ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 (5) ฉบับที่ 220 (285) วันที่ 11-17 กรกฎาคม 2541



ปัญหา Y2K และวิธีแก้

บทนำ ปัญหา Y2K นั้น เกิดขึ้นจากการที่บริษัทคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ออกแบบหลักเลขในการคำนวณ วัน เดือน ปี หรือ DD/MM/YY เป็นเลข 2 หลัก โดยเฉพาะ อย่างยิ่งปี หรือ YY คือ ปีนี้เป็นปี ค.ศ. 1998 ก็จะใช้ตัวเลข 98 เช่น วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1998 ก็จะเป็น 30/05/98 เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการคำนวณเพราะเลข 2 หลัก เมื่อนำไปคำนวณแล้วความเร็วในการคำนวณจะมากกว่าเลข 4 หลักมาก เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ก็จะเขียนเป็น 01/01/00 ตรงนี้ จึงเกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จะรับเลข 00 ไม่ได้ เพราะถือเป็น arbitrary number คือ ระบบคอม พิวเตอร์จะรวน (Truncate) เช่น กรณี ไปธนาคารฝากเงินสัก 10,000 บาท ใน วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 คอมพิวเตอร์ อาจจะอ่านเป็นเลข 100,000,000 บาท ก็ได้หรือเป็น-10,000,000 บาทก็ได้ ซึ่ง เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไม่ได้ทั้งจะทำให้ เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการธนาคารทันที มีความเข้าใจผิดอยู่บ้างเหมือนกันสำหรับบางท่านที่คิดว่าสำหรับเมืองไทยแล้วตัวเลขในคอมพิวเตอร์เป็นปี พ.ศ. คือปีนี้เป็นปี 2541 ก็จะเป็นตัวเลข 41 ถ้าหากเมื่อถึงปี ค.ศ. 2000 แล้วก็จะเป็นตัวเลข 43 นั้นเป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะตัวเลขปี พ.ศ.นั้น ฐานเดิมมาจากค.ศ.นั่นเอง แล้วจะใช้ตัวเลข 57 ลบออก เช่น ปี 98 ก็จะเป็นปีพ.ศ. 41 ปี พ.ศ.78 ลบ 57 ก็จะเป็นปีพ.ศ. 21 เป็นต้น เพราะคอมพิวเตอร์ เกือบทั้งหมดจะผลิตในอเมริกาและยุโรป และทางประเทศไทยนำมาดัดแปลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าบนหน้าจอปรากฏเป็นตัวเลข พ.ศ. ก็จะเกิดปัญหา Y2K เช่นกัน อีกกรณีหนึ่งก็คงจะคล้ายๆ กันกับคอมพิวเตอร์ปี 2000 คือ กรณีที่มีการทดสอบระบบด้วยตัวเลข DD/MM/YY ด้วยตัวเลข 99/99/99 และไม่ได้ลบออก (Delete) จากระบบ ก็ยังอยู่ในนั้น เมื่อถึงปี 1999 หรือ 99 ก็จะเป็น arbitrary number เช่นกันเหมือนกันกับปี ค.ศ. 2000 เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นกับระบบเช่นกัน
ผลกระทบทั่วไป ได้มีการประเมินความเสียหายสำหรับปัญหา Y2K กันอย่างมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวเลขที่ทาง การสหรัฐอเมริกาประเมินนั้นจะต้องใช้ เงินถึง 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท สำหรับประ เทศสหรัฐอเมริกานั้นก็ไม่น่าจะเกินจริงเพราะตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาผลิตคอมพิวเตอร์ได้มาจนบัดนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ได้แพร่หลายไปในทุกวงการธุรกิจ และอุตสาหกรรมในทุกสาขา รวมทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตามบ้านด้วย สำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้มีการ พยายามประเมินผลกระทบโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิว เตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จากแบบ การตอบคำถามที่สำรวจไปในหน่วยราช การกว่าครึ่ง 51% ยังไม่ทราบว่าปัญหา Y2K คืออะไร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้น่าจะดีกว่านี้ขึ้นมาก เพราะได้มีการพูดคุยกันในสื่อสารมวลชนพอสมควรและเรื่องคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับที่ชาวบ้านจะคุยกันได้ง่ายๆ และสนุกสนาน วิธีการประชาสัมพันธ์จึงนับว่าไม่ง่าย ส่วนภาคเอกชนก็นับว่า มีการตื่นตัวอยู่พอสมควรจากข่าวที่ปรากฏต่อหน้าหนังสือพิมพ์ ปัญหา Y2K ในระดับคณะรัฐมนตรี อันที่จริงปัญหา Y2K นั้น ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีการตระหนักถึงปัญหานี้พอสมควรโดยทางศูนย์เทค โนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ก็ได้มีการสรุปปัญหานี้เข้าสู่ระดับรัฐมนตรีคือ ฯพณฯพรเทพ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ และ ฯพณฯ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ใน ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยา-ศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้อนุมัติให้ความเห็นชอบเพื่อนำปัญ หาเข้าสู่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เพื่อพิจารณาในวันที่ 28 เมษายน 2541 โดยมีมติออกมาสรุปได้ดังนี้ :- 1. ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ในระดับกระทรวงเพื่อดูแลปัญหา Y2K ที่จะเกิดขึ้นในทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ 2. ให้ทุกกระทรวงสามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณที่เคยตั้งไว้สำหรับเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ เป็นงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหา Y2K ได้ 3. ให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นผู้ประสานงาน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับคณะรัฐมนตรีก็คือเรื่องงบประมาณที่จะตั้งไว้สำหรับ Y2K โดยตรงในปี 2542 นั้น ยังเป็นปัญหาคือ ปัญหาเนื่องจากการตั้งงบประมาณในปีนี้อาจจะยังไม่ทันกาลจึงสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ขณะนี้รัฐบาลไม่มีเงินงบประมาณเลยเนื่องจากการประสบสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ (Economic Crisis) อย่างรุนแรง จนจะต้องตั้งเป็นงบประมาณแบบขาดดุล
ปัญหา Y2K ในระดับสภาผู้แทนราษฎร ปัญหา Y2K ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในระดับชาติคือ สภาผู้แทนราษฎร โดยที่คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคุณ ปวีณา หงสกุล ได้มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 นี้ โดยได้มีการเชิญส่วนงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานมาให้ความเห็น ซึ่งก็มีตัวแทนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตัวแทน จากสำนักงบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย พร้อม ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน หลายจังหวัด มีผลสรุปการประชุมในเบื้องต้นว่า ความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา Y2K ของประเทศไทยยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนงานราชการ และก็เกรงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนงานราชการที่ดูแลสาธารณูปโภคไม่ว่าน้ำประปา ไฟฟ้าและโทร ศัพท์ ส่วนราชการที่ดูแลเกี่ยวกับด้านการเงิน ภาษี ซึ่งก็ไม่กระทบเฉพาะในส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นและกระทบต่อผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคด้วย ถ้าหากปัญหา Y2K นี้ไม่ได้รับการแก้ไขในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงขั้นต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา ก็จะกระทบถึงประชาชนถึง 50 ล้านคน
สาขาต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ จากความเห็นของตัวแทน จากหน่วยงาน NECTEC และผู้เชี่ยว ชาญประจำคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบในวงกว้างที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการไม่ แก้ไขปัญหา Y2K สรุปได้ดังนี้
1. สาขาการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินและมีระบบคอมพิวเตอร์ใช้ เช่น ธนาคารที่เป็นของรัฐ และธนาคารเอกชนทุกแห่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้บัญชีการเงินของลูกค้าของธนาคารมีตัวเลขสับสนอันเป็นที่เชื่อถือไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อธนาคาร และอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาครวมได้
2. สาขาการคลัง ภาษี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี และมีระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการคำนวณ เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ตัวเลขการจัดเก็บภาษีก็จะได้รับผลกระทบกระเทือนตามขนาดของระบบคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมไปถึง
3. สาขาการงบประมาณถ้าหาก ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ก็จะกระทบต่อข้อมูลการงบประมาณของหน่วยงานทุกกระทรวง ทุกกรมได้เช่นกัน
4. สาขาการไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคของประชาชนทั่วทั้งประเทศประมาณกว่า 90% ของครอบครัวของประชาชนไทยมีไฟฟ้าใช้ ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ ก็จะเกิดปัญหามากทั้งภาคที่อยู่อาศัย และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อโรงงานต่างๆ อีกระดับ ซึ่งมีความ แน่นอนว่าจะกระทบกระเทือนเศรษฐกิจ โดยตรงจากการหยุดการผลิตของโรงงาน
5. สาขาการประปา ก็จะมีทั้งส่วนการผลิตน้ำประปาซึ่งจะมีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม และระบบการจัด เก็บเงินโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเก็บเงินผิดมักจะมีเสมอเป็นย่านๆ ไป แค่กรณีนี้ก็คงจะมีวงกว้างกว่า และถ้าหากระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาจะหยุดเพื่อแก้ไขปัญหา Y2K ก็จะไม่มีน้ำประปาจ่ายออก ประชาชนผู้ใช้น้ำประปาก็ขาดน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค
6. สาขาการโทรคมนาคม อุปกรณ์การสื่อสารเกือบทุกชนิดมักจะมีการตั้งเวลาเป็นวันเดือนปีเสมอ และก็มีอุปกรณ์หลายชนิดที่มีการตั้งเวลา (Clock Timing) เพื่อควบคุมความ ถี่ต่างๆ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมเหล่านี้ก็จะเกิดปัญหาขึ้น
7. สาขาการบิน ในระบบการบินต่างๆ ไม่ว่าการบินพาณิชย์ สำหรับผู้โดยสารหรือการขนส่งสินค้ามักจะควบคุมตารางการทำงานด้วยระบบคอม พิวเตอร์ ทั้งนี้รวมทั้งการควบคุมการบิน (Air Traffic Control) ถ้าหากระบบคอมพิวเตอร์ปั่นป่วน จะเกิดความเสียหายหนักหลายด้าน ไม่ว่าการควบคุมการจราจรทางอากาศ การจัดนำเครื่องบินสำหรับการร่อนลงสู่พื้นสนามตามตารางเวลา การจองตั๋วเครื่องบิน (Air Ticketing) และอื่นๆ อีก
8. สาขาการรักษาพยาบาลตาม โรงพยาบาลต่างๆ นอกจากเรื่องระบบประวัติคนไข้ ระบบการจ่ายเงิน ซึ่งจะใช้ ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว อุปกรณ์การช่วย ชีวิตอื่นๆ ที่ต้องใช้ความถี่ทั้งหลายที่มีการเชื่อมโยงกับการผูกวันเดือนปี ก็จะปั่นป่วนกระทบถึงชีวิตคนไข้โดยตรง
9. สาขาการป้องกันประเทศ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทางกระทรวงกลาโหมเคยเสนอ เช่น กรณีโครงการ C3I ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์สำหรับยุทธการป้องกันประเทศโดยตรง ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนรวมทั้งอุปกรณ์ อาวุธยุทธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรดาร์ และ จรวดนำวิถี
10. สาขาการพยากรณ์อากาศ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาก็จะมีระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการพยากรณ์อากาศอยู่ เรื่องลม ฟ้า อากาศ พายุ ทอร์นาโด สภาพอากาศชายฝั่งทะเล ก็จะได้รับผลกระทบกระเทือนเช่นกัน
11. สาขาเทคโนโลยีตามบ้านเรือน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ตามบ้านเรือน เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับส่วนมากเป็น Personal Computer (PC) เหมือนกับเป็นสำนักงานเล็กๆ ภายในบ้านเรือน โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ และทุกจังหวัดในเขตที่เจริญมักจะมีคอมพิวเตอร์ใช้ตามบ้านเรือน ถ้าหากเป็นรุ่น Pentium ขึ้นไปก็ไม่น่าเป็นห่วง เช่น ถ้าเป็นรุ่น 386 มีปัญหาแน่นอน รุ่น 486 ก็ควรจะตรวจสอบด้วยเช่นกัน
สรุปแล้ว ถ้าหากปัญหา Y2K ไม่ได้รับแก้ไขจะเป็นเรื่องใหญ่ทันทีเพราะกระทบในวงกว้างมาก แต่ถ้าหากแก้ไขก่อนเวลาที่จะมาถึงไม่ต้องหยุดการดำเนินกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาก็จะไม่ใหญ่โต และแก้ไขได้ไม่ยากนัก เพราะเมืองไทยมีระบบคอมพิวเตอร์ประเภท Mainframe ไม่มากนัก และที่ใช้ภาษา COBOL ก็ไม่มากนัก เพราะระบบนี้เสียเงินในการแก้ไขมาก ส่วนอื่นๆ ยังสามารถแก้ไขได้ทันกาล ถ้าหากรีบเร่งแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
วิธีการแก้ไขปัญหา Y2K ผู้เขียนได้เคยเสนอแนวทางการ แก้ไขปัญหา Y2K ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์วินโดว์สแควร์ ไว้บ้างแล้วในบทความนี้ก็จะได้อธิบายถึงวิธีการแก้ปัญหา Y2K 6 ขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธี (Methodology) ที่ได้มาจากการปฏิบัติ ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่เคยติดตั้งและวางระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์สำเร็จมาแล้วหลายแห่งทั้งบริษัทต่างประเทศและบริษัทประเทศไทยเอง วิธีการที่เสนอนี้จะเป็นวิธีการที่ใช้ได้ทั้งระบบขนาดใหญ่และระบบขนาดเล็ก สามารถนำไปเขียนเป็นตาราง การปฏิบัติงานที่เรียกว่า Implementation Schedule ได้ ในแต่ละขั้นของทั้ง 6 ขั้นตอนนั้นจะต้องแบ่งเป็นงานย่อย (Task) ต่างๆ เองตามความเหมาะสม ขององค์กรนั้นๆ จะต้องเขียนเป็นรายละเอียดของงานย่อย (Task) ต่างๆ ให้มากที่สุด ทั้งขั้นแบ่งงานออกเป็นรายชั่วโมงและประเมินเวลาที่ใช้แต่ละงานย่อย (Task) ให้แม่นยำที่สุด ถ้าหากสงสัยก็ถามผู้เชี่ยวชาญด้านคอม พิวเตอร์ได้ ผู้เชี่ยวชาญในที่นี้หมายถึงผู้ที่เคยติดตั้งและวางระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของบริษัทที่เชื่อถือ ได้สำเร็จมาก่อน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ ที่จบปริญญาเอกสาขาคอมพิวเตอร์ก็ได้ ทั้ง 6 ขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน หรือ 6 เดือน แล้วแต่ขนาดขององค์กรและระบบคอม พิวเตอร์เครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งหมด (อ่านต่อฉบับหน้า)

เขียน โดย ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
Copyright 1997-1998 Thansettakij Newspaper
for more information, contact webmaster@than01.thannews.th.com

1