14. วัณโรคปอด (ฝีในท้อง) 15. หลอดลมอักเสบ 16. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมพอง
17. หลอดลมพอง 18. ปอดอักเสบ(ปอดบวม นิวโมเนีย) 19. ภาวะมีหนองหรือน้ำในช่องหุ้มปอด
20. หืด 21. หวัดจากการแพ้ 22. ไซนัสอักเสบ
23. เนื้องอกในรูจมูก 24. เลือดกำเดา 25. สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
กลับสู่หน้าหลัก I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I ระบบทางเดินอาหาร I อุบัติเหตุ สารพิษ

วัณโรคปอด/ฝีในท้อง/ทีบี (Pulmonary tuberculosis/TB)
วัณโรค เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนในเมืองและชนบทโดยเฉพาะตามแหล่งสลัม หรือในที่ๆ ผู้คนอยู่กันแออัด ชาวบ้านเรียกว่า ฝีในท้องมักจะพบในเด็ก,คนแก่,คนที่เป็นโรคเบาหวาน,ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคเอสแอสอีที่ต้องกินยาเพร็ดนิโซโลนอยู่นานๆ ,พวกที่ติดยาเสพติด,คนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่นๆมาก่อน(เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่)คนที่ตรากตรำงานหนักพักผ่อนไม่พอ,ดื่มเหล้าจัด,ขาดอาหาร
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (mycrobacterrium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่า เชื้อเอเอฟบี (AFB/Acid Fast Bacilli) วัณโรคปอดมักจะติดต่อโดยการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอจามหรือหายใจรด ซึ่งจะสูดเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอดโดยตรง ดังนั้น จึงมักมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด(เช่น นอนห้องเดียวกัน หรืออยู่บ้านเดียวกัน)กับคนที่เป็นโรค ส่วนการติดต่อโดยทางอื่นนับว่ามีโอกาสน้อยมากที่อาจพบได้ก็โดยการดื่มนมวัวดิบๆ ที่ได้จากวัวที่เป็นวัณโรค หรือโดยการกลืนเอาเชื้อที่ติดมากับอาหารหรือภาชนะ เชื้อจะเข้าทางต่อมทอนซิลหรือลำใส้ แล้วเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ซึ่งบางครั้งอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดไปยังปอด สมอง กระดูก ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ได้ ผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกายครั้งแรกในระยะที่เป็นเด็ก(บางคนอาจได้รับเชื้อตอนโตก็ได้)โดยไม่มีอาการแสดงแต่อย่างไร ยกเวันบางคนอาจมีอาการของปอดอักเสบเล็กน้อยอยู่สักระยะหนึ่งแล้วหายไปได้เองร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นกำจัดเชื้อวัณโรค คนส่วนมากที่ได้รับเชื้อวัณโรคครั้งแรก จึงมักจะแข็งแรงเป็นปกติดีแต่อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคที่ยังอาจหลงเหลืออยู่บ้างก็จะหลบซ่อนอยู่ในปอดและอวัยวะอื่นๆ อย่างสงบนานเป็นแรมปี ตราบใดที่ร่างกายแข็งแรงดีก็จะไม่เกิดโรคแต่อย่างไร แต่ถ้าต่อมา(อาจเป็นเวลาหลายปีหรือสิบๆปีต่อมา)เมื่อร่างกายเกิดอ่อนแอด้วยสาเหตุใดก็ตาม เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ก็จะแบ่งตัวเจริญงอกงามจนทำให้เกิดเป็นวัณโรคของปอด ซึ่งจะแสดงอาการดังจะได้กล่าวต่อไป นอกจากนี้ คนบางคนที่รับเชื้อวัณโรคเข้าร่างกายครั้งแรก เชื้ออาจลุกลามจนกลายเป็นวัณโรคในทันทีได้ซึ่งอาจกลายเป็นวัณโรคชนิดร้ายแรงได้
อาการ
มักจะค่อยๆเป็นด้วยอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจมีอาการครั้นเนื้อครั่นตัว หรือเป็นไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ต่อมาจึงมีอาการไอ ระยะแรกๆไอแห้งๆ ต่อมาจึงมีเสมหะ ไอมากเวลาเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหาร อาการไอจะเรื้อรังเป็นแรมเดือน แต่บางคนอาจไม่มีอาการไอเลยก็ได้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอกโดยที่ไม่มีอาการไอ ในรายที่เป็นมาก จะหอบหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือดำๆ แต่น้อยรายที่จะมีเลือดออกมากถึงกับช็อก ในรายที่เป็นน้อยๆอาจไม่มีอาการอะไรเลย และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น "จุด" ในปอด ในฟิล์มเอกซเรย์ บางคนอาจมีอาการเป็นไข้นานเป็นแรมเดือน โดยไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด ถ้าเกิดในเด็ก อาการมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันน้อย อาจแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ไต ลำใส้ ฯลฯ
สิ่งที่ตรวจพบ
ซูบผอม อาจมีอาการซีด หายใจหอบ หรือมีไข้ การใช้เครื่องฟังตรวจปอดส่วนใหญ่จะไม่มีเสียงผิดปกติ บางคนอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ซึ่งมักจะได้ยินตรงบริเวณยอดปอดทั้ง 2 ข้าง ถ้าได้ยินไปทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง แสดงว่าอาการลุกลามไปมาก ถ้าปอดข้างหนึ่งเคาะทึบและไม่ได้ยินเสียงหายใจก็แสดงว่ามีน้ำในช่องหุ้มปอด ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยมานานๆ อาจมีอาการนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers) ในรายที่เป็นน้อยๆอาจตรวจไม่พบอะไรชัดเจนก็ได้
อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญ คือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ , ฝีในปอด , น้ำในช่องหุ้มปอด , วัณโรคต่อมน้ำเหลือง (พบบ่อยที่ข้างคอ อาจโตเป็นก้อนร่วมกับไข้เรื้อรังหรือโตต่อกันเป็นสายเรียกว่า ฝีประคำร้อย) ไอออกเป็นเลือดถึงช็อก ที่พบได้น้อยลงไปได้แก่วัณโรคกระดูก (มักพบที่กระดูกสันหลัง มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่งและกดเจ็บ) วัณโรคลำไส้ (มีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดินเรื้อรัง ซูบผอม ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องทำให้ท้องมานได้) ,วัณโรคไต , วัณโรคกล่องเสียง (เสียงแหบ)เป็นต้น
การรักษา
  1. หากสงสัยควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อทำการวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด, ตรวจเสมหะโดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (Acid fast stian) เพื่อค้นหาเชื้อวัณโรค (AFB) หรือทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (Tuberculin test) การรักษาจะต้องให้ยาวัณโรคอย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไป โดยมีไอเอ็นเอช เป็นยาหลัก 1 ชนิด แล้วให้ยาอื่นร่วมด้วยอีก 1 - 2 ชนิด การใช้ยาเพียงชนิดเดียว มักจะรักษาไม่ได้ผล ยาที่ใช้รักษาวัณโรค จึงมีสูตรให้เลือกใช้อยู่หลายแบบ เช่น สเตรปโตมัยซิน + ไอเอ็นเอช + พีเอเอส หรือ อีแทมบูทอล หรือ ไออาเซตาโซน , ไอเอ็นเอช + อีแทมบูทอล , ไอเอ็นเอช + ไทอาเซตาโซน สำหรับสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขจะมียาเม็ดที่มีตัวยา 2 ชนิดผสมกันมีชื่อว่า ไอโซไนอาโซน (Isoniazone) จ่ายให้ผู้ป่วยฟรี รายละเอียดเกี่ยวกับ ขนาด วิธีใช้ ถ้าท่านไม่มีความรู้เพียงพอไม่ควรรักษาด้วยตัวเองให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายได้ นอกจากนี้ให้รักษาตามอาการ เช่น ซีดหรือเบื่ออาหารก็ให้ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต และวิตามินรวมอย่างละ 2 - 3 เม็ดต่อวัน ถ้าไอมีเสลดให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บอเนต 0.5 - 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ควรให้บำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยเฉพาะพวกโปรตีน(เนื้อนมไข่)
  2. ในรายที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น ไอออกเป็นเลือดมากๆ หรือหอบให้ส่งโรงพยาบาลด่วน
  3. เมื่อได้ยารักษาสักระยะหนึ่ง (2- 4 สัปดาห์)อาการจะค่อยๆดีขึ้นควรให้ยาต่อไปทุกวันจนครบ 1.5 - 2 ปี จึงจะหายขาดได้
ข้อแนะนำ
วัณโรครักษาให้หายขาดได้ถ้ากินยาสม่ำเสมอทุกวัน

