โรคตามระบบ
ระบบทางเดินหายใจ
1. ไข้หวัด 2. ไข้หวัดใหญ่ 3. หัด
4. หัดเยอรมัน 5. ส่าไข้ 6. อีสุกอีใส
7. คางทูม 8. คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ 9. ไข้อีดำอีแดง
10. คอตีบ(ดีฟทีเรีย) 11. ครู้ป 12. กล่องเสียงอักเสบ
13. ไอกรน (ไอ 3 เดือน, ไอร้อยวัน) 14. วัณโรคปอด (ฝีในท้อง) 15. หลอดลมอักเสบ
16. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมพอง 17. หลอดลมพอง 18. ปอดอักเสบ(ปอดบวม นิวโมเนีย)
19. ภาวะมีหนองหรือน้ำในช่องหุ้มปอด 20. หืด 21. หวัดจากการแพ้
22. ไซนัสอักเสบ 23. เนื้องอกในรูจมูก 24. เลือดกำเดา
25. สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
กลับสู่หน้าหลัก I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I ระบบทางเดินอาหาร I อุบัติเหตุ สารพิษ

ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URL)
ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง(โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ อาจเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง) ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียนและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมากๆ ทั้งนี้เนื้องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด(เชื้อหวัด) มีอยู่เกือบ 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น(จมูกและคอ) ครั้งละชนิด เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้นก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลงไป โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกันจึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงานและที่ๆมีคนอยู่รวมกลุ่มกันมากๆ เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงส่วนในฤดูร้อนจะพบน้อยลง
สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นไวรัส(Virus) มีอยู่ร่วม 200 ชนิดด้วยกัน การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วคนเราก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้นในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัสมือกล่าวคือเชื้อหวัดอาจติดที่มือของผู้ป่วยซึ่งเมื่อสัมผัสถูกมือของคนอื่นเชื้อหวัดก็จะติดมือของคนๆนั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูกเชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนๆนั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้
ระยะฟักตัว(ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น) 1 - 3 วัน
อาการ
มีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รูสึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ท้องเดิน หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย ถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวหรือมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบช้ำแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆแทรกซ้อนตามมาซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
สิ่งที่ตรวจพบ ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก
อาการแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria)ทำให้มีน้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ในเด็กเล็กอาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง ท้องเดิน บางคนอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหู ซึ่งจะหายได้เองภายใน 3 - 5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อนตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร) ในทารกหรือคนสูงอายุ
การรักษา
เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้นได้แก่
1. แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้.
1.1 พักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังมากเกินไป
1.2 สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
1.3 ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
1.4 ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ
1.5 ใช้ผ้าชุบน้ำ(ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เข็ดตัวเวลามีไข้สูง
ข้อแนะนำเหล่านี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
2. ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้.-
2.1 สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี ) 2.2 สำหรับเด็กเล็ก (อายุตำกว่า 5 ปี) 3. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส (อาการที่สังเกตได้คือมีน้ำมูกใสๆ) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่นมีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียว คอแดงจัด หรือปวดหู ยาปฏิชีวนะให้เลือกใช้ เพนวี , แอมพิซิลิน , ในรายที่แพ้เพนนิซิลลิน ให้ใช้อีริโทรมัยซิน แทน ควรให้นาน 7 - 10 วัน ส่วนขนาดที่ใช้ให้ปรึกษาเภสัชกร
4. ถ้ามีไอเสลดเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และยาแก้ไอ ควรให้กินยาขับเสมหะ เช่น มิสต์สกิล แอมมอน และให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น
5. ถ้ามีอาการหอบ หรือมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน ควรแนะนำไปโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจต้องเอกเรย์หรือตรวจพิเศษอื่นๆ
ข้อแนะนำ
  1. ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะหายภายใน 4 - 5 วัน ผู้ป่วยบางคนถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไปต่อไปได้ บางคนอาจไอโครกๆนาน ครึ่ง - 1 เดือน ซึ่งมักจะเป็นลักษณะแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้นให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น อาการไอจะค่อยๆหายไปเอง
  2. ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกรายยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีอาการแทรกซ้อนเท่านั้น
  3. ผู้ที่เป็นไข้หวัด(มีอาการตัวร้อนร่วมด้วย)เรื้อรังหรือเป็นๆหายๆประจำอาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด , ธารัสซีเมีย , โรคโลหิตจางอะพลลาสติก , โรคขาดอาหาร เป็นต้น จึงควรตรวจดูว่ามีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล
  4. ผู้ที่เป็นไข้หวัดและจามบ่อยๆ โดยไม่มีไข้ มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร เป็นต้น มากว่าจากการติดเชื้อไวรัส
  5. ผู้ที่มีอาการไข้และน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยทุเลา มักจะไม่ใช่เป็นไข้หวัดธรรมดาแต่อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น หัด , ปอดอักเสบ , หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ควรตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียดที่ตรวจอาการ นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกหลลายชนิดที่ในระยะแรกอาจแสดงอาการคล้ายไข้หวัดได้ เช่น ไข้เลือดออก , ไอกรน , คอตีบ , โปลิโอ , ตับอักเสบจากไวรัส , ไข้รากสาดน้อย , สมองอักเสบ , ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น จึงควรติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่ามีไข้นานเกิน 7 วัน หรือมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
  6. อย่าซื้อหรือจ่ายยาชุดแก้หวัดที่มีคลลอแรมเฟนิคอล , เตตราซัยคลีน หรือ เพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ด้วย หรือยาผงแก้เด็กตัวร้อนที่เข้าคลอแรมเฟนิคอลหรือเตตราซัยคลีนให้ผู้ป่วยกิน นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจมีอันตรายได้
  7. การป้องกัน

