ฐานเศรษฐกิจ Section 1: ฉบับที่ 1291 ปีที่ 18 วันที่ 28 มิ.ย.-1 ก.ค. 2541
ทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาได้ด้วยวิทยาศาสตร์
แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2540-2549 ซึ่งเข้าใจว่า ถูกเขียนไว้ในช่วงปี 2539 อันเป็นช่วงที่ฟองสบู่กำลังฟูฟ่องอยู่ใน ประเทศไทยได้อธิบายถึงปัญหาของการ พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโล ยีของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการ พัฒนาระบบ "ทรัพย์สินทางปัญญา" ของบ้านเราไว้ตอนหนึ่งว่า แม้ประเทศไทยจะ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาก้าวหน้ามีฐานะและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ดีมากกระทั่งคาดว่าในปี 2543 รายได้ประ ชาชาติจะสูงถึงประมาณ 7.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยที่สูงถึง 110,400 ต่อคน กระทั่งได้รับการจัดอันดับว่า เป็น "ประเทศอุตสาหกรรมใหม่" ซึ่งมีสมรรถนะในการแข่งขันสูงมาก
นอกจากนี้ UNDP ก็ยังจัดให้ประ-เทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศกำลัง พัฒนาที่มีอยู่ทั้งหมด 114 ประเทศ ในฐานะที่มีการเพิ่มของดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Hu- man Development Index) ที่รวมปัจจัย 3 อย่าง ของการ
พัฒนามนุษย์ไว้ด้วยกัน คือ ความยืนยาวของชีวิต ความรู้ และมาตร-ฐานชีวิต) สูงสุดในช่วงปี 2503-2535
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึงก็เพราะ 2 ตอนที่ผ่านมา ได้มีการยกตัวอย่างการ "ลอกเลียนแบบและพัฒนา" หรือ Copy & Development ที่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิวัฒนาการทางด้านการพัฒนา เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้า กระทั่งขึ้นเป็น 1 ใน 7 ของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกมาได้จนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี จำนวนสิทธิบัตรที่ถูกญี่ปุ่นนำไป "ต่อยอด" แล้วก็ขึ้นทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของนั้นมีนับเป็นล้านๆ สิทธิบัตร ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน หรือ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ อันนี้ ถึงขั้นยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศของตัวเอง
คำว่า "เสียสละ" ในที่นี้ก็คือ บรรดาบุคลากรที่เป็น "นักแกะเทคโนโลยี" เพื่อ นำไปพัฒนานั้น ต่อเมื่องานของตัวเองสำเร็จ ลง คนเหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนจากชิ้นงานนั้นๆ น้อยมาก น้อยจนกระทั่งคนไทยทั่วไปที่ต้องทำงานแบบปากกัดตีนถีบ เพื่อหาเงินจ่ายภาษีให้นักการเมืองบางกลุ่ม บางคน บางพรรคเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตนรับไม่ได้ก็แล้วกัน หากแต่ "นักแกะ" เหล่านั้นจะได้ชื่อเสียง และการโปรโมตให้เป็นที่ได้รู้จักกันโดยทั่วไป แต่หากการที่นักแกะเหล่านั้น นำบางสิ่งบางอย่างที่แกะได้แล้วพัฒนา ไปโดยไม่ตรวจสอบให้ดีกระทั่งมี "ชิ้นส่วนบางชิ้น" ที่แจ้งจดสิทธิบัตรเกิดไปทับซ้อนกับสิ่งที่ มีการแจ้งจดสิทธิบัตรไว้ก่อนหน้านั้นแล้วละก็ อนาคตจะมืดมิดลงในทันที แต่ทุกคนก็ยอมรับ เพราะนั่นเพื่อความเป็นมหาอำนาจของประเทศที่คนญี่ปุ่นพึงพอใจ
ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยหลายฉบับ ได้กล่าวถึงทิศทางและความจำเป็นในอันที่จะต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด กระทั่งทุกวันนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะฟองสบู่แตก รัฐบาลก็ยังยืนยันว่า ต้องมีการวางแผนในระยะยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันกับต่างประเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคการผลิตให้ทัดเทียมประเทศคู่แข่งเป็นเรื่องสำคัญ ในลำดับต้นๆ โดยที่อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถานภาพทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีโดยรวมของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จุด อ่อนที่สำคัญคือ กำลังคนทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ด้อยทั้งคุณภาพและปริมาณ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การสร้างทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดการเทคโนโลยี ยังไม่มี ประสิทธิภาพที่ดีพอ