กลับสู่หน้าแรก

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)
หลอดลมอักเสบ แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน กับชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเฉียบพลันก่อนส่วนชนิดเรื้อรังได้แยกกล่าวไว้ในโรคที่ 16 ต่างหาก หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสลดสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่, ไอเสียรถยนต์,ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการเรื้อรังได้
อาการ
มีอาการไอ ซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4 - 5 วันต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว(เชื้อไวรัส)หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว(เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางคนอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วยเรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (Asthmatic bronchitis)
สิ่งที่ตรวจพบ
ส่วนมากจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางคนอาจมีไข้ การใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจได้ยินเสียงหายใจหยาบ(coarse breath sourd) หรือเสียงอึ๊ด (rhonchi) คนที่มีอาการหอบหืดร่วมด้วย การฟังปอดอาจได้ยินเสียงวี้ด (wheezing)
อาการแทรกซ้อน
โรคนี้มักหายได้ภายใน 1 - 3 สัปดาห์แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยได้แก่ หลอดลลมอักเสบเรื้อรัง , หลอดลมพอง , ถุงลมพอง
การรักษา
  1. แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้นอย่าตรากตรำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น,,ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทำให้ไอมากขึ้น ควรงดสูบบุหรี่ อย่าอยู่ในที่ๆมีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก
  2. ให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม หรือยาที่เข้ายาแก้แพ้ หรือโคเดอีน (codine) เพราะจะทำให้เสลลดเหนียว ขากออกยาก และอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้
  3. ยาปฏิชีวนะ ถ้าเสลดขาว(เกิดจากเชื้อไวรัสหรือการระคายเคือง) ไม่ต้องให้ ถ้าเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว(เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี ,แอมพิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน
  4. ถ้ามีอาการหอบหืด(ฟังเสียงปอดได้ยินเสียงวี้ด) ให้ยาขยายหลอดลม
  5. ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่และอาจไออยู่นาน 2 - 3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล
ถ้าไอมีเสลด ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ และควรงดยาที่กดการไอ

