ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 (5) ฉบับที่ 222 (287) วันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2541
มองวิกฤติเศรษฐกิจโลก แล้วมองดูเรา (1)
บทนำวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2539 สาเหตุวิกฤติศรัทธาทางระบบการเงินของประเทศเป็นสิ่งที่จุดชนวนให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบางไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจที่มองข้ามมานานถูกเปิดเผยความจริงออกมา
เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นทุกคนจึงเริ่มย้อนกลับไปมอง
เศรษฐกิจฟองสบู่ในอดีตแล้วนำมา
วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความผิดพลาดของคนนั้นหรือคนนี้ ถ้าหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ขึ้นในปี 2539 ทุกคนก็ยังคงหลงไปกับภาพลวงตาว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทาง
เศรษฐกิจสูง ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น มีเงินทองใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ราคาที่ดินถูกปั่นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ หรือการแข่งกันสร้างอาคารสำนักงานเพื่อรองรับการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือเพียงเพื่อ ให้ ชื่อสกุลได้ปรากฏบนอาคารนั้น เศรษฐ กิจฟองสบู่ที่ผ่านมาทำให้คนไทยลืมหรือ มองข้ามปัญหาสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ให้มีความ แข็งแกร่งเช่น
- ไม่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง การกระจุกตัวของรายได้ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการมุ่งไปที่ผู้มีรายได้สูงและมีการบริโภคสินค้า ฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น
- การผูกขาดทางการเมืองเอื้อให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจหลายประเภทแทนการส่งเสริมให้มีการแข่งขันแบบสมบูรณ์
- โครงสร้างอัตราภาษีและการยกเว้นภาษีในธุรกิจบางประเภททำให้ต้นทุนสินค้าการบริโภคหลายชนิดต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งส่งเสริมให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเป็นสาเหตุของการไหลออกของเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก
- ธนาคารกลางใช้นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานานนับสิบปีเพื่อดูดเงินกู้หรือเงินฝากระยะสั้นจากต่างประเทศแทนการส่งเสริมการออมเงินจากผลกำไรของธุรกิจและเงินออมจากครัวเรือน
- ไม่มีการยกระดับมาตรฐานทางบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลฐานะการเงินที่แท้จริงของสถาบันการเงินต่อสาธารณะ แก้ปัญหาสถาบันการเงินเฉพาะหน้าโดยการอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่อง เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินแทนที่จะจัดตั้งสถาบันรับประกันเงินฝาก ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะท้อนถึงฐานะการเงินของสถาบันการ เงิน เป็นต้น
เหตุการณ์เหล่านี้มิใช่จะเกิดแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในแถบยุโรปต่างเคยเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้ว โดยเฉพาะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ
ทั่วโลกที่ร้ายแรงที่สุดในปีค.ศ.1929 และตกต่ำเป็นระยะเวลานานตลอด
ทศวรรษที่ 30 ก็มีสาเหตุไม่แตกต่างจากสาเหตุที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจตก
ต่ำในหลายๆ ประเทศในเอเชียที่กำลังเผชิญอยู่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง รายได้ประชากรลดลง กำลัง ซื้อหดหาย รัฐบาลตัดทอนงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อให้งบประมาณสมดุลโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และอัตราการว่างงานสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปีค.ศ. 1939 การใช้จ่ายของรัฐบาลในการทำสงครามจึงทำให้อัตราการว่างงานลดลง และมีกำลังซื้อมากขึ้น เหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนให้ประเทศเหล่านั้นวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่งในยุคต่อๆ มา
จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้เพียงเพื่อต้องการเผยแพร่สิ่ง
ที่ตนคิดว่าน่าสนใจและได้ศึกษา เผื่อว่าผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมรายละเอียดต่อไป เมื่อได้ศึกษาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอดีตของประเทศ อื่นๆ ทำให้ได้รู้ถึงพื้นฐานของปัญหา นโยบายของรัฐบาลของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จะกล่าวต่อไปนี้จะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบันได้โดยไม่มีการวิเคราะห์พื้นฐานของปัญหาที่มีความแตกต่าง
