กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2541


'ธารินทร์' ลั่น6เดือนเศรษฐกิจฟื้น

นายกรัฐมนตรีระดมทีมเศรษฐกิจหารือเครียดถึงตีสองก่อนประกาศมาตรการครั้งสำคัญ เพื่อแจกแจงเหตุผลแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล "เนวิน-พินิจ" ซักแหลก ประชาชนจะได้อะไรจากมาตรการนี้ ขุนคลังย้ำเศรษฐกิจฟื้นใน 6 เดือน และยังจะมีดาบสอง-ดาบสาม ตามมาอีก

ผู้สื่อข่าวได้รายงานถึงบรรยา-กาศในการประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อวานนี้ว่า นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง ได้ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเศษในการชี้แจงมาตรการที่ครอบคลุมทั้งระบบ โดยอธิบายถึงเหตุผลในมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงเช้า ประกาศลดทุนสถาบันการเงิน 7 แห่ง เพราะมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเป็นลบ โดยเฉพาะเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูถึง 2 เท่า จึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการ

ส่วนมาตรการที่ได้เตรียมการเอาไว้กับสถาบันการเงินเพิ่มเติม คือ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) ที่จะให้มีการโอนบัญชีเงินฝากและสินทรัพย์ดีมาไว้ที่ธนาคารกรุงไทย ส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้น ให้บีบีซี รับไปบริหารในการติดตามคืน ส่วนธนาคารมหานคร ได้ยุบรวมกับธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารศรีนคร และธนาคารมหานคร ก็จะแปลงหนี้เป็นทุน จะมีการลดทุนและเพิ่มทุนอีกรอบ เพื่อเตรียมตัวขายให้นักลงทุนที่สนใจ สำหรับธนาคารอื่นที่ไม่มีการสั่งการในวันนี้ เพราะธนาคารเหล่านั้น มีทุนดำเนินการเป็นบวก จึงยังไม่เข้าไปแทรกแซง แต่หลังจากนี้ก็จะเข้าไปตรวจสอบแยกกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน 8.5% หากไม่ได้ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะเข้าไปดำเนินการร่วมกับผู้ถือหุ้น เข้าไปร่วมกันเพิ่มทุนสถาบันการเงินนั้นๆ ให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐาน กรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ยินยอม หรือไม่สามารถที่จะเพิ่มทุน ธปท.จะมีการนำสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหม่ไปขายให้แก่นักลงทุนที่สนใจ กรณีที่มีการตรวจสอบพบว่า มีการปกปิดข้อมูล เช่น มีทุนเป็นลบ จะมีการดำเนินการเหมือนกับธนาคารแหลมทอง และสหธนาคาร

นอกจากนี้ ก็จะมีการออกพระราชกำหนด 1 ฉบับ และพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ เพื่อรองรับมาตรการเบ็ดเสร็จ โดยจะเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการออกพันธบัตร ซึ่งจะมีสองกองทุน คือ สำหรับกองทุนขั้นที่ 1 จำนวน 2 แสนล้านบาท และสำหรับกองทุนขั้นที่ 2 อีก 1 แสนล้านบาท นายธารินทร์ ยังได้ชี้แจงในส่วนปัญหาพนักงานธนาคาร ที่อาจจะมีการตกงาน รัฐบาลรับรองว่าในกรณีนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้น ส่วนกรณีลดจำนวนพนักงานก็จะให้สมัครใจลาออก โดยจ่ายเงินชดเชย 10 เดือน และให้ทำงานต่ออีก 3 เดือน เท่ากับว่าได้เงินเดือน 13 เดือน ส่วนในกรณีที่ต้องการจะทำต่อ สถาบันการเงินที่มีการโอนหรือควบโอนกิจการ ธนาคารกรุงไทยยินดีรับเข้าเป็นพนักงานทั้งหมด