กลับสู่หน้าแรก

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง/ถุงลมพอง
(Chronic bronchitis)/(Emphysema/Chonic obstructive pulmonary disease/COPD)
หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หมายถึง การอักเสบของหลอดลมซึ่งเป็นอยู่เรื้อรังทำให้เยื่อบุผิวหลอดลมฝอยมีการบวมหนา และมีการหลั่งเมือก(เสมหะหรือเสลด)ออกมามากกว่าปกติ เป็นเหตุให้หลอดลมมีลักษณะตีบแคบลง ทำให้ลมหายใจเข้าออกได้ยากลำบากขึ้น โดยทั่วไปเรามักจะวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการไอมีเสลดติดต่อกันทุกวันนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป หรือเป็นอยู่อย่างน้อยปีละ 3 เดือนติดต่อกัน 2 ปีขึ้นไป ถุงลมพอง หมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอดปกติถุงลมอยู่ปลายสุดของปอดซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนล้านๆถุง เป็นถุงอากาศเล็กๆมีหลอดเลือดหุ้มอยู่โดยรอบเป็นที่ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศ กล่าวคือ ก๊าชออกซิเจนในถุงลมซึมผ่านผนังถุงลมและหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือดและก๊าชคาร์บอนไอออกไซด์ในกระแสเลือด ซึมกลับออกมาในถุงลม ถุงลมที่ปกติจะมีผนังที่ยืดหยุ่นทำให้ถุงลมหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปอย่างเต็มที่ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมพองจะมีผนังถุงลมที่เสียความมยืดหยุ่นและเปราะง่ายทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ นอกจากนี้ผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้ถุงลมขนาดเล็กๆหลายๆอันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพอง และพิการด้วยเหตุนี้จึงทำให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการเหนื่อยหอบง่าย ทั้ง 2 โรคนี้มักจะเกิดร่วมกัน จนบางครั้งแยกกันไม่ออก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หลอดลมอักเสบเรื้อรังจะพบมากในช่วงอายุ 30 - 60 ปี ส่วนถุงลมพองพบมากในช่วงอายุ 45 - 65 ปีส่วนใหญ่จะมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานานเป็น 10 ปี ขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่ในย่านที่มีอากาศเสียหรือมีอาชีพทำงานในโรงงานหรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองอยู่เป็นประจำ
สาเหตุ
มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่เป็นสำคัญ (ส่วนน้อยที่เกิดจากฝุ่นละอองหรือสารระคายเคืองต่างๆ)ทำให้หลอดลมมีการระคายเคือง ขนอ่อน(Cilia)บนเยื่อบุผิวของหลอดลมเกิดการพิการไม่สามารถโบกขับเอาเสมหะที่มีเชื้อโรคและฝุ่นละอองออกมาได้ จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมจากเชื้อโรคต่างๆ เป็นประจำ ส่วนถุงลมพองมักเป็นผลแทรกซ้อน ของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังนอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ เช่น หืด วัณโรค หลอดลมพอง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะทำให้หลอดลมตีบแคบ ผู้ป่วยต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ ทำให้แรงดันในปอดสูงเป็นเหตุให้ถุงลมเกิดความพิการในที่สุด
อาการ
หลอดลมอักเสบเรื้อรังจะมีอาการไอมีเสลดเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสลดในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำจนนึกว่าเป็นเรื่องปกติ ต่อมาจะมีอาการไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวันและมีเสลดจำนวนมากขึ้น อาจออกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองหรือเขียว บางครั้งอาจมีไข้หรือไอมีเลือดปนร่วมด้วย เมื่อเป็นนานๆเข้าอาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย การตรวจร่างกายในระยะแรก อาจไม่พบสิ่งผิดปกติต่อมาอาจพบเสียงอี้ด (rhonchi) จากการใช้เครื่องฟังตรวจปอด ถุงลมพอง จะมีอาการเหนื่อยหอบง่ายเวลาทำงาน หรือออกแรงซึ่งจะค่อยๆเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเป็นแรมปี จนในที่สุดแม้แต่เวลาพูดหรือเดินก็รู้สึกเหนื่อยง่ายจนกลายเป็นคนพิการไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอ มีเสลดเรื้อรังแบบหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมด้วยบางครั้งเมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อนอาจมีไขัและไอมีเสลดสีเหลืองหรือเขียวร่วมด้วย ในรายที่เป็นมากๆอาจมีอาการหายใจหอบคล้ายโรคหืด การตรวจร่างกาย ถ้าใช้นิ้วมือเคาะที่หน้าอกของผู้ป่วยจะพบว่ามีเสียงโปร่ง(อาการเคาะโปร่ง)แต่เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะพบว่าเสียงหายใจค่อย(ฟังไม่ค่อยได้ยิน)บางครั้งอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ(crepitation) เสียงอี้ด (rhonchi) หรือเสียงวี้ด (wheezing) เสียงหายใจอาจได้ยินเบากว่าปกติ และได้ยินชัดตรงบริเวณลิ้นใต้ลิ้นปี่ ในรายที่เป็นมากๆอาจตรวจพบอาการนิ้วปุ้ม เล็บเขียว ปากเขียว หรือมีภาวะหัวใจวาย(เท้าบวม นอนราบไม่ได้ เส้นเลือดที่คอโป่ง คล้ำไต้ตับโต)
อาการแทรกซ้อน
หลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนเป็นครั้งคราว ถ้าปล่อยไว้นานๆมักจะกลายเป็นโรคถุงลมพอง หัวใจวายหรือปอดทำงานไม่ได้ดังที่เรียกว่า ภาวะการหายใจล้มเหลว (respiratory failure) ถุงลมพองมักมีโรคปอดอักเสบ แทรกซ้อนเป็นครั้งคราวอาจทำให้เกิดปอดทะลุจากการที่ถุงลมแตกเมื่อเป็นมากๆ ในที่สุดจะเกิดภาวะหัวใจวายหรือภาวะการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยบางคนที่ไอเรื้อรังอาจทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้
การรักษา
  1. แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศเสีย หรือการสูดหายใจเอาสารระคายเคืองต่างๆ ควรให้ดื่มน้ำมากๆเพื่อช่วยขับเสมหะ
  2. ให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ 0.5 - 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 6 ชั่วโมง
  3. ถ้าหอบหรือปอดมีเสียงวี้ด(wheezing)ให้ยาขยายหลอดลม เช่น ยาเม็ดอะมิโนฟิลลิน 1 เม็ดซ้ำได้ทุก 6 - 8 ชั่วโมง ถ้าหอบมากให้ฉีด แอดรีนารีน 0.5 มล.เข้าใต้ผิวหนัง
  4. ถ้าเสลดมีสีเหลืองหรือเขียว ให้ยาปฏิชีวนะเช่น เพนวี แอมพิซิลลิน,เตตราซัยคลีน หรือ โคไตรม็อกซาโซล นาน 7 - 10 วัน
  5. ถ้าไม่ดีขึ้น หรือสังสัยมีภาวะแทรกซ้อน ควรนำส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์,ตรวจเสมหะ,ใช้เครื่องตรวจส่องหลอดลม (Broncoscope) ถ้าเป็นระยะท้ายถึงขั้นที่มีภาวะหายใจล้มเหลว(ปอดทำงานไม่ได้)อาจต้องเจาะคอ และใช้เครื่องช่วยหายใจประทังไประยะหนึ่ง ในที่สุดผู้ป่วยจะหายจากปอดอักเสบแทรกซ้อนระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล
ข้อแนะนำ
  1. บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมพอง ดังนั้นจึงควรป้องกันโรคนี้ด้วยการไม่สูบบุหรี่รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด อาจช่วยป้องกันมิให้โรคลุกลามมากขึ้นได้
  2. ถุงลมส่วนที่พอง และเสียหน้าที่ไปแล้ว จะไม่มีทางกลับคืนดีเช่นปกติ จึงนับว่าเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด การรักษาเพียงแต่บรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ดังนั้นจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ที่มักคุ้นเป็นประจำ อย่าดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลให้สิ้นเปลืองเงินทองและเวลา และอย่าซื้อยาชุดกินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้
  3. ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อเป็นปอดอักเสบได้บ่อย อาจต้องเข้าๆ ออกๆโรงพยาบาลเป็นประจำ เมื่อมีไข้หรือสงสัยจะติดเชื้อควรปรึกษาแพทย์ทันที
  4. โรคถุงลมพอง อาจมีอาการหายใจหอบแบบเดียวกับหอบหืด แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยถุงลมพองจะมีอาการเหนื่อยง่ายอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะหายหอบแล้วก็ตาม ส่วนผู้ป่วยโรคหืดเวลาไม่มีอาการหอบจะเป็นปกติสุขทุกอย่าง

