หลัก"กาลามสูตร" หรือ เกสปุตติยสูตร เครื่องถ่ายถอนความงมงาย   "พุทธทาส"ถ่ายทอดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า 
................................................................................................................
    ทีนี้จะกล่าวถึงหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นเครื่องขจัดหรือถ่ายถอนความงมงาย หลักนี้เราเรียกว่า "กาลามสูตร" หรือเกสปุตติยสูตร
เป็นพุทธภาษิตจัดไว้สำหรับแก้ไขความงมงายเฉพาะเรื่องเดิมมีอยู่ว่าคนกลุ่มหนึ่งได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงข้อที่เขากำลังงงกันไปหมดโดยไม่อาจทราบได้ว่าข้อปฏิบัติย่างใดจะดับทุกข์ได้โดยตรง ครูบาอาจารย์พวกนี้มาสอนอย่างหนึ่ง พวกโน้นก็มาสอนอีกอย่างหนึ่ง มากมายหลายพวกด้วยกัน จนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นที่เชื่อถือได้  ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้แก่เขา
     ลักษณะเช่นนี้ เราน่าจะนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในยุคของพวกเราทุกวันนี้บ้างเหมือนกัน เพราะว่าในปัจจุบันนี้ ก็มีหลักปฏิบัติพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกบ้าง นอกพระไตรปิฎกบ้างครึ่ง ๆ กลาง ๆ บ้าง ของไทยบ้าง ของต่างประเทศบ้าง ดูจะสับสนวุ่นวายกันพอใช้ จนประชาชนที่สนใจเกิดงงงันกันไปแล้วเราจะทำอย่างไร ฉะนั้นน่าจะอาศัยการแก้ปัญหา ข้อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น เดียวกัน คือ พระองค์ได้ตรัสสอนคนเหล่านั้นว่า
1. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา
2. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ทำตาม ๆ กันมา
3. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดแล้ว ว่าเป็นความจริง
4. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันมีอ้างอยู่ในคัมภีร์หรือปิฎก (ตำรับตำรา)
5. อย่าได้เชื่อถือโดยการเดาช่องตัวเอง
6. อย่าได้เชื่อถือโดยการคาดคะเนของตัวเอง
7. อย่าได้เชื่อถือโดยการตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว
8. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้ กับลัทธิความเชื่อถือที่ตนกำลังถืออยู่เป็นประจำ
9. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า ผู้พูดหรือผู้สอนนั้นอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อถือได้
10. อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า ท่านผู้กล่าวผู้สอนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา
    ในข้อสุดท้ายนี้ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า คำว่า "ครูบาอาจารย์" นั้น หมายถึงพระพุทธเจ้าท่านเองด้วย เพราะว่าในบาลีแห่งอื่นได้กล่าวไว้ชัดเจน พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติว่า "อย่าเชื่อโดยเหตุว่าตถาคตกล่าว" หรือ "อย่าเชื่อคำของตถาคตโดยไม่พิจารณาให้เห็นแจ้งเห็นจริง" นี้เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านได้มีพุทธประสงค์จะให้เราหลุดพ้นจากการเป็นทาสของความงมงายเพียงไร ท่านให้อิสรภาพอย่างไร ท่านให้เราเป็นผู้กล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณือย่างไร ท่านทรงมุ่งหมายให้เราหลุดจากความเป็นคนงมงายโดยเด็ดขาด เพราะความงมงายนี้ ย่อมเป็นอุปสรรคอันแรกของการที่จะดำเนินไปสู่เขตแดนของพระอริยเจ้า

     ข้อแรกที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุสักแต่ว่าคนเขาบอกต่อ ๆ กันมา นี่ก็หมายถึงสิ่งที่เขาสอน ๆ กันมา ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงคนชั้นนี้ เราจะถือว่าถูกต้องตาไปด้วยนั้นยังไม่ได้ เราจะต้องใช้ปัญญาของเราพิจารณาด้วย

