แอ๊คชั่นและบัสซิ่ง
ในขณะที่เล่นกีตาร์ คุณจะพบว่ากีตาร์แต่ละตัวมีความยากง่ายในการเล่นต่างกัน กีตาร์บางตัวจะกดสายได้ง่าย ใช้แรงน้อย ในขณะที่กีตาร์อีกตัวนึงต้องใช้แรงมากในการกดสาย คุณสมบัติของความยากง่ายนี้ในการเล่นเรียกว่า "แอ๊คชั่น" (ACTION) ส่วน "บัสซิ่ง" (BUZZING) นั้นคือเสียงแตกพร่าที่เกิดขึ้นในขณะที่ดีดสายกีตาร์
นักกีตาร์ฟลาเม็นโก้นิยมเล่นกีตาร์ชนิดที่กดสายได้ง่าย จนบางครั้งจะเกิดเสียงแตกพร่าได้ง่าย เพราะระยะห่างระหว่างสายและฟิงเกอร์บอร์ดมีน้อยมาก ส่วนนักกีตาร์คลาสสิคชอบกดสายที่มีระยะห่างมากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะเสียงที่ได้จะดังชัดเจน
แอ๊คชั่นสามารถกำหนดได้โดยระยะห่างระหว่างสายกับฟิงเกอร์บอร์ดและแรงดึงของสาย ถ้าแรงดึงของสายมีมาก ก็ต้องใช้แรงในการทำให้สายสั่นสะเทือนมากตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้าระยะห่างระหว่างสายกับฟิงเกอร์บอร์ดมีมาก ก็ต้องใช้แรงในการกดสายมาก แอ๊คชั่นมีความสำคัญมากต่อนักกีตาร์ ถ้ากีตาร์มีเสียงดี แต่ไม่สามารถจะเล่นได้ก็ไม่มีประโยชน์ ความแตกต่างประการสำคัญที่จะบอกได้ว่ากีตาร์จะดีหรือไม่ดี นั่นก็คือคุณสมบัติของแอ๊คชั่น กีตาร์ที่ราคาถูกซึ่งผลิตออกมาเป็นจำนวนมากจะเล่นได้ยาก เพราะทางผู้ผลิตสร้างแอ๊คชั่นไม่ดีพอ สายจะตึงและสูงเกินไป ที่เป็นเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงแตกพร่า แต่ปรากฎว่ากีตาร์ประเภทนี้จะขายไม่ค่อยออก ส่วนกีตาร์ชนิดที่ทำด้วยมือนั้น ผู้สร้างจะพิจารณาเรื่องแอ๊คชั่นเป็นพิเศษ แม้กระทั่ง HERMAN HAUSER ซึ่งเป็นนักทำกีตาร์ที่มีชื่อเสียงของโลกก็ยังให้ความสนใจในเรื่องแอ๊คชั่นเป็นพิเศษ ผู้ทำกีตาร์นิยมลดระดับของฟิงเกอร์บอร์ดทางด้านสายเบสระหว่างเฟร็ตที่ 7 และ 12 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเสียงแตกพร่า
การมีแอ๊คชั่นที่ดีนั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ ๆ คือ ฟิงเกอร์บอร์ดต้องได้ระดับ รวมทั้งเฟร็ตทุกอัน ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน และระยะห่างระหว่างเฟร็ตจะต้องไม่ผิดพลาด วิธีการปรับแอ๊คชั่นสามารถทำได้โดยเริ่มต้นจากการตั้งสายกีตาร์ ให้มีระดับเสียงต่ำกว่าปรกติก็สามารถปรับแอ๊คชั่นที่ระดับเสียงนั้นได้ หลังจากนั้นจึงเพิ่มหรือลดความสูงของบริดจ์ทางด้านบนหรือด้านล่างก็ได้ ในการบากร่องของนักกีตาร์ จะต้องบากร่องของสายเบสให้กว้าง เพราะสายจะใหญ่กว่าทางด้านเสียงสูงและระยะห่างระหว่างสายและฟิงเกอร์บอร์ด ทางด้านสายเบสจะมากกว่าทางด้านสายเสียงสูง เพื่อเว้นเนื้อที่สำหรับการสั่นสายของเบส ซึ่งจะเกิดขึ้นมาก การปรับแรงดึงของสายจะช่วยทำให้แอ๊คชั่นดีขึ้น แต่ก็ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บัสซิ่งหรือเสียงแตกพร่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ โดยจะกล่าวตามลำดับ คือ
