กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2541
แบงก์ชาติ ประกาศรายชื่อ-ฟ้องอดีตผู้บริหารไฟแนนซ์ขนาดใหญ่รายหนึ่ง ในกลุ่ม 56บง.ที่ถูกปิดกิจการ ภายในวันนี้ (18) หรือไม่เกินสัปดาห์นี้ หลังพบพฤติกรรมปล่อยเงินกู้วงเงิน 300 ล้านบาท ให้กับลูกค้าส่อทุจริต เนื่อง จากหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ และปล่อยสินเชื่อให้พวกพ้อง
นายรัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายงานกิจการพิเศษ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีผู้บริหารสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกทางการสั่งปิดกิจการว่า ขณะนี้ ธปท. ได้ตรวจสอบพบหลักฐานการกระทำผิดของผู้บริหารบริษัทเงินทุน 1 ราย ที่มีพฤติกรรมปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าไปในทางทุจริต โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ กับวงเงินสินเชื่อ ซึ่งมีวงเงินกู้ประมาณ 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบการกระทำผิดในด้านอื่นๆ อีก เช่น การปล่อยเงินกู้ให้กับพวกพ้อง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติเงินทุน และธนาคารแห่งประเทศไทย มีหลักฐานเพียงที่จะกล่าวโทษฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารดังกล่าว แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อรูปคดี ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในวานนี้ (17) ก็จะสามารถดำเนินการกล่าวโทษ ในวันนี้ (18) ได้ทันที
"การกล่าวโทษเพื่อฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะทำให้ผู้บริหารสถาบันการเงิน ไม่สามารถเดินทาง ออกนอกประเทศได้ รวมทั้งจะต้องถูกอายัดทรัพย์ไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิจารณาหลักฐานจาก ธปท. ทั้งหมดว่า มีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่ ก่อนจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนิน คดีต่อไป"
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวย้ำว่า ภาย ในสัปดาห์นี้ ฝ่ายคดีของ ธปท.จะแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับอดีตผู้บริหารของบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งใน 56 ไฟแนนซ์ได้ แต่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการที่จะให้ฝ่ายคดี และฝ่ายตรวจสอบลงนามร่วมกันในการแจ้งความดังกล่าว สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากฝ่ายตรวจสอบไม่ยอมลงนามกับฝ่ายคดี จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีได้นั้น เกี่ยวกับกรณีนี้ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ได้กำชับให้ทั้งสองฝ่ายไปตกลงกันอีกครั้งพร้อมแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน โดยที่แต่ฝ่ายอยู่คนละสถานะ และให้ฝ่ายคดีลงนามในฐานะรับรองข้อถูกต้องในข้อกฎหมาย ส่วนฝ่ายตรวจสอบลงนามในฐานรับรองข้อถูกต้องในข้อเท็จจริง แต่หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะดำเนินการพิจารณาตัดสินเอง
แหล่งข่าวจากธปท. กล่าวว่า โดยคดีที่จะแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวนั้น เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน 56 ไฟแนนซ์ จึงมีจำนวนหลายคนในข้อหาร่วมกันกระทำผิดให้บริษัทเสียหาย เป็นมูลค่า 300 บริษัท ตาม พ.ร.บ.บริษัทเงินทุน ทั้งนี้ การฟ้องดำเนินคดีดังกล่าวมีบทลงโทษจำคุกถึง 10 ปี ส่วนกรณีของผู้บริหารสถาบันการเงิน 7 แห่ง ที่ถูก ธปท.เข้าแทรกแซงกิจการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมนั้นก็ต้องเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียดเสียก่อนว่า มีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลานาน เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะต้องรอรายละเอียดของหลักฐานให้ชัดเจนก่อน
"การดำเนินการกล่าวโทษกับผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่ถูกปิดกิจการกับที่ถูกทางการแทรกแซงนั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้เร็วทันใจประชาชน เพราะต้องใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐานให้รอบคอบและรัดกุม ต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายคดีได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้การหาหลักฐานมาฟ้องร้องนั้นให้ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายให้มากที่สุด"
Copyright
(c) 1998 By Krungthep Turakij Newspaper .