ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 (5) ฉบับที่ 222 (287) วันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2541



วิกฤติคนตกงานไม่ธรรมดา

การประกาศลดคนปลดคนกลายเป็นแฟชั่นสำหรับผู้ประกอบการ และองค์กรตัว แทนเจ้าของกิจการ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ฯลฯ เพราะการแสดงตัวเลขยิ่งมาก เท่ากับว่าธุรกิจฉันมีความเสียหายมากกว่าอีก ธุรกิจสมควรได้รับความช่วยเหลือก่อน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม รถยนต์มีความภูมิใจที่จะบอกว่าทั้งระบบ หมายถึงโรงงานประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนปลดคนงานไปแล้ว 90,000 คน อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะมีคนตกงานสูงสุด เนื่องจาก การเร่งโตในช่วงปี 2537-2538 เพราะ หลงนึกไปว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคประชายานยนต์ (Motorization) ซึ่งสัดส่วนการเป็นเจ้าของรถยนต์อยู่ระหว่าง 5-6 ครัวเรือนต่อ 1 คัน ปัจจุบันประมาณ 1,000 คนต่อคัน และยอดขายรถยนต์จะถึง 800,000 คันในปี 2543 เนื่องจากหลังเปิดเสรีอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2535 ยอดขาย รถยนต์โตชนิดทะลึ่งพรวดจาก300,000 คัน ในต้นปี 2535 เป็นเกือบ 600,000 คันในปี 2539 ยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงนั้นทำให้พี่เบิ้มของอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ตัดสินใจวางหมุดลงทุนแบบลงหลักปักฐาน โดยเจ้าแรกควักเงินราว 2,000 ล้านบาท สร้างและขยายโรงงานประกอบรถยนต์ ใหม่ พร้อมเปิดตัวโครงการ (AFC: Affordable Family Car) หรือ รถยนต์สำหรับครอบครัว ส่วนรายหลังใช้งบ 2,500 ล้านบาท พร้อมขึ้นโครงการเอเชียนฮอนด้า เพื่อผลิตรถสำหรับครอบครัวเช่นกัน ขณะที่ยักษ์ญี่ปุ่นขยายตัวยักษ์อุตสาหกรรมรถยนต์จากอีกฝั่งของคาบสมุทรอีก 3 รายคือ จีเอ็ม ไครสเลอร์ ฟอร์ด ก็ขยายตัวเข้ามาตั้งกระแสความเคลื่อนไหวช่วงนั้น ทำเอาหลายคนเคลิ้มไปว่าประเทศไทย จะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียมาแล้ว แต่ฝันของคนเหล่านั้นเป็นอันกระจุยเมื่อภาวะเศรษฐกิจหลุดโค้งในปี 2540 เพราะยอดขายรถยนต์ลด ลงแบบชนิดที่ว่าอันตรธานหายไป และไม่มีใครคิดแล้วว่าในปีแรกของ ศตวรรษใหม่ 2001 (พ.ศ. 2543) ยอดขายรถยนต์จะถึง 800,000 คัน บรรดาผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆ ต้องมาคิดใหม่ ต้องลดการผลิตลงมาเท่าไหร่จึงจะสอดรับกับสถานการณ์ใหม่ที่โหดร้ายสำหรับคนทำธุรกิจเหลือเกิน การถดถอยในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะอุตสาห กรรมรถยนต์ใช้คนมากไม่แพ้อุตสาห กรรมที่ใช้คนมากๆ อย่างสิ่งทอ โรงงานอาหารแช่แข็ง ฯลฯ แม้เป็นอุตสาหกรรมใช้ทุนมากก็ตาม เนื่องจากมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วน ทำให้คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ค่อนข้างมาก คุณสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒพงศ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แจกแจงตัวเลขคนในอุตสาหกรรม