กลับสู่หน้าแรก

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/FLU)
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน(ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม) บางปีอาจพบการระบาดทั่วโลก พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยผู้ใหญ่ที่มีอาการตัวร้อนมา 2 - 3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะผิดพลาดได้
สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่าอินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Viras) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือ หายใจรดกัน ระยะฟักตัว 1 - 4 วัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆเรียกว่า ชนิดเอ, บี และ ซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ ออกไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยเพียงพันธ์เดียว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีภูมิต้านทานต่อพันธุ์นั้นแต่ไม่สามารถต้านทานพันธุ์อื่นๆได้จึงอาจติดเชื้อจากพันธุ์ใหม่ได้ เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคที่ระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง(เรียกสั้นๆว่า ไข้หวัดฮ่องกง หรือหวัดฮ่องกง), ไข้หวัดรัสเซีย , ไข้หวัดสิงคโปร์ เป็นต้น
อาการ
มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาวๆ ร้อนๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใหล ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูกหรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อยแต่ใข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2 - 4 วัน แล้วค่อยๆลดลง อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจจะเป็นอยู่ 1 - 4 สัปดาห์แม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม บางคนเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการวิงเวียนเหมือนเมารถเมาเรือ เนื่องจากมีการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในซึ่งมักจะหายเองภายใน 3 - 5 วัน
สิ่งที่ตรวจพบ ไข้ 38.5 - 40 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อย หรือไม่แดงเลย (ทั้งๆที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ) ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยได้แก่ ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หูชั้นในอักเสบ , หลอดลมอักเสบ , หลอดลมพอง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือ สแตฟฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายก็ได้) ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็กเล็ก คนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน คนที่สูบบุหรี่จัดหรือผู้ป่วยที่มีโรคของปอดเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้นั้นนับว่าน้อยมาก มักจะเกิดในเด็กเล็กหรือคนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแออยู่ก่อน
การรักษา
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้ถือว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลรักษาตามอาการ ก็หายได้เองภายใน 3 - 5 วัน ข้อสำคัญต้องนอนพัก ดื่มน้ำมากๆ และห้ามอาบน้ำเย็นถ้าไข้ลงแล้วควรอาบน้ำอุ่นอีก 3 - 5 วัน ในรายที่ไม่ได้พักผ่อนหรือตรากตรำงานหนักอาจหายช้า หรือมีภาวะแทรกซ้อน
  2. อาการไข้สูง ปวดเมื่อย และไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ในระยะเริ่มแรกก็ได้ เช่น ไข้รากสาดน้อย , ตับอักเสบจากไวรัส , ไข้เลือดออก , หัด , เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการอื่นๆ ปรากฎให้เห็นก็ควรให้การรักษาตามโรคที่สงสัย ถ้าหากมีไข้นานเกิน 7 วัน มักจะไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่แต่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น ไข้รากสาดน้อย , มาลาเรีย เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน
  3. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยมากอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะแยกกันไม่ออก แต่ก็ให้การดูแลรักษาเหมือนๆกัน
  4. การป้องกัน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ซึ่งจะป้องกันได้นานประมาณ 12 เดือน ถ้ามีการระบาดในปีต่อๆไปก็ต้องฉีดใหม่อีก โดยทั่วไปถ้าไม่มีการระบาด จะไม่ฉีดวัคซีนให้แก่คนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่หลายพันธุ์ เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในการระบาดครั้งต่อไป จะเกิดจากเชื้อใด
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่มีอาการคล้ายกัน และให้การรักษาแบบเดียวกัน ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้ไม่เกิน 7 วัน

กลับสู่หน้าแรก

หัด (Measles/Rubeola)
หัด พบมากในเด็กอายุ 2 - 14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6 - 8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิต้านทานที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นโรคติดต่อแพร่หลายได้รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง มักพบระบาดตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
สาเหตุ เกิดจากเชื้อหัดซึ่งเป็นไวรัส ที่มีชื่อว่า รูบีโอลาไวรัส (Rubeola Virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือ หายใจรดกัน ระยะฟักตัว 9 - 11 วัน
อาการ
มีอาการตัวร้อนขึ้นมาทันทีทันใด ในระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผิดกันตรงที่จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย ร้องงอแง เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆเป็นเสียงแค๊กๆน้ำตาไหล ตาแดง ไม่สู้แสง(จะหรี่ตาเมื่อถูกแสงสว่าง) หนังตาบวมตู่ อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดินในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้นหลังมีไข้ 3 - 4 วัน เป็นผื่นแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน ผื่นนี้จะจางหายได้เมื่อดึงรั้งผิวหนังให้ตึง ต่อมาผื่นจะลามไปหน้าผาก ใบหน้าลำตัวและแขนขา โดยจะค่อยๆแผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง รูปร่างไม่แน่นอน อาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นของหัดจะไม่จางหายไปทันทีเช่นไข้ออกผื่นอื่นๆ แต่จะค่อยๆ จางหายไปใน4 - 7 วัน และจะเหลือให้เป็นรอยแต้มสีน้ำตาลอ่อน บางคนอาจมีหนังลอก อาการไข้จะขึ้นสูงสุดในระยะใกล้ๆ มีผื่นขึ้นและจะเริ่มลดเมื่อผื่นขึ้นแล้ว อาการทั่วๆไปจะค่อยๆดีขึ้นพร้อมกับที่ผื่นจางแต่อาจจะมีอาการไอต่อไปได้อีก ในรายที่มีโรคแทรกซ้อน อาจมีอาการหอบ ท้องเดิน ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือชัก
สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้ 38.5 - 40.5 องศาเซลเซียส หน้าแดง ตาแดง หน้าตาบวมตู่ เปลือกตาแดง ระยะ 2 วันหลังมีไข้พบจุดสีขาวๆเหลืองๆขนาดเล็กๆคล้ายเมล็ดงาที่กระพุ้งแก้มบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง(ถ้าเป็นมากจะพบอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม) เรียกว่า จุดค็อปลิก(Koplik's spot) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหัด หลังมีไข้ขึ้น 3 - 4 วัน จะพบผื่นขึ้นที่หน้า ซอกคอ หลังหู ลำตัว แขนขา ปอดจะมีเสียงปกติ ยกเวันถ้ามีโรคปอดอักเสบแทรกใช้เครื่องตรวจอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation)
อาการแทรกซ้อนมักจะพบในเด็กที่ขาดอาหารหรือมีร่างกายที่อ่อนแอ ที่พบบ่อยคือ ปอดอักเสบ , ท้องเดิน , ซึ่งมักจะพบหลังผื่นและไข้เริ่มทุเลาลงแล้ว อาจพบหูชั้นกลางอักเสบ , ปากเปื่อย , หลอดลมอักเสบ , เยื่อตาขาวอักเสบ , ที่รุนแรงถึงตายได้ คือสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 คน ใน 1,000 - 3,000 คนที่ออกหัด มีอาการหลังผื่นขึ้นประมาณ 4 - 5 วัน โดยกลับมีไข้สูง ปวดศีรษะซึม และไม่รู้สึกตัวหรือชักกระตุก นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง มี โอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น ถ้ามีเชื้อมาลาเรียอยู่ก่อนก็จะเป็นมาลาเรียรุนแรงได้ หรือไม่ก็อาจกลายเป็นโรคขาดอาหาร
การรักษา
  1. ให้ดูแลปฏิบัติตัว เหมือนไข้หวัด คือ พักผ่อน ,ห้ามอาบน้ำเย็น,ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง,ดื่มน้ำสุกและน้ำหวานมากๆ ,ไม่ต้องงดของแสลง แต่ควรให้กินอาหารประเภทเนื้อนมไข่มากๆ
  2. ให้ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ถ้าไอให้ยาแก้ไอ ถ้าเด็กชักให้ฟีโนบาร์บิทาล เป็นต้น
  3. ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเป็นเพราะนอกจากไม่มีความจำเป็นเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรง(จากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส เข้าไปซ้ำเติม)ซึ่งยากแก่การรักษาได้
  4. ถ้าเด็กมีอาการท้องเดิน ให้รักษาแบบท้องเดิน
  5. ถ้าเด็กมีอาการไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียวหรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ(Crepitation)หรือมีเสียงอี๊ด(Rhonchi) ให้ยาปฏิชีวนะ เช่นเพนวี , แอมพิซิลลิน , หรืออีริโทรมัยซิน
  6. ถ้าเด็กมีอาการหอบมาก(สงสัยเป็นปอดอักเสบรุนแรง) หรือท้องเดินจนมีอาการขาดน้ำรุนแรงหรือ ซึม ชัก (สงสัยเป็นสมองอักเสบ) ควรส่งโรงพยาบาลด่วนอาจมีอันตรายถึงตายได้
ข้อแนะนำ
อย่าให้ยาปฏิชีวนะแก่คนที่เป็นหัดอาจทำให้เป็นปอดอักเสบ

