1. สายไนล่อน (Nylon Strings)
สำหรับกีตาร์คลาสสิคและฟลาเม็นโก้ จะต้องใช้เฉพาะสายไนล่อนเท่านั้น ห้ามใช้สายโลหะเป็นอัดขาด เพราะจะเป็นการทำลายกีตาร์ของคุณค่ะ
สายกีตาร์ชนิดนี้มีสายเบส 3 สาย คือ สายที่ 6(E), 5(A), 4(D) เป็นไนล่อนหรือใยไหม ซึ่งขดด้วยโลหะจำพวกเงิน โลหะผสมทอง ทองแดง หรือบรอนซ์ ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติสั่นง่าย และให้เสียงดังกังวาน
สายที่ 3(G), 2(B), 1(E) เป็นสายไนล่อนที่อาจมีสีใส สีดำหรือสีอื่น ๆ บางยี่ห้อสายที่ 3 และสายที่ 2 อาจมีใยไนล่อนพันเส้นไนล่อน เพื่อให้เกิดเสียงใสมากขึ้น
สายกีตาร์ไนล่อนมี 3 ชนิด ในท้องตลาดคือ ชนิดที่มีความตึงสูง ตึงปานกลาง และค่อนข้างตึง ชนิดที่มีความตึงสูงจะให้เสียงดังคมชัดกว่า ราคาก็มักจะแพงกว่า นักดนตรีคลาสสิคอาชีพมักใช้สายชนิดนี้
ปกติสายไนล่อนจะต้องผูกรัดอยู่ที่บริดจ์ อาจจะมีสายไนล่อนและกีตาร์คลาสสิคบางชนิดจากยุโรปภาคเหนือ และอเมริกาที่มีรูอยู่ตรงบริดจ์ สายกีตาร์ชนิดนี้จึงต้องมีเม็ดบอลล์อยู่ตรงปลายสายข้างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สายกีตาร์ไนล่อนชนิดผูกมักจะได้เปรียบกว่า
2. สายโลหะ (Steel Strings)
สายโลหะหรือเหล็กในเฉพาะสายที่ 6, 5, 4, 3 จะมีเส้นบรอนซ์ (Bronze) พันหุ้มอยู่ เนื่องจากความนุ่มของบรอนซ์ จึงทำให้เสียงนุ่มและสั่นมากกว่าเมื่อเทียบกับสายกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งใช้สายนิเกิ้ล (Nickel) พันหุ้มไว้ กล่าวคือ โลหะผสมบรอนซ์-ทองแดง-อัลลอยด์ ทำให้เกิดเสียงได้เต็มที่กว่า สังเกตได้เมื่อเล่นกีตาร์โปร่งจะมีเสียงดังก้องชัดใสกว่าใช้สายกีตาร์ไฟฟ้า (ขณะที่ไม่ใช้ไฟฟ้า) ซึ่งให้เสียงทึบ แต่สายโลหะนิเกิลกลับมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับกีตาร์ไฟฟ้าที่ใช้เม็กเนติคปิคอัพ (Magnetic Pick-Ups)
โดยทั่ว ๆ ไป อายุการใช้งานของสายกีตาร์ ถ้านับเป็นชั่วโมงการเล่นก็ประมาณ 40 ชั่วโมงได้ สายอาจจะเพี้ยนก่อน 40 ชั่วโมงการเล่นก็ได้ แต่จะไม่มีปัญหามากนักจนกระทั่งเล่นไปอีก 75 ชั่วโมงการเล่น ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างอื่น เช่น
- โดยเหงื่อจากนิ้วมือของคุณนาน หรือมากแค่ไหน ดังนั้นก่อนเล่นกีตาร์ควรมีมือที่สะอาด เช็ดมือให้แห้ง เมื่อเล่นกีตาร์เสร็จก็ควรเช็ดสายกีตาร์ให้ดี เพื่อป้องกันสนิม หรือปฏิกิริยาระหว่างโลหะกังเหงื่อ
- คุณเล่นกีตาร์ ดีดหนักหรือรุนแรง ก็จะทำให้สภาพสายเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นด้วย ดังนั้นไม่ควรดีดกีตาร์ด้วยอารมณ์ดุร้ายส่งเดชโดยไร้ความหมาย