    ข้อที่ 2 ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเขาทำตาม ๆ กันมา ก็ด้วยการทำด้วยกายให้เป็นตัวอย่าง เช่น พ่อ แม่ตื่นนอนขึ้นก็เสกคาถาตาม การไหว้ทิศ ไหว้พระอาทิตย์ หรือ ไหว้ของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกันพอลูกหลานเห็นบิดามารดาทำ ก็ทำตามไปด้วย พ่อแม่คนใดออกไป
นอกพระพุทธศาสนา เด็ก ๆ ก็ออกไปตามโดยไม่รู้สึกตัว นี้ก็เป็นสอนเด็กของเราให้หันเหไปนอกพระพุทธศาสนา เด็ก ๆ ก็ออกไปตามโดยไม่รู้สึกตัว  ไปรับเอาลัทธิที่งมงายเป็นภัย  เป็นอันตรายแก่เด็กเองมากยิ่งขึ้นทุกที ๆ และพวกเด็กไม่มีเหตุผลของตนเอง ว่าทำไปแล้วมันจะเกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร เมื่อมีการสอนด้วยว่าจาหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กก็ตะครุบเอมทันที  เป็นอันว่าการใช้สติปัญญาพิจารณาโดยเหตุผล ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เลย ฉะนั้นการบอกต่อ ๆ กันมาหรือการทำตามกันมา หรือเชื่อข่าวเล่าลือมากกว่าที่จะยึดเอาตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในตำราเสียอีก คิดดูให้ดี ๆ เพียงแต่ว่ามีอยู่ในตำรา พระพุทธเจ้าท่านก็ยังห้ามไม่ให้ยึดถือทันที แต่แล้วพวกเราก็ยังยึดถือสิ่งที่อยู่นอกตำราทันที
วิปัสสนากรรมฐานเรื่องอานาปานสติ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวพระไตรปิฎกเอง  โดยเฉพาะที่เป็นหัวข้อแท้ ๆ มีอยู่ในมัชฌิมนิกาย การทำอานาปานสติอย่างไรตั้งแต่ต้นถึงที่สุด  ก็มีอยู่ยึดยาวสมบูรณ์ที่สุดถูกต้องที่สุด  ตามหลักของพระพุทธศาสนา แต่แล้วก็ไม่มีใครสนใจเลย สู้เอาตามที่เขาบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากไม่ได้  สู้เอาที่เขาทำตาม ๆ กันมาอย่างปรัมปราไม่ได้  หรือสู้แบบที่เขาเล่าลือแตกตื่นสรรเสริญกันฟุ้งไปหมดว่าที่นั่นวิเศษว่าที่นี่วิเศษไม่ได้อันนี้เองจึงเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาอย่างงมงายกันขึ้น  เพราะโทษที่ไม่ถือตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับไว้ อาตมาไม่ได้ตั้งใจกระทบกระเทียบการะแนะกระแหนผู้ใดหรือหมู่ใด คณะใด ประสงค์จะยกตัวอย่างเรื่องจริง ๆ มาปรับทุกข์กันมากกว่า ว่าการตื่นข่าวลือหรือว่าความเชื่ออย่างงมงายตามที่บอกต่อ ๆ กันมาตาม
    ข้อ 3 นี้นั้น มันทำให้เกิดความงมงายขึ้นในวงการชั้นสูงของพระพุทธศาสนา กล่าวคือวงการของวิปัสสนาอันเป็นขั้นที่จะบรรลุมรรคผล
นิพพาน แต่แล้วก็ถูกความงมงายครอบงำทับไปหมดสูญสิ้นไปหมดเกิดวิปัสสนากรรมฐานชนิดที่นอกตำรับตำราขึ้นมาแทน  นี่แหละเป็นที่น่าลสดสังเวชใจและน่าห่งสักเพียงใดขอให้พวกเราลองใช้ปัญญาคิดกันดู