กลับสู่หน้าแรก

หัดเยอรมัน/เหือด (German measles/Rubeola)
หัดเยอรมัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มีอาการไข้และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกน้อยกว่าหัด เนื่องจากแพทย์ชาวเยอรมันเป็นผู้อธิบายว่าโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากหัดเป็นคนแรก โดยทั่วไปจึงเรียกโรคนี้ว่าหัดเยอรมัน ส่วนในบ้านเรามีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าเหือด โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สำคัญคือ ถ้าเกิดในผู้หญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรกเชื้ออาจแพร่กระจายเข้าทารกในครรภ์ทำให้ทารกพิการได้ โรคนี้มักพบระบาดในโรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน ที่มีคนอยู่มากๆ
สาเหตุ เกิดจากเชื้อหัดเยอรมัน เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา(Rubella) ซึ่งมักมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัดหรือหัด ระยะฟักตัว 14 - 21 วัน
อาการ
มีไข้ต่ำๆถึงปานกลาง ร่วมกับมีผื่นเล็กๆ สีชมพูอ่อนขึ้นกระจายทั่วไปผื่นมักอยู่แยกจากกันชัดเจน(แต่อาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นได้) เริ่มขึ้นที่หน้าผากตรงชายผม รอบปาก และใบหูก่อน แล้วลงมาที่คอ ลำตัวและแขนขา ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ ผื่นอาจขึ้นในวันเดียวกับที่มีไข้ หรือหลังมีไข้ 1 - 2 วัน มักจะจางหายภายใน 3 - 5 วัน โดยจางหายไปอย่างรวดเร็วไม่ทิ้งรอยแต้มดำๆให้เห็นเหมือนผื่นของหัด บางคนอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ หรือมีไข้โดยไม่มีผื่น บางคนอาจมีอาการแสบตาเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย อาการโดยทั่วไปมักไม่ค่อยรุนแรง และดูท่าทางค่อนข้างสบาย บางคนอาจติดเชื้อหัดเยอรมันโดยไม่มีอาการแสดงใดๆเลยก็ได้
สิ่งที่ตรวจพบ ไข้ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส ผื่นแดงเล็กๆ กระจายทั่วตัว ตาแดงเล็กน้อย ที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ถึงลักษณะของโรคนี้คือมีต่อมน้ำเหลืองโต(คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ)ตรงหลังหู หลังคอ และท้ายทอย
อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย สมองอักเสบอาจพบได้บ้าง แต่น้อยมากข้อสำคัญ คือถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้(ครรภ์ภายในเดือนที่ 1 พบทารกพิการถึง 10% - 50, ภายในเดือนที่ 2 พบได้ 14% - 25% , ภายในเดือนที่ 3 พบได้ 6% - 17% และหลังเดือนที่ 3 พบได้ 0 - 5%) ทำให้ทารกที่คลอดออกมาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแบบต่างๆ(ที่พบบ่อยคือ patent ductus arteriousus) เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบ(ดีซ่าน) ซีด มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน เป็นต้น ความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกันหรือเป็นเพียงอย่างเดียวก็ได้ การช่วยเหลือให้สู่ภาวะปกติทำได้น้อยราย เราเรียกทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะอยู่ในครรภ์ดังกล่าวนี้ว่าโรคหัดเยอรมันโดยกำเนิด (Congenital rubella)
การรักษา
  1. สำหรับหัดเยอรมันที่พบในเด็ก และผู้ใหญ่ทั่วๆไป(ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์)ให้การรักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ , ถ้าคันทายาแก้ผดผื่นคัน , โดยทั่วไปมักจะหายภายใน 3 - 5 วัน
  2. ถ้าพบหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ ถ้าเป็นจริงควรแนะนำให้ทำแท้ง
ข้อแนะนำ
หัดเยอรมันอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

