บทสรุปสำหรับผู้บริหาร: 11 สิงหาคม 2541


เกณฑ์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ : ช่วยชีวิตธุรกิจไทย ...เพิ่มความมั่นใจให้ต่างชาติ

การนำเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาใช้ในระบบการเงินของไทย ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจสามารถคลายแรงกดดันทางด้านภาระการเงินที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน โดยให้เจ้าหนี้ยอมรับส่วนสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสรับชำระหนี้ในอนาคต (ซึ่งอีกทางหนึ่งจะถือเป็นการช่วยลด NPL, ลดภาระในการตั้งสำรอง, และช่วยเหลือสภาพคล่องในระบบได้ในระดับหนึ่ง) นั้น นับได้ว่าเป็นแนวคิดและหลักการที่ดี รวมทั้งจำเป็นสำหรับสภาวะการณ์ของประเทศ ณ ขณะนี้ แต่เนื่องจากประเด็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ นอกจากนี้ การที่ต้องเร่งนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมาประกาศใช้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาจากต่างชาติ ในภาวะที่แรงกดดันจากภายนอกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้น จึงย่อมเป็นธรรมดาหรือเป็นภาวะที่ต้องยอมรับว่า จะยังคงมีประเด็นปัญหาอุปสรรคและข้อติดขัดในเชิงปฏิบัติที่ต้องติดตามแก้ไข

อย่างไรก็ดี หลังจากระยะเวลานับจากที่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในวันที่ 2 มิถุนายน มาจนถึงขณะนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆทั้งจากภาคเอกชนและทางการก็ได้มีความพยายามที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขและขจัดประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอุปสรรคทางภาษีที่คืบหน้าไปมากและคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเร็วๆนี้ ,การพยายามจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยในกรณีหนี้มีความซับซ้อนหรือมีเจ้าหนี้หลายราย, และการประกาศหลักการที่สำคัญ 18 ประการในการปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ สำหรับทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นต่อประเด็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในแง่มุมต่างๆดังนี้:-

เนื่องจากประเด็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นับเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมิเคยถูกนำมาใช้ในประเทศไทย ดังนั้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุปสรรคเพิ่มเติมขึ้นในระหว่างช่วงที่มีการปฏิบัติจริง นอกเหนือไปจากอุปสรรคที่เล็งเห็นและรวบรวมได้ในขณะนี้ ซึ่งก็คงต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือร่วมใจจากทั้งทางฝ่ายภาคทางการและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

อนึ่ง การเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการที่เกณฑ์ดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงปฏิบัติ นั้น นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้แล้ว ก็คาดว่าจะสามารถส่งผลดีที่สำคัญยิ่งให้เกิดขึ้นแก่ประเทศโดยรวม ในแง่ของความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่จะมีมากขึ้น ซึ่งอาจเชื่อมโยงและนำไปสู่การไหลเข้าของเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องแก่ระบบในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งความมีเสถียรภาพของค่าเงินในประเทศได้ในที่สุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะนับเป็นความมุ่งหวังของทางการที่จะช่วยให้สถาบันการเงินในประเทศมีเม็ดเงินเข้ามาปล่อยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจมากขึ้น แต่ในขณะนี้เนื่องจากกลไกการปล่อยกู้ให้แก่ระบบของสถาบันการเงินยังไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และเต็มที่เช่นดังสภาวะปกติ กล่าวคือ สถาบันการเงินยังคงต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น, ต้องทำความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นแก่สถาบันการเงินของตนตามเกณฑ์ที่กำหนดจากทางธปท. ซึ่งรวมถึงการระมัดระวังความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ใหม่ ดังนั้น ความมุ่งหวังดังกล่าวข้างต้นแม้เป็นไปได้แต่คงไม่เต็มที่ ซึ่งในภาวะการณ์เช่นนี้คงต้องอาศัยแรงเสริมที่สำคัญจากทางการประกอบไปด้วยเช่นกัน โดยทางการคงจำเป็นที่จะต้องหันมาแสดงบทบาทดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเสริมสภาพคล่อง หรือปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศที่ควรได้รับการสนับสนุน อันได้แก่ ภาคธุรกิจส่งออก ด้วยการพยายามส่งต่อเม็ดเงินช่วยเหลือจากต่างชาติที่ทางการเองระดมมาได้แล้วเป็นจำนวนมาก ไปให้ถึงยังมือของบรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด (จากปัจจุบันที่การส่งผ่านเม็ดเงินช่วยเหลือที่รัฐได้รับผ่านทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ยังคงติดขัดด้วยอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบและเงื่อนไขบางประการ)

 

Copyright (c) 1996 By Thai Farmers Research Center Co.,Ltd.

1