ปัญหาเสียงดังรบกวนจากอุปกรณ์ในระบบประกอบอาคาร
โดย : สุชาติ
ศิริทาวรจันทร์
(วิศวกร อาวุโส
,กลุ่มบริษัท อี.อี.ซี จำกัด)
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างการก่อสร้างโครงการ
หรือ
ภายหลังจากติดตั้งอุปกรณ์ในระบบประกอบอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ย่อมมีสาเหตุและที่มา
ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็มิใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเฉพาะ
แต่ทุกๆฝ่ายควรจะมีส่วนร่วมเพื่อแก้ใขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยร่วมกันเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์
ตรงไปตรงมา
ในอันที่จะแก้ใขปัญหาให้ลุล่วงไปได้
เช่นเดียวกัน
ปัญหาเสียงดังจากอุปกรณ์ในระบบประกอบอาคารก็มิใช่มีสาเหตุหลักเฉพาะจากฝ่ายระบบประกอบอาคารแต่เพียงฝ่ายเดียว
เพราะที่มาของปัญหาเสียงดังรบกวนจะมีตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นการวางแนวคิดของโครงการ,ลักษณะโครงสร้าง,การติดตั้ง
ไปจนกระทั่งถึงการบำรุงรักษาและเดินระบบ
ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีทั้งสถาปนิก
วิศวกร ผู้ควบคุมงาน
และผู้ควบคุมการเดินและบำรุงรักษาระบบ
ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายมีความรอบคอบตระหนักถึงปัญหาเสียงดัง
และเพิ่มการตรวจสอบในทุกขั้นตอนการทำงานแล้ว
ปัญหาดังกล่าวก็จะน้อยลงหรือถ้ายังมีก็สามารถแก้ใขได้โดยง่าย
ในบทความนี้จะกล่าวถึงที่มาของปัญหาและการแก้ใขปัญหาเสียงดังรบกวนจากระบบประกอบอาคารที่พบอยู่บ่อยครั้ง
พร้อมทั้งข้อแนะนำในเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
1.การจัดวางและกำหนดตำแหน่งห้องเครื่อง
การจัดวางและกำหนดตำแหน่งห้องเครื่องในตำแหน่งที่ถูกต้องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันหรือลดปัญหาเสียงดัง
ซึ่งในการกำหนดแนวความคิดในการออกแบบในขั้นต้นควรจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับวิศวกรงานระบบ
เพื่อให้สถาปนิกมีความเข้าใจในแนวคิดเบื้องต้นสำหรับงานระบบประกอบอาคาร
และสามารถจัดวางห้องเครื่องในตำแหน่งที่เหมะสมทั้งในแง่ของการป้องกันเสียงดังรบกวนและความสะดวกในการตรวจสอบซ่อมบำรุง
ซึ่งสามารถแยกออกเป็นข้อๆดังนี้
- โครงการที่มีจำนวนชั้นไม่มาก (Low
Rise Building)
ตำแหน่งห้องเครื่องหลักควรอยู่ด้านหลังโครงการ
ในบริเวณที่ถูกแบ่งกั้นด้วยพื้นที่บริการ
(Service Area)
ซึ่งจะทำหน้าที่กั้นเสียงจากห้องเครื่องหลัก
มิให้แพร่สู่พื้นที่ใช้งานโดยตรง
นอกจากนี้ถ้าสามารถแยกโครงสร้างอาคารห้องเครื่องหลักเป็นอีกอาคาร
(Utility Building)
และไม่มีผนังอาคารร่วมกัน
ก็จะตัดตอนทั้งเสียงและความสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี
- โครงการที่ขยายพื้นที่ใช้งานในแนวสูง
(High Rise Building)
ควรจัดให้การใช้งานในชั้นที่อยู่บนและล่างของห้องเครื่องหลักเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ประจำ
เช่น ห้องเก็บของ,ห้องเดินท่อ ฯลฯ
และจัดให้ห้องเครื่องหลักที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงมากที่สุด
แทรกอยู่ระหว่างห้องเครื่องที่กำเนิดเสียงรองลงมา
- การจัดวางห้องเครื่องส่งลมเย็นประจำชั้น
(Air Handling Unit Room-AHU )
ไม่ควรจัดให้ผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดสู่พื้นที่ใช้งานโดยตรง
แต่ควรจัดวางโดยให้ห้องที่ไม่มีคนอยู่ประจำ
เช่น
ห้องน้ำ,ผนังปล่องลิฟท์,ห้องเตรียมอาหารหรือห้องแผงไฟฟ้าประจำชั้น
ตั้งอยู่รอบๆ
เพื่อกั้นเสียงจากห้องเครื่องในชั้นแรกก่อน
แต่ถ้าลักษณะการจัดวางห้องไม่เอื้ออำนวยให้จัดวางดังข้างต้น
สถาปนิกควรพิจารณาการทำผนังห้องเครื่องที่มีค่าการลดการส่งผ่านของเสียงมากกว่าผนังปรกติโดยทั่วไปผนังห้องเครื่องควรมีค่าน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่ไม่ต่ำกว่า
500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
หรือใช้ผนัง 2 ชั้น
- นอกจากจะพิจารณาเรื่องการจัดวางตำแหน่งห้องเครื่องแล้ว
การเลือกใช้วัสดุและรายละเอียดการประกอบห้องเครื่องก็มีความสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของประตูห้องเครื่องควรจะมีค่าการลดการส่งผ่านเสียงเมื่อพิจารณา
Noise Leak บริเวณช่องว่างขอบประตูแล้ว
จะต้องมีค่าไม่ต่ำกว่า 15-20
dB.เมื่อเทียบกับผนังห้องเครื่อง
- เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเสียงดังจากเครื่องส่งลมเย็น
การกำหนดขนาดห้องเครื่องส่งลมเย็นประจำชั้นไม่ควรจะต่ำกว่า
10-15 ft2 /1000 CFM.supply air (หรือ 6.7-10 m2 / 1000 L/s
supply air ) 10-15 ft2 /1000 CFM.supply air ( 6.7-10 m2 /
1000 L/s supply air
2.รายละเอียดการออกแบบและการติดตั้งอุปกรณ์ระบบประกอบอาคารที่ควรละมัดระวัง
ผู้ออกแบบงานระบบประกอบอาคาร,ผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงาน
ควรให้ความสนใจกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ไม่ควรมองข้าม
อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเสียงดังในภายหลัง
ดังนี้
- การกำหนดตำแหน่งช่องเปิดที่ผนังสำหรับระบายอากาศห้องเครื่องหลัก
ไม่ควรเปิดใกล้ๆกับพื้นที่ใช้งาน
แต่ควรพิจารณาเปิดในตำแหน่งที่หันเข้าสู่พื้นที่โล่ง
ห่างจากอาคารข้างเคียงพอสมควร
แต่ถ้าไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมได้ก็ให้พิจารณาการใช้เกล็ดระบายอากาศชนิดกันเสียง
(Acoustics
Louver)ซึ่งจะลดการส่งผ่านของเสียงได้พอควร
แต่จะต้องใช้เท่าที่จำเป็นเนื่องจากเกล็ดระบายอากาศชนิดกันเสียงจะมีราคาค่อนข้างสูงมาก
- ช่องเปิดบนผนังเหนือฝ้าเพดาน
หรือ ช่องเปิดใดๆจากห้องเครื่อง
ที่ใช้เป็นช่องสำหรับเดินงานระบบต่างๆจากห้องเครื่อง
เช่น ท่อน้ำ ท่อลม
ท่อร้อยสายไฟฟ้า ฯลฯ
หลังจากติดตั้งอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องปิดอุดช่องว่างโดยรอบที่เหลือให้สนิท
เพื่อมิให้เสียงดังจากห้องเครื่องส่งผ่านออกมารบกวนพื้นที่ข้างเคียงโดยผ่านทางช่องว่างดังกล่าว
ซึ่งโดยทั่วไป
ช่องเปิดที่ผนังเพียง 2 %
ก็ทำให้ความสามารถในการป้องกันเสียงของผนังลดลงถึง
50 %
- จะต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของท่อน้ำหรือท่อลม
ที่เดินทะลุผ่านผนังโครงสร้าง
สัมผัสกันกับโครงสร้างผนังโดยตรง
เพราะจะทำให้เกิดการส่งผ่านของเสียงและความสั่นสะเทือนไปยังโครงสร้างอาคาร
ซึ่งในบางโครงการการสัมผัสกันของท่อน้ำกับผนังโครงสร้างโดยตรงที่ชั้น
1
อาจจะส่งความสั่นสะเทือนไปยังชั้นที่ไกลออกไปถึง
5-6 ชั้น
- เนื่องจากท่อลมต้นทางบริเวณที่อยู่ใกล้ๆห้องเครื่องส่งลมเย็นจะมีระดับกำลังเสียงสูงอยู่
ดังนั้น
ท่อลมเย็นส่งและท่อลมกลับควรเดินอยู่เหนือห้องที่ไม่มีคนอยู่ประจำ
เช่น ห้องเตรียมอาหาร
ห้องเก็บของ หรือ ทางเดิน
ในระยะไม่น้อยกว่า 15-20 ฟุต
ก่อนที่จะเดินท่อลมผ่านเข้าไปยังพื้นที่ใช้งาน
- ท่อลมผ่านผนังเหนือฝ้าเพดาน
(Transfer air duct)
จะต้องมีการหักเลี้ยวที่เพียงพอพร้อมทั้งบุภายในด้วยวัสดุดูดซับเสียง
เพื่อป้องกันเสียงข้ามผนังจากห้องหนึ่งไปยังห้องข้างเคียง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องประชุม
ห้องส่วนตัวเป็นต้น
- โครงสร้างท่อลมก็มีส่วนสำคัญต่อการกำเนิดเสียง
สำหรับห้องที่ไม่มีฝ้าเพดาน
ถ้าจำเป็นที่จะต้องเดินท่อลมผ่าน
การระบุให้ใช้ท่อลมแบบกลมซึ่งมีโครงสร้างที่แข็งแรงและมีพื้นที่ผิวภายในท่อน้อยกว่า
จะลดเสียงผ่านผนังท่อลม (Noise Break Out)
ออกมายังพื้นที่ใช้งานได้มากกว่าการใช้ท่อลมแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั่วไป
- ในการอนุมัติเครื่องจักรในระบบประกอบอาคารนอกจากจะพิจารณาประสิทธิภาพที่ทุกๆช่วงการทำงานของอุปกรณ์แล้วยังต้อง
พิจารณาค่าระดับเสียงที่แต่ละช่วงการทำงานด้วย
- โดยทั่วไปอุปกรณ์ขับเคลื่อนทางกลที่มีการควบคุมการทำงานแบบแปรเปลี่ยนความเร็วรอบได้
จะกำเนิดเสียงรบกวนน้อยกว่าอุปกรณ์ที่เดินด้วยความเร็วรอบคงที่ตลอดเวลา
(เนื่องอุปกรณ์ที่แปรเปลี่ยนความเร็วรอบได้จะไม่เดินที่
100 % ของภาระตลอดทั้งวัน)
และถ้าอุปกรณ์เดินที่ 80 %
ของภาระจะทำให้ระดับเสียงจากอุปกรณ์ลดลง
3-5 dB.
แต่การใช้อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบ
(Frequency Inverter)
ควรจะคำนึงถึงเสียงจากพัดลมระบายความร้อนภายในอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบด้วยซึ่งตามปรกติจะมีระดับเสียงไม่ดังมากแต่จะเป็นเสียงเด่นความถี่สูง
- ห้องเครื่องในงานระบบประกอบอาคารควรจะมีการบุผนังภายในด้วยวัสดุดูดซับเสียง
เช่น ไฟเบอร์กลาส หรือ Rock wool
หนาไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว
ความหนาแน่น 3
ปอนด์ต่อลูกบากศ์ฟุตพร้อมทั้งบุทับด้วยวัสดุป้องกันการหลุดร่อน
สำหรับพื้นที่ที่บุภายในห้องเครื่องให้บุประมาณ
50 %
ของพื้นที่พนังและเพดานก็เพียงพอ
ซึ่งผลที่ได้จะทำให้ระดับเสียงภายในห้องลดลงได้
3-5 dB.
ยังผลให้ระดับเสียงห้องข้างเคียงลดลง
3-5 dB เช่นกัน
- การจัดวางตำแหน่งเครื่องส่งลมเย็นไม่ควรจัดวางให้ชิดผนังห้องเครื่องจนเกินไปเพราะจะเกิดการส่งผ่านเสียงจากผนังเครื่องส่งลมเย็นไปยังผนังห้องโดยตรง
ในลักษณะเหมือนคัปปลิ่ง (Noise Coupling)
ทำให้อีกด้านหนึ่งของผนังเกิดเสียงดังมากกว่าปรกติ
โดยทั่วไปควรจะเว้นระยะห่างรอบๆ
เครื่องไม่น้อยกว่า 2 ฟุต (600
มม.)และหลีกเลี่ยงการจัดวางเครื่องจักรชิดผนังห้องเครื่อง
หรือมุมห้องเครื่อง
ซึ่งจะลดระดับเสียงภายในห้องเครื่องได้
3 dB. และ 6 dB. ตามลำดับ
- การต่อท่อลมทั้งด้านเข้าและด้านออกกับพัดลมควรมีพิจารณาให้มี
System Effect Loss
น้อยที่สุด(มีการหักเลี้ยวท่อลมน้อยที่สุด)
จะลดระดับเสียงได้10-20
dBในย่านความถี่ต่ำ
- นอกจากในเรื่องการออกแบบและการติดตั้งระบบประกอบอาคารแล้ว
การบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบความสมดุลย์ขณะหมุน
ค่าการเยื้องศูนย์ไม่ให้เกินค่าที่ผู้ผลิตกำหนด
ก็จะลดปัญหาเสียงดังจากอุปกรณ์ลงได้มาก