    ข้อที่ 4  พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  พวกเธออย่าเชื่อถือโดยเหตุสักว่าสิ่งนี้มีอ้างอยู่ในตำรับตำรา แต่การที่อาตมาชักชวนท่านทั้งหลาย
ให้ถืออานาปานสติกรรมฐานโดยอ้างว่ามีอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นที่แท้แล้วอาตมาไม่ต้องการให้ท่านทั้งหลายยึดถือเอาข้อปฏิบัติเหล่านี้
โดยเหตุแต่เพียงว่ามันมีอยู่ในตำรา แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า มันมีอย่างสมบูรณ์ในพระไตรปิฎก ซึ่งเราจะต้องพิจารณาศึกษาให้ละเอียด  ให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนด้วยสติปัญญาของตัวเอง ว่าถ้าเราทำไปอย่างนี้แล้ในระดับนี้จิตจะสงบเป็นสมาธิได้จริง  ในระดับนี้จิตจะยกเอาความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น  มาเป็นอารมณ์ของการพิจารณาให้เห็นว่า ความสุขอย่างนี้มันไม่เที่ยง  ไม่น่ายึดถือ  และในขั้นสุดท้ายก็จะต้องปล่อยทั้งหมด นับว่าเป็นการพิจารณาโดยสติปัญญาของตนเอง  แล้วก็เห็นสมจริงตามข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก มันเกิดผลขึ้นมาจริงอย่างนั้นเป็นลำดับ ๆ ไป การแน่ใจอย่างนี้ไม่ใช่ความงมงายเพราะได้พิจารณา โดยเหตุผล แล้วยังได้ปฏิบัติแต่ต้นจนตลอด และรู้จักสิ่งเหล่านั้นด้วยการที่ได้ผ่านไปจริง ๆ กลายเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาหยั่งรู้หยั่งเห็น ส่วนความงมงายนั้นมันไม่ประกอบด้วยเหตุผลเสียเลย  มันจึงเป็นสิ่งที่ท่านสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง

ข้อที่  5 - 6 - 7 เกี่ยวกับ  การเดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง และตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว  หรือสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัว  สามข้อนี้เป็นความงมงายอย่างหนักจริงอยู่ที่คนพวกนี้เขาไม่เชื่อตำรา ไม่ตื่นข่าวเล่าลือที่บอกกันต่อ ๆ มาหรือทำสืบ ๆ กันมา แต่กลับเดาเอาเองใช้เหตุผลในเรื่องของตัวเอง อย่าได้ถือว่าการใช้สติปัญญาของตนเองแล้วจะไม่เป็นการงมงายเสมอไป  มันอาจเป็นความงมงายที่ซ้อนความงมงาย คือตัวนึกว่าตัวมีปัญญาของตัวเองจนไม่เชื่อคำบอกของคนอื่น แต่ที่ถูกนั้นเราจะต้องอาศัยเหตุผลอย่างอื่น ๆ เข้ามาประกอบการนึกคิดของเราด้วย  แม้สิ่งที่คนบอกเล่ากันก็เอามาประกอบเป็นเหตุผล ถ้าทำอย่างนี้การคาดคะเนจะผิดน้อยลงอย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าท่านว่ายังไม่พอ  ท่านต้องลองให้ปฏิบัติดูจนเกิดผลปรากฏขึ้นมาจริง ๆ แล้วข้อที่ 5-6-7 นี้จึงจะปลอดภัย