กลับสู่หน้าแรก

หลอดลมพอง (Bronchiectasis)
หลอดลมพอง เป็นภาวะที่หลอดลมขนาดเล็ก เกิดการพองตัวอย่างถาวร และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวและผนังของหลอดลม ทำให้มีการติดเชื้ออักเสบได้บ่อย มักเกิดจากการติดเชื้อของปอด(ปอดอักเสบ,วัณโรคปอด ,ไอกรน)หรือการอุดตันของหลอดลม (เช่น มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม มีก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งมากดหลอดลม) และพบว่าคนที่เป็นโรคนี้ประมาณครึ่งหนึ่งจะป็นโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วย พบได้ในคนทุกอายุ แต่พบมากในช่วงอายุ 20 - 40 ปี
อาการ
ไอเรื้อรัง ออกเป็นหนองจำนวนมากและมีกลิ่นเหม็นถ้าตั้งทิ้งไว้จะแยกออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นชั้นหนองข้นชั้นกลางเป็นของเหลวใส และชั้นบนสุดเป็นฟอง อาการไอจะเป็นมากเวลาตื่นนอนหรือลุกขึ้นจากเตียงนอน ลมหายใจมักมีกลิ่นเหม็น ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จะมีอาการไอออกเป็นเลือดร่วมด้วย อาจออกเป็นหนอง หรือออกเป็นเลือดสดๆจำนวนมาก บางคนอาจไม่มีอาการไอเรื้อรังมาก่อน อยู่ดีๆหรือหลังเป็นไข้หวัดก็ไอมีเลือดออกสดๆ ก็ได้ บางคนอาจเป็นปอดอักเสบเป็นๆหายๆอยู่เรื่อยอาจมีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหารน้ำหนักลด เหนื่อยง่ายหรือหอบ
สิ่งที่ตรวจพบ
ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ(crepitation) และเสียงอี๊ด (rhonchi) ตรงส่วนล่างของปอด(บริเวณใต้สะบัก)ทั้งสองขัาง เสียงหายใจหยาบและดังกว่าปกติ อาจพบนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers) หรือกดเจ็บตรงบริเวณไซนัส แต่บางคนก็อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใดก็ได้
อาการแทรกซ้อน
ถ้าเป็นเรื้อรัง ปอดอาจเสีย ทำงานไม่ได้ทำให้หอบเหนื่อยง่าย หรือกลายเป็นโรคถุงลมพอง อาจทำให้ปอดอักสเบ ได้บ่อย อาจทำให้ไอออกเป็นเลือด ถ้าออกทีละมากๆอาจช็อกได้ แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย
การรักษา
  1. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราซัยคลีน ,เพนวี,แอมพิซิลลิน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7 - 10 วัน และให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ 0.5 - 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 6 ชม. ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้
  2. แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ควรงดบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันมาก และหมั่นระบายเสมหะออกมาโดยการนอนคว่ำพาดกับขอบเตียงและวางศีรษะบนพื้นโดยใช้มือหรือหมอนรอง วันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 5 - 10 นาที
  3. ถ้ามีอาการหอบ(ปอดมีเสียงวี๊ด)ควรให้ยาขยายหลอดลม เช่น อะมิโนฟิลลีน,ทีโอฟิลลิน
  4. ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไอออกเป็นเลือดบ่อย ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกเรย์ปอด ตรวจเชื้อในเสมหะหรือใช้เครื่องมือส่องตรวจหลอดลม หรือ "บรองโคสโคป" (Bronchoscope) ค้นหาสาเหตุ ถ้าเลือดออกมากจนช็อกให้น้ำเกลือ แล้วส่งโรงพยาบาลทันที
ข้อแนะนำ
กลับสู่หน้าแรก

ปอดอักเสบ/ปอดบวม/นิวโมเนีย (Pneumonia)
ปอดอักเสบ หมายถึง การอักเสบของปอดซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรงชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า "นิวโมเนีย" (pneumonia) ชาวบ้านเรียกว่า " ปอดบวม " มักพบในคนที่ไม่แข็งแรง (มีภูมิต้านทานโรคต่ำ) เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กแฝด เด็กขาดอาหารหรือเด็กที่กินนมข้นกระป๋อง คนชรา คนเมาเหล้า คนที่เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (เช่น หืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมพอง) คนที่กินสเตอรอย์เป็นประจำ อาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน ฯลฯ ผู้ป่วยที่ฉีดยาด้วยเข็มสกปรก หรือพวกที่ฉีดยาเสพติดด้วยตนเอง ก็มีโอกาสติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดบวมชนิดร้ายแรง (จากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส) ได้
สาเหตุ
เกิดจากมีเชื้อโรคหรือสารเคมีเข้าไปทำให้มีการอักเสบของปอด ที่สำคัญได้แก่
  1. เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้ ที่พบบ่อยและรักษาได้ง่ายได้แก่ เชื้อปอดบวม หรือ นิวโมค็อกคัส (Pneumococcus) ที่พบน้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส (Strephylococcus) สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) เคล็บซิลลา (Klebsiella)
  2. เชื้อไวรัส เช่น หัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส ฯลฯ
  3. เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งทำให้ปอดอักเสบชนิดที่เรียกว่า Atypical pneumonia เพราะมักจะไม่มีอาการหอบอย่างชัดเจน
  4. เชื้อรา พบได้ค่อนข้างน้อย แต่รุนแรง
  5. สารเคมี ที่พบบ่อยได้แก่ น้ำมันก๊าด ซึ่งผู้ป่วยสำลักเข้าไปในปอด มักจะเป็นที่ปอดข้างขวามากกว่าข้างซ้าย
การติดต่อ อาจติดต่อได้ทางหนึ่งทางใดดังนี้
ก. ทางเดินหายใจ โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน
ข. โดยการสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไป ในปอด
ค. แพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น
อาการ
มักเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง (อาจจับไข้ตลอดเวลา)หนาวสั่น (โดยเฉพาะในระยะที่เริ่มเป็น) และหายใจหอบ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาเสลดขุ่นข้นออกเป็นสีเหลืองสีเขียว สีสนิมเหล็กหรือมีเลือดปน ในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือเวลาไอแรงๆ บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้างหรือท้อง ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่ายหรือชัก
สิ่งตรวจพบ
ไข้สูง 39 - 40 องศาเซลเซียส หน้าแดง ริมฝีปากแดง ลิ้นเป็นฝ้าหายใจตื้นแต่ถี่ๆ อาจมากกว่านาทีละ 40 ครั้ง ซี่โครงบุ๋ม รูจมูกบาน ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการตัวเขียว(ริมฝึปากเขียว ลิ้นเขียว เล็บเขียว) หรือภาวะขาดน้ำ บางรายอาจมีเริมขึ้นที่ริมฝีปาก ปอดอาจเคาะทึบ (dullness) ใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจมีเสียงหายใจค่อย (diminished breath sound) หรือมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ซึ่งมักจะได้ยินตรงใต้สะบักทั้ง 2 ข้าง
อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นฝีในปอด (lung abscess) มีหนองในช่องหุ้มปอด , ปอดแฟบ (atelectasis) หลอดลมพอง, เยื้อหุ้มสมองอักเสบ , เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เยื่อบุช่องท้องอักเสบ , ข้ออักเสบเฉียบพลัน , โลหิตเป็นพิษ ที่สำคัญคือภาวะขาดออกซิเจน และภาวะขาดน้ำซึ่งถ้าพบในเด็กเล็กและคนแก่ อาจทำให้ตายได้รวดเร็ว
การรักษา
  1. ในรายที่เริ่มเป็น ยังไมีมีอาการหอบ ให้ดื่มน้ำมากๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน , แอมพิซิลลิน , อีริโทรมัยซิน , เตตราซัยคลีน หรือ โคไตรม็อกซาโซล ถ้าไอมีเสลด ให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ ถ้าอาการดีขี้นใน 3 วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลับมีอาการหอบควรแนะนำไปโรงพยาบาล
  2. ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ รีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วนหากรักษาไม่ทัน อาจตายได้ ถ้ามีภาวะขาดน้ำควรให้น้ำเกลือ ผู้ใหญ่ให้ 5% D/NSS เด็กให้ 5% D/1/2 NSS ระหว่างเดินทางไปด้วย มักจะต้องทำการตรวจโดยเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ หรือเจาะเลือดไปเพาะเชื้อ และให้การรักษาโดยให้ออกซิเจน น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจให้เพนิซิลลินฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดในขนาดสูงๆ หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ ตามแต่ชนิดของเชื้อที่พบ เช่น เชื้อนิวโมค็อกคัส มักให้เพนิซิลลิน ,เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัสให้คล็อกซาซิลลิน , เชื้อไมโครพลาสมาให้ อีริโทรมัยซิน หรือเตตราซัยคลีน เป็นต้น
ข้อแนะนำ
  1. คนที่มีอาการไข้สูงและหอบ มักมีสาเหตุจากปอดอักเสบ แต่ก็อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆได้
  2. โรคนี้ แม้ว่าจะมีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายขาดได้ ดังนั้นหากสงสัยผู้ป่วยโรคนี้ ควรรีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งโรงพยาบาลทันที
  3. การป้องกัน

