กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2541
อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการ
การทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น เริ่มมีธุรกิจตัวอย่างหลายประเภทหลายบริษัท โดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก ก็เช่น ธุรกิจขายหนังสือของบริษัทอเมซอน (www.amazon.com) ซึ่งนับวันบริษัทใหม่ๆ เหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจาก "โอกาส" ที่อินเทอร์เนตมอบให้
ผมจะขอยกตัวอย่างธุรกิจ 4 สาขาในวันนี้ เพื่อว่าจะตรงสเปคกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่แท้จริง หรือ (Real Sector) ที่กล่าวกันมากในช่วงนี้ ธุรกิจดังกล่าวอยู่ในสาขา "เนื้อหาข้อมูล" "การเดินทาง" "การธนาคาร" และ "การประกันภัย" ซึ่งทั้งหมดทำธุรกิจบนอินเทอร์เนตอันเป็นกิจกรรมรวมอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซพันธุ์แท้
ในเรื่องของ ธุรกิจที่ทำการขายเนื้อหาหรือที่เรียกว่า Content industry นั้นมีหลายประเภท อาทิเช่น การให้บริการเรียกข้อมูล (Information Retrieval Services) ซึ่งในวงวิชาการและธุรกิจบางประเภทจะคุ้นเคยดี เช่นบริการของ Dialog เป็นต้น คล้ายๆ กับการให้บริการของห้องสมุดในระบบดิจิตอล หรือการให้บริการข้อมูลข่าวสารและความรู้ทาง "เวบ" ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ "ออน-ไลน์" ทุกวันนี้ในสหรัฐอเมริกาหนังสือพิมพ์มีชื่ออย่างน้อย 25 ฉบับล้วนมีการทำหนังพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น
ส่วนถัดมาก็เป็นพวกนิตยสาร ซึ่งหากท่านเข้าไป "โต้คลื่น" บนเวิลด์ ไวด์ เวบ และมีเวลาเพียงพอที่จะไม่เมาคลื่นเสียก่อน ก็จะพบกว่า 3,600 ฉบับอยู่บนนั้น ยิ่งถ้าพูดถึงการขายหนังสือบนเวบแล้ว ปัจจุบันอเมซอนมียักษ์ใหญ่อย่างเช่น Barnes&Noble และ McGraw-Hill เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะเห็นน้องใหม่อย่างอเมซอนกวาดเงินรายได้นับพันๆ ล้านภายในระยะเวลาสั้นๆ
นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว เดี๋ยวนี้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็เข้ามาใช้สถานที่ในไซเบอร์สเปซกันเยอะแยะ ขอเพียงให้ผู้ใช้มีการ์ดเสียง (Sound card) และลำโพงเท่านั้น ก็สามารถดาวน์โหลด ซอฟต์แวร์ฟรี มากำกับการดูแลและฟังได้ทันที ยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างซีเอ็นเอ็นก็ดี เอบีซี,เอ็นบีซี ของอเมริกาก็ดี ล้วนเห็นศักยภาพในการเผยแพร่ข่าวได้อย่างทันใจบนอินเทอร์เนต จนเป็นที่มาของคำว่า Webcasting หรือการกระจายสื่อทางเวบ นั่นเอง ว่ากันว่าที่อเมริกามีสถานีโทรทัศน์กว่า 800 แห่งที่มีเวบไซต์
สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่านักท่องเที่ยวมีความเฉลียวฉลาดในการหาข้อมูลก่อนที่จะเดินทาง ทำให้มีการวางแผนเที่ยวล่วงหน้าได้ ไม่เฉพาะข้อมูลเท่านั้นแต่ยังทำการสำรองที่นั่งและจองอะไรต่อมิอะไรได้จิปาถะ
ส่วนที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการซื้อตั๋วเครื่องบินบนอินเทอร์เนต เพราะเป็น "โอกาส" ที่ผู้บริโภคสามารถทำอะไรต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ว่ากันว่าภายในปี สองปีข้างหน้า การซื้อตั๋วเดินทางจะมีมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว
สถิติที่อาจทำให้หลายคนน้ำลายหยด รวมถึงบริษัทอย่าง Expedia ที่มีธุรกิจขายบริการท่องเที่ยวบนอินเทอร์เนตถึง 3 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ สายการบินต่างๆ ก็เริ่มค้นพบว่าอินเทอร์เนตทำให้ "ลดต้นทุน" ในการขายตั๋วเครื่องบิน และจากการสำรวจในสหรัฐก็พบว่าผู้เดินทางที่เข้าถึงอินเทอร์เนตได้วางแผนที่จะใช้อินเทอร์เนตในการจองการเดินทางถึง 70% ของผู้ใช้ทั้งหมด
สำหรับธุรกิจธนาคารนั้น ธนาคารอย่าง "เวลส์ ฟาร์โก" (Wells Fargo) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ แห่งหนึ่งในสหรัฐด้วยทรัพย์สินกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็เห็นความสำคัญของระบบธนาคาร "ออนไลน์" ทุกวันนี้ลูกค้ากว่า 4 แสนราย โทรเข้ามาทำธุรกรรมกับธนาคารในระบบธนาคารผ่านโทรศัพท์ (Telephone Banking)ในแต่ละวันเวลส์ ฟาร์โก ประเมินว่าธุรกรรมที่เลี่ยงสาขาธนาคารมาใช้บริการทางโทรศัพท์ 2 ล้านรายการ จะประหยัดให้กับธนาคารถึง 15 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์ หรือ 7.50 ดอลลาร์ต่อหนึ่งธุรกรรม ตัวเลขนี้ทั้งน่าประทับใจและน่าตกใจ แล้วแต่ว่าเป็นธนาคารยุค "ออนไลน์" หรือธนาคารสาขาที่เต็มไปด้วยอาคาร
ในขณะเดียวกันเวลส์ ฟาร์โก ก็เริ่มฉลาดพอที่จะปิดสาขาธนาคารแล้วขนย้ายการให้บริการผ่านสายโทรศัพท์เข้าไปยังร้านของชำแทน
นอกจากนี้ลูกค้ากว่า 4 แสนรายของธนาคารก็นิยมการทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านระบบออนไลน์ แบงค์กิ้ง โดยใช้พีซีที่บ้านเป็นเคาน์เตอร์ธนาคารแทน
ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งคือ ธุรกิจประกันภัย บริษัทประกันภัยในสหรัฐอเมริกากว่า 80% มีเวบไซต์ อย่างน้อยหนึ่งแห่งเป็นของตัวเอง โดยคาดการณ์ว่าธุรกรรมการประกันภัยที่เบี้ยประกันมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ดอลลาร์ จะเกิดขึ้นภายในอีก 2-3 ปี ข้างหน้าบนอินเทอร์เนต ส่วนใหญ่จะเป็นการประกันยานพาหนะ
ส่วนนายหน้าขายประกันอาจจะต้องเริ่มตรึกตรองนะครับ เพราะจากการวิจัยของบู๊ซ แอลเลน และแฮมิลตัน พบว่า การขายประกันทรัพย์สินและอุบัติเหตุ (P&C) ประกันสุขภาพรวมทั้งประกันชีวิต หากผ่านอินเทอร์เนตจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลง 58-71% เมื่อเทียบกับการใช้นายหน้าและศูนย์บริการ
อย่างไรก็ตามยิ่งไปกว่านั้นเอิร์นส์ แอนด์ ยัง ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา วิจัยพบว่าธนาคารเริ่มเข้ามาเป็นผู้ขายประกันเสียเอง เนื่องจากลูกค้าค่อนข้างเชื่อใจธนาคาร (มากกว่าบริษัทประกัน) แถมธนาคารมีสาขาใกล้บ้านเป็นที่อุ่นใจ และธนาคารเองก็มีข้อมูลลูกค้าเหลือเฟือกว่า บริษัทประกันภัย เป็นผลทำให้ธนาคารทำ "การตลาด" ได้ดีกว่าธุรกิจทั้ง 4 สาขา
ดังนั้นจึงเป็นตัวอย่าง ของอี-คอมเมิร์ซยุคแรกๆ และอาจจะเป็นคำตอบของการดิ้นรนของธุรกิจไทยในยามนี้ได้บ้าง หากเป็นประโยชน์บริษัทไทยเริ่มตั้งแถวเข้าวงโคจรธุรกิจเสียแต่เนิ่นๆ นะครับ ก่อนที่ต่างประเทศจะเข้ามาคว้าไปกินเสียหมด
เขียน โดย .....
Copyright 1997-1998 Krungthep Turakij Newspaper