แก่นธรรม
แก่นธรรมคืออะไร ในธรรมะปริเฉทที่ ๒ ท่านก็ได้กล่าวถึงสาระธรรม หรือธรรมขันธ์ ๕ อย่าง คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ มีญาณที่รู้ถึงวิมุตติธรรม
๑. ศีลขันธ์ คือ ศีลสาระ ศีลที่เรารักษา
๒. สมาธิขันธ์ คือ สมาธิสาระ คือสมาธิที่เราทำกัน
๓. ปัญญาขันธ์ คือ เจริญวิปัสสนาปัญญา
๔. วิมุตติขันธ์ คือ วิมุตติสาระ คือการหลุดพ้น
๕. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คือ วิมุตติญาณทัสสนะสาระ คือ
ญาณที่เราเห็นเป็นขั้นตอนไป เมื่อเราจับสติปัฏฐาน ๔ แล้วญาณนั้นจะเกิดขึ้นมา และจะเข้าถึงมรรคญาณ
ศีล มี ๒ อย่าง คือ ศีลโลกีย์ ศีลโลกุตระ
ศีลโลกีย์คือ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่เรารักษากันอยู่นี้ เมื่อเราปฏิบัติเป็นศีลในองค์มรรคแล้ว เมื่อเข้าถึงมรรคจิตจะเป็นศีลในโลกุตระ
สมาธิ เมื่อเราปฏิบัติเป็นสมาธิในองค์มรรคแล้ว เมื่อเข้าถึงมรรคจิตจะเป็นสมาธิในโลกุตระ
ปัญญาวิปัสสนา ปัญญาที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้คิดเป็นโลกีย์ปัญญาเมื่อเราจับสติปัฏฐาน ๔ ญาณต่างๆก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณไปจนถึง สังขารุเปกญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นเมื่อใดนั่นแหละญาณทัสสนวิมุตติ มันหลุดพ้นเป็นขั้นตอนตัดสัญโญชน์ ๓ ตัวแรกหมดได้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สกิทาคามีตัด ๓ ตัว และราคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อนาคามีตัดได้อีก ๒ ตัวคือ กามราคะ ปฏิฆะ ต่อไปเป็นอรหันต์ตัดได้อีก ๕ ตัว รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ก็หลุดไป เป็นวิมุตติญาณทัสสนะสาระ คือเราจะเห็นความหลุดพ้นแห่งจิต.