กลับสู่หน้าแรก

ภาวะมีหนองในช่องหุ้มปอด/ภาวะมีน้ำในช่องหุ้มปอด (Empyemal)/(Pleural effusion)
ช่องหุ้มปอด คือ ช่องว่างระหว่างเยื่อ 2 ชั้นที่หุ้มอยู่รอบปอด ถ้าหากมีการอักเสบหรือการระคายเคืองของเยื่อหุ้มปอด หรือมีภาวะบางอย่างที่ทำให้น้ำเหลืองซึมเข้าไปอยู่ในช่องหุ้มปอดได้ ก็จะทำให้มีน้ำเหลือง น้ำเลือดหรือหนองขังอยู่ในช่องหุ้มปอดได้ สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น ปอดอักเสบ ,วัณโรคปอด , มะเร็งปอด , ฝีในตับ , เอสแอลอี, โรคปวดข้อรูมาตอยด์,ภาวะหัวใจวาย,โรคไตเนโฟรติก เป็นต้น
อาการ
อาการสำคัญ คือ เจ็บหรือแน่นในหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยขึ้นกับสาเหตุของโรค เช่น อาจมีไข้ ไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดข้อ ปวดท้อง บวม เป็นต้น
สิ่งตรวจพบ
หายใจหอบเร็วกว่าปกติ เคาะทึบ(dullness) และใช้เครื่องฟังตรวจจะไม่ได้ยินเสียงหายใจ ถ้าเป็นมากๆ หลอดลมใหญ่จะถูกดันให้เบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง
การรักษา
ควรนำส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการเอกซเรย์ และเจาะปอดเอาน้ำหรือหนองที่ได้ไปตรวจย้อมและเพาะเชื้อหรือตรวจหาเซลล์มะเร็ง ถ้าพบเป็นหนอง มักเป็นจากปอดอักเสบ ถ้าเป็นสีเหลืองสีเหมือนฟางข้าว ก็มักมีสาเหตุจาก วัณโรค หรือมะเร็ง ถ้าพบเป็นน้ำเลือด ก็มักแสดงว่าเป็นมะเร็ง การรักษา จึงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบเป็นสำคัญ เช่น ให้เพนิซิลลิน ชนิดฉีดในขนาดสูง ๆ สำหรับปอดอักเสบ ให้ยารักษาวัณโรคสำหรับผู้ป่วยวัณโรค ให้เมโทรไนดาโซล สำหรับโรคฝีปิดในตับเป็นต้น
กลับสู่หน้าแรก

หืด (Asthma)
หืด เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย มักมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี เป็นบ่อยในฤดูฝน และฤดูหนาว จะมีประวัติเป็นอยู่ประจำ เวลาไม่มีอาการหอบหืดจะแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง
สาเหตุ
มีอาการตีบแคบของหลอดลมเนื่องจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดลม ทำให้ลมผ่านเข้าออกลำบากถือเป็นโรคภูมิแพ้(โรคแพ้) ชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์มักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นหืด หวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ หรือลมพิษอยู่เป็นประจำ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ตลอดจนการติดเชื้อของทางเดินหายใจก็มีส่วนกระตุ้นให้จับหืดได้
อาการ
แน่นอึดอัดในหน้าอกหายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากๆ จะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน มีเสียงดังฮืดๆ ผู้ป่วยมักจะไอมาก มีเสลดเหนียว อาจมีอาการคันจมูก คันคอ เป็นหวัด จามนำมาก่อน มักจะเป็นตอนกลางคืนหรือเวลาสัมผัสหรือกินถูกสิ่งที่แพ้ ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ในรายที่มีไข้มักเป็นหืดร่วมกับอาการของไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ
สิ่งที่ตรวจพบ
ขณะมีอาการหอบฟังปอดจะได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) ที่ปอดทั้ง 2 ข้าง และช่วงหายใจออกจะยาวกว่าปกติ(ขณะไม่มีอาการจะตรวจไม่พบอะไร) ถ้าพบว่ามีความดันเลือดสูง เท้าบวม หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ ควรนึกว่า ภาวะหัวใจวาย
อาการแทรกซ้อน
ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการหอบติดต่อกันนาน ดังที่แพทย์เราเรียกว่า สเตตัส แอสมาติคัส (Status asthmaticus) อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคถุงลมพอง ,หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ,ปอดแฟบ,ปอดทะลุ
การรักษา
  1. ถ้าเป็นไม่มาก ให้กินยาขยายหลอดลม เช่น ยาเม็ดอะมิโนฟิลลีน หรือยาเม็ดทีโอฟิลลิน ผู้ใหญ่ให้ 1 - 2 เม็ด (เด็ก 1/4 - 1/2 เม็ด) ซ้ำได้ทุก 6 - 8 ชั่วโมง ถ้ามีเสมหะมาก ให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ อย่าให้ยาระงับการไอ หรือยาแก้แพ้เพราะจะทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก อาจทำให้หอบมากขึ้น
  2. ถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือหอบมาก ต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคหัวใจ ชีพจรเต้นสม่ำเสมอ ไม่เกิน 120 ครั้งต่อนาที ความดันเลือดไม่สูง เท้าไม่บวม ให้ฉีด แอดรีนาลีน 0.5 มล. (เด็ก 0.2 - 0.3 มล.) เข้าใต้ผิวหนังที่ต้นแขน รอดูสัก 15 - 20 นาที ยังไม่ดีขึ้น ให้ฉีดซ้ำได้อีก 1 - 2 ครั้ง
  3. ถ้ายังไม่หาย ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องฉีด อะมิโนฟิลลิน 1 หลอด (เด็กให้ขนาด 4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ผสมกับกลูโคส 20 - 50 มล. ฉีดเข้าเส้นเลือดช้าๆ ใน 15 - 20 นาที ห้ามฉีดเร็วๆอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้เอาอะมิโนฟิลลิน 2 หลอด (เด็กให้ 4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ผสมในน้ำเกลือ 500 มล. หยดเข้าเสันเลือด ซ้ำทุก 6 - 8 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรให้สเตอรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน ครั้งละ 5 - 10 มิลลิกรัม (1 - 2 หลอด) ฉีดเข้าเส้นเลือด นอกจากนี้อาจต้องให้น้ำเกลือ และออกซิเจน
  4. ยาปฏิชีวนะ โดยทั่วไปไม่ต้องให้ นอกจากในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีไข้ หรือมีเสลดสีเหลือง สีเขียว แต่ต้องระวังการแพ้ยาให้มากด้วย อาจเลือกใช้แอมพิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้มักจะเป็นๆ หายๆ ต้องพกยาแก้หืดไว้กินเวลาเริ่มมีอาการ บางรายก็อาจหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการตั้งแต่เป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นก็มีโอกาสหายได้ หรือถ้ารู้สาเหตุการแพ้แน่นอน เมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ ก็จะทุเลาได้เช่นกัน
  2. อันตรายของโรคนี้จากอาการของโรคเองนับว่าน้อยมาก แต่จะเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด(เช่น ฉีดยามากไป) หรือใช้ยาผิด ๆ เช่น กินยาชุดที่เข้าสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน หรือ เด็กซาเมทาโซน หากกินเป็นประจำนอกจากจะทำให้ดื้อยาแล้ว ยังอาจเกิดพิษต่อร่างกายได้
  3. ควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น หากมีอาการไม่มาก การหายใจออกโดยการเป่าลมออกทางปากให้ลมในปอดออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดื่มน้ำอุ่นมากๆ ช่วยขับเสมหะก็อาจทำให้หายหอบได้
  4. ควรสังเกตว่าแพ้อะไร เช่น ความเย็น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ที่นอน ขนสัตว์ แมลง ยา (เช่น แอสไพริน ,เพนิซิลลิน)อาหารบางชนิด แล้วพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งๆนั้น
  5. ในรายที่เป็นบ่อยๆหรือเป็นอยู่ประจำ แพทย์อาจให้ยารักษาดังนี้
  1. ข้อปฏิบัติตัว สำหรับคนที่เป็นหืด