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2540-2549 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สถาน-ภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ล้าหลังกว่าประเทศที่ใกล้เคียง กัน สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากการลงทุนเพื่อ สร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือรับองค์ความรู้เข้า มาจากต่างประเทศน้อยเกินไป ทั้งยังขาดแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา ทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งว่ากันว่าเมื่อปี 2534 ประเทศไทยมีนักวิจัยเพียง 9,800 คน
พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากร ทั้งในส่วนงานทั่วไป และในส่วนของการสร้าง และ/หรือรับองค์ความรู้ทางด้านนี้จากแหล่งต่างๆ โดยที่จำนวนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยยังมีอยู่น้อยมากคือ มีอยู่เพียง 12,000 คน เปรียบเทียบกับสัดส่วนประชากรที่มีอยู่ทั้งหมด 60 ล้านคนนั้น น้อย กว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวันและเกาหลีใต้ ถึงกว่า 10 เท่าตัว นอกจากนั้นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่มีอยู่ ก็ไม่มีการเข้าไปตรวจสอบกันอย่างจริงจังว่า ผลที่ได้รับจากการลงทุนลงแรงไปนั้น นำกลับออกมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และแจ้งจดสิทธิบัตรได้มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้จึงยังไม่ต้องถามถึงโครงการที่นำเสนอเพื่อขอใช้งบประมาณจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ ว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์กับ คนไทย "อย่างเป็นรูปธรรม" ได้มากน้อยแค่ ไหนและอย่างไร
หน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่กล่าวถึง ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ ทุนวิจัยใน 10 สาขา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และ สังคมศาสตร์ด้วยงบประมาณปีละ 100 ล้าน บาท 2) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 3 สาขาหลักคือ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิว เตอร์ 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อุดหนุนการวิจัยทางด้านวิทยา ศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยในปี 2538 ได้ให้การสนับสนุน 182 โครงการ เป็นเงิน 332 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 165 โครงการ เป็นเงิน 485 ล้านบาท 4)สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ทุนวิจัยระบบสาธารณสุข โดยมีงบประมาณปีละ ประมาณ 50 ล้านบาท และ 5) กองส่งเสริม เทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงสา-ธารณสุข อุดหนุนการวิจัยในโครงการประ-ดิษฐกรรมเพื่อการพัฒนาชนบท ในช่วงปี 2535-2538 เป็นเงินประมาณ 35 ล้านบาท
อาจจะมีคำถามว่า แล้วการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นในภาคเอกชนในบ้านเรา ที่น่าจะมีอยู่บ้างนั้น มากน้อยแค่ไหนและ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรบ้าง คำตอบก็คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เคยเก็บข้อมูลเปรียบเทียบค่าใช้ จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ กับตัวเลข GNP ในปีงบประมาณ 2530- ปี 2536 ตามที่รายงานไว้ในแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2540-2549 ไว้ดังนี้
ปีงบประมาณ 2530 GNP ของประเทศ ไทยอยู่ที่ 1,211,431 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็น ค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.22 (ของ GNP) โดยแบ่งเป็นค่าใช้ จ่ายของภาครัฐ 2,467.44 ล้านบาท และเป็น ของเอกชนเพียง 196.95 ล้านบาท และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2536 ตัวเลข GNP ของประเทศไทย ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2,502,265 ล้าน บาท แต่สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการวิจัยและ พัฒนาที่เมื่อเปรียบเทียบกับ GNP กลับลดลง ไปอยู่ที่ร้อยละ 0.18 แม้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของ ภาครัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,163.20 ล้านบาท และภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 310.21 ล้านบาท
หากตรงนี้ยังไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังแล้วละก็ ไม่ว่าจะอีกกี่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ว่า ประเทศไทยจะมีนักวิจัยกี่แสนคน โอ- กาสที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประ เทศไทยจะพัฒนาให้เทียมหน้าเทียมตาชาวบ้านชาวเมืองเขานั้น คงไม่มีวันได้เห็น แน่นอน
เขียน โดย .....
Copyright 1997-1998 Thansettakij Newspaper
for more information, contact
webmaster@than01.thannews.th.com