- เฟร็ตไม่ได้ระดับหรือหลวม
- บริดจ์ต่ำเกินไป หรือแซดเดิ้ลสึก
- สายไม่ดี
- โครงยึดด้านในหลวม
- คอกีตาร์งอ
- เกิดจากการสั่นของก้านเหล็ก (TRUSS ROD) ที่ใส่ในคอกีตาร์
- เกิดจากความก้องของเสียง
การเริ่มต้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดบัสซิ่งนี้ควรเริ่มจากลูกบิดสายกีตาร์ ตรวจดูว่ามีส่วนใดหลวมหรือสั่น เพราะถ้าลูกบิดหลวมแล้ว เสียงจะสั่นที่ความถี่อกค่าหนึ่งที่ทำให้เสียงออกมาไม่ชัดเจน
ต่อไปก็เริ่มสำรวจเฟร็ต วิธีที่เร็วที่สุด คือ ตรวจดูด้วยตาเปล่าตามตำแหน่งในรูป
อีกวิธีหนึ่งที่ละเอียดแน่นอนกว่า คือ ใช้ไม้บรรทัดที่ยาววางทาบลงไป หรือจะใช้วิธีไล่เสียงก็ได้ โดยกดสายที่มีเสียงแตกพร่าทีละช่อง ๆ โดยเริ่มจากด้านบนสุด จนกระทั่งเสียงผิดปรกติที่เกิดขึ้นหายไป แสดงว่าเฟร็ตอันที่ต่อจากฟิงเกอร์บอร์ดนั้นผิดปรกติ
การแก้เฟร็ตหลวมนี้ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ฆ้อนตอกลงไปให้แน่น
กรณีที่แซดเดิ้ลหรือบริดจ์ต่ำเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงแตกพร่าได้เหมือนกัน แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะสายบางสาย หรืออาจจะทุกสายเลยก็ได้ กรณีเช่นนี้จะหาสาเหตุได้ง่าย ๆ และวิธีแก้ง่ายด้วยเพียงแต่ยกระดับแซดเดิ้ลให้สูงขึ้น ถ้าตรวจสอบฟิงเกอร์บอร์ดและเฟร็ต รวมทั้งคอกีตาร์ด้วย และพบว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยแล้ว ก็ควรยกระดับบริดจ์ให้สูงขึ้น ทำการวัดระยะพิกัดระหว่างสายกับเฟร็ตตรงตำแหน่งที่ต่อระหว่างคอกับตัวกีตาร์ ซึ่งโดยมากจะตรงกับเฟร็ต อันที่ 12 หรือ 14
ระยะพิกัดระหว่างสายกับเฟร็ตที่ควรจะเป็นมาตรฐาน
สายเหล็ก 3/32 ตรงตำแหน่งสาย E เสียงสูง
สายเหล็ก 4/32 ตรงตำแหน่งสาย E เบส
สายไนล่อน 4/32 ตรงตำแหน่งสาย E เสียงสูง
สายไนล่อน ตรงตำแหน่งสาย E เบส
ตัวเลขนี้เป็นมาตรฐานสำหรับกีตาร์ที่ผลิตจากโรงงาน แต่ถ้าเป็นกีตาร์ที่ทำด้วยมือแล้ว นิยมลดค่าระยะของสายไนล่อนเป็น 4/64 ตรงสาย E เสียงสูง และ 5/64 ตรงสาย E เบสหย่อนสายลงและยกแซดเดิ้ลให้สูงขึ้น ถ้ายังไม่หายก็ลองใส่ไม้อัดเพิ่มไปอีก การเสริมไม้อัดนี้อาจจะทำให้บริดจ์หรือแซดเดิ้ล แต่ควรจะเริ่มทำจากแซดเดิ้ลก่อน หลังจากเสียงที่ได้ถูกต้องแล้ว ก็ทำแซดเดิ้ลอันใหม่ให้มีระยะเท่ากับอันเก่า บวกกับไม้ที่เสริมเข้าไปในการทำบริดจ์นี้จะต้องระวังทางแซดเดิ้ล เพราะแซดเดิ้ลนี้จะต้องแนบสนิทกับร่องไม้