กัน เกิดขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกัน และมีระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามก็ยังเชื่อว่า โครงร่างหลักของปัญหาและนโยบายที่ใช้แก้ปัญหาบางอย่างจะสามารถนำมาประยุกต์ปรับแต่งในรายละเอียดเพื่อใช้กับ
เหตุการณ์ในปัจจุบันได้
บทความนี้จะเริ่มกล่าวถึงการพัฒนาพื้นฐานระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินระหว่างประเทศของสหรัฐ อเมริกาและยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงจะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำ
ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ในปีค.ศ. 1929 สถานการณ์ที่บ่งชี้
ถึงความตกต่ำของเศรษฐกิจและผลกระทบที่แพร่กระจายไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเป็นช่วงเวลานานเกือบ 1 ทศวรรษ
(ค.ศ. 1929-1939) แล้วจึงจะได้ศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจว่า แต่ละประเทศสามารถแก้ไขปัญหา
เศรษฐกิจได้อย่างไร? ข้อมูลที่ได้นำ
มาใช้ประกอบการเขียนบทความนี้ได้ จากการศึกษาจากหนังสือหลายเล่ม
ที่ทำให้ได้เพิ่มความรู้และความเข้าใจ ขึ้นมากมายจากหนังสือที่น่าสนใจดังนี้
- Darek H.Aldcroft, The European Economy, 1914-1990, third edition 1993
- John Kenneth Galbraith, The Great Crash 1929, The Classic Study of that Disaster, 1954
- John Kenneth Galbraith, A Journey Through Economic Time, 1994
- Michael Stewart, Keynes and After, second edition 1972
- Editors : Steve Fraser and Gary Gerstle, The Rise and Fall
of the New Deal, 1930-1980, Princetion University Prass 1989
- William Greider, Secrets of the Temple, 1989
พื้นฐานเศรษฐกิจของโลกในทศวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1920-1929)
ภายหลังจากสงครามโลกครั้ง
ที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปีค.ศ. 1914-1918 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกบูมมากโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในแถบยุโรปตะวันออกและ
ยุโรปตะวันตก ความต้องการสินค้าที่เกิดจากความอดอยากในระหว่างสงคราม ถูกระเบิดออกมา มีการใช้จ่ายเพื่อสร้าง ตึกอาคารและเครื่องจักรทดแทนสิ่งที่ได้เสียหายในระหว่างสงครามเพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ราย
ได้ประชากรสูงขึ้น มีเงินทองใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และโดยที่ทุกคนไม่ทันได้ตั้งตัว
เศรษฐกิจได้พังทลายลงในปี ค.ศ. 1929 ทำให้การว่างงานและความยากจนได้แผ่ กระจายไปทั่ว
การฟื้นฟูเศรษฐกิจและบ้านเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ในช่วง 5 ปีแรกของทศวรรษ
ที่ 20 ทุกประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงโดยเฉพาะยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แต่เป็นการเปรียบ เทียบอัตราการเติบโตจากจุดต่ำสุดของ เศรษฐกิจภายหลังสงคราม ถึงแม้ว่าผลผลิตโดยรวมของกลุ่มประเทศยุโรปทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนเกิด
สงคราม แต่บางประเทศยังสามารถผลิตสินค้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่าก่อนเกิดสงครามและยังคงประสบปัญหากำลังการผลิตเหลือเฟือและอัตราการว่าง
งานที่สูง ปริมาณการค้าของบางประเทศ ในยุโรปตกลงมากกว่าปริมาณการค้าก่อนเกิดสงคราม การฟื้นตัวทางเศรษฐ กิจของยุโรปช้าเนื่องจากทรัพย์สินได้รับความเสียหายมาก มาตรการระยะสั้นที่หลายประเทศใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคือ การเพิ่มการใช้จ่าย ของรัฐบาล ลดค่าเงิน และขึ้นอัตราภาษี กีดกันการนำเข้าสินค้า รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการลงทุน
เพิ่ม อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศเผชิญ ปัญหาต่างกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วยกล่าวคือ
วิกฤติเสถียรภาพของค่าเงินเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าบางประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการลดค่าเงินของตนในช่วงแรกและการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ จึงทำให้ค่าเงิน ตกต่ำและเศรษฐกิจอ่อนแอลง การลดค่าเงินทำให้แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในบางอุตสาหกรรมไม่มีประสิทธิภาพการนำเข้าเครื่องจักรผลิตสินค้าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตมีต้นทุนที่แพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่แน่นอนเป็นอุปสรรคกีดขวางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ยากต่อการวางแผนธุรกิจในอนาคต ธุรกิจต้องใช้เวลาในการเก็งกำไรค่าเงินเพื่อลดความเสี่ยงมากกว่าการปรับปรุงธุรกิจ ให้ดียิ่งขึ้น
การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศมีข้อจำกัดหลายอย่างคือ ขาดแคลน ทรัพยากร เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบและ ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักร ทาง
เดียวที่สามารถทำได้คือ การกู้ยืมเงินต่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถกู้ยืมได้มากเท่าที่ต้องการ การจำกัดการนำเข้าสินค้า ปัญหาทางด้านการเมืองที่ยัง
วุ่นวาย และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความลังเลใจที่จะลงทุน
การสูญเสียตลาดส่งออกให้กับประเทศคู่แข่งขันเพราะลักษณะการผลิตสินค้าไม่มีประสิทธิภาพ เนื่อง
จากมีเงินทุนจำกัด ไม่มีการจัดการทางด้านสาธารณูปโภคโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร บางประเทศต้องสูญเสีย
เขตพื้นที่อุตสาหกรรมบางส่วน ซึ่งเป็นผลจากการตกลงสนธิสัญญาสันติ
ภาพ การตกลงสนธิสัญญาสันติภาพ
ยิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมากขึ้น เพราะมีการแบ่งแยกดินแดนใหม่ แบ่งหน่วยเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน และทำลายรูปแบบการเชื่อมจุดการสื่อสารและการค้า
อัตราการเติบโตของประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกทำให้มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปที่ดินใหม่ แต่การปฏิรูปที่ดินทำให้ผลผลิตการเกษตรและอัตราผลตอบแทนลดลง ยากต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากสินค้าล้นตลาด และยุโรปตะวันตกปิดตลาดนำเข้า
สินค้าเกษตรจากยุโรปตะวันออก
เศรษฐกิจบูมปลายทศวรรษที่ 20
กลางทศวรรษที่ 20 ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรปมีเสถียรภาพมากขึ้น เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเวลาที่ความเสียหายที่เกิดจากสงครามได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว การหันกลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำของอังกฤษในปีค.ศ. 1925 ทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคา
สินค้าดีขึ้น การฟื้นฟูอาคารและสิ่งก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์ ความอ่อนแอทางระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินระหว่างประเทศถูกลืมนึกถึงในช่วง
เศรษฐกิจบูมระหว่างปีค.ศ. 1925-
1929 ตลาดหุ้นบูมในสหรัฐอเมริกาเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักเก็งกำไร จำนวนมาก ยุโรปมีความเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลกในช่วง
ปีค.ศ. 1925-1929 ทุกอย่างดูดีจนมองข้ามปัญหาหลายอย่าง เศรษฐกิจบูมในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายอย่างแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมากล่าวคือ
1. ไม่มีการขาดแคลนทรัพยากรหรือวัตถุดิบในช่วงที่วงจรธุรกิจอยู่ที่จุดสูงสุด
2. อัตราการว่างงานยังคงสูง
ขึ้นเรื่อยๆ อัตราการจ้างงานต่ำในบางอุตสาหกรรม
3. กำลังการผลิตสินค้าที่ใช้จริงต่ำกว่าระดับเต็มกำลังการผลิต สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น
4. แนวโน้มราคาสินค้าค่อยๆ ตกต่ำลงในขณะที่ค่าแรงงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
5. การเก็งกำไรสูงในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและบางประเทศใน
ยุโรป
6. การพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศและระบบการเงินระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นยังไม่มีความรัดกุม
7. รายได้ไม่ได้ถูกกระจายอย่างทั่วถึง
มองภาพโดยรวมแล้วเศรษฐกิจในยุโรประหว่างทศวรรษที่ 20 มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี ถึงแม้จะเป็นการปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หาก
ไม่มองอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจของแต่ละประเทศยัง
คงมีความเปราะบางและสามารถถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย จุดอ่อนทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อพื้นฐานความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเริ่มผุกร่อน
(อ่านต่อฉบับหน้า)
เขียน โดย กัณหเนตร บุญเลิศวณิชย์
Copyright 1997-1998 Thansettakij Newspaper
for more information, contact
webmaster@than01.thannews.th.com