ได้ผล ควรส่งโรงพยาบาลทันที
กลับสู่หน้าแรก
กลับสู่หน้าหลัก I
ระบบทางเดินหายใจ I
ระบบทางเดินอาหาร I
ตรวจสอบอาการต่างๆ