กลับสู่หน้าแรก

ส่าไข้ (Roseolar infantum)
ส่าไข้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุต่ำกว่า 2 ขวบ มักไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ระยะฟักตัว 7 - 17 วัน
อาการ
มีอาการไข้สูงขึ้นทันทีทันใด และมักจะมีไข้สูงตลอดเวลาเด็กอาจซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร แต่ไม่มีน้ำมูก หรืออาการที่ร้ายแรงอื่นๆ จะมีไข้อยู่นาน 1 - 15 วัน (โดยเฉลี่ย 3 วัน) แล้วอยู่ดีๆไข้จะลดลงเป็นปกติ หลังจากไข้ลงไม่กี่ชั่วโมง ก็จะปรากฏผื่นแดงเล็กๆขึ้นตามตัวคล้ายๆผื่นของหัด เมื่อผื่นขึ้นเด็กจะกลลับแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง อาการของโรคนี้จะต่างจากหัด ซึ่งหัดเมื่อผื่นขึ้นจะยังมีไข้สูง และมีอาการรุนแรงกว่า
สิ่งที่ตรวจพบ ในระยะก่อนผื่นขึ้น จะพบว่ามีไข้สูง อาจถึง 41องศาเซลเซียส(160 องศาฟาเรนไฮ) ในระยะหลังไข้ลงแล้ว จะพบผื่นแดงเล็กๆขึ้นตามตัวและเด็กดูท่าทางสบายดี ส่วนมากพ่อแม่จะพาเด็กมาหาหมอในระยะนี้
อาการแทรกซ้อน ถ้าตัวร้อนจัด อาจชักจากไข้สูง
การรักษา
  1. ให้ยารักษาตามอาการคือ ดื่มน้ำมากๆให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลน้ำเชื่อม ครึ่ง - 1 ช้อนชา ทุก 4 - 6 ชม. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว
  2. ถ้ามีไข้สูงจัด หรือเด็กเคยชักมาก่อนให้ ยากันชัก ฟีโนบาร์บิทาล 1 -2 เม็ด ทุก 8 - 12 ชม.
ข้อแนะนำ
ส่าไข้จะมีผื่นขึ้นเมื่อไข้ลงแล้ว

กลับสู่หน้าแรก

อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)
อีสุกอีใส เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็ก แต่พบได้น้อยมากในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสหรือใช้ของใช้ร่วมกัน(เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน)ร่วมกับคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดระยะฟักตัว 10 - 20 วัน
อาการ
เด็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อยในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มมีไข้หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อนต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆอยู่ข้างในและมีอาการคันต่อมาจะหลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้น 2 - 4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก(ชุด)ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่าบางทีขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางทีเป็นตุ่มใสบางทีเป็นตุ่มกลัดหนอง และบางทีเริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)
สิ่งที่ตรวจพบ
มีผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง มักพบว่ามีไข้ ตุ่มของอีสุกอีใส แยกออกจากไข้ทรพิษหรือฝีดาษ(ซึ่งสูญพันธ์ไปจากโลกแล้ว) ได้โดยที่ตุ่มของไข้ทรพิษจะขึ้นหลังจากมีไข้ประมาณ 3 วัน กระจายอยู่ตามแขนขา มากกว่าลำตัว และตุ่มจะสุกพร้อมกันทั่วร่างกาย
อาการแทรกซ้อน
พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรง ขึ้น ที่พบได้บ่อย คือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้ตายได้ มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่ร้ายแรง คือสมองอักเสบ แต่พบได้น้อยมากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตอรอยด์ หรือ ยารักษามะเร็ง
การรักษา
  1. แนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย เช่น พักผ่อนดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูงห้ามอาบน้ำเย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆถ้าปากเปื่อยลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปากควรอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด(อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เช่น ไฟโซเฮกซ์ ก็ได้) เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นและพยายามอย่าแกะหรือเกาตุ่มคัน อาจทำให้ติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้
  2. ให้ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ทาคาลาไมน์โลชั่น ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ หรือยากล่อมประสาทเป็นต้น (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน)
  3. ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราซัยคลีน หรือ เจนเชียนไวโอเลต ถ้าเป็นมากให้กินยา ปฏิชีวนะ เช่น เพนวี แอมพิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน
  4. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาลด่วน
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ไข้อาจมีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1 - 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจเป็นนานกว่าผู้ป่วยเด็ก
  2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัด ในภายหลังได้
  3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตอรอยด์ทั้งยากิน(เช่น ยาชุด)และยาทา เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
  4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้คือ ระยะตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นตุ่มขึ้นจนกระทั่งระยะ 6 วัน หลังผื่นตุ่มขึ้น
  5. ไม่มีของแสลงสำหรับโรคนี้ ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารพวกโปรตีน(เช่น เนื้อ นม ไข่)ให้มากๆ เพื่อให้ภูมิต้านทานโรค
เด็กที่เป็นอีสุกอีใส ควรตัดเล็บให้สั้น และอย่าเกาตุ่มคัน อาจทำให้เป็นแผลเป็นได้

กลับสู่หน้าแรก

คางทูม (Mumps/Epidemic parotitis)
คางทูม เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำลายโดยมากมักจะเป็นต่อมน้ำลายข้างหู(Parotid gland)พบมากในเด็กอายุ 6 - 10 ปี มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ หรือผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี อาจพบระบาดได้เป็นครั้งคราว
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่ม paramyxovirus อยู่ในน้ำลายเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จามหรือหายใจรดกัน ระยะฟักตัว 14 - 20 วัน
อาการ
มักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดในรูหูหรือหลังหู ขณะเคี้ยวหรือกลืนนำมาก่อน 1 - 3 วัน ต่อมาพบว่าบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการปวดบวมและกดเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นอาจมีลักษณะแดงร้อนและตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวไปที่หูขณะกลืน เคี้ยวหรืออ้าปาก บางคนอาจมีอาการบวมที่ไต้คางร่วมด้วย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบของต่อมน้ำลายทั้ง 2 ข้าง โดยห่างกันประมาณ 4 - 5 วัน อาการบวมจะค่อยๆยุบหายไปใน 7 - 10 วัน บางรายอาจมีอาการขากรรไกรบวมโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน หรือมีเพียงไข้ โดยขากรรไกรไม่บวมก็ได้
สิ่งตรวจพบ ไข้ 38 - 40 องศาเซลเซียส บางรายอาจไม่มีไข้ บริเวณขากรรไกรบวม ข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างรูเปิดของท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้ม(บริเวณตรงกับฟันกรามบนซี่ที่ 2) อาจมีอาการบวมแดงเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ที่พบบ่อย ได้แก่ลูกอัณฑะอักเสบ (Orchitis)ซึ่งจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ลูกอัณฑะปวดและบวม(จะปวดมากใน 1 - 2 วันแรก) มักพบหลังเป็นคางทูม 7 - 10 วัน แต่อาจพบก่อนหรือพร้อมๆ กับคางทูมก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียวและน้อยรายที่จะกลายเป็นหมัน มักพบหลังวัยแตกเนื้อหนุ่ม(อาจพบได้ประมาณ 25%) ในเด็กอาจพบได้บ้าง แต่น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก อาจพบรังไข่อักเสบ(Oophoritis) ซึ่งจะมีอาการไข้และปวดท้องน้อย มักพบในวัยแตกเนื้อสาว อาจพบเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง ส่วนสมองอักเสบอาจพบได้บ้างแต่น้อยมาก ถ้าพบอาจมีอาการรุนแรงถึงตายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบตับอ่อนอักเสบ หูขั้นในอักเสบ ประสาทหูอักเสบ (อาจทำให้หูตึงหูหนวกได้)ไตอักเสบ ต่อมธัยรอยด์อักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ล้วนเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก
การรักษา
  1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้นอนพัก ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้แก้ปวด ใข้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม บ้วนปากด้วยน้ำผสมเกลือบ่อยๆ ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
  2. ถ้ามีลูกอัณฑะอักเสบแทรก ให้เพร็ดนิโซโลน ผู้ใหญ่ให้กินครั้งแรก 12 เม็ด ให้วันละ 4 ครั้งๆ ละ 2 - 3 เม็ด ประมาณ 5 - 7 วัน ควรให้ยาลดกรดกินควบกันโรคกระเพาะด้วย(เด็กให้ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน)
  3. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรือซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวให้ส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ข้อแนะนำ
ชายหนุ่มที่เป็นคางทูม อาจมีอัณฑะอักเสบแทรกซ้อนได้