กลับสู่หน้าแรก

หวัดจากการแพ้ (Allergic rhinitis/Hay fever)
หวัดจากการแพ้ (หวัดแพ้อากาศ โรคแพ้อากาศก็เรียก) จัดเป็นโรคภูมิแพ้ ชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เป็นแรมเดือนแรมปี น่ารำคาญ แต่ไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในอดีตหรือในครอบครัว เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน หรือเป็นหวัดจามบ่อยๆ
สาเหตุ เกิดจากการแพ้สิ่งต่างๆ โดยมีสาเหตุจากกรรมพันธ์
อาการ
มีอาการเป็นหวัดคัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใสๆ มักมีอาการคันในจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล แสบคอ หรือไอแห้งๆ (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการปวดดื้อตรงบริเวณหน้าผากหรือหัวคิ้ว อาการมักเกิดเป็นประจำตอนเช้าๆ หรือเวลาถูกอากาศเย็นหรือฝุ่นละอองหรือสารแพ้อื่นๆ บางคนจะเป็นตอนช่วงเช้าๆ พอสาย ๆก็หายได้เอง บางคนอาจมีอาการเป็นประจำตลอดทั้งปี บางคนอาจเป็นมากในบางฤดูกาล ในรายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการหายใจดังวี้ดคล้ายหืด
สิ่งที่ตรวจพบ
เยื่อจมูกบวมและซีด หรือเป็นสีม่วงอ่อนๆ ต่างจากไข้หวัด หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเยื่อจมูกจะมีลักษณะบวมและออกสีแดง มักพบน้ำมูกลักษณะใสๆ (ถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม หรือเป็นไซนัสอักเสบ) บางคนอาจพบเยื่อตาขาวออกแดงเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อน โดยทั่วไปมักไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงในรายที่เป็นเรื้อรังนานๆ อาจมีแบคทีเรียซ้ำเติมทำให้กลายเป็นไซนัสอักเสบ หรือไม่บางรายอาจเป็นเนื้องอกในรูจมูก
การรักษา
  1. แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่าแพ้อะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ก็อาจช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น มีอาการขณะกวาดบ้านหรือถูกฝุ่น ก็แสดงว่าแพ้ฝุ่น ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงฝุ่นได้ โรคก็อาจทุเลาลงได้ ถ้าเป็นขณะอยู่ในห้องนอนก็อาจแพ้ที่นอน (นุ่น) มีอาการขณะเล่นกับสัตว์เลี้ยงก็อาจแพ้ขนสัตว์ เป็นต้น
  2. ถ้ามีอาการคัดจมูก แน่นจมูก น้ำมูกไหลมาก หรือไอจนน่ารำคาญ ควรให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ครั้งละ 0.5 เม็ด วันละ 2 - 3 ครั้ง (ถ้าเป็นเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน อาจให้เพียงวันละครั้งตอนก่อนนอน) ถ้าคัดจมูกมากให้กินยาแก้คัดจมูก เช่น สูโดเอฟีดรีน ครั้งละ 1/2 - 1 เม็ด ควบด้วย มียาหลายยี่ห้อที่มียาแก้แพ้กับยาแก้คัดจมูกผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน เช่น แอกติเฟด (Actifed), ดีคอนเจน (Decolgen) ,ไดมีแทป (Dimetapp) เป็นต้น ซึ่งช่วยให้สะดวกในการใช้ ถ้าไอมากให้กินยาแก้ไอ ร่วมด้วย ยาเหล่านี้ให้กินเมื่อมีอาการจนน่ารำคาญ เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้หยุดยา แต่ถ้ากำเริบใหม่ ก็ให้กินใหม่ บางคนที่เป็นอยู่ประจำทุกวัน ก็อาจต้องคอยกินยาไปเรื่อยๆ
  3. ถ้ากินยาแล้วยังไม่ได้ผล หรือเป็นเรื้อรังนาน ๆควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนให้ยาแก้แพ้ชนิดอื่นๆ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ,บรอมเฟนิรามีน(Brompheniramine) หรืออาจให้ยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์นานๆ เช่น เดกซ์โทรคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (มีชื่อยี่ห้อว่า Polarmine) กินวันละ 1 เม็ด ตอนก่อนนอน ถ้าจำเป็น อาจให้สเตอรอยด์ชนิดพ่นจมูก ในบางรายอาจต้องทำการทดสอบผิวหนัง (Skin tast) ว่าแพ้สารอะไร แล้วให้การรักษาโดยทำ ดีเซนซิไทเซชั่น หรือการลดการแพ้กล่าวคือ ฉีดสารที่แพ้ เข้าร่างกายทีละน้อยๆเป็นประจำทุก 1 - 2 สัปดาห์ นานเป็นปี ๆ ซึ่งค่ารักษาค่อนข้างแพงส่วนผลการรักษาบางคนก็ได้ผลดี แต่บางคนก็ไม่ได้ผล
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด ถ้าอาการไม่มากพอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น ถ้าจำเป็นก็แนะนำให้ผู้ป่วยกินยาแก้แพ้ แก้คัดจมูก หรือแก้ไอ และควรห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อยาชุดกินเอง เพราะมักเข้ายาสเตอรอยด์ และยาปฏิชีวนะ ซึ่งถ้ากินไปนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้
  2. การใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาโรคนี้ยกเว้นในรายที่น้ำมูกเหลืองหรือเขียวหรือสงสัยเป็นไซนัสอักเสบ
  3. ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป้นผู้พิจารณาสั่งใช้ เพราะยาบางชนิดที่เข้ายาแก้แพ้หรือแก้คัดจมูก เมื่อหยดบ่อยเกินไป ก็อาจทำให้เยื่อจมูกอักเสบมากยิ่งขึ้นได้
  4. ควรแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ อาจช่วยให้โรคภูมิแพ้ทุเลาหรือหายขาดได้ นอกจากนี้ การผ่อนคลายความเครียด (เช่น ทำใจให้เบิกบาน ฝึกสมาธิ) ก็อาจมีส่วนช่วยให้โรคทุเลาได้
หมายเหตุ