เนวินปะทะขุนคลัง"ประชาชนได้อะไร" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการชี้แจงจบแล้ว นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคเอกภาพ ได้ซักถามเป็นคนแรก พร้อมกับเสนอว่าเมื่อมาตรการรัฐออกมาอย่างนี้ ก็ควรนำเอาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าสู่ระบบการประนอมหนี้ด้วย ไหนๆ ก็อุ้มกันไปแล้วก็ควรอุ้มทั้งประเทศไปเลย หรืออาจเพิ่มเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.อีก 5 หมื่นล้านบาท หรือ 1 แสนล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอ เป็นการช่วยเกษตรกรไปด้วย นายธารินทร์ ได้แย้งว่า ทำไม่ได้ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราทำกับธนาคารพาณิชย์ แต่ธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐ นายเนวินจึงย้อนถามว่า แล้วธนาคารกรุงไทยกับธนาคารรัตนสินเป็นของรัฐหรือเอกชน เมื่อนายเนวินแย้งขึ้น ทำให้นายธารินทร์เกิดความไม่พอใจ นายเนวินยังกล่าวอีกว่า มาตรการของรัฐเป็นเรื่อง 10 ปีข้างหน้า ทำอย่างนี้ประเมินความเสียหายไม่ได้ เพียงแต่รู้ว่ารัฐบาลกำลังเอาเงิน 3 แสนล้านบาท ไปซื้อของเสียแล้วขายของดีให้ฝรั่ง " มาตรการที่ออกมาจะบอกได้หรือไม่ว่าธนาคารต่างๆ จะปล่อยสินเชื่อได้เมื่อไร ประเภทไหน" นายเนวิน ถามต่อที่ประชุม ซึ่งนายธารินทร์ ตอบว่า ตอนนี้ตอบไม่ได้ โครงการนี้เป็นโครงการสมัครใจ เมื่อนายธารินทร์ตอบไม่ได้ นายเนวินจึงกล่าวว่า "ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วประชาชนจะหวังอะไร"

'ธารินทร์'ยัน6เดือนฟื้น

ทางด้านนายพินิจ จารุสมบัติ รมช.มหาดไทย ได้ตั้งคำถามว่า มาตรการที่ทำนั้น จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เมื่อไร รมว.คลัง ได้ชี้แจงว่า "ประมาณ 6 เดือนก็พอจะเห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และนี่ไม่ใช่ยาขนานสุดท้าย หรือยาขมหม้อสุดท้าย เมื่อกินยานี้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้ ยังมีอย่างอื่นอีกมาก ที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา และจะมีมาตรการอื่นตามมาอีก และอาจจะแรงกว่านี้" อย่างไรก็ตาม นายพินิจได้กล่าวขอร้อง รมว. คลังว่า ในการแถลงข่าวอย่าไปพูดถึง 6 เดือนเลย เพราะจะทำให้ประชาชนที่เป็นชาวบ้านหมดกำลังใจ

"ผมอยากให้ท่านพูดอะไรที่จะเป็นความหวังให้กับชาวบ้าน ไม่อย่างนั้น จะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ" นายพินิจ กล่าว

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม รมช.คลัง กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เข้าใจว่าทุกคนตั้งความหวัง และคิดว่ามาตรการเบ็ดเสร็จครั้งนี้จะเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อทำแล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นขึ้นมาจริงๆ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ระบบสถาบันการเงินมีสภาพคล่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ให้แก้ไขฟื้นตัวขึ้นมา มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันอดทน และมีมาตรการอื่นๆ ขี้นมาอีก

นายธารินทร์ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมาจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องที่จะต้องแก้ปัญหา คือ 1.ทำอย่างไรให้ดอกเบี้ยต่ำ 2.ทำอย่างไรให้สถาบันการเงินดี และ 3.ทำอย่างไรให้การลงทุนในโครงการที่มีคุณภาพ ขณะนี้เราพยายามทำใน 2 ข้อแรก เมื่อเกิดผลก็จะต้องทำอย่างที่ 3 ในขณะนี้สถาบันการเงิน คือ หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดการลงทุน นี่ไม่ใช่ไพ่ใบสุดท้ายเหมือนกับที่หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนนำไปวิเคราะห์กัน

