กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2541
'ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์' ชี้ครึ่งหลังของปีนี้ การเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน ความคืบหน้าในการปรับโครง สร้างหนี้ เสถียรภาพด้านการเมือง เม็ดเงินจากต่างประเทศ และมาตรการด้านการเงินการคลังจะเป็น ตัวแปรสำคัญ ชี้นำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง
บริษัทศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ มองว่า ปัจจัยที่น่าจับตามองในช่วงครึ่งหลังของปี 2541 น่าจะประกอบไปด้วย ปัจจัยเด่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ โดยปัญหาเฉพาะหน้าภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการล้มละลายของธุรกิจ ที่มีต้นตอจากการขาดสภาพคล่อง และอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูงมานาน แม้จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2541 ก็ตาม ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ที่ควรหยิบยกขึ้นมาติดตามและประเมินผลได้แก่
ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วงท้ายของครึ่งแรกปี 2541 เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากกว่าจะช่วยสนับสนุนให้ปัญหาภาวะสภาพคล่อง ที่ตึงตัวคลี่คลายลงได้ในระดับหนึ่ง ก็คือ การปรับโครง สร้างหนี้ของภาคธุรกิจ โดยประเด็นที่กล่าวถึงกันค่อนข้างมาก ก็คือ การประนอมหนี้ ซึ่งมีทั้งการประนอมหนี้ ระหว่างสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ ธุรกิจต่างๆ กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ และสถาบันการเงินกับธุรกิจต่างๆ
เสถียรภาพด้านการเมือง ปัจจัยด้านการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะสะท้อนให้เห็นภาพความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ในปัจจุบัน ความ ต้องการเม็ดเงินจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหลายธุรกิจในประเทศ ยังจำเป็นต้องสร้าง ความไว้วางใจกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะขีดความสามารถ ในการชำระหนี้ ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ถูกจับตา มองอยู่ สะท้อนให้เห็นจากการไหลเข้า/ออกของเงินทุนต่างประเทศ โดยเครื่องชี้ความเชื่อมั่น ของนักลงทุน ต่างชาติประการหนึ่งก็คือ ความมีเสถียรภาพของการเมืองไทย ทั้งนี้ หากการเมืองมีเสถียรภาพ มีความ โปร่งใส ปัญหาที่จะมาซ้ำเติมเศรษฐกิจ ก็จะลดน้อยลง
มาตรการทางการเงินการคลัง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 การใช้มาตรการการเงินการคลัง อย่างเข้มงวด ทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ และเป็นไปตามเงื่อนไข ที่กำหนดในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ไทยทำไว้กับ IMF สะท้อนให้เห็นได้จาก ค่าเงินบาท ที่ผันผวนน้อยลงมาก อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ชะลอการเพิ่มและเริ่มมี การปรับตัวลดลง ระดับอัตราเงินเฟ้อสูงไม่มากนัก และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ มาตรการการเงินการคลัง ในครึ่งหลังของปีเริ่มผ่อนคลายลง โดยหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเน้นเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ ชะลอการชำระภาษีของผู้ประกอบการ และเพิ่มการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
ขณะนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผูกพันกับภาคการค้าระหว่าง ประเทศในระดับสูง ที่ผ่านมาเราใช้ภาคการส่งออกเป็นภาคนำ ในการเสริมสร้างการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง การ ลงทุนภายในประเทศ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุนในระดับสูง
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในขณะนี้ไม่ปรากฏเด่นชัดว่า จะยังคงถดถอยต่อไปอีกเท่าใด ระยะเวลาในการฟื้นตัวจะเนิ่นนานออกไปอีกสักเท่าใด หรือจะพลิกฟื้นกลับมาได้ในเร็วๆ นี้ หรือไม่ คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อทางการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาสถา บันการเงินตามมาตตการแบบเบ็ดเสร็จ ที่ทางการออกมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา การประมูลขายทรัพย์สินของ บริษัทเงินทุน ที่ดำเนินการโดย ปรส.การปรับโครงสร้างหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้าง ธปท. และภาระหนี้สินของ ธปท.การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่าง ประเทศ ความคืบหน้าของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายประการได้บ่งชี้ให้เห็นบ้างแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวอย่าง ค่อยเป็นค่อยไปได้บ้าง จากปัจจัยบวกที่เริ่มปรากฏให้เห็นคือ ค่าเงินบาทที่เริ่มค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น ระดับเงินเฟ้อที่สูงไม่มากนัก เงินทุนไหลที่ทยอยเข้ามา ขณะที่เงินทุนไหลออกจากการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ ชะลอลงจากการยืดเวลาในการชำระเงินคืนหนี้ต่างประเทศได้มากขึ้น
Copyright
(c) 1998 By Krungthep Turakij Newspaper