แซดเดิ้ลอาจมีส่วนทำให้สายมีเสียงแตกพร่าก็ได้ ถ้าร่องที่รองรับสายกีตาร์เป็นร่องกลม แทนที่จะเป็นเหลี่ยมหรือสันทำให้สายไม่แน่นสนิทกับร่องของบริดจ์ทางด้านตรงข้ามกับหัวกีตาร์ ทำให้เสียงที่เกิดขึ้นแตกและไม่เพราะ
เสียงแตกพร่าอาจจะเกิดจากคอกีตาร์งอก็ได้ คอกีตาร์ชนิดที่เสริมเหล็กหรือไม่ได้เสริมเหล็กก็นับว่าแข็งแรง โอกาสที่คอกีตาร์จะงอนั้นหายากมาก โดยทั่วไปคอจะงอได้ถ้าตั้งสายตึงเกินไปเป็นเวลานาน ๆ ทำให้คอกีตาร์โค้งขึ้นด้านบน ระยะห่างระหว่างสายกับฟิงเกอร์บอร์ดจะเพิ่มขึ้น ทำให้การกดสายยากลำบากขึ้น แต่ในกรณีที่ทำให้เสียงแตกพร่าได้นั้นจะต้องเกิดจากคอกีตาร์แอ่นตรงกลางขึ้น ทำให้สายอยู่ชิดกับฟิงเกอร์บอร์ดมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้คอกีตาร์เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการขันเกลียว เหล็กในคอกีตาร์ไม่ถูกต้อง ถ้าในขณะที่ทำการขันเกลียวให้แน่นมีความชื้นในอากาศน้อยกว่าปรกติ เมื่อความชื้นคืนสู่สภาพปกติ คอกีตาร์ก็เลยบิดไป ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ต้องทำการเปลี่ยนคอกีตาร์เสียใหม่
คอและข้อต่อ (NEEK and HEEL)
วิธีติดกาวใหม่
คอกีตาร์ดี ๆ มักไม่ค่อยหลวม (ดูภาพประกอบ) ถ้าเกิดหลวมขึ้นมา ก็ลองตรวจดูใบรับประกันกีตาร์ดู ว่าคุณยังมีโอกาสคืนมันไปยังโรงงาน (หรือบริษัท) เพื่อให้จัดการซ่อมได้อีกหรือไม่?
คอก็นับได้ว่าเป็นหัวใจของกีตาร์ การวางคอที่ผิดมุมไปเพียงนิดเดียว หรือการใส่กาวไม่พออาจทำให้เกิดผลเสียหายได้อย่างมาก พูดกันง่าย ๆ กีตาร์คอหลวม ไม่ใช่งานสำหรับช่างซ่อมสมัครเล่นอย่างเรา ๆ แต่บางครั้งสำหรับกีตาร์ที่ราคาไม่แพงนัก มันก็น่าลองซ่อมดูเองบ้างเหมือนกัน ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ตามนี้ :-)
1. ถอดสายกีตาร์ออกทั้งหมด
2. ต้มน้ำสักถาดหนึ่งให้ร้อนจนเดือด
3. จับกีตาร์ตั้งตรง ๆ และใช้ช้อนตักน้ำร้อนราดลงไปตรงรอยต่อของคอกับข้อต่อคราวละช้อนสักพักหนึ่ง เพื่อให้กาวเดิมที่ทาไว้อ่อนตัว ขณะที่คุณทำแบบนี้ ให้ค่อย ๆ โยกคอกีตาร์ไปมา เพื่อให้มันหลุดออกจากลำตัว ถ้ายังไม่หลุดลองตบด้วยสันมือของคุณ หรือเคาะด้วยฆ้อนยาง รับรองว่าได้ผลแน่ ๆ