-- ถ้าสายถูกขึงทิ้งไว้เฉย ๆ เป็นเวลานาน ๆ สายอาจสูญเสียแรงยืดหยุ่น และเพี้ยนได้ง่าย
- คุณอาจจะหลวมตัวซื้อสายกีตาร์เก่าแก่ที่เหลือก้นร้านนานแล้วมาใช้ คุณค่าอาจเพี้ยนบ้างตามกาลเวลา ดังนั้นเวลาซื้อให้สังเกตกล่องหรือซองของสายกีตาร์ด้วย
- ฝุ่น, เหงื่อไคล หรือสนิมที่ไปเกาะติดอยู่กับสาย จะทำให้การสั่นของสายไม่เป็นปกติ และทำให้เสียงพื้นฐาน และเสียงฮาร์โมนิคที่เล่นออกมาไม่ได้เสียงมาตรฐาน
- สายที่เสียงเพี้ยนอาจเกิดจากการที่สายเสียดสีกับเฟร็ต ซึ่งจะทำให้สายกร่อน มีร่อง หรืออาจจะทำให้สายที่พันขดรอบสายในแตกหลุดออกมา ซึ่งมักจะพบกับสายโลหะสายที่ 3 หรือ 4 อยู่บ่อย ๆ คุณอาจจะซื้อสายดังกล่าวมาเปลี่ยนกับสายที่เสียนั้น แต่ถ้ามีเงินพอก็เปลี่ยนหมดทั้งชุด โดยซื้อชนิดที่มีคุณภาพดี ๆ แม้ราคาอาจจะแพง แต่ก็คุ้ม เพราะปัญหาที่กล่าวมานี้จะไม่ค่อยพบบ่อยนัก
- การสร้างสายด้วยน้ำมัน อย่างเช่นน้ำมันรถ อาจจะช่วยต่ออายุได้ ถ้าสายไม่สึกมากเกินไป อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือการแช่น้ำไว้ในน้ำที่ผสมน้ำยาซักแห้ง (ที่ยังไม่ได้ใช้ซักผ้า)
3. ขั้นตอนการใส่สายกีตาร์คลาสสิค
เราจะเริ่มต้นที่สาย 6 ซึ่งเป็นสายเส้นใหญ่ที่สุด ก่อนอื่นต้องเอาสายออกมาจากซองและคลายสายออก เรื่องนี้ดูออกจะเป็นเรื่องที่ควรกล่าวถึงอย่างมาก แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้น คือ ความระมัดระวังจริง ๆ
สายทำขึ้นโดยการเอาใยลวดนิ่มพันทับลงไปบนแกนลวดเล็ก ดังนั้นการจับถือสายโดยไม่ระวังก็สามารถทำให้เสียหายได้โดยง่าย
ถ้าใยลวดหุ้มงอ สายจะสั่นไม่เท่ากัน และเสียงที่ได้ออกมาก็จะไม่สมบูรณ์ การคลายสายออกอย่างไม่ระวัง อาจทำให้การผูกมัดระหว่างใยหุ้มกับแกนหลวมได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นสายจะเกิดเสียงกวนหรือให้เสียงบอดมากจนแทบไม่มีประโยชน์ ดังนั้นจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี
เมื่อคุณคลายสายออกแล้ว คุณจะเห็นว่าปลายด้านหนึ่งของสายนิ่มและหยุ่น ซึ่งจะทำให้งอสายได้ง่าย และทำให้เข้าไปยึดกับบริดจ์ได้อย่างมั่นคง
วางกีตาร์หงายขึ้นบนเข่าของคุณ และสอดสายเข้าไปในรูสาย 6 ตรงบริดจ์ สอดเข้าไปทางด้านหลังบริดจ์ โดยใช้ปลายสายทางด้านแข็ง
ค่อย ๆ ดึงสายผ่านเข้าไป จนกระทั่งเหลือเพียงส่วนที่อ่อนทางด้านหลังบริดจ์
จากนั้นดึงส่วนที่อ่อนขึ้นไปทางด้านบนของบริดจ์
และสอดเข้าไปใต้สาย
จากนั้นก็ร้อยกลับ และสอดลอดใต้ตัวเองอีกครั้ง