กลับสู่หน้าแรก

คออักเสบ/ต่อมทอนซิลอักเสบ (Pharyngitis/Tonsillitis)
การอักเสบภายในลำคอและต่อมทอนซิล มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้มีไข้สูงและเจ็บคอ คออักเสบที่เกิดจากไวรัส ที่พบได้บ่อย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ พวกนี้มักจะมีน้ำมูกใสๆ ต่อมทอนซิลไม่แดงมาก และไม่มีหนอง เมื่อพูดถึงต่อมทอนซิลอักเสบ เรามักจะหมายถึงการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อ เบตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ซึ่งอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กวัยเรียน และพบได้เป็นครั้งคราวในผู้ใหญ่
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซี่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ คือ เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เบตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่ม เอ(Bata Streptococcus group A)ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบ ติดต่อโดยการหายใจ ไอหรือจามรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด
อาการ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน จะมีไข้สูงซึ่งเกิดขี้นทันทีทันใด และมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวหรือหนาวสะท้าน รู้สึกแห้งผากในลำคอหรือเจ็บในคอมาก บางคนอาจเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียน ไอ ปวดท้อง หรือท้องเดินร่วมด้วย เด็กบางคนอาจมีไข้สูงจนชัก หรือร้องกวนไม่ยอมนอน บางครั้งอาจสังเกตเห็นมีก้อนบวมและเจ็บ(ก้อนลูกหนูหรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบ)ที่บริเวณใต้คางข้างหนึ่งข้างใดหรือทั้งสองข้าง
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อย มักไม่มีไข้หรือบางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ
สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้สูง 39 - 40 องศาเซลเซียส ในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะพบต่อมทอนซิลบวมโต มีสีแดงจัด และมีหนองขาวๆ เหลืองๆ เป็นจุดๆ อยู่บนต่อมทอนซิล ซึ่งเขี่ยออกง่าย ถ้าพบเป็นแผ่นขาวปนเทาซึ่งเขี่ยออกยาก และมีเลือดออก ควรนึกถึงคอตีบ นอกจากนี้อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางบวมและเจ็บในรายที่ต่อมทอนซิลโตมากๆ จนดันลิ้นไก่เบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ควรนึกถึงโรคฝีของทอนซิล ในรายที่เป็นเรื้อรัง พบว่าต่อมทอนซิลโต ผิวขรุขระแต่ไม่แดงมาก และพบตุ่มน้ำเหลืองบนผนังคอเป็นลักษณะแดงเรื่อและสะท้อนแสงไฟ ต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางมักจะโตและเจ็บเรื้อรัง
อาการแทรกซ้อน
  1. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ , ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ , จมูกอักเสบ , ไซนัสอักเสบ , ฝีของทอนซิล(Perritonsillar abscess) , ปอดอักเสบ
  2. เชื้ออาจแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นข้ออักเสบเฉียบพลัน , กระดูกอักเสบ(osteomyelitis) ,เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  3. โรคแทรกที่เกิดจากเบตาสเตรปโตค็กคัส กลุ่ม เอ ที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบ 1 - 4 สัปดาห์
การรักษา
  1. แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนและดื่มน้ำหวานบ่อยๆ ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ ครึ่งช้อนโต๊ะ ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2 - 3 ครั้ง
  2. ให้ยาลดไข้ เด็กเล็กที่เคยชักให้ฟีโนบาร์บิทาล ร่วมด้วย
  3. ในรายที่ต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งต่อมทอนซิลมักจะมีลักษณะสีแดงจัด หรือมีจุดหนองหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางบวมและเจ็บ ให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ตัวที่แนะนำคือ เพนวี วันละ 4 ครังๆละ 200,000 - 400,000 ยูนิต ถ้าแพ้ยานี้ให้ใช้อีริโทรมัยซินแทน ให้ยาสัก 3 วันดูก่อนถ้าดีขึ้นควรให้ต่อจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิด ไข้รูมาติก หรือหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน
  4. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันหรือกินยาไม่ได้หรือสงสัยมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง ให้แนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และไม่มีประวัติการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องใช้ยาฉีดประเภทเพนิซิลลิน ที่สะดวกได้แก่ เบนซาทีนเพนิซิลลิน , เพนาเดอร์ ซึ่งใช้ฉีดเพียงเข็มเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นฝึของทอนซิล อาจต้องผ่าหรือเจาะเอาหนองออก
  5. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรแนะนำไปโรงพยาบาลอาจต้องรักษาด้วยดารผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (tonsillectomy) ถ้าเป็นปีละหลายครั้ง(มากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป)จนเสียงานหรือหยุดเรียนบ่อย หรือมีอาการอักเสบของหูบ่อยๆ นอกจากนี้ในรายที่เป็นฝีของทอนซิลแทรกซ้อนอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล เพราะถ้าทิ้งไว้ก็อาจมีการอักเสบเรื้อรังได้ การผ่าตัดทอนซิลมักจะทำในช่วงอายุ 6 - 7 ปี
ข้อแนะนำ
เมื่อสงสัยต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ควรให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10 วัน

