มาตรา ๑๙๓ ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
(๑)การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๙

(๒)การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๑

(๓)การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๒

(๔)การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๓

(๕)การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ตามมาตรา ๙๔

(๖)การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ตามมาตรา ๑๕๙

(๗)การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา ๑๖๐

(๘)การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๖๑

(๙)การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๗๓

(๑๐)การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปตามมาตรา ๑๗๘ วรรคสอง

(๑๑)การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๙๔

(๑๒)การแถลงนโยบายตามมาตรา ๒๑๑

(๑๓)การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๒๑๓

(๑๔)การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา ๒๒๓

(๑๕)การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๒๒๔

(๑๖)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓

มาตรา ๑๙๔ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน

มาตรา ๑๙๕ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา


หมวด ๖ รัฐสภา ส่วนที่ ๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

1