อย่างไรก็ตาม นายพินิจได้ตั้งคำถามอีกว่า เมื่อทำมาตรการนี้แล้ว วันพรุ่งนี้ปล่อยกู้ได้เลยหรือไม่ ซึ่งนายธารินทร์ ชี้แจงว่า ในขณะนี้สถาบันการเงินมีการปล่อยกู้อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีการปล่อยกู้ในโครงการที่ดีๆ เข้ามา

"ผมเคยพูดหลายครั้งที่ผ่านมาว่า สถาบันการเงินเป็นกลไกที่นำไปสู่ความวิบัติ เพราะปล่อยกู้ในโครงการที่ไม่ดี ที่พูดอย่างนี้นายธนาคารหลายคนก็มาโกรธผม ซึ่งผมก็จะไม่พูดแล้ว ไม่พูดก็ได้ แต่เราจะทำให้มีการควบคุมการปล่อยเงินกู้ให้ปล่อยเฉพาะแต่โครงการที่ดี เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น" นายธารินทร์กล่าว

ขณะที่พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมมาตรการเบ็ดเสร็จของกระทรวงการคลัง และ ประกาศสนับสนุนว่า จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคนไทยและต่างประเทศ แต่ได้ตำหนิกระทรวงการคลังว่า ในการชี้แจงกับประชาชนนั้น พูดภาษาเทคนิคมากเกินไป และพูดแต่เทคนิควิธีการที่จะดำเนินการ แต่ไม่ชี้แจงผลกระทบต่อประชาชนว่า ประชาชนจะต้องไปทำอะไร อย่างไร ทำให้ประชาชนที่เป็นชาวบ้านไม่เข้าใจ เพราะท่านเอาแต่อธิบายในภาษาที่นายธนาคารเข้าใจ " ในส่วนของการเสนอกฎหมาย ผมคิดว่าท่านไม่ต้องไปสนใจหรอกครับ เขาไม่พร้อมจะเข้าใจอยู่แล้ว เราเอาให้ประชาชนเข้าใจ ชาวบ้านเขาจะได้สนับสนุนเราก็เพียงพอแล้ว" พล.อ.อ.สมบุญ กล่าว

ชวนยันแผนเบ็ดเสร็จไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะที่นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปเป็นคนสุดท้าย โดยยืนยันว่า ขอให้ความมั่นใจกับ ครม.และพรรคร่วมรัฐบาลว่ามาตรการปรับปรุงสถาบันการเงินครั้งนี้ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใส และเป็นหนทางที่จำเป็นต้องดำเนินการ หากไม่ทำเศรษฐกิจทั้งระบบก็จะพบกับภัยพิบัติ เมื่อทำแล้วจะเป็นความหวังได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของเรา พอจะมีทางแก้ไขให้รอดไปได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ได้มีการหารือกับแกนนำรัฐบาล หลังจากนั้นก็ได้มีการหารือกับทีมเศรษฐกิจจนถึงตีสอง ในมาตรการและการทบทวนตัวเลขทั้งหมด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในมาตรการนี้ จึงขอให้มั่นใจได้

ทีมศก.เผยหารือเครียดถึงตีสอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เมื่อคืนวันพฤหัสบดีจนถึงตีสองนั้น สืบเนื่องจากการชี้แจงมาตรการต่อแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้รับทราบล่วงหน้า ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย ซึ่งอาจจะทำให้ถูกมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ เป็น 2 มาตรฐาน ทำให้นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายสาวิตต์ โพธิวิหค รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง และนายอรรคพล สรสุชาติ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าหารือเป็นการด่วน เพื่อนำตัวเลขโดยละเอียดมาพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน ทำให้แกนนำทีมเศรษฐกิจหลายคนที่มาร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล มีหน้าตาอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนายธารินทร์ รมว.คลัง เมื่อก้าวขาลงจากรถยนต์เพื่อขึ้นตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ก็ถึงกับเข่าอ่อน และเซจนเกือบจะล้ม


Copyright (c) 1998 By Krungthep Turakij Newspaper .

1