กลับสู่หน้าแรก

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)
ไข้อีดำอีแดง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เคยพบการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มเด็กนักเรียนเป็นครั้งคราว โรคนี้เกิดจากเชื้อเบตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับที่ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ ดังนั้นจึงมีอาการ โรคแทรกซ้อนและการรักษาเช่นเดียวกับต่อมทอนซิลอักเสบ
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เบตาสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ติดต่อโดยการหายใจ ไอหรือจามรดกัน
อาการ
มีไข้สูง เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดงหรือมีจุดหนองลิ้นเป็นฝ้า บางครั้งอาจมีอาเจียน ในวันที่ 2 หลังมีไข้ จะมีผื่นแดงเรื่อๆ ขึ้นที่หน้า(ยกเว้นบริเวณรอบๆปาก)ในวันต่อมาผื่นจะกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็ว บางคนอาจรู้สึกคัน ลิ้นอาจมีลักษณะหนาขึ้นและออกเป็นสีชมพูคล้ายผลสตรอเบอรี เรียกว่า ลิ้นสตรอเบอรี (Strawbery tongue) ในวันที่ 6 หลังมีไข้ผื่นจะเริ่มจาง แล้วผิวหนังและลิ้นจะเริ่มลอก อาการหนังลอกอาจเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์
อาการแทรกซ้อน เช่นเดียวกันต่อมทอนซิลอักเสบ
การรักษา เช่นเดียวกับต่อมทอนซิลอักเสบ
กลับสู่หน้าแรก

คอตีบ/ดีฟทีเรีย (Diphtheria)
โรคคอตีบ หรือ ดีฟทีเรีย(Diphtheria)เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี บางครั้งอาจพบระบาดซึ่งมักเกิดในฤดูหนาวส่วนมากจะพบในเด็กอายุ 1 - 10 ปี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคอตีบ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า โครินแบคทีเรียมดีฟทีเรีย (Corynbacterium diphtheriae)ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ส่วนมากจะติดต่อโดยการหายใจ ไอหรือจามรดกัน ระยะฟักตัว ประมาณ 1 - 7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอเล็กน้อย แต่จะรู้สึกกลืนลำบาก คลื่นใส้อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเสียงแหบ หายใจเสียงดังครู๊ป(stridor)หายใจลำบาก ตัวเขียว ในรายที่มีการอักเสบของโพรงจมูก(ซึ่งพบได้ส่วนน้อย)อาจทำให้มีเลือดปนน้ำเหลืองไหลออกจากจมูก ซึ่งส่วนใหญ่จะออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียว
สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้ 38.5 - 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (Whitegrayish membrand) ซึ่งแลดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าฝืนเขี่ยจะทำให้มีเลือดออกได้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมักจะโต บางคนอาจมีอาการคอบวมมาก คล้ายๆคอวัว เรียกว่า อาการคอวัว(Bull neck)
อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ เชื้อคอตีบสามารถปล่อยสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และประสาทอักเสบ (neuritis) ได้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 14 ของการเจ็บป่วย (แต่อาจพบได้ระหว่างสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 6) ทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ(ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ) ถ้ารุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจวาย และอาจถึงตายอย่างเฉียบพลันประสาทอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลำบาก พูดเสียงขึ้นจมูก ขย้อนน้ำและอาหารออกทางจมูก หรืออาจมีอาการตาเหล่ เห็นภาพซ้อน หรืออาจทำให้แขนขาเป็นอัมพาตและชา อาการเหล่านี้อาจพบตั้งแต่สัปดาห์แรกจนกระทั่งสัปดาห์ที่ 3 - 6 อาการอัมพาตมักจะเป็นเพียงชั่วคราว และหายได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ (ตรวจพบสารไข่ขาว ในปัสสาวะ ปัสสาวะออกน้อย)เป็นต้น
การรักษา
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยอาจให้ เพนิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน ก่อนส่ง ควรนำหนองในลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้ออาจตรวจเลือด(พบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ)และอาจตรวจคลื่นหัวใจในรายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย การรักษาให้ยาต้านพิษคอตีบ(Diphtheria antitoxin)และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน หรืออีริโทรมัยซิน ในรายที่หายใจลำบาก อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ
ข้อแนะนำ
  1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และน้ำมูกน้ำลายเสมหะของผู้ป่วยควรทำการกำจัดเสีย
  2. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระมัดระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัย
  3. พาเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน)ป้องกัน
  4. เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบ ก็อย่าลืมนึกถึงสาเหตุจากเชื้อคอตีบ
  5. โรคนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีนดีพีทีซึ่งควรฉีดตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน

กลับสู่หน้าแรก

ครู๊ป (Croup)
ครู๊ป หมายถึงกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น(จมูก และลำคอ) ลงไปถึงทางเดินหายใจส่วนกลาง (กล่องเสียงและหลอดลม) ทำให้มีอาการไอเสียงแหบห้าว หายใจมีเสียงดังครู๊ป (Stridore) และหายใจลำบาก บางคนเรียกว่า " คอตีบเทียม "
สาเหตุ มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
  1. เชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี
  2. เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคอตีบ ที่ทำให้เป็นโรคคอตีบ ,ฮีโมฟิลลุสอินฟลูเอนซา (Hemophilus influenza) ที่ทำให้เกิดโรคลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน (Acute epiglottitis) ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 3 - 7 ปี
  3. สิ่งแปลกปลอม ดูเรื่อง หลอดลมอุดตันจากสิ่งแปลกปลอม
  4. การแพ้ ซึ่งทำให้กล่องเสียงบวม ดูเรื่อง " ลมพิษ"
  5. ไม่ทราบสาเหตุ เช่น สปาสโมดิกครู๊ป (Spasmodic croup) ซึ่งพบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ มักมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ ครู๊ปจากไวรัส ลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน และสปาสโมดิกครู๊ป
อาการ
ครู๊ปจากไวรัส (Viral croup /Laryngotracheo) ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อนหลายวันต่อมาจะมีอาการไอเสียงแหบห้าว หายใจเสียงดังครู๊ปๆ ซึ่งมักจะป็นตอนกลางคืน ผู้ป่วยอาจลุกขึ้นตอนกลางคืนมีอาการหายใจลำบาก คอบุ๋ม ซี่โครงบุ๋ม ถ้ารุนแรงอาจมีอาการตัวเขียว การใช้เครื่องฟังตรวจอาจได้ยินเสียงอี๊ด (rhonch) และเสียงวี๊ด (wheezing) บางคนอาจมีไข้ ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้เองในตอนเช้า แต่ตกกลางคืนอาจมีอาการกำเริบได้อีก อาการมักเป็นอยู่ 3 - 4 วัน ลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน อาการมักเกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง โดยอยู่ๆผู้ป่วยมีไข้สูง เจ็บคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจลำบาก และมีเสียงดังครู๊ป การตรวจร่างกายถ้าพบว่าคอแดง ลิ้นกระบอกเสียง(epigiottis)แดง คอบุ๋ม ซี่โครงบุ๋ม การฟังปอดพบว่าเสียงหายใจค่อย และอาจมีเสียอี๊ด(rhonchi) สปาสโมดิกครู๊ป มักเป็นเฉพาะตอนกลางคืนด้วยอาการไอและมีเสียงดังครู๊ป(stridor) โดยไม่มีไข้เสียงแหบไม่มาก บางคนอาจมีอาการหลังจากเป็นไข้หวัดหรือหลังถูกควันหรืออากาศเย็น อาการมักจะไม่รุนแรง และเป็นอยู่ไม่กี่ชั่วโมง พอรุ่งเช้ามักจะหายเป็นปกติ แต่ตกกลางคืนอาจเป็นซ้ำได้อีก 2 - 3 คืน
อาการแทรกซ้อน
ครู๊ปจากไวรัส อาจมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนทำให้ปอดอักเสบ , โลหิตเป็นพิษ ลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน อาจทำให้ปอดอักเสบ , ภาวะมีหนองในช่องปอด หรือเชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดฝึตามอวัยวะต่างๆ ถือเป็นโรคร้ายแรงถึงตายได้ สปาสโมดิกครู๊ป ไม่มีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่อาจเป็นซ้ำอีก
การรักษา
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบว่าไข้สูง หายใจลำบาก ตัวเขียว อ่อนเพลียมาก หรือพบแผ่นฝ้าขาวในลำคอ(ชวนให้สงสัยว่าเป็นคอตีบ) ถ้าเกิดจากไวรัส ให้ทำการรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือ ยาลดไข้ ให้ออกซิเจน พ่นฝอยละอองน้ำให้ความชื้น เป็นต้น ยาปฏิชีวนะจะให้ต่อเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าหายใจลำบากอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจถ้าลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน ให้รักษาด้วยแอมพิซิลลิน ครั้งแรกให้ 150 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.เข้าหลอดเลือดดำทันที แล้วตามด้วยขนาด 200 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง และรักษาตามอาการแบบครู๊ปจากไวรัส ถ้าหายใจลำบากอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจถ้าเป็นสปาสโมดิกครู๊ป ไม่ต้องให้ยาอะไร ขณะที่มีอาการให้ใช้ไม้กดลิ้นหรือนิ้วแหย่ภายในลำคอ ทำให้เกิดอาการอาเจียน อาจช่วยให้อาการทุเลาได้
ข้อแนะนำ
  1. ทุกครั้งที่พบเด็กมีอาการไอเสียงแหบ หายใจดังครู๊ป และหายใจลำบาก ควรนึกถึงสาเหตุร้ายแรง เช่น คอตีบ , หลอดลมอุดตันจากสิ่งแปลกปลอม , ลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น และควรส่งโรงพยาบาลด่วน เพราะหากชักช้าอาจเป็นอันตรายได้
  2. ขณะที่พบเด็กมีอาการ ควรวางอ่างน้ำไว้ข้างๆเพื่อให้เด็กได้รับความชื้นจากไอน้ำที่ระเหย

กลับสู่หน้าแรก

กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
กล่องเสียง (larynx) เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงไปจากคอหอย (pharynx) และอยู่ตรงส่วนบนของหลอดลมใหญ่(trachea) การอักเสบของกล่องเสียง มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยมากจะเกิดตามหลังไข้หวัด เจ็บคอ บางครั้งอาจเกิดจากการระคายเคือง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือการใช้เสียงมาก (เช่น ร้องเพลง สอนหนังสือ)
อาการ ที่สำคัญ คือ เสียงแหบแห้ง บางคนอาจเป็นมากจนไม่มีเสียง อาจรู้สึกเจ็บคอเวลาพูด บางคนอาจมีอาการไข้ เป็นหวัด เจ็บหรือไอร่วมด้วย โดยทั่วไปมักจะเป็นอยู่ไม่เกิน 7 วัน
อาการแทรกซ้อน อาจเป็นหลอดลมอักเสบ , ปอดอักเสบ
การรักษา
  1. งดเหล้า บุหรี่ และพักการใช้เสียง จนกว่าอาการจะดีขึ้น ควรให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ หรือสูดไอน้ำร้อนบ่อยๆ
  2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ
  3. เฉพาะในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีเสลดเหลืองหรือเขียวหรือคอแดงจัดให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี , แอมพิซิลลิน
  4. ถ้ามีอาการหอบ ควรส่งโรงพยาบาลด่วน อาจมีสาเหตุจากคอตีบ หรือ ครู๊ป
  5. ถ้าเสียงแหบเป็นอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์ ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด อาจเป็นเนื้องอกของกล่องเสียง(papilomas, polyps) มะเร็งของกล่องเสียง(พบมากในคนที่สูบบุหรี่จัด),วัณโรคของกล่องเสียงหรือสาเหตุอื่นๆ
ข้อแนะนำ
อาการเสียงแหบมักพบในคนที่เป็นไข้หวัด เจ็บคอหรือไอ คนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าจัด และคนที่ใช้เสียงมาก(เช่น ครู นักเทศน์ นักร้อง) โดยมากจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันเมื่อได้รับการดูแลรักษาแล้ว เสียงควรจะดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่ถ้าพบว่ามีอาการเสียงแหบติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจมีสาเหตุอื่นๆ ซึ่งโดยมากจะเกิดจากเนื้องอกของกลล่องเสียง ซึ่งมักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและหายขาดได้ บางคน(โดยเฉพาะในคนสูงอายุ) อาจเกิดจากมะเร็งของกล่องเสียงก็ได้
อาการเสียงแหบนานเกิน 3 เดือน อาจเป็นโรคร้ายแรง