4. เช็ดน้ำและกาวที่อ่อนตัวจากกีตาร์ให้หมด และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
5. ใช้กาวหนังสัตว์ชนิดเหลว (LIQUID HIDE GLUE) ของเลอเพจ (LE PAGE) หรือกาวหนังสัตว์ที่ร้อน ๆ ชนิดใดก็ได้ โดยเคี่ยวให้เดือดสัก 2 ครั้ง ก่อนใช้ จากนั้นจึงหยอดกาวลงในช่องตรงลำตัวเชื่อมกับรอยข้อต่อ และรีบปรับคอให้เข้าที่ทันที แต่ต้องแน่ใจว่าคอและลำตัวอยู่ในแนวตรงอย่างถูกต้องจริง ๆ เช็ดกาวที่เยิ้มออกมา และปล่อยทิ้งไว้สัก 24-36 ชั่วโมงก่อนจะใส่สาย
ลูกบิดสาย (MACHINE HEADS)
การบำรุงรักษา
ช่างซ่อมกีตาร์มีความเห็นต่างกันในเรื่องที่ว่าสมควรหยอดน้ำมันที่ลูกบิดสายดีหรือไม่ บางคนว่าน้ำมันหล่อลื่นอาจทำให้โลหะบางชนิดสึกหรอ แต่บางคนก็อ้างว่าการหยอดน้ำมันอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ลูกบิดหมุดได้คล่อง
วิธีที่ดีที่สุดคือหยอดน้ำมันสักเดือนละครั้ง โดยใช้น้ำมันหล่อลื่นเกรดใส ๆ อย่างของทรีอินวัน (THREE-IN ONE) สำหรับลูกบิดที่มีฝาครอบเกลียวและมีรูไว้สำหรับหยอดน้ำมัน หรือชนิดที่ไม่มีฝาครอบเลย (ลูกบิดสายบางยี่ห้อ เช่น GROVER และ SCHALLER หล่อลื่นไว้แบบถาวรและมีฝาครอบชนิดปิดตาย) เวลาหยอดน้ำมันหล่อลื่นระวังอย่าให้น้ำมันเปื้อนไม้หน้าของกีตาร์ และเช็ดส่วนที่เยิ้มออกให้หมด
การเปลี่ยน
เมื่อลูกบิดสายเริ่มหลวม และไม่อาจกวดให้แน่นได้อีกต่อไป ก็ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนใหม่ โดยเพียงแต่ถอดสายกีตาร์ออก คลายเกลียวที่ยึดลูกบิดสายและใส่อันใหม่เข้าไปแทน
ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนลูกบิดเป็นขนาดใหญ่ขึ้น อย่างของ GROVER และ SCHALLER แทนอันเดิมที่เล็กกว่า คุณก็มีงานเพิ่มขึ้นมาอีก โดยปฏิบัติตามขึ้น ๆ ตามนี้
1. ถอดสายและลูกบิดชุดเดิมออก
2. ใช้เครื่องคว้าน (REAMER) ขยายรูเดิมให้กว้างขึ้นทีละน้อย ๆ จนกว่าจะได้ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกบิดสายชุดใหม่ที่โตกว่าเดิม ถ้าคุณมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือไฟฟ้า ก็ควรทุ่นแรงด้วยการใช้สว่านไฟฟ้ามาเจาะรูให้กว้างขึ้น โดยคว้านออกคราวละ 1/6" แต่ควรระวังให้ดีเมื่อสว่านไฟฟ้า เพราะคุณอาจจะเผลอทำดอกสว่านติดอยู่ในเนื้อไม้ หรืออาจทำลูกบิดสายแตกโดยไม่เจตนา
3. ลูกบิดสายส่วนมากมีเกลียวยึด 2 ตัว เพื่อให้มันเข้าที่ แต่ถ้าหากอันที่คุณจะเปลี่ยนเผอิญมีเกลียวอยู่เพียงตัวเดียว ท่านก็ใช้ไม้ชิ้นเล็ก ๆ ทำเป็นเดือย เพื่อใส่ลงในรูเกลียวที่ใช้ โดยตัดไม้ให้ยาว 1/4" และเหลาให้เรียวจนได้ขนาดประมาณเกลียวจริง ๆ หยอดกาวลงไปในรูสักนิดหนึ่งก่อน แล้วอัดเดือยไม้ลงไปให้แน่น จากนั้นจึงแต้มสีหรือใช้น้ำยาขัดเงาขัดให้เรียบ ถ้าหากด้านนั้นเป็นไม้ขัดเงา
