คำแนะนำในการเลือกซื้อกีตาร์

การเลือกซื้อกีตาร์ให้ถูกอกถูกใจนั้น ก่อนอื่นต้องขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้เล่นเอง ถ้าต้องการกีตาร์แบบที่มีเสียงนุ่มนวล เล่นแล้วไม่เจ็บนิ้วมือ ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา เล่นได้ทั้งแบบโฟล์ค ซึ่งสามารถร้องคลอไปด้วย และเล่นแบบคลาสสิคบรรเลงผสมผสานเหมือนกับว่าเป็นวงคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ประจำตัว ก็ควรที่จะเลือกกีตาร์คลาสสิคที่มีสายไนล่อน หากชอบเสียงแจ๋วกังวาลแหลมคม และเล่นได้ทั้งดีดด้วยปิคและเกา ก็ให้เลือกกีตาร์โฟล์คสายเหล็ก การเลือกดูลักษณะของกีตาร์ มีดังต่อไปนี้

1. ลูกบิด

ลูกบิดที่ดีจะต้องหมุนได้ง่าย ไม่เจ็บมือ แต่ก็ไม่หลวมลื่นเกินไป เพื่อว่าเมื่อตั้งสายแล้วจะคงที่ไม่เพี้ยนง่าย ลูกบิดประกอบด้วยเฟืองเล็ก ๆ ที่มีฟันละเอียด ลูกบิดที่มีฟันหยาบจะหมุนลำบาก และยากต่อการตั้งสายให้ถูกต้อง คือ มันจะเพี้ยนได้ง่าย ๆ ฉะนั้น ควรเลือกลูกบิดที่มีฟันละเอียด และแข็งแรง ถ้าเป็นกีตาร์คลาสสิคใช้สายไนล่อน ควรต้องมีแกนหมุน (Rollers) ซึ่งทำด้วยพลาสติกอย่างดี งาช้าง หรือวัสดุที่ทำด้วยกระดูกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3/8 นิ้ว ถ้าเป็นกีตาร์โฟล์คสายเหล็ก ทั้งลูกบิดและแกนควรเป็นเหล็กที่ดี ไม่เป็นสนิม ขนาดของแกนเหล็กนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3/16 นิ้ว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าของกีตาร์คลาสสิค เพราะสายเหล็กขึงตึงง่าย และไวต่อการเปลี่ยนแปลง และยืดหยุ่นได้น้อยกว่า ซึ่งต่างกับสายไนล่อน กรณีที่ลูกบิดกีตาร์ของเราฝืดเกินไป ให้ใช้ครีมทา แต่ถ้าลื่นเกินไปควรโรยแป้ง (ทาตัว) สักเล็กน้อย จะได้ไม่ลื่นและเลื่อนง่าย ซึ่งจะทำให้เสียงเพี้ยนไป

2. ส่วนคอ

ส่วนคอนี้มีความสำคัญมาก ซึ่งอาจจะทำให้ราคาตก หรือหมดคุณค่าไปเลยทีเดียว คอที่ได้มาตรฐานต้องผ่านการวัดแต่ละเฟร็ตอย่างละเอียด คอทำด้วยไม้ซีด้า (Cedar) หรือมะฮอกกานี (Mahogany) บนแผ่นคอที่ใช้ติดเฟร็ต เรียกว่า ฟิงเกอร์บอร์ด ทำด้วยไม้อีโบนี่ (Ebony) หรือโรสวูด (Rosewood) เพราะเป็นไม้ที่แข็งแรง แต่เนื้อนุ่ม เวลาจับหรือกดไม่เจ็บมือ

คอมาตรฐานที่ดี มีลักษณะดังนี้

- ตรวจดูว่าคอต้องไม่โก่งงอ และเล็งดูตามแนวยาวของฟิงเกอร์บอร์ด อย่าให้โค้งงอขึ้น หรือแอ่นลง ดูขอบฟิงเกอร์บอร์ดทั้ง 2 ข้าง อย่าให้โค้งงอไปซ้ายหรือขวา

- ตรวจดูความลาดของเฟร็ต กล่าวคือ นับจากเฟร็ตที่ 1 จะสูงที่สุดตรงเฟร็ตที่ 1 และต่ำลงไปตามลำดับ ถ้านำไม้บรรทัดตรง ๆ มาทาบลงบนฟิงเกอร์บอร์ด จะต้องเห็นเฟร็ตต่ำลาดลงไปเป็นแนวระดับเดียวกัน และตรวจดูได้โดยการกดสายกีตาร์บนเฟร็ตที่ 1 กับเฟร็ตที่ 19 ซึ่งสายจะติดกับเฟร็ตทุกอันที่อยู่ระหว่างเฟร็ตที่ 1 - 19