โรคภูมิแพ้ (Allergic disorders) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ แล้วปล่อยสารแพ้ เช่น ฮีสตามีน (Histamine) ออกมาถ้าสารแพ้นี้มาแสดงปฏิกิริยาที่ผิวหนังก็ทำให้เป็นโรคแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ,ผื่นคันหรือเอกซีม่า เป็นต้น ถ้าแสดงออกที่ตาก็กลายเป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบ ,ถ้าแสดงออกที่จมูกก็กลายเป็นหวัดแพ้อากาศ , ถ้าแสดงออกที่หลอดลมก็กลายเป็นหืด โรคนี้มักมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย นอกจากนี้ อารมณ์กับจิตใจก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจแสดงอาการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆ อย่างพร้อมกันก็ได้ สิ่งที่แพ้ (Allergen) มักได้แก่ความเย็น ความร้อน แดด ฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร นุ่น (ที่นอน หมอน) ไหม อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ แมลง เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ตัวไร พยาธิ สารเคมี โลหะ เหล้า (แอลกอฮอล์) ยา (แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา) เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะแพ้สารได้หลายๆอย่าง และมีโอกาสแพ้ยาได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ไป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ การแพ้อาจเกิดขึ้นโดยการสัมผัส สูดดม กิน หรือฉีดเข้าร่างกายทางใดทางหนึ่ง โรคภูมิแพ้ทุกชนิดรวมกันแล้ว พบได้ประมาณ 30% ของคนทั่วไป

กลับสู่หน้าแรก

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
ไซนัส (sinus) หมายถึงโพรงอากาศเล็กๆในกระโหลกซึ่งอยู่รอบๆจมูก และมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูกดังนั้นจึงอาจมีเชื้อโรคลุกลามจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงโซนัสได้ ตามปกติทางเชื่อมดังกล่าวจะเปิดโล่งให้มีการระบายของน้ำเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงโซนัสได้สะดวกจึงไม่เกิดการอักเสบ แต่ถ้าหากทางเชื่อมดังกล่าวเกิดการอุดตันขึ้นมา(เช่น เป็นหวัด ผนังกั้นจมูกคด ได้รับบาดเจ็บหรือดำน้ำ) น้ำเมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายได้ก็จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในโพรงไซนัสสามารถเจริญงอกงามทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นหนองขังภายในโพรงไซนัสได้ เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยๆได้แก่ เบตาสเตรปโตค็อกคัส,สแตฟฟีโลค็อกคัส,นิวโมค็อกคัส นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการลุกลามของเชื้อโรคจากบริเวณรากฟันที่เป็นหนองเข้าไปในโพรงไซนัสโดยตรงก็ได้ ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัยมักพบเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด หวัดจากการแพ้ , เยื่อจมูกอักเสบ ,ผนังกั้นจมูกคด ,รากฟันเป็นหนอง
อาการ
ปวดมึนๆ หนักๆ ตรงบริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้มหรือรอบๆ กระบอกตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายปวดฟัน บริเวณขากรรไกรบน อาการปวดอาจเป็นมากในเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บคอหรือมีเสลดสีเหลืองหรือเขียวในลำคอ และอาจหายใจมีกลิ่นเหม็น
สิ่งที่ตรวจพบ เยื่อจมูกบวมแดง คอแดงเล็กน้อยบางคนอาจมีไข้ที่สำคัญจะพบว่า ถ้าเคาะหรือกดแรงๆ ตรงบริเวณหัวตา หน้าผาก หรือใต้ตาจะรู้สึกเจ็บ
อาการแทรกซ้อน อาจทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ ,หลอดลมอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ,ฝีในสมอง
การรักษา
  1. ให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตามอล
  2. ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือ ไดเฟนไฮดรามีน อาจให้ร่วมกับยาแก้คัดจมูก เช่น ยาเม็ดสูโดเอฟีดรีน หรือให้ยาเม็ดที่มียาแก้แพ้กับยาแก้คัดจมูกผสมในเม็ดเดียวกัน เช่น ยาเม็ดแอกติเฟด หรือยาเม็ด นีโอนีเนพรีน
  3. ให้ยาปฏิชีวนะเช่น เพนวี ,แอมพิซิลลิน ,อีริโทรมัยซิน , โคไตรม็อกซาโซล หรือ เตตราซัยคลีน ควรให้ยาสัก 7 - 10 วัน ถ้าดีขึ้นอาจต้องให้ยาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้น ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลอาจต้องทำการเอกเรย์ไซนัส ถ้ามีหนองอยู่ในไซนัส อาจต้องทำการเจาะเอาออก ในรายที่เป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อแนะนำ
  1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง แต่มีทางรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือแก้ไขสาเหตุ เช่น ผนังกั้นจมูกคด
  2. ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้สารกรดบางอย่าง หยอดเข้าจมูก(ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมากเพราะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อจมูก) อาจทำให้เกิดการอักเสบ และจมูกพิการได้
  3. ระวังอย่าให้เป็นหวัดบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัดจมูกหรือจาม (เช่น ฝุ่น อากาศเย็น ขนสัตว์) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