ข้อที่ 8 ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะมันตรงกับลัทธิของตน  นั้น หมายความว่าตามธรรมดาคนเราทุกคนย่อมมีทิฏฐิหรือความเชื่อความคิดความเห็น
ความเข้าใจอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นประจำตัวอยู่เสมอ นี่เรียกว่าลัทธิของตัว เป็นลัทธิความเชื่อที่สร้างขึ้นเองยึดมั่นถือมั่นเองอย่างเหนียวแน่น และยกขึ้นเป็นสัจธรรมของตัวเอง ตามธรรมชาติของคนทั้งหลายเขาจะไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือไปกว่าที่เขากำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น ถ้าเขามีความรู้เท่าใด เคยเชื่ออย่างไรและสันดานอย่างไร เขาจะยึดเอาเพียงแค่นั้นว่าเป็นความจริงถูกต้องของเขา จนกว่าเขาจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีก หรือปฏิบัติเพิ่มเติมก้าวหน้าต่อไปอีก ความจริงหรือความเชื่องของเขาจึงก้าวหน้าต่อไปได้ สัจธรรมของบางคนก็อยู่ในระดับต่ำมาก เช่น ความเชื่อของเด็ก ๆ หรือของคนเกเรอันธพาล แต่เขาถือว่าของเขาถูก ถึงหากบางทีเขาไม่กล้าค้านความเห็นของบุคคลอื่นเพราะจำนนต่อเหตุผล เขาอาจจะยอมรับเอออวยไปด้วย ซึ่งก็เป็นแต่ปากเท่านั้น ส่วนใจจริงของเขายังถือตามความเชื่อเดิมของตน ลัทธิเดิมจึงเป็นสิ่งครอบงำคนนั้นอย่างเหนียวแน่นควบคุมหรือป้องกันคน ๆ นั้นไม่ให้หลุดไปจากความงมงายได้ ขอเราทุกคนอย่าได้ตกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ คงค่อย ๆ ถอนตัวออกมาจากความเชื่อเดิม ๆ มาสู่สัจธรรมที่เป็นของจริงของแท้ของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วคนนั้นจะต้องตกอยู่ในความเชื่อของตัวตลอดไป และจะถูกล่อลวงเมื่อไรก็ได้ ถ้าคนหลอกบวงเหล่านั้นเขามีอะไรมาให้ ชนิดจะเข้ากันได้กับความเชื่อเดิม ๆ ของตน ความงมงายก็จะทำให้ผู้นั้นรับเอาทันทีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถูกล่อลวงไปโดยไม่รู้ตัวว่าถูกล่อลวงเพราะมันตรงกับความเชื่อของตนอยู่ดั้งเดิม และผู้พูดก็อยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้เสียด้วย เช่น พวกนักบวช เป็นต้น

ข้อที่ 9 ที่ว่า อย่างเชื่อเพราะผู้พูดอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ นี้ ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับอาตมาเอง คือ มีคนชอบอ้างว่า "ถ้าไม่เชื่อก็ให้ถามท่านดูซิ"  นี้แสดงว่าเขาจะให้คนอื่นเชื่ออาตมาเพราะอาตมาอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ อย่างนี้แล้วถ้าอาตมาร่วมมือก็รู้สึกว่าเป็นการร่วมกันกบฏต่อพระพุทธศาสนา และล้มล้างระเบียบของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นยอมไม่ได้ เราต้องตักเตือนเขาให้พิจารณาดูด้วยสติปัญญาของตัวเอง ให้เข้าใจคำพูดหรือตัวหนังสือทุกประโยค  แล้วให้เขาไปสอดส่องจนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาเอง  ฉะนั้น  เราควรเลิกอ้างบุคคล เชื่อถือคำพูดของบุคคล  เชื่อความคิดของใคร ๆ แต่เราจะรับฟังไว้ในฐานะว่าท่านพอจะเชื่อได้บ้าง  แต่ท่านก็อาจจะเข้าใจเรื่องผิด ฟังผิด สำคัญผิด  วินิจฉัยผิดไปได้เหมือนกัน  เราจะรับคำของท่านไปพินิจพิจารณาดูเท่านั้น  เราจะไม่ถือเอาคำพูดของท่านเป็นคำพิพากษาเด็ดขาด