4. ติดลูกบิดสายอันใหม่และกวดเกลียวให้แน่น
การปรับแต่งก้างเหล็ก (TRUSS RODS)
กีตาร์สายเหล็กที่ทำในอเมริกา ส่วนมากมีก้างเหล็กใส่ไว้ข้างในตามความยาวของคอ ในกรณีนี้ส่วนมากก้างเหล็กตามคอสามารถปรับแต่งได้ด้วยประแจ หรือไขควง การตรวจว่าคอกีตาร์ของคุณจะอยู่ในแนวตรงหรือไม่ ทำได้โดยเล็งมองตามความยาวของคอจากหัวกีตาร์ ถ้าฟิงเกอร์บอร์ดโก่งขึ้นไปหาสาย แสดงว่าตึงเกินไป ถ้างอตัวหนีจากสาย แสดงว่าก้างเหล็กนั้นหลวมไป
การปรับแต่ง
มีการปรับแต่งก้างเหล็กอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับแบบที่ผู้ผลิตทำออกมา กีตาร์บางตัวมีแป้นเกลียวสำหรับปรับแต่งคออยู่ใต้แผ่นพลาสติก หรือแผ่นโลหะในหัวกีตาร์ แต่บางตัวอย่างเช่น FENDER วางสลักเกลียวสำหรับปรับแต่งไว้ตรงฐานของคอ
แป้นเกลียวที่ปรับแต่งได้
โดยทั่วไปไขควงกวดแป้นเกลียวขนาด 5/16" หรือ 1/4" สามารถใช้ได้ผลดี แต่ท่านอาจจะต้องติดต่อไปทางบริษัทและซื้อประแจขนาดพิเศษของมัน เริ่มต้นโดยคลายสาย 3 และ 4 ถอดแผ่นปิดตรวหัวออกมา จากนั้นก็หมุนแป้นเกลียวของก้างเหล็กประมาณ 1/4" ต่อรอบ ตรวจสอบความตรงของคอด้วยขอบไม้ตรงขณะที่คุณปรับ อย่าลืมว่าถ้าคอโก่งไปทางสาย แสดงว่าก้างเหล็กตึงเกินไป และต้องคลายให้หลวม ถ้าหากงอตัวหนีจากสายแสดงว่าหลวมไป และควรจะต้องกวดให้แน่นขึ้น การคลายให้หลวมก็หมุนแป้นเกลียวทวนเข็มนาฬิกา การกวดให้ตึงก็หมุนตามเข็มนาฬิกา ระวังอย่าทำให้แป้นเกลียวหวานโดยกวนตึงเกินไป ถ้าแป้นเกลียวแข็งมากในขณะที่คุณพยายามกวดให้ตึง ใช้แรงกดพอประมาณ เพื่อดันคอไปทางหลัง โดยวางลงบนเข่า ในขณะที่คุณพยายามกวดให้แป้นเกลียวตึง ถ้ายังตึงไปก็ให้ถอดสายออกปรับเสียใหม่ ใส่สายเข้าที่เดิม และตั้งสายเทียบเสียใหม่ พยายามจนกว่าจะแก้ไขการโก่งตัวของคอได้
เวลาคุณแก้ไขความโก่งของคอได้แล้ว เช็คความตรงโดยเล็งลงไปตามความยาวของคออีกสัก 2-3 ครั้ง จากนั้นจึงเอาฝาปิดเข้าที่เดิม
สลักเกลียวที่ปรับแต่งได้
ใช้วิธีทำแบบเดียวกัน เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าท่านมีไขควงขนาดเดียวกับที่จะใช้สำหรับการปรับแต่ง เพื่อไม่ทำให้ร่องเกลียวเหหรือบิดไป
หมายเหตุ
การปรับแต่งก้างเหล็ก ต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองทำได้ละก็ ขอแนะนำให้เอากีตาร์ตัวโปรดของคุณไปให้ช่างซ่อมที่มีความสามารถ จะปลอดภัยกว่าค่ะ :-)