อันดับสุดท้าย ก็ดึงตรงปลายสุดของสายลงไปอยู่ข้างหลังบริดจ์
เพื่อให้การผูกสายแน่น ค่อย ๆ ดึงสายข้างหน้าบริดจ์
คงไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ? ถ้าคุณรู้สึกว่าการผูกสายยังไม่แน่น ก็ไม่ต้องกังวล ให้ถอดสายออกมาทดลองใส่ดูอีกครั้ง คุณคงต้องอาศัยการฝึกฝนหลาย ๆ ครั้ง จึงจะทำได้อย่างชำนาญ
ตอนนี้กลับมาดูอีกด้านหนึ่งของกีตาร์ จับปลายสายส่วนที่แข็ง ดึงเบา ๆ ไปตามความยาวของตัวกีตาร์จนไปถึงลูกบิด ในขณะที่ยังวางกีตาร์อยู่บนเข่า คุณก็หมุนลูกบิด ซึ่งเป็นตัวแต่งเสียงสาย 6 ให้หมุนไป
หมุนไปเรื่อย ๆ จนกว่ารูใส่สายหมุนมาอยู่ตรงหน้าคุณ สอดสายเข้าไปในก้านลูกบิด
ดึงปลายให้พันรอบแกนและสอดเข้าไปใต้ตัวเอง
วิธีนี้จะทำให้ (ก้านลูกบิด) ผูกและยึดสายได้มั่นคงเวลาคุณตั้งสาย จากนั้นใช้มือขวาของคุณจับสายไว้ในระหว่างหัวและตอนปลายของฟิงเกอร์บอร์ด และดึงขึ้นจากลำตัว เพื่อตรวจดูความหย่อนของสาย
ขณะที่มือซ้ายของคุณเริ่มหมุนสายให้พันเข้ากับก้านของลูกบิด ก็ใช้มือขวาจัดเรียงขดสายที่แกนให้เป็นระเบียบ และแบ่งแรงดึงให้เท่ากัน
เวลาคุณหมุน ต้องแน่ใจว่าสายจะไม่หย่อนลงไปติดด้านซ้ายของร่องตรงหัว เพราะอาจทำให้สายเสียหายได้
ถ้าหากอะไร ๆ ชัดจะเลยเถิดไปก็คลายสาย และให้เริ่มต้นใหม่ จำไว้ว่านอกจากให้แลดูสวยแล้ว สายที่พันไว้ดีจะเล่นได้ดี และมีอายุยืนยาวกว่าด้วย ดังนั้นคุณจำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับเรื่องนี้ เมื่อช่วงสุดท้ายของความหย่อนได้ถูกยึดไว้ตึงแล้ว ก็ให้คลายสาย 5 ออก และใส่เข้าไปใหม่ และจากนั้นก็เป็นสาย 4 ตามที่บอกไปแล้วว่าสายเส้นสูงทั้ง 3 สาย ไม่มีใยลวดหุ้ม นั่นหมายถึงว่า คุณจะต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกเวลาผูกเข้ากับปลายบริดจ์ เพราะว่าอาจจะลื่นหลุดได้ง่าย เหตุนี้เอง จึงแนะนำให้คุณเริ่มต้นจากสายที่ 6 มาก่อน พอถึงสายที่ 1 คุณก็จะผูกเงื่อนที่ตรงบริดจ์ได้ชำนาญแล้ว ดังนั้นถึงเป็นสายที่ไม่มีใยหุ้ม ก็ไม่น่าเป็นเรื่องน่ากลัวเลย นี่เป็นวิธีดีที่สุดเท่าที่ได้พบมาในการผูกสายให้มั่นคง แรกเริ่มก็ผูกเงื่อนง่าย ๆ ตรงปลายสายข้างหนึ่งก่อน
ในเมื่อไม่มีลวดหุ้ม สายก็ไม่มีด้านอ่อน ดังนั้น เงื่อนที่ว่านี้จะผูกทางด้านใดก็ได้ จากนั้นก็สอดปลายข้างที่ไม่มีเงื่อนเข้าไปในรูของบริดจ์ จากด้านหลังไปยังด้านหน้าเหลือไว้ประมาณ 2 นิ้ว กับเงื่อนทางด้านหลังบริดจ์
เช่นเดียวกับสายที่มีใยหุ้ม ดึงปลายสายขึ้นมาบนบริดจ์และสอดเข้าไปใต้ตัวเองอีกที