ข้อ 10 อันเป็นข้อสุดท้ายว่า  อย่าเชื่อเพราะเหตุที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา  ทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสอย่างนี้  คล้ายกับว่าจะไม่ให้เราเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์  เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำความยุ่งยากมากอยู่แล้ว คือเด็ก ๆ ไม่ค่อยเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์  แต่แล้วทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเช่นนั้น  เรื่องนี้ต้องวินิจฉัยกันให้มากสักหน่อย  มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจความหมายข้อนี้ผิด  คือเราต้องแบ่งคนตามขั้นตอนของจิตใจ เมื่อใครไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดนึกได้ด้วยตนเองผู้นั้นก็ต้องอยู่ในกรอบของระเบียบประเพณิไปก่อนนี่หมายความว่า เมื่อใครยังไม่มีเหตุผล ที่จะลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี ก็จำต้องเชื่อไปก่อนเหมือนเด็กจะต้องเชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ไว้ก่อน เมื่อโตขึ้นค่อยศึกษาค่อยวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านั้นในภายหลัง จนกระทั่งรู้ว่า  ตัวเองผิดอย่างไร ถูกอย่างไรได้ด้วยตนเอง ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์วินิจฉัยมากขึ้นเท่าใด คำแนะนำสั่งสอนก็พิสูจน์ตัวเองว่า ถูกหรือผิดมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นการที่เด็ก ๆ จะต้องเชื่อฟังบิดามารดาครูบาอาจารย์ในที่นี้จึงไม่ขัดกับ "กาลามสูตร" แต่ส่วนมากก็คือว่าเด็กไม่ยอมเชื่อ เพราะมันไม่ตรงกับความต้องการของตัวเองหรือด้วยความสำคัญผิด ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจในข้อ 10 นี้ให้ดี ๆ มิฉะนั้นจะไปลบหลู่บิดามารดาครูบาอาจารย์เข้าก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนอะไรผิด แต่เราก็ไม่ได้เชื่อตามท่านทันที

        ในบรรดาความงมงายทั้ง 10 ประการนี้ ขอให้พวกเราสำรวจตัวเองดูว่า มันมีอยู่ในตัวเราข้อใดบ้างและมากน้อยเพียงใด  พระพุทธเจ้าท่านถือว่าความงมงายนี้เป็นเหตุอันหนึ่งซึ่งจะนำคนไปสู่ความพินาศตามความต้องการของพญามาร  คือกิเลส ตัณหา  ที่ทำให้เกิดความทุกข์ชนิดที่เรียกว่า ตกนรกทั้งเป็น  การตกบ่อ  บ่อที่มีหอกแหลนหลาวนั้นเป็นการเจ็บเพียงแต่กาย ไม่ได้ทำให้คนเสียมนุษยธรรมหรืออะไรดี ๆ ของมนุษย์เลย แต่ถ้าเราตกบ่อความงมงายเหล่านี้ มันจะสูญเสียความเป็นมนุษย์

    เสียคุณธรรมที่ดีหมด จึงถือได้ว่าน่ากลัว น่าหวาดเสียว ยิ่งกว่าความตายทางกาย ความตายทางจิตใจนี้คือตายหรือตกจมอยู่ในความมืดของ
ความโว่หลง  แต่พวกเรากลับไม่นึกกลัวกันเลย ไปกลัวความเจ็บความไข้และความตายทางกายกลัวอด กลัวไม่ได้อะไรมาบำรุงร่างกาย จึงได้กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดศีลธรรม
        เมื่อผิดศีลธรรมแล้วก็ไม่ต้องสงสัย มันย่อมขัดขวางความบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงได้พิจารณากันดูให้รู้จักสมบัติ
ชิ้นที่ 3 ของปุถุชนที่อุตส่าห์หอบหิ้วกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น
    คือสมัยที่ยังเป็นคนครึ่งสัตว์มาจนกระทั่งทุกวันนี้โดยไม่เสื่อมสิ้นไปได้เพราะอำนาจของอะไร  เพราะอำนาจของสีลัพพตปรามาส นั่นเอง     ถ้าความเชื่อความงมงายนี้ยังไม่ถูกละออกจากตัวใครแล้ว คนนั้นก็ไม่มีหวังจะเข้าไปถึงเขตของพระอริยเจ้า  ทั้ง ๆที่ตนจะทำวิปัสสนาชนิด
ไหนมากเท่าใด และประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร  การปฏิบัติธรรมของผู้นั้นจะถูกลูบคลำให้เศร้าหมองไปด้วยความงมงายโดยสิ้นเชิง
    ฉะนั้นควรถือว่า  ความงมงาย หรือที่เรียกว่า ความไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลนั้นเป็นปัญหาที่จะต้องสนในอย่างยิ่งไม่ควรปล่อยปละละเลย
ต่อไปอีก.
นำมาจากจาก http://geocities.datacellar.net/RainForest/5578/suanmok3.htm 1