กลับสู่หน้าแรก

ไอกรน/ไอ 3 เดือน/ไอร้อยวัน (Pertussis/Whooping cough)
ไอกรน เป็นโรคที่พบมากในเด็กอายุ 2 - 6 ปี พบมากในฤดูฝน บางครั้งอาจพบระบาดตามหมู่บ้านหรือโรงเรียน
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไอกรน ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า ฮีโมฟิลุสเพอร์ทัสซิส (Hemophilus pertussis) เชื้อนี้จะมีอยู่ในคอของคนที่เป็นโรคในระยะแรกเท่านั่น ติดต่อโดยการไอหรือจามรดกัน ระยะฟักตัว 7 - 14 วัน
อาการแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ
ระยะแรก มีไข้ต่ำๆ น้ำมูกไหล จาม และไอ คล้ายไข้หวัด อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ระยะที่สอง ระยะนี้จะนานประมาณ 7 - 14 วัน
ระยะที่สอง ระยะไอเป็นชุด มีอาการไอติดต่อกันครั้งละนานๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทันเมื่อหยุดไอจะหายใจเข้ายาวๆ เสียงดังวู้บ (ยกเว้นทารกต่ำกว่า 6 เดือน อาจไม่มีอาการนี้) และมักจะอาเจียน มีเสลดออกมาด้วยเสมอ ในรายที่ไอรุนแรง หน้าจะเขียว ตาโปนแดง เส้นเลือดที่คอโป่ง บางคนไอจนเส้นเลือดฝอยที่ใต้เยื่อบุตาแตกเห็นเป็นปื้นแดงที่ตาขาว และอาจพบรอยบวมช้ำหรือห้อเลือดที่หนังตาด้วย ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักเกร็ง หยุดหายใจ ตัวเขียวเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองได้ อาการไอเป็นชุดดังกล่าวมักจะเป็นมากตอนกลางคืน หรือถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกควันบุหรี่หรือถูกฝุ่น ระยะนี้จะนานประมาณ 1 เดือน แต่จะเป็นมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยมักจะมาหาหมอในระยะนี้ด้วยอาการไอดังกล่าว ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ (ยกเว้นรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรก)
ระยะที่สาม ระยะฟื้นตัว อาการไอจะค่อยๆลดน้อยลงกินข้าวได้มากขึ้น น้ำหนักขึ้นแต่ถ้ามีโรคแทรก เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบก็อาจไอไปอีก 1 - 2 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือ ไอร้อยวัน
สิ่งที่ตรวจพบ
มักตรวจพบอาการคล้ายไข้หวัด โดยส่วนใหญ่ไม่มีไข้คอไม่แดง และเสียงปอดปกติ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบแทรก เวลาใช้เครื่องฟังจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) หรือเสียงอี๊ด (rhonchi) ร่วมกับมีไข้ได้ อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว หนังตาบวมฟกช้ำ อาจพบอาการไอเป็นชุด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้
อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งถ้าพบในทารกอ่อน ๆ อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการชักเกร็งและหยุดหายใจถึงตายได้ เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนระหว่างที่ไอนานๆ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาจพบหลอดลมอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , ปอดแฟบ ในรายที่ไอรุนแรง มักมีเลือดออกที่ใต้ตาขาว (เห็นเป็นปื้นแดง) หรือทำให้ขอบตาเขียวช้ำ บางครั้งอาจมีเลือดออกในสมองหรือในลูกตา แต่พบไม่มากอาจทำให้โรคบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ไส้เลื่อน สะดือจุ่น วัณโรค โรคหัวใจ ฯลฯ กำเริบขึ้นเป็นอันตรายได้
การรักษา
  1. ในรายที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ให้เด็กอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อให้เสมหะใสและขับออกง่าย และควรให้อาหารทีละน้อย และให้ทดแทนหลังอาเจียนหรือให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง(น้ำสุก 1 ขวดแม่โขง + น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ + เกลือแกง 0.5 ช้อนชา) การให้ยาแก้ไอเพื่อระงับอาการไอ มักจะไม่ได้ผล(หากจะให้ ให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบบ่อยๆ) ควรให้ยาฟีโนบาร์บิทาล วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพื่อช่วยให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อน ยาปฏิชีวนะ ควรให้ในระยะที่มีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือในเด็กที่อยู่ใกล้ชิด กับคนที่เป็นแต่ยังไม่เกิดอาการ จะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ ยาที่ใช้คือ อีริโทรมัยซิน ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน นาน 1 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการแสดงเกิน 1 - 2 สัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะ มักไม่ได้ผลยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรก ส่วนอาการเลือดออกที่ตาขาว ไม่ต้องทำอะไรจะค่อยๆจางหายไปได้เอง
  2. ในรายที่มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบหรือหูอักเสบ ให้เพิ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี , แอมพิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน และให้การรักษาแบบเดียวกับ ปอดอักเสบ , หลอดลมอักเสบ , หูอักเสบ
  3. ในทารกที่ชักเกร็ง ตัวเขียว หยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดโดยการเป่าปาก และใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะออก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
  4. ถ้ามีอาการหอบ หรือขาดน้ำรุนแรง ควรส่งโรงพยาบาลด่วน
  5. ถ้าไอเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจมีวัณโรคกำเริบแทรกซ้อนได้
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้เป็นโรคที่แพร่กระจายได้รวดเร็วมาก เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้วก็มักจะไอเรื้อรังเป็นเดือน และจะค่อยๆหายไปเอง บางคนอาจเป็น 3 เดือน ถ้าพบเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาจมีโรคแทรกที่ร้ายแรงได้
  2. ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ถ้าเด็กต้องไปโรงเรียนก็ควรให้หยุดเรียน 1 - 3 สัปดาห์ ภายหลังจากเริ่มมีอาการไอกรนเกิดขึ้น
  3. โรคนี้ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ดีพีที ควรให้สุขศึกษาแก่พ่อแม่ของเด็ก และชักจูงให้รู้จักการฉีดวัคซีนเป็นประจำ เช่นเดียวกับการปลูกฝีในเด็กเล็กในสมัยก่อน
  4. การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย
ป้องกันไอกรนด้วยการฉีดวัคซีน ดีพีที ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ไอกรนพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาจมีอันตรายถึงตายได้

กลับสู่หน้าแรก
กลับสู่หน้าหลัก I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I ระบบทางเดินอาหาร I อุบัติเหตุ สารพิษ I
1