อันดับสุดท้ายก็ดึงเงื่อนลงไปด้านหลังบริดจ์
แล้วค่อย ๆ ดึงสายทางด้านหน้าบริดจ์ เพื่อช่วยให้การผูกนี้แน่นเข้า
ตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะผูกอีกด้านหนึ่งเข้ากับก้านลูกบิด ทั้งหมดนี้ก็เป็นรายละเอียดสำหรับการใส่สายกีตาร์คลาสสิคค่ะ
4. ขั้นตอนการใส่สายกีตาร์โฟล์ค
การออกแบบบริดจ์ที่นิยมมาก สำหรับกีตาร์แบบนี้ใช้ระบบการใส่หมุด
ในบริดจ์ที่มีหมุด ปลายสายจะแทงเข้าไปในลำตัวของกีตาร์ โดยผ่านเข้าไปในรูบริดจ์ และยึดอยู่กับที่โดยหมุดเรียวเล็กที่ทำจากไม้, งา หรือพลาสติก
นี่เป็นวิธีใส่สายสำหรับกีตาร์ที่บริดจ์ใช้ระบบการใส่หมุด เช่นเดียวกับกีตาร์คลาสสิค เราเริ่มต้นโดยคลายสาย 6 ออกมาจากซอง และเหมือนเดิมคือ ทำอย่างนิ่มนวลและระมัดระวังในการคลายสายออกจากขด สาย 6 ซึ่งเป็นสายโลหะนั้นสะบัดมาก และอาจคลายตัวด้วยความเร็วราวกับงูฉก... ดังนั้นจึงควรระวังเพราะอาจจะทิ่มตาคุณได้
เวลาคุณคลายสายออกแล้ว คุณจะเห็นปลายด้านหนึ่งมีหลอดโลหะเล็ก ๆ ติดอยู่ด้วย หลอดที่ว่านี้เรียกลูกกลม และสายแบบนี้เรียกว่าสายที่มีปลายลูกกลม
เมื่อคุณเอาสายกีตาร์ออกจากซอง และคลายสายออกแล้ววางกีตาร์หงายขึ้นบนเข่าของคุณ และใช้นิ้วกับนิ้วหัวแม่มือพยายามดึงหมุดสำหรับสาย 6 ออก ข้อสำคัญ อย่าดึงหมุดที่บริดจ์ออกในขณะที่หมุดยังยึดสายอยู่ จนกว่าคุณได้คลายแรงดึงของสายให้หย่อนแล้ว บางครั้งหมุดจะหลุดขึ้นมาอย่างง่ายโดยไม่มีปัญหา แต่ส่วนมากมักจะต้องมีการชักนำกันนิดหน่อย วิธีที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือการงัดทางใต้ด้านข้างของหัวหมุดด้วยเหรียญสักอัน (เหรียญบาทก็ได้)
วิธีนี้ก็จะต้องทำอย่างระมัดระวังอีก เพราะจะได้ไม่ทำให้หมุดแตก หัก หรือขูดผิวหน้าของบริดจ์ การดึงหมุดที่ติดแน่นควรสอดขอบเหรียญเข้าไปใต้หัวหมุด ใช้หมุดตัวถัดไปเป็นศูนย์กลาง ค่อย ๆ โยกเหรียญเพื่อให้เกิดแรงดัน และหมุดก็จะหลุดออกมา
บางครั้งคุณอาจเจอกับหมุดซึ่งอัดแน่นจริง ๆ และมักจะแตกหักเสียมากกว่าจะขยับเขยื้อนโดยการงัด กรณีเช่นนี้ ควรเอามือล้วงเข้าไปในตัวกีตาร์ทางโพรงเสียง และค่อย ๆ ดันหมุดขึ้นมาจากด้านใน
ถ้าหากยังอัดแน่นอยู่ ก็ให้ใช้ของแข็งชิ้นเล็กขนาดไฟแช็คเคาะหมุดสัก 2-3 ครั้งจากด้านในของกีตาร์
วิธีนี้จะทำให้หมุดที่อัดแน่นทั้งหลายหลุดได้ แต่ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้นค่ะ
เมื่อหมุดหลุดออกมาแล้ว เอาปลายสาย 6 ด้านลูกกลมใส่เข้าไปในรูให้ลึกประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นก็ใส่หมุดกลับเข้าไปที่เดิม โดยให้สายโผล่ออกมาทางด้านข้างของรูหมุดและชี้ไปทางลูกบิดสาย