รถยนต์ว่ามี 34,400 คน อยู่ในภาคการประกอบ(รวมรถยนต์และจักรยานยนต์) ผลิตชิ้นส่วน 200,000 คน และฝ่ายขายอีกราว 50,000 คน ตอนนี้ตกงานไปแล้วเกือบแสน คน จำนวนคนตกงานและคาดว่าจะว่างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นเพียงหนังตัวอย่าง เพราะทุกอุตสาหกรรมกำลังทำในสิ่งเดียวกัน คือ ลดคนให้เหมาะสอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นเรื่องที่หัวเราะไม่ออก ที่ประเทศไทยเริ่มแผนฯ ฉบับที่ 8 แผน พัฒนาฉบับแรกที่เน้นเรื่องคุณภาพและคุณค่าของคน พร้อมกับการเลย์ออฟใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐ กิจของไทย และยังไม่มีมาตรการ รองรับแบบเบ็ดเสร็จจากกระทรวงแรงงานฯ นอกจากการแก้ไขปัญหาแบบเป็นคราวๆ ของเจ้ากระทรวงและ ผู้ช่วย เช่นการยืนยันว่าบริษัทไทย แมล่อนเท็กซ์ไทล์ฯ และบริษัทอเมริกันเท็กซ์ไทล์ฯ จะต้องจ่ายชดเชยให้กับคนงาน ที่ถูกนายจ้างลอยแพ 5,000 กว่าคน หรือจะออกกฎหมายห้ามบรรจุข้าวเกิน 50 กิโลกรัมต่อกระสอบ เพื่อให้สอดรับกับความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อกรรมกรไทย เป็นต้น ลำพังรัฐบาลจะมาคะเนด้วยตรรกะว่า แรงงานที่ถูกปลดจากโรงงานส่วนหนึ่ง (แต่เป็นส่วนมาก) จะกลับบ้าน ซึ่งรัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินเพื่อสร้างความกระชุ่มกระชวยให้ เศรษฐกิจในชนบท เช่น เงินกู้จากธนาคารโลกที่จะเอาไปใช้ในโครงการลงทุนทางสังคม และเงินจากส่วนเพิ่มในงบประมาณรายจ่ายปีล่าสุด ที่เพิ่มไป 2,500 ล้านบาท ทำแค่นี้พอแล้วคงไม่ได้ รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติแรงงานที่เกิดขึ้น และกำลังลุกลามไปเรื่อยๆ อย่างไร 2 รัฐบาลที่ผ่านมา และ 9 เดือนของรัฐบาลชวน 2 มีแต่แผนแก้ปัญหาของภาคเศรษฐกิจการ เงิน แต่ไม่มีแผนเบ็ดเสร็จในการ แก้ไขปัญหาคนจน ปัญหาคนตก งาน ฯลฯ ความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่ว่าต้องการจัดการกับปัญหาการเงินแล้วเสร็จจากนั้นทุกอย่างจะดีเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะที่ผ่านมาความเชื่อว่าจะเกิดในช่วงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกลับไม่เกิด เช่นเชื่อว่าปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวแล้วความสามารถในการค้าการขายต่าง ประเทศจะดีขึ้น เพราะค่าเงินบาทอ่อนสินค้าจากไทยจะถูกลง แต่ไม่ได้คิดว่าถ้าชาวบ้านเขาลดค่าเงินด้วยแล้วเราจะเป็นอย่างไร หรือเชื่อ ว่าดันดอกเบี้ยให้แพงแล้วเงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาเอง เชื่อว่าธุรกิจที่เจ๊ง เพราะเจ้าของผู้บริหาร ไม่มีความสามารถ ก็ควรออกจากระบบเพราะระบบเสรีต้องการเฉพาะ คนแข็งแรงเท่านั้น รัฐบาลน่าจะทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาคู่ขนานกันไประหว่าง เศรษฐกิจส่วนบนกับส่วนล่างเพราะวิกฤติที่เกิดจากคนตกงานเป็นล้านนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลย
Copyright 1997-1998 Thansettakij Newspaper
for more information, contact webmaster@than01.thannews.th.com

1