กลับสู่หน้าแรก

เนื้องอกในรูจมูก (Nasa polyps)
เนื้องอกในรูจมูก เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงของเยื่อบุจมูก มักมีสาเหตุจากการเป็นหวัดเรื้อรัง เช่น หวัดจากจากการแพ้ ,หรือการติดเชื้อของรูจมูก มักไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้น ถ้าก้อนโตมากจะทำให้หายใจไม่สะดวก และเสียความรู้สึกในการรับกลิ่น โรคนี้ชาวบ้านเรียก " ริดสีดวงจมูก "
อาการ มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก พูดเสียงขึ้นจมูก ซี่งเป็นเรื้อรัง เป็นแรมเดือนแรมปี บางครั้งอาจไม่มีความรู้สึกในการรับกลิ่นหรืออาจมีน้ำมูกออกเป็นหนอง ถ้าก้อนเนื้องอกอุดตันรูเปิดของไซนัส ก็อาจทำให้มีอาการปวดที่หัวคิ้วหรือโหนกแก้ม เช่นเดียวกับ ไซนัสอักเสบ เมื่อใช้ไฟฉายส่องดูรูจมูก มักจะพบมีก้อนเนื้องอกสีค่อนข้างใสอุดตันอยู่ในรูจมูก
การรักษา หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล เพื่อใช้เครื่องมือตรวจส่องให้แน่ใจ การรักษาให้หายขาดมีอยู่ทางเดียวคือต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก ซึ่งมักจะทำโดยฉีดยาชา เฉพาะที่ถือเป็นการผ่าตัดเล็กน้อยและปลอดภัย ส่วนมากมักหายขาดมีเพียงบางรายที่อาจมีเนื้องอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ
กลับสู่หน้าแรก

เลือดกำเดา/เลือดออกจมูก (Epistaxis/Nose bleed)
เลือดกำเดา เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่บริเวณเยื่อจมูก ส่วนมากมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน และมักออกเพียงข้างเดียว บางคนอาจออกทั้ง 2 ข้าง บางคนอาจมีอาการเป็นๆหายๆ บ่อย โดยมากไม่มีมีสาเหตุร้ายแรง ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดได้เอง เช่น เกิดจากไข้หวัด ,หวัดจากการแพ้ ,ไซนัสอักเสบ ,เยื่อบุจมูกอักเสบ ,เส้นเลือดฝอยเปราะเนื่องจากอากาศแห้ง (เช่น ในฤดูหนาว) การแคะจมูกแรงๆ เป็นต้น บางคนอาจเกิดจากได้รับบาดเจ็บ เช่น ถูกแรงกระแทกที่ดั้งจมูก ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง บางครั้งก็อาจมีเลือดกำเดาไหล บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อเช่น ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย , ไทฟอยด์, ไข้เลือดออก , คอตีบ เป็นต้น ส่วนน้อยที่อาจมีสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคเลือด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ,โลหิตจางอะพลาสติก ,ไอทีพี เป็นต้น ซึ่งมักมีเลือดออกตามไรฟัน มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว และตับโตม้ามโตร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากมะเร็งหรือเนื้องอกในจมูกหรือลำคอ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก สาเหตุของการเลือดกำเดา
การรักษา
  1. ให้การปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนั่งเงยหน้าขึ้นหรือก้มหน้าลงมากๆ ใช้นิ้วมือบีบ กดปีกจมูกทั้ง 2 ข้างไห้แน่น เป็นเวลา 5 - 10 นาที บอกให้ผู้ป่วยหายใจทางปากแทน ส่วนมากมักจะได้ผล โดยวิธีดังกล่าว ถ้าไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งนาน 10 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้ผ้าก๊อชหรือผ้าสะอาดชิ้นเล็กๆ ชุบแอดรีนาลีน ขนาด 1:1,000 ให้ชุ่มสอดเข้าในรูจมูกข้างที่มีเลือดออก ยัดให้แน่น ยานี้จะช่วยให้เส้นเลือดฝอยตีบลงและเลือดหยุดได้ ควรยัดผ้าก๊อชไว้นาน 2 - 3 ชั่วโมง เมื่อแน่ใจว่าเลือดหยุดดีแล้ว จึงค่อยๆ ดึงเอาออก
  2. ควรหาสาเหตุ เช่น ตรวจวัดความดันโลหิตคลำตับม้าม ดูรอยจ้ำเขียวตามตัว เป็นต้น ถ้าพบสาเหตุที่แน่ชัดให้ทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น ถ้าพบว่าความดันโลหิตสูง ก้ให้การักษาแบบความดันโลหิตสูง ถ้าเกิดจากไข้หวัด ,เยื่อจมูกอักเสบ,ไซนัสอักเสบ ,ก็ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ถ้าพบว่า ตับ ม้ามโต หรือมีเลือดออกตามที่อื่นๆ ร่วมด้วยซึ่งชวนให้คิดว่าเป็นโรคทางเลือด ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
  3. ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ในรายที่เลือดออกไม่หยุด อาจต้องรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (electro cautery)

กลับสู่หน้าแรก

สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก (Foreign body in the nose)
มักพบในเด็กเล็กที่เล่นซน เอาสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้ เศษยางลบ กระดุม ลูกปัด เศษกระดาษ เป็นต้น) แยงเข้าไปคาอยู่ในรูจมูก ถ้าพ่อแม่ไม่ได้สังเกตเห็นตั้งแต่แรก และปล่อยทิ้งไว้ หลายวัน ก็จะทำให้เกิดการอักเสบ อาการที่พบได้คือ เด็กหายใจมีกลิ่นเหม็น และจมูกข้างหนึ่งมีน้ำมูกออกคล้ายหนองหรือเลือดปนหนอง เมื่อเอาไฟฉายส่งดูอาจพบสิ่งแปลกปลอมคาอยู่ในรูจมูก
การรักษา
  1. หากสงสัยมีสิ่งแปลกปลอม ให้ลองเอาออกโดยปิดรูจมูกข้างที่ดี แล้วบอกให้ผู้ป่วยสั่งจมูกแรงๆ ถ้าไม่ได้ผล หากสิ่งแปลกปลอมอยู่ไม่ลึก ให้ใช้ลวด เล็กๆตรงปลายงอเล็กน้อยแยงรอดใต้สิ่งแปลกปลอมจนพ้นขอบหลังสุดแล้วเกี่ยวเอาออก ถ้าเด็กดิ้นทำลำบาก ก็อย่าฝืนทำ เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมยิ่งเข้าลึก ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยเขี่ยออก
  2. ถ้ามีการอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี แอมพิซิลลิน อีริโทรมัยซิน นานสัก 5 - 7 วัน

กลับสู่หน้าแรก
กลับสู่หน้าหลัก I การช่วยชีวิตฉุกเฉิน I ระบบทางเดินอาหาร I อุบัติเหตุ สารพิษ I
1