หมุดที่บริดจ์ส่วนมากมีร่องอยู่ทางด้านหนึ่ง
ร่องนี้ทำไว้เพื่อปิดล้อมสายเหนือลูกกลมขึ้นมา และหมุดแบบนี้ควรจะใส่โดยการเอาด้านมีร่องหันไปทางลูกบิดสาย เมื่อใส่หมุดที่บริดจ์เรียบร้อยแล้วจับไว้ให้แน่นก่อนในขณะที่ดึงเบา ๆ ทางด้านปลายข้างที่เป็นอิสระเพื่อล็อคลูกกลมข้างใต้บริดจ์ เช่นเดียวกับสายไนล่อน คุณควรทำอย่างนิ่มนวลเท่าที่จะทำได้เวลาใส่สายโลหะ จากนั้นดึงปลายว่างอีกข้างของสายให้ไปตามความยาวของกีตาร์ และคุณก็พร้อมที่จะใส่เข้าตรงลูกบิด กีตาร์โฟล์คบางตัวมีร่องลูกบิดสายเป็นลักษณะนี้ ถ้าคุณมีกีตาร์แบบนี้ก็ใส่สายแบบเดียวกับที่คุณใส่สายในกีตาร์คลาสสิคหรือกีตาร์สายไนล่อน
หรือถ้ากีตาร์มีหัวเรียบแบบ "เสียม" โดยก้านลูกบิดสายทะลุออกมาจากด้านหลัง ถ้าเป็นแบบนี้การใส่สายก็ต่างกันนิดหน่อย
วางกีตาร์บนเข่าเหมือนกับว่าคุณกำลังจะเล่น
หมุนลูกบิดสาย 6 จนรูสายชี้ขึ้นไปทางด้านบนสุด แล้วสอดสายจากด้านในของหัวกีตาร์ชี้ออกไปทางตัวคุณ
สอดมันกลับไปในทางด้านหลังตัวมันเอง
และดึงหลายเบา ๆ ไปทางด้านนอก
ดึงสายที่หย่อนด้วยมือขวาของคุณ ค่อย ๆ หมุนสายที่หย่อนเข้ากับก้านลูกบิด ใช้มือขวาของคุณเพื่อให้แน่ใจว่าสายเรียงขึ้นไปเท่ากัน จากด้านบนลงสูงด้านล่างของก้านลูกบิด
สายอื่นทุกเส้นรวมทั้งสายเสียงสูงที่ไม่มีใยหุ้มก็ทำแบบเดียวกัน
5. การแต่งปลายสายที่ไม่เรียบร้อย
ก่อนที่คุณจะตัดสายหุ้มใยลวดสายใด คุณจะต้องงอสายประมาณ 1 นิ้ว จากก้านลูกบิดสาย การทำเช่นนี้เพื่อป้องกันการคลายตัวของลวดหุ้มแกนสาย ซึ่งคุณก็ทราบดีแล้วว่าอาจทำให้เกิดบัสซิ่งขึ้น หรือเสียงเพี้ยนไปได้ คุณสามารถตัดปลายสายที่เลยจากจุดนี้ไปแล้ว ถึงแม้ว่สายที่ไม่มีใยหุ้มไม่จำเป็นจะต้องงอก็เป็นความคิดที่ไม่เลวสำหรับการปล่อยสายทิ้งไว้สัก 1 นิ้ว ระหว่างก้านลูกบิดกับจุดที่ตัด ในกรณีที่สายอาจจะลื่นหลุดจากก้านลูกบิดที่จุดที่ตัด ในกรณีที่สายอาจจะลื่นหลุดจากก้านลูกบิดในครั้งแรก เมื่อคุณตั้งสายให้ได้เสียงมาตรฐาน ในกรณีที่ไม่มีคีมตัดลวด คุณอาจจะจับปลายสายโลหะงอไปงอมาจนเกิดความล้าในโลหะที่ทำให้สายขาดได้
นักกีตาร์หลายคนนิยมขดปลายสายที่ไม่ให้เห็นไว้แทนที่จะตัดหรือหักออก จะขอแนะนำให้คุณงอสายหุ้มใยลวดก่อน จากนั้นใช้เหรียญ (บาท) ประกบกับสายตรงจุดที่เหนือรอยงอขึ้นมา
ใช้ขอบของเหรียญกดแรง ๆ กับสาย ส่วนมือก็ดึงออกมาอย่างรวดเร็ว วิธีนี้จะทำให้ปลายด้านว่างวดเหมือนกับสปริง
และทำให้กอดตัวกันอย่างเป็นระเบียบ