- ตรวจดูความสูงต่ำของสาย หรือแอ๊คชั่น (Action) เมื่อตั้งสายกีตาร์ถูกต้องแล้ว ไม่ควรสูงจากฟิงเกอร์บอร์ดเกินไป เพราะถ้าสูงเกินไปจะกดลำบาก และเจ็บปลายนิ้วมือด้วย ความสูงตรงเฟร็ตที่ 1 ควรสูงประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนในกีตาร์คลาสสิคอาจจะสูงกว่าเล็กน้อย

- ตรวจดูความยาวของกีตาร์มาตรฐาน ความยาวช่วงระยะจากนัท (Nut) ถึงเฟร็ตที่ 12 จะมีความยาวเท่ากับเฟร็ตที่ 12 ถึงบริดจ์กีตาร์หรือให้ใกล้ส่วนที่สุด เพราะอาจจะมีการเผื่อทดเสียงสายเบสบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าสัดส่วนนี้ขาดหรือเกินจากนี้มากกว่า 1 ซม. เสียงกีตาร์จะเพี้ยนเมื่อเล่นถึงประมาณเฟร็ตที่ 5

3. ลำตัวกีตาร์

กีตาร์มีหลายชนิด ซึ่งให้เสียงแตกต่างกัน แล้วแต่ลักษณะของกีตาร์

- กีตาร์คลาสสิคมีลักษณะคล้ายน้ำเต้า คอกว้างกว่าแบบอื่น ๆ ให้เสียงนุ่มนวลก้องกังวาล

- กีตาร์โฟล์คขนาดใหญ่และขนาดยักษ์ ให้เสียงที่ก้องกังวาน หนักแน่น เด็ดขาด

- กีตาร์โฟล์คธรรมดา ขนาดเล็กกว่า ให้เสียงเบากว่า แต่ชัดเจนและกระทัดรัด

ควรจะมีการตรวจดูลักษณะของเนื้อไม้ เนื้อไม้ด้านหน้า ควรเลือกลายไม้ที่ละเอียด และลายขนานกัน ยิ่งลายถี่มากยิ่งดี (แสดงว่าเป็นไม้ที่มีอายุมาก มีความคงทนมากกว่า) สังเกตดูอย่าให้มีลายขวางหรือมีตาไม้ขึ้นมาแทรก เพราะเสียงจะด้อยลง เนื้อไม้ที่นับว่าดีเยี่ยมสำหรับกีตาร์คือ ไม้ด้านหน้าเป็นไม้อัลพินสปรูซ (ALPINESPRUCE) ไม้ด้านหลังและด้านข้างเป็นไม้โรสวูด บริดจ์ควรเป็นไม้อีโบนี่หรือโรสวูด หัวกีตาร์เป็นไม้สปรูซ ปัจจุบันจะหากีตาร์ที่มีลักษณะเนื้อไม้สมบูรณ์ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่น่าสังเกตคือว่า กีตาร์ที่ทำด้วยมือ (HANDCRAFT หรือ HANDMADE) ถือว่าเป็นกีตาร์ชั้นเยี่ยม แต่ราคาแพงมาก และมักจะมีบอกกำกับว่าทำด้วยมือ เพราะเป็นเรื่องของค่านิยมและคุณภาพชั้นเยี่ยม

4. บริดจ์

ปัจจุบันกีตาร์โฟล์คมักจะมีบริดจ์ที่ปรับความสูงต่ำของสายได้ ส่วนบริดจ์ที่ปรับไม่ได้ควรมีระดับพอดี ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ใต้บริดจ์ภายในโพรงเสียงกีตาร์จะมีไม้มะฮอกกานี ซึ่งแข็งแรงมากเสริมอยู่ เพื่อกันไม่ให้สายตึงจนบริดจ์ยกขึ้น ส่วนข้างในโพรงเสียงจะต้องมีไม้เสริมอยู่ ซึ่งเรียกว่าโครงยึด (BRACES) โครงยึดภายในกีตาร์คลาสสิคสายไนล่อนเป็นรูปพัด โครงยึดภายในกีตาร์โฟล์คสายเหล็กเป็นรูปกากบาท แต่ปัจจุบันมีโครงยึดที่มีไม้ขวางกับลำตัวกีตาร์เสียเป็นส่วนมาก สำหรับบริดจ์ของนักกีตาร์โฟล์คที่ใช้หมุด (PIN) มักจะให้เสียงดีกว่าบริดจ์ที่ใช้เทลพีซ (TAILPIECE) ซึ่งยังต้องมีเซดเดิ้ล (SADDLE) รองรับสายส่วนบน และบริดจ์รองอยู่ข้างใต้อีกชั